วัฏสงสาร( Samsara)สุดยอดหนังสารคดีแห่งปี 2012


หนังน่าดู และ สมควรดู เรื่อง Samsara หรือ วัฏสงสาร จัดได้ว่าเป็น สุดยอดหนังสารคดีแห่งปี 2012 เลยก็ว่าได้ ใช้ทุนสร้างกว่า 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ ใช้เวลาถ่ายทำนานกว่า 5 ปี ใน 25 ประเทศ โดยSamsara ซึ่งเป็นคนละอันกับหนัง คริสตี้ ชุง  หนังใหม่ของ Ron Fricke (ผกก. Baraka) สารคดีสุดอลังการที่ว่าด้วย โลก มนุษย์ และ ธรรมชาติ หนังถ่ายทำด้วยฟิล์ม 70 มม. ทั้งเรื่อง อย่างไรก็ดี หนังเรื่องนี้ฉายด้วยระบบดิจิตอล โปรเจคต์เจอร์ 4K ยังไม่มีการฉายด้วยฟิล์ม 70 มม. แต่อย่างใด
ส่วนภาพยนตร์เรื่อง Samsara ของคริสตี้ชุงจะเป็นเรื่องราวของพระลามะ นักปฏิบัติผู้หนึ่ง ซึ่งบวช เรียนมาตั้งแต่วัยยังเด็ก ถ้าให้เดาจากบริบทในท้องเรื่อง ลามะนักปฏิบัตินามว่า "ต้าชิ" ผู้นี้น่าจะเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ตั้งแต่อายุ 5-6 ขวบโน่น
ต้าชิ ฝึกปฏิบัติการทำสมาธิ หรือ ฌาณสมาบัติจนน่าจะบรรลุขั้นสูง เพราะ เขาได้เข้าไปนั่งสมาธิแล้วขังตัวเองอยู่ในถ้ำนานถึง 3 ปี 3 เดือน 3 วัน ซึ่งถ้าให้เดาอีก ก็น่าจะเป็นการศึกษาโดยการปฏิบัติขั้นสูงสุดที่ลามะแถบนั้นจะทำได้ จน ต้าชิ เป็นที่เคารพ นับถือเลื่องชื่อในหมู่นักปฏิบัติหรือลามะด้วยกัน
แต่ปัญหาก็มีอยู่ว่า แม้ว่า ต้าชิ จะบรรลุสามารถนั่งสมาธิ ได้ลึกเพียงใด แต่ เขาก็เป็นลามะ ที่มีความรู้สึกทางเพศ สูงมาก


ประกอบกับ ต้าชิ ไม่เคยใช้ชีวิตทางโลกมาก่อน ด้วยความเย้ายวนของ รูป และผัสสะ จากอิสตรี สีกา ทำให้ต้าชิ ทนไม่ไหว ต้อง "หนี" จากเพศบรรพชิต มาสู่ เพศฆราวาส เสียอย่างงั้น
จากความรู้สึกส่วนตัว ฉาก คืนที่ ลามะผู้นี้ หนีออกจากวัด มันเหมือน กำลังล้อ เรื่องราวตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะ ออกบวชอย่างไรก็ไม่รู้ คือ เจ้าชายสิทธัตถะ เดินไปในปราสาทราชวัง เห็นภาพอุจาดที่นางสนมกำนัลนอนหลับ แล้วให้รุ้สึกเหนื่อยหน่ายนั้น มัน เหมือนกำลังถูกท้าทาย (จนท้ายที่สุดต้องออกบวช) จาก คนทำหนัง ที่สร้างภาพให้ ต้าชิ เดิน พิจารณา ภาพลามะ นอนน้ำลายไหลยืด แล้ว หนีลาสิกขาบท
ถ้าจะให้เดา คนที่บวชเรียนจนบรรลุสมาธิ ขั้นสูงขนาดนั้น แต่ท้ายที่สุด ก็เบื่อ ชีวิตความเป็นลามะ และโหยหา รสสัมผัสทางเพศ  ชวนให้นึกถึงคำถาม ข้อหนึ่ง ในรายการ "วู้ดดี้เกิดมาคุย" ที่ถาม ท่าน ว.วชิรเมธี ไมได้ว่า
"คนที่เป็นพระ ไม่เคยใช้ชีวิตอย่างฆราวาส แล้วจะมาสอนมาเข้าใจฆราวาสได้อย่างไร"
ท่านว.วชิรเมธี ก็ตอบไปว่าประมาณว่า พระสังเกตชีวิตฆราวาสอยู่เสมอ สังเกตและศึกษา เปรียบไปก็เหมือนกับ นักมวย กับพี่เลี้ยง ฆราวาสนั้นเปรียบเป็นนักมวยที่ขึ้นชก แต่พระเป็นพี่เลี้ยง ที่สังเกตวิธีการชก ของนักมวยตลอด
เวลาฆราวาสชก ฆราวาสจะมองไม่เห็นว่าตัวเองกำลังทำอะไร แต่พี่เลี้ยง หรือพระภิกษุผู้ทรงปัญญา จะสังเกตและรู้และสอน ให้ฆราวาสชกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นั่นเป็นคำตอบที่ ท่าน ว.วชิรเมธีให้กับ พิธีกรในรายการวู้ดดี้เกิดมาคุย
----------------------------
กระนั้นก็ดี ผมรู้สึกว่า "ต้าชิ" ในเรื่อง อาจจะไม่ได้อยากเป็นพี่เลี้ยง แต่อยากจะลงมาเป็นคนชก เสียเอง ลามะผู้นี้ก็เลยสึก มาใช้ชีวิตแบบฆราวาสแล้วก็สัมผัสกับความทุกข์แบบเต็มตัว
ทำไปทำมา การใช้ชีวิตแบบฆราวาส กลับทำให้ คนที่เคยเป็นลามะ ได้เรียนรู้อะไร ๆ มากกว่า ทั้งการทำบาป การทะเลาะเบาะแว้ง ผิดประเวณี ความผิดหวัง สมหวังสิ่งเหล่านี้ ต้าชิได้สัมผัสลึกซึ้งกว่าที่จะนั่งภาวนาอยู่ในถ้ำ เสียอีก ทั้งภรรยา ของต้าชิ หลายครั้งหลายหน ก็เหมือนจะรู้ซึ้งเรื่องสัจธรรมของชีวิตเพราะได้ใช้ชีวิตมา มากกว่าอดีตลามะ ด้วยซ้ำ
ตรงนี้ ผมกลับยิ่งนึกถึงพุทธพจน์ที่ว่า "ผู้ใดเห็นทุกข์ ผู้นั้นเห็นธรรม" จนนำไปสู่ประโยคที่ว่า "ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา (ตถาคต) "
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตอนที่ ลูกชาย ของต้าชิ จะวิ่งออกไปนอกบ้าน โดยที่หิมะ กำลังตก อากาศหนาวเหน็บ
ต้าชิ ก็พยายามห้ามลูกว่า อยากออกไป เพราะอากาศ มันหนาว แล้วบอกให้ลูกกลับมาใส่เสื้อก่อน แต่ลูกไม่ฟัง
ภรรยา ก็บอกต้าชิว่า "ปล่อยแกไปเหอะ เดี๋ยวพอแกหนาว แกก็กลับมาในบ้าน ขี้คร้านจะหาเสื้อใส่เอง"
แล้วลูกก็กลับมา เพราะได้สัมผัสกับความหนาวเหน็บด้วยตัวเอง ต่อให้พ่อบอกอย่างไรก็คงไม่เชื่อ ของแบบนี้ ต้องให้โดนด้วยตัวเอง
เราสามารถโยงจุดนี้เข้ากับแก่นของเรื่อง ที่เหมือนผู้สร้างหนังจะตั้งคำถาม ว่า บางครั้งบางคราว คนที่ไม่ได้สัมผัสกับความทุกข์จริง ๆ "การเห็นทุกข์"ของผู้อื่น โดยที่ไม่เคยได้ประสบด้วยตัวเอง สำหรับบางคนเขาก็ไม่เข้าใจ การที่จะให้เขาเข้าใจ ต้องให้เขา "เป็นทุกข์" เพื่อที่จะได้ฝึกฝนใช้สติปัญญา ให้ได้ "เห็นทุกข์" นั้น
ตอนช่วงสุดท้ายของหนัง เหมือนต้าชิ จะได้ลิ้มรสความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ของชีวิต เขา เริ่มคิดถึง การปฏิบัติของบรรพชิตเพศ และจะหนี ออกบวชอีกครั้ง
ฉากนี้ก็เป็นอีกจุดสำคัญ การหนีออกบวช นี้ ทำให้ย้อนถึง จุดตอน ที่หนี ออกสึก ตอนต้นเรื่อง ซึ่งอาจโยงไปถึง ตอนที่เจ้าชาย สิทธัตถะ จะออกบวช ในพุทธประวัติ
แต่ในกรณีของ ต้าชิ นั้น ภรรยาของเขา ได้มาพบเห็น ตอนเขาเตรียมตัวจะหนีออกบวชพอดีและภรรยา แต่กระนั้น ภรรยา ก็ไม่ได้ห้ามไม่ให้เขาบวช แต่เธอเหมือนจะรู้ว่าวันนี้จะต้องมาถึงอยู่แล้ว จึงได้ตระเตรียมอาหารและการเดินทางเอาไว้ให้
จุดนี้เป็นอีกหนึ่งแก่นสำคัญของเรื่อง ปกติ เวลาเราอ่านพุทธประวัติ โดยเฉพาะตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะ ออกบวช หนีพระนางยโสธรา นั้น เราจะฟังเรื่องเล่าที่เป็นมุมมอง ของ บุรุษ
แต่สิ่งที่ ภรรยา ต้าชิ ได้พูดนั้น เป็นการตั้งคำถาม ถึง พุทธประวัติ ตอนนี้โดยตรง ว่า ในวันนั้น พระนางยโสธรา นั้นต้องเสียพระทัยเพียงแค่ไหน แต่ ก้ไม่มีผู้ใดกล่าวไว้ หรือถึงกล่าวก็ไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าที่ควร และก็ไม่มีใครรู้เลยว่า ก่อนหน้าที่เจ้าชายจะทรงหนีพระชายา นั้น พระนางยโสธรา อาจเป็นผู้ให้สติ หรือเป็นผู้เห็นทุกข์อยุ่แล้วก็ได้
เพียงแต่ด้วย สัญชาตญาณแห่งความเป็นมารดา ทำให้พระนางไม่อาจทอดทิ้งโอรสไปบวชได้ แต่บุรุษก็ทำได้ สิ่งเหล่านี้ เป็นประเด็นที่ภรรยา ต้าชิได้ยก ขึ้นในตอนจบของเรื่อง
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ทำให้หนังเรื่อง Samsara นั้นน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการทำความรู้จักกับความทุกข์ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่มีผลต่อการเล่าพุทธประวัติ รวมถึงภาพสวย ๆ ของทิเบต หากผู้ชม พินิจพิเคราะห์ภาพยนตร์เรื่อง Samsara อย่างละเอียด ท่านอาจจะเกิดคำถามที่ต้องฉุกคิด จนได้คำตอบที่ท่าน ไม่คาดว่าจะได้มาก่อน

โดย chettapat



วัฏสงสารหรือ สังสารวัฏ หรือ สงสารวัฏ คือภพภูมิที่มนุษย์ทุกคนต้องเวียนว่ายตายเกิดขึ้นมาในตามหลักของพุทธศาสนาซึ่งบัญญัติไว้ว่ามีทั้งสิ้น 31 ภูมิด้วยกัน

สังสาร หรือ สงสาร แปลว่า ความท่องเที่ยวไป ในทางพุทธศาสนาหมายถึง การเวียนว่ายตายเกิด มิใช่หมายถึงความรู้สึกหวั่นไหวด้วยความกรุณาเมื่อเห็นผู้อื่นได้รับความทุกข์
สังสารวัฏ แปลว่า ความท่องเที่ยวไปในอาการที่เป็นวัฏฏะ การหมุนวนอยู่ในการเวียนว่ายตายเกิด เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วัฏสงสาร
สงสารวัฏ หมายถึงการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพภูมิต่างๆ ของสัตว์โลกด้วยอำนาจกิเลส กรรม วิบาก หมุนวนอยู่เช่นนั้นตราบเท่าที่ยังตัดกิเลส กรรม วิบากไม่ได้[1] [2]

[แก้]วัฏสงสาร 31 ภูมิ

[แก้]นรกภูมิ


รูปภวจักร หรือสังสารจักรของทิเบต แสดงถึงผลของการขาดปัญญาในการรู้ทันเหตุเกิดแห่งทุกข์ (สมุทัย) ทำให้ต้องจมเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในกองทุกข์ทั้งปวงไม่จบสิ้น
ดูบทความหลักที่ นรกภูมิ
นรกภูมิตามความเชื่อทางศาสนา ประกอบด้วยมหานรก เป็นนรกขุมหลัก มี 8 ขุม แต่ละชั้นห่างกันประมาณ 15,000 โยชน์จากนั้นจะมี ยมโลกนรก 320 ขุม อยู่รอบ 4 ทิศๆ ละ 10 ของมหานรกแต่ละขุม อุสสทนรก 128 ขุม อยู่รอบๆ 4 ทิศ ๆ ละ 4 ของมหานรกแต่ละขุม และนรกขุมที่ลึกที่สุดเรียกว่าโลกันตนรก เป็นนรกขุมใหญ่ อยู่นอกจักรวาลมืดมนไม่มีแสง มองไม่เห็นอะไรเลยและเต็มไปด้วยทะเลน้ำกรดเย็น ที่ตั้งอยู่ระหว่างโลกจักรวาล 3 โลก เหมือนกับวงกลม 3 วงติดกัน บริเวณช่องว่างของวงทั้ง 3 สัตว์นรกที่มาเกิดต้องรับทุกขเวทนาเป็นเวลา 1 พุทธันดร จากผลกรรมชั่ว เช่น ทรมานประทุษร้ายต่อบิดามารดา และผู้ทรงศีล ทรงธรรมหรือทำปาณาติบาต เป็นอาจิณ ฆ่าตัวตาย เป็นต้น
มหานรก 8 ขุม ประกอบด้วย
  1. สัญชีวนรก นรกที่สัตว์นรกอายุ 500 ปีอายุกัป (1 วันนรกเท่ากับ 9 ล้านปีมนุษย์) สาเหตุที่ตกขุมนี้ คือ มีจิตใจที่อำมหิต ไร้มนุษยธรรม ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่ปราณี เบียดเบียน ประทุษร้ายผู้อื่นให้ได้รับความทุกข์
  2. กาฬสุตตนรก นรกที่ลงโทษด้วยเส้นเชือกสีดำ แล้วก็ถากหรือตัดด้วยเครื่องประหาร อายุ 1,000 ปี อายุกัป (1 วันนรกเท่ากับ 36 ล้านปีมนุษย์) สาเหตุที่ตกขุมนี้ คือ เป็นคนโหดร้าย มีใจบาป จับเอาสัตว์สี่เท้ามาแล้วตัด เท้าหน้า, เท้าหลัง, หู, จมูก, ปาก ทำให้สัตว์ลำบากทุกข์ทรมานหรือเผาป่าหรือเคยประทุษร้ายต่อบุพการีผู้บังเกิดเกล้า บิดา มารดา ครู ผู้มีพระคุณ
  3. สังฆาฏนรก นรกที่มีภูเขาเหล็กใหญ่มีไฟลุกโพลงบดขยี้สัตว์นรก อายุ 2,000 ปีอายุกัป (1 วันนรกเท่ากับ 145 ล้านปีมนุษย์) สาเหตุที่ตกขุมนี้ คือ มีใจบาปหยาบช้าด้วยอกุศลกรรม ไร้ความเมตตากรุณา ทารุณกรรมสัตว์ ฆ่าสัตว์เป็นประจำ
  4. โรรุวนนรก นรกที่เต็มไปด้วยเสียงร้องไห้ครวญครางดังของสัตว์นรกที่ถูกควันไฟอบอ้าว อายุ 4,000 ปีอายุกัป (1 วันนรกเท่ากับ 576 ล้านปีมนุษย์) สาเหตุที่ตกขุมนี้ คือ มีใจบาปหยาบช้าจับเอาสัตว์เป็น ๆ มาเผาหรือปิ้งให้สุกแล้วกินอาหารอยู่เนืองนิตย์ บางคนเคยเป็นตุลาการพิพากษาความยุติธรรม ด้วยอำนาจ โลภ โกรธ หลง เห็นแก่สินจ้าง บางคนเป็นบุคคลที่โลภมาก รุกบ้านเรือกสวนไร่นาของผู้อื่นมาเป็นของตน บางคนเคยคบหาภรรยาของคนอื่น แล้วฆ่าสามีของเขาเพื่อเอาภรรยามาเป็นของตน บางคนเคยคบหาสามีของคนอื่น แล้วฆ่าภรรยาของเขาเพื่อเอาสามีมาเป็นของตน บางคนขโมยสิ่งของที่เขานำมาถวายพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มาเป็นของตน
  5. มหาโรรุวนรก นรกที่เต็มไปด้วยเสียงร้องไห้ครวญครางดังกว่าโรรุวนรก อายุ 8,000 ปีอายุกัป (1 วันนรกเท่ากับ 2,304 ล้านปีมนุษย์) สาเหตุที่ตกขุมนี้ คือ มีใจบาป โหดร้ายอำมหิต ตัดศีรษะมนุษย์หรือสัตว์
  6. ตาปนนรก นรกที่ทำให้สัตว์เร่าร้อน ด้วยการให้นั่งตรึงติดอยู่ในหลาวเหล็กอันร้อนแดง แล้วให้ไฟไหม้อยู่ อายุ 16,000 ปีอายุกัป (1 วันนรก 9,216 ล้านปีมนุษย์) สาเหตุที่ตกขุมนี้ คือ มีใจบาป เช่น เป็นนายพรานประหารสัตว์ ทิ่มแทงด้วยหอกหลาวแล้วเอาเนื้อมากิน
  7. มหาตาปนนรก นรกที่เต็มไปด้วยความเร่าร้อนอย่างมากมายเหลือประมาณ อายุ ครึ่งอันตรกัปของมนุษย์ สาเหตุที่ตกขุมนี้ คือ ประหารคนหรือสัตว์ให้ตายเป็นหมู่
  8. อเวจีนรก นรกที่ปราศจากคลื่นคือความบางเบาแห่งความความทุกข์ อายุ ประมาณ 1 อันตรกัปของมนุษย์ สาเหตุที่ตกขุมนี้ คือ ฆ่าบิดาให้ตายหรือใช้ให้คนอื่นฆ่า , ฆ่ามารดาให้ตายหรือใช้ให้คนอื่นฆ่า , ฆ่าพระอรหันต์ให้ตายหรือใช้ให้คนอื่นฆ่า , ทำร้ายพระพุทธเจ้า , ยุยงให้พระสงฆ์แตกแยกกัน

ยมโลกนรก ประกอบด้วย
  1. โลหกุมภีนรก เป็นหม้อเหล็กขนาดใหญ่เท่าภูเขา เต็มไปด้วยน้ำแสบร้อนเดือดพล่านตลอดเวลา สัตว์นรกถูกต้มเคี่ยวในหม้อเหล็กนรกนั้นจนกว่าจะสิ้นกรรมชั่วที่ตนได้ทำมา
  2. สิมพลีนรก เต็มไปด้วยป่างิ้วนรก มีหนามแหลมคมเป็นกรดลุกเป็นเปลวไฟอยู่เสมอ สัตว์นรกที่มาเกิดต้องปีนป่ายต้นงิ้ว
  3. อสินขะนรก สัตว์นรกที่เกิดมามีรูปร่างแปลกพิกล เช่น เล็บมือเล็บเท้าแหลมยาว กลับกลายเป็นอาวุธ หอก ดาบ จอบ เสียม เอาเล็บมือถากตะกุยเนื้อหนังของตนกินเป็นอาหารตลอดเวลา
  4. ตามโพทะนรก มีหม้อเหล็กต้มน้ำทองแดงปนด้วยหินกรวด ร้อนระอุตลอดเวลา สัตว์นรกโดยการถูกกรอกด้วยน้ำทองแดง และกรวดหินเข้าไปทางปาก
  5. อโยคุฬะนรก เต็มไปด้วยก้อนเหล็กแดงเกลื่อนกลาดไปหมด สัตว์นรกเห็นก้อนเหล็กแดงเป็นอาหาร เมื่อกินเข้าไปแล้วเหล็กแดงนั้นก็เผาไหม้ไส้พุง
  6. ปิสสกปัพพตะนรก มีภูเขาใหญ่ 4 ทิศ เคลื่อนที่ได้ไม่หยุดหย่อน กลิ้งไปมาบดขยี้สัตว์นรกที่มาเกิดให้บี้แบนกระดูกแตกป่นละเอียดจนตายแล้วฟื้นขึ้นมาอีก ถูกบดขยี้อีกจนตายเรื่อยไป
  7. ธุสะนรก สัตว์นรกที่มาเกิดมีความกระหายน้ำมาก เมื่อพบสระมีน้ำใสสะอาดก็ดื่มกินเข้าไป น้ำนั้นกลายเป็นแกลบ เป็นข้าวลีบลุกเป็นไฟเผาไหม้ท้องและลำไส้
  8. สีตโลสิตะนรก เต็มไปด้วยน้ำเย็นยะเยือก เมื่อสัตว์นรกที่มาเกิดตกลงไปก็จะตายฟื้นขึ้นมาก็ถูกจับโยนลงไปอีกเรื่อยไป
  9. สุนขะนรก เต็มไปด้วยสุนัขนรก และยังมีฝูงแร้งกา นกตะกรุม สัตว์นรกที่เกิดจะถูกสุนัข แร้ง กา ไล่ขบกัด ตรงลูกตา ปากและส่วนต่างๆ
  10. ยันตปาสาณะนรก มีภูเขาประหลาด 2 ลูก เคลื่อนกระทบกันตลอดเวลา สัตว์นรกที่มาเกิดจะถูกภูเขาบีบกระแทก ได้รับทุกขเวทนาแสนสาหัส ตายแล้วก็กลับเป็นขึ้นมา
อุสสทนรก ประกอบด้วย
  1. คูถนรก สัตว์นรก อยู่ในนรกอุจจาระเน่า ถูกหนอนกัดกินทั้งเนื้อและกระดูกตลอดจนอวัยวะภายในทั้งหมด จนกว่าจะสิ้นกรรมชั่วของตน
  2. กุกกุฬนรก สัตว์นรกถูกเผาด้วยขี้เถ้าร้อนระอุ ร่างกายไหม้ยับย่อยละเอียดเป็นจุณ จนกว่าจะสิ้นกรรมชั่วของตน
  3. สิมปลิวนนรก สัตว์นรกที่ยังมีเศษอกุศลกรรมเหลืออยู่ เมื่อพ้นจากนรกขี้เถ้าร้อนแล้วต้องเสวยทุกข์จากนรกป่าไม้งิ้วต่อไปจนกว่าจะสิ้นกรรมชั่ว
  4. อสิปัตตวนนรก สัตว์นรกที่มาเกิดได้รับทุกข์จากป่าไม้ใบดาบ เช่น ใบมะม่วงซึ่งกลายเป็นหอกดาบ และมีสุนัข แร้งคอยทรมานขบกัดกินเลือดเนื้อจนกว่าจะสิ้นกรรม
  5. เวตรณีนรก สัตว์นรกที่มาเกิดได้รับทุกข์จากน้ำเค็มแสบ ที่มีเครื่องหวายหนามเหล็ก ใบกลีบบัวหลวงเหล็ก ตั้งอยู่กลางน้ำ ซึ่งคมเป็นกรด มีเปลวไฟลุกโชนตลอดเวลาจนกว่าจะสิ้นกรรมชั่วของตน

[แก้]เดรัจฉานภูมิ

ติรัจฉานภูมิ (โลกเดรัจฉานอยู่ในโลกมนุษย์) สัตว์เดรัจฉาน โลกของสัตว์ที่มีความยินดีในเหตุ 3 ประการ คือ การกิน การนอน การสืบพันธ์ แบ่งเป็น 4 ประเภท คือ อปทติรัจฉาน (ไม่มีเท้า ไม่มีขา)เช่น งู ปลา ไส้เดือน ฯลฯ ทวิปทติรัจฉาน (มี 2 ขา) เช่น นก ไก่ ฯลฯ จตุปทติรัจฉาน (มี 4 ขา) เช่น วัว ควาย ฯลฯ พหุปทติรัจฉาน (มีมากกว่า 4 ขา) เช่น ตะขาบ กิ้งกือ ฯลฯ อายุ ไม่แน่นอน แล้วแต่กรรมที่นำไปเกิดในสัตว์ประเภทต่างๆ ตามอายุขัยของสัตว์ประเภทนั้นๆ บุพกรรม เป็นมนุษย์จิตไม่บริสุทธิ์ ประพฤติอกุศลกรรมอันหยาบช้าลามกทั้งหลาย หรือเพราะอำนาจของเศษบาปอกุศลกรรมที่ตนทำไว้ให้ผล หรือเป็นเพราะเมื่อเป็นมนุษย์ ไม่ได้ก่อกรรมทำชั่วอะไร แต่เวลาใกล้จะตายจิตประกอบด้วยโมหะ หลงผิด ขาดสติ ไม่มีสรณะเป็นที่พึ่งจะยึดให้มั่นคง คตินิมิต นิมิตที่ชี้บอกถึงโลกเดรัจฉานที่ตนจะไป เช่น เห็นเป็นทุ่งหญ้า ป่าไม้ ดงหญ้า เชิงเขา ชายน้ำ แม่น้ำกอไผ่ และภูเขา เป็นต้น บางทีเห็นเป็นรูปสัตว์ทั้งหลาย เช่น ช้าง เสือ วัว ควาย หมู หมา เป็ด ไก่ แร้ง กา เหี้ย นก หนู จิ้งจก ฯลฯ หากภาพเหล่านี้มาปรากฏทางใจแล้วจิตยึดหน่วงเป็นอารมณ์เมื่อดับจิตตายขณะนั้นต้องเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานอย่างแน่นอน

[แก้]เปรตภูมิหรือเปตภูมิ

ดูบทความหลักที่ เปรต
เปตติวัสยภูมิ (โลกเปรต) โลกที่อยู่ของสัตว์ผู้ห่างไกลจากความสุข มีมหิทธิกเปรตเป็นเจ้าปกครองดูแล อายุ ไม่แน่นอนแล้วแต่กรรม ได้แก่ เปรต 12 ชนิด คือ
1. วันตาสเปรต กินน้ำลาย เสมหะ อาเจียน เป็นอาหาร
2. กุณปาสเปรต กินซากศพคน หรือสัตว์เป็นอาหาร
3. คูถขาทกเปรต กินอุจจาระต่างๆ เป็นอาหาร
4. อัคคิชาลมุขเปรต มีเปลวไฟลุกอยู่ในปากเสมอ
5. สูจิมุขาเปรต มีปากเท่ารูเข็ม
6. ตัณหัฏฏิตเปรต ถูกตัณหาเบียดเบียนให้หิวข้าว หิวน้ำอยู่เสมอ
7. สุนิชฌามกเปรต มีลำตัวดำเหมือนตอไม้เผา
8. สัตถังคเปรต มีเล็บมือเล็บเท้ายาวและคมเหมือนมีด
9. ปัพพตังคเปรต มีร่างกายสูงใหญ่เท่าภูเขา
10. อชครังคเปรต มีร่างกายเหมือนงูเหลือม
11. เวมานิกเปรต ต้องเสวยทุกข์ในเวลากลางวัน แต่กลางคืนได้ไปเสวยสุขในวิมาน
12. มหิทธธิกเปรต มีฤทธิ์มาก ที่อยู่ เชิงภูเขาหิมาลัยในป่าวิฌาฏวี
เปรต 4 ประเภท คือ
1. ปรทัตตุปชีวิกเปรต มีการเลี้ยงชีวิตอยู่โดยอาศัยอาหารที่ผู้อื่นให้
2. ขุปปิปาสิกเปรต ถูกเบียดเบียนด้วยการหิวข้าว หิวน้ำ
3. นิชฌามตัณหิกเปรต ถูกไฟเผาให้เร่าร้อนอยู่เสมอ
4. กาลกัญจิกเปรต (ชื่อของอสูรกายที่เป็นเปรต) มีร่างกายสูง 3 คาวุต มีเลือดและเนื้อน้อยไม่มีแรง มีสีสันคล้ายใบไม้แห้ง ตาถลนออกมาเหมือนตาปู และมีปากเท่ารูเข็มตั้งอยู่กลางศีรษะ เปรต 21 จำพวก คือ
มังสเปสิกเปรต มีเนื้อเป็นชิ้นๆ ไม่มีกระดูก
กุมภัณฑ์เปรต มีอัณฑะใหญ่โตมาก
นิจฉวิตกเปรต เปรตหญิงที่ไม่มีหนัง
ทุคคันธเปรต มีกลิ่นเหม็นเน่า
อสีสเปรต ไม่มีศีรษะ
ภิกขุเปรต มีรูปร่างสัณฐานเหมือนพระ
สามเณรเปรต มีรูปร่างสัณฐานเหมือนสามเณร ฯลฯ
บุพกรรม ประพฤติอกุศลกรรมบถ 10 ประการ เมื่อขาดใจตาย จากมนุษย์โลก หากอกุศลกรรมสามารถนำไปสู่นิรยภูมิได้ ต้องไปเสวยทุกข์โทษในนรกก่อน พอสิ้นกรรมพ้นจากนรกแล้ว เศษบาปยังมีก็ไปเสวยผลกรรมเป็นเปรตต่อภายหลัง หรือมีอกุศลกรรมที่เกิดจากโลภะนำมาเกิด คตินิมิต นิมิตที่บ่งบอกถึงโลกเปรต เช่น เห็นหุบเขา ถ้ำอันมืดมิดที่วังเวงและปลอดเปลี่ยว หรือเห็นเป็นแกลบและข้าวลีบมากมาย แล้วรู้สึกหิวโหยและกระหายน้ำเป็นกำลัง บางทีเห็นว่าตนดื่มกินเลือดน้ำหนองที่น่ารังเกียจสะอิดสะเอียน หรือเห็นเป็นเปรตมีร่างกายผ่ายผอมน่าเกลียดน่ากลัว เนื้อตัวสกปรก รกรุงรัง ฯลฯ หากภาพเหล่านี้มาปรากฏทางใจแล้วจิตยึดหน่วงเป็นอารมณ์ เมื่อดับจิตตายขณะนั้น ต้องบังเกิดเป็นเปรตเสวยทุกขเวทนาตามสมควรแก่กรรมอย่างแน่นอน
อสุรกายภูมิ (โลกอสุรกาย)
ภูมิอันเป็นที่อยู่ของสัตว์อันปราศจากความเป็นอิสระและสนุกรื่นเริง แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ เทวอสุรา เปตติอสุรา นิรยอสุรา เทวอสุรา มี 6 จำพวก คือ 1. เวปจิตติอสุรา 2. สุพลิอสุรา 3. ราหุอสุรา 4. ปหารอสุรา 5. สัมพรตีอสุรา 6. วินิปาติกอสุรา 5. จำพวกแรกเป็นปฏิปักษ์ต่อเทวดาชั้นตาวติงสา อยู่ใต้ภูเขาสิเนรุ สงเคราะห์เข้าในพวกเทวดาชั้นตาวติงสา ส่วน วินิปาติกอสุรา มีรูปร่างสัณฐานเล็กกว่า และอำนาจน้อยกว่าเทวดาชั้นตาวติงสา เที่ยวอาศัยอยู่ในมนุษย์โลกทั่วไป เช่น ตามป่า ตามเขา และศาลที่เขาปลูกไว้ ซึ่งเป็นที่อยู่ของภุมมัฏฐเทวดาทั้งหลาย แต่เป็นเพียงบริวารของภุมมัฏฐเทวดาเท่านั้น สงเคราะห์เข้าในจำพวกเทวดา ชั้นจาตุมหาราชิกา เปตติอสุรา มี 3 จำพวก คือ 1. กาลกัญจิกเปรตอสุรา 2. เวมานิกเปรตอสุรา 3. อาวุธิกเปรตอสุรา เป็นเปรตที่ประหัตประหารกันและกันด้วยอาวุธต่างๆ นิรยอสุรา เป็นเปรตจำพวกหนึ่งที่เสวยทุกขเวทนาอยู่ในนรกโลกกันตร์ นรกโลกกันตร์ตั้งอยู่ระหว่างกลางของจักรวาลทั้งสาม อสุรกายนี้หมายเอาเฉพาะกาลกัญจิกเปรตรอุสรกายเท่านั้น อายุและบุพกรรม เช่นเดียวกันกับโลกเปรต

[แก้]โลกเบื้องกลาง

เทวภูมิ 6 กับโลกมนุษย์ 1 (แต่ละชั้นห่างกันประมาณ 42,000 โยชน์)
โลกมนุษย์
มนุษยภูมิ เป็นที่อาศัยของสัตว์ผู้มีใจสูงในเชิงกล้าหาญที่จะประกอบกรรมต่างๆ ทั้งที่เป็นกุศลกรรมและอกุศลกรรม แบ่งเป็น 4 จำพวก คือ
1. ผู้มืดมาแล้วมืดไป บุคคลที่เกิดในตระกูลอันต่ำ ยากจน ขัดสน ลำบาก ฝืดเคืองอย่างมากในการหาเลี้ยงชีพ มีปัจจัย 4 อย่างหยาบ เช่น มีอาหารและน้ำน้อย มีเครื่องนุ่งห่มเก่า ร่างกายมอซอ หม่นหมองหรือมีร่างกายไม่สมประกอบ บ้าใบ้ บอด หนวก หาที่นอน ที่อยู่อาศัย ยากรักษาโรค ไม่ใคร่ได้ และเขากลับประพฤติทุจริตทางกาย วาจา ใจเมื่อตายไปย่อมเข้าถึงทุคติอบาย
2. ผู้มืดมาแล้วสว่างไป บุคคลที่เกิดในตระกูลต่ำ ผิวพรรณหยาบ ฯลฯ แต่เขาเป็นคนมีศรัทธา ไม่มีความตระหนี่ เป็นคนมีความดำริประเสริฐ มีใจไม่ฟุ้งซ่าน ย่อมให้ทาน ย่อมลุกรับสมณะชีพราหมณ์ หรือวณิพกอื่นๆ ย่อมสำเหนียกในกริยามารยาทเรียบร้อย ไม่ห้ามคนที่กำลังจะให้ทาน เมื่อตายไปย่อมถึงสุคติโลกสวรรค์
3. ผู้สว่างมาแล้วมืดไป เป็นบุคคลผู้อุบัติเกิดในตระกูลสูง เป็นคนมั่งคั่งมั่งมี มีโภคสมบัติมาก เป็นผู้มีปัจจัย 4 อันประณีต ทั้งเป็นคนรูปร่างสมส่วน สะสวย งดงาม ผิวพรรณดูน่าชม แต่กลับเป็นคนไม่มีศรัทธา ตระหนี่ ไม่มีความเอื้อเฟื้อ กรุณาอาทร มีใจหยาบช้า มักขึ้งโกรธ ย่อมด่า ย่อมบริภาษบุคคลต่างๆ ไม่เว้นแม่กระทั่งมารดาบิดา สมณะชีพราหมณ์ ย่อมห้ามคนที่กำลังให้โภชนาหารแก่คนที่ขอ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงทุคติอบาย
4. ผู้สว่างมาแล้วสว่างไป เป็นบุคคลที่อุบัติเกิดในตระกูลสูง มีผิวพรรณงามและเขาย่อมประพฤติสุจริตทางกาย วาจา ใจ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
แบ่งออกเป็นสี่ทวีป หรือสี่มิติ ได้แก่ ๑.ชมพูทวีป ๒. อุตตรกุรุทวีป ๓. บุพพวิเทหะ ๔.อมรโคยาน
บุพกรรม กรรมของมนุษย์ที่ทำในกาลก่อน ส่งผลให้มีปฏิปทาต่างกัน เช่น บางคนเป็นคนดี บางคนบ้า บางคนรวย บางคนจน บางคนมีปัญญา บางคนเขลา ฯลฯ เพราะเหตุปัจจัยต่างๆ อาทิ ปฏิปทาให้มีอายุสั้น เพราะเป็นคนโหดเหี้ยมดุร้าย มักคร่าชีวิตสัตว์ ปฏิปทาให้มีอายุยืน เป็นผู้เว้นขาดจากการทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วงไป มีความละอาย เอ็นดูอนุเคราะห์ด้วยความเกื้อกูลสรรพสัตว์และภูติอยู่ ปฏิปทามีโรคมาก เป็นผู้มีปกติเบียดเบียนสัตว์ด้วยมือ ท่อนไม้ ก้อนดิน ก้อนหิน หรือศาสตราอาวุธต่างๆ ปฏิปทามีโรคน้อย ไม่เบียดเบียนสัตว์ด้วยมือ หรือศาสตราอาวุธต่างๆ มีมีด ขวาน ดาบ ปืน เป็นต้น ปฏิปทาให้มีผิวพรรณทราม เป็นคนมักโกรธ มากไปด้วยความแค้นเคือง ถูกเขาว่าเล็กน้อยก็ขัดใจโกรธเคือง พยาบาทมาดร้าย ทำความโกรธ ความร้าย และความขึ้งเคียดให้ปรากฏ ปฏิปทาให้มีผิวพรรณงาม เป็นคนไม่มักโกรธ ไม่พยาบาท ไม่มาดร้าย ไม่ทำความโกรธความร้ายและความขึ้งเคียดให้ปรากฏ ปฏิปทาให้เป็นคนมีศักดาน้อย คือเป็นคนมีใจริษยา มุ่งร้าย ผูกใจในการอิจฉาริษยาในลาภสักการะ ความเคารพ ความนับถือ การไหว้และการาบูชาของคนอื่น ปฏิปทาให้เป็นคนมีศักดามาก เป็นคนไม่มีใจริษยา ไม่มุ่งร้าย ยินดีด้วยในลาภสักการะ ความเคารพ ความนับถือ การไหว้และการบูชาของคนอื่น ปฏิปทาให้มีโภคะน้อย เป็นผู้ไม่ให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ที่นอนที่อาศัย เป็นต้น ปฏิปทาให้มีโภคะมาก ชอบให้ทาน มีอาหาร น้ำ เครื่องนุ่งห่ม ของหอม ที่นอนที่อาศัย เครื่องตามประทีปแก่สมณะหรือชีพราหมณ์ เป็นต้น ปฏิปทาให้เกิดในตระกูลต่ำ เป็นคนกระด้าง เย่อหยิ่ง ไม่กราบไหว้คนที่ควรกราบไหว้ ไม่ลุกรับคนที่ควรลุกรับ ไม่ให้อาสนะแก่คนที่ควรให้ ไม่ให้ทางแก่คนที่ควรให้ทาง เป็นต้น ปฏิปทาให้เกิดในตระกูลสูง เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน วจีไพเราะ สงเคราะห์เอื้อเฟื้อ รู้จักยืนเคารพ ยืนรับ ยืนคำนับ ผู้เฒ่า ผู้ใหญ่ สักการะแก่คนที่ควรสักการะ เคารพคนที่ควรเคารพ นับถือคนที่ควรนับถือ บูชาคนที่ควรบูชา เป็นต้น ปฏิปทาทำให้มีปัญญาทราม คือ เป็นผู้ไม่เคยเข้าไปหาบัณฑิต สมณะหรือชีพราหมณ์แล้วสอบถามว่าอะไรเป็นกุศล อะไรไม่เป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ อะไรไม่ควรเสพ เป็นต้น ปฏิปทาทำให้มีปัญญาหลักแหลม เป็นผู้มักเข้าไปสอบถาม บัณฑิตสมณะหรือชีพราหมณ์ แล้วสอบถามว่า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรเมื่อทำลงไปแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์สิ้นกาลนาน อะไรเมื่อทำไปแล้วย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน ดังนี้
เทวภูมิ 6
จาตุมหาราชิกาภูมิ (สวรรค์ ชั้นที่ 1) เป็นที่อยู่ของเทพยดาชาวฟ้า มีท้าวมหาราช 4 พระองค์ปกครอง คือ
  • ท้าวธตรฐมหาราช
  • ท้าววิรุฬหกมหาราช
  • ท้าววิรูปักษ์มหาราช
  • ท้าวเวสสุวัณมหาราช (ท้าวกุเวร) อายุ 500 ปีทิพย์ (9 ล้านปีมนุษย์)
บุพกรรม เมื่อเป็นมนุษย์ ชอบทำความดี สันโดษ ยินดีแต่ของๆ ตน ชักชวนให้ผู้อื่นประกอบการกุศล ชอบให้ทาน ในการให้ทาน เป็นผู้มีความหวังให้ทาน มีจิตผูกพันในผลแห่งทานแล้วให้ทาน มุ่งการสั่งสมให้ทานให้ทานด้วยความคิดว่า “เราตายแล้วจักได้เสวยผลแห่งทานนี้” และเป็นผู้มีศีล ฯลฯ
ตาวติงสาภูมิ (สวรรค์ ชั้นที่ 2)
ที่เรียกว่าไตรตรึงษ์หรือดาวดึงส์ เป็นเมืองใหญ่มี 1,000 ประตู มีพระเกศจุฬามณีเจดีย์ มีไม้ทิพย์ ชื่อ ปาริชาตกัลปพฤกษ์ สมเด็จพระอมรินทราธิราชเป็นผู้ปกครอง อายุ 1,000 ปีทิพย์ (36 ล้านปีมนุษย์) บุพกรรม เมื่อเป็นมนุษย์ มีจิตบริสุทธิ์ยินดีในการบริจาคทาน ในการให้ทาน เป็นผู้ไม่มีความหวังให้ทาน ไม่มีจิตผูกพันในผลแห่งทานแล้วให้ ไม่มีการสั่งสมให้ทาน ไม่ได้ให้ทานด้วยความคิดว่า “ตายแล้วเราจักได้เสวยผลทานนี้” แต่ให้ทานด้วยความคิดว่า “การให้ทานเป็นการกระทำดี” งดงามด้วยพยายามรักษาศีล ไม่ดูหมิ่นผู้ใหญ่ในตระกูล ฯลฯ
ยามาภูมิ (สวรรค์ ชั้นที่ 3)
เป็นที่อยู่ของเทพยดาผู้มีแต่ความสุขอันเป็นทิพย์ มีท้าวสุยามเทวราชเป็นผู้ปกครอง อายุ 2,000 ปีทิพย์ (144 ล้านปีมนุษย์) บุพกรรม เมื่อเป็นมนุษย์มีจิตบริสุทธิ์ พยามสร้างเสบียง ไม่หวั่นไหวในการบำเพ็ญบุญกุศล ในการให้ทาน เป็นผู้ไม่มีความหวังให้ทาน ไม่มีจิตผูกพันในผลแห่งทานแล้วให้ทาน ไม่ได้ให้ทานด้วยความคิดว่า “การให้ทานเป็นการกระทำที่ดี” แต่ให้ทานด้วยความคิดว่า “บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย เคยให้ เคยทำมา เราก็ไม่ควรทำให้เสียประเพณี” รักษาศีล มีจิตขวนขวายในพระธรรม ทำความดีด้วยใจจริง
ตุสิตาภูมิ (สวรรค์ ชั้นที่ 4)
เป็นที่อยู่ของเทพเจ้าผู้มีความยินดีแช่มชื่นเป็นนิจ มีท้าวสันดุสิตเทวราชปกครอง อายุ 4,000 ปีทิพย์ (576 ล้านปีมนุษย์) บุพกรรม เมื่อเป็นมนุษย์มีจิตบริสุทธิ์ ยินดีมากในการบริจาคทาน ในการให้ทาน เป็นผู้ไม่มีความหวังให้ทาน ไม่มีจิตผูกพันในผลแห่งทานแล้วให้ทาน ไม่มุ่งการสั่งสมให้ทาน ไม่ได้ให้ทานด้วยความคิดว่า “บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย เคยให้ เคยทำมา เราไม่ควรทำให้เสียประเพณี” แต่ให้ทานด้วยความคิดว่า “เราหุงหากิน แต่สมณะหรือพราหมณ์ทั้งหลายไม่ได้หุงหากิน เราหุงหากินได้ จะไม่ให้ทานแก่สมณะหรือพราหมณ์ผู้ไม่หุงหากิน ย่อมเป็นการไม่สมควร” ทรงศีล ทรงธรรม ชอบฟังพระธรรมเทศนา หรือเป็นพระโพธิสัตว์รู้ธรรมมาก ฯลฯ
นิมมานรตีภูมิ (สวรรค์ ชั้นที่ 5)
เป็นที่อยู่ของเทพเจ้าผู้ยินดีในกามคุณอารมณ์ ซึ่งเนรมิตขึ้นมาตามความพอใจ มีท้าวสุนิมมิตเทวราชปกครอง อายุ 8,000 ปีทิพย์ (2,304 ล้านปีมนุษย์) บุพกรรม เมื่อเป็นมนุษย์มีจิตใจบริสุทธิ์ ยินดียิ่งในการบริจาคทาน ในการให้ทานเป็นผู้ไม่มีความหวังให้ทาน ไม่มีจิตใจผูกพันในผลแห่งทานแล้วให้ ไม่มุ่งการสั่งสมให้ทาน ไม่ได้ให้ทาน ด้วยความคิดว่า “เราหุงหากินได้ แต่สมณะหรือพราหมณ์ทั้งหลายไม่ได้หุงหากิน เราหุงหากินได้ จะไม่ให้ทานแก่สมณะหรือพราหมณ์ ผู้ไม่หุงหากิน ย่อมเป็นการไม่สมควร” แต่ให้ทานด้วยความคิดว่า “เราจักจำแนกแจกท่านเช่นเดียวกับฤๅษีทั้งหลายในกาลก่อน” ประพฤติธรรมสม่ำเสมอ พยามรักษาศีลไม่ให้ขาดได้ มีใจสมบูรณ์ด้วยศีล และมีวิริยะอุตสาหะในการบริจาคทานเป็นอันมาก เพราะผลวิบากแห่งทาน และศีลอันสูงเท่านั้น จึงอุบัติเกิดในสวรรค์ชั้นนี้ได้
ปรนิมมิตวสวัตตีภูมิ (สวรรค์ ชั้นที่ 6)
เป็นที่อยู่ของเทพเจ้าซึ่งเสวยกามคุณอารมณ์ แบ่งเป็น ฝ่ายเทพยดา มีท้าวปรนิมมิตเทวราช ปกครอง กับ ฝ่ายมารมีท้าวปรนิมิตวสวัตตีมาราธิราชเป็นผู้ปกครอง อายุ 16,000 ปีทิพย์ (9,216 ล้านปีมนุษย์) บุพกรรม เมื่อเป็นมนุษย์มีจิตบริสุทธิ์ อุตส่าห์ก่อสร้างกองการกุศลให้ยิ่งใหญ่เป็นอุกฤษฎ์ อบรมจิตใจสูงส่งไปด้วยคุณธรรม เมื่อจะให้ทานรักษาศีลก็ต้องบำเพ็ญกันอย่างจริงๆ มากไปด้วยความศรัทธาปสาทะอย่างยิ่งยวดถูกต้อง ในการให้ทาน เป็นผู้ไม่มีความหวังให้ทาน ไม่มีจิตผูกพันในผลแห่งทานแล้วให้ทาน ไม่มุ่งการสั่งสมให้ทาน ไมได้ให้ทานด้วยความคิดว่า “เราจักเป็นผู้จำแนกแจกทาน เช่นเดียวกับฤๅษีทั้งหลายแต่กาลก่อน” แต่ให้ทานด้วยความคิดว่า “เมื่อเราให้ทานอย่างนี้ จิตของเราจะเลื่อมใส จะเกิดความปลื้มใจและโสมนัส” เพราะวิบากแห่งทาน และศีลอันสูงส่งยิ่งเท่านั้น จึงอุบัติเกิดในสวรรค์ชั้นนี้ได้

[แก้]โลกเบื้องสูง

ปฐมฌานภูมิ 3 ทุติยฌานภูมิ 3 ตติยฌานภูมิ 3 และ พรหมภูมิตั้งแต่ชั้นที่ 10 – 20 (แต่ละชั้นห่างกันประมาณ 5,508,000 โยชน์) • อสงไขยปีเท่ากับ เลข 1 ตามด้วยเลขศูนย์อีก 140 ตัว • 1 รอบอสงไขยปี เท่ากับ 1 อันตรกัป
พรหมปาริสัชชาภูมิ
พรหมโลก ชั้นที่ 1 ภูมิอันเป็นที่อยู่แห่งพระพรหม ผู้เป็นบริษัทท้าวมหาพรหม พระพรหม อายุ 21 อันตรกัปเศษ บุพกรรม ผู้เจริญสมถภาวนาสำเร็จปฐมฌานได้อย่างสามัญ
พรหมปุโรหิตาภูมิ
พรหมโลก ชั้นที่ 2 ภูมิอันเป็นที่อยู่แห่งพระพรหมทั้งหลาย ผู้ทรงฐานะอันประเสริฐ คือเป็นปุโรหิตของท่านมหาพรหม พระพรหม อายุ 32 อันตรกัป บุพกรรม ผู้เจริญสมถภาวนาสำเร็จได้ปฐมฌานอย่างปานกลาง
มหาพรหมาภูมิ
พรหมโลก ชั้นที่ 3 ภูมิอันเป็นที่อยู่แห่งพระพรหมผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลาย พระพรหม อายุ 1 มหากัป บุพกรรม ผู้เจริญสมถภาวนาสำเร็จปฐมฌานได้อย่างประณีต
ปริตตาภาภูมิ
พรหมโลก ชั้นที่ 4 ภูมิอันเป็นที่อยู่แห่งท่านพระพรหมทั้งหลาย ผู้มีรัศมีน้อยกว่าพระพรหมที่ศักดิ์สูงกว่าตน พระพรหม อายุ 2 มหากัป บุพกรรม ผู้ที่จะมาอุบัติบังเกิดในชั้นนี้ได้ต้องสำเร็จทุติยฌานได้อย่างสามัญ
อัปปมาณาภาภูมิ
พรหมโลก ชั้นที่ 5 ภูมิอันเป็นที่อยู่แห่งพระพรหมทั้งหลาย ผู้มีรัศมีรุ่งเรืองมากมายหาประมาณมิได้ พระพรหม อายุ 4 มหากัป บุพกรรม ผู้เจริญสมถภาวนาสำเร็จทุติยฌานได้อย่างปานกลาง
อาภัสราภูมิ
พรหมโลก ชั้นที่ 6 ภูมิอันเป็นที่อยู่แห่งพระพรหมทั้งหลาย ผู้มีประกายรุ่งโรจน์แห่งรัศมีนานาแสง พระพรหม อายุ 8 มหากัป บุพกรรม ผู้เจริญสมถภาวนาสำเร็จทุติยฌานได้อย่างประณีต
ปริตตสุภาภูมิ
พรหมโลกชั้นที่ 7 ภูมิอันเป็นที่อยู่แห่งพระพรหมทั้งหลาย ผู้มีความสง่าสวยงามแห่งรัศมีเป็นส่วนน้อย พระพรหม อายุ 16 มหากัป บุพกรรม ผู้เจริญสมถภาวนาสำเร็จตติยฌานได้อย่างสามัญ
อัปปามาณสุภาพภูมิ
พรหมโลก ชั้นที่ 8 ภูมิอันเป็นที่อยู่แห่งพระพรหมทั้งหลาย ผู้มีความสวยงามแห่งรัศมีมากมายไม่มีประมาณ พระพรหม อาย 32 มหากัป บุพกรรม ผู้ที่จะมาอุบัติบังเกิดในชั้นนี้ได้ต้องสำเร็จตติยฌานได้อย่างปานกลาง
สุภกิณหาภูมิ
พรหมโลก ชั้นที่ 9 ภูมิอันเป็นที่อยู่แห่งพระพรหมทั้งหลาย ผู้มีความสง่าสวยงาม แห่งรัศมีที่ออกสลับปะปนไปอยู่เสมอตลอดสรีระกาย พระพรหม อายุ 64 มหากัป บุพกรรม ผู้ที่จะมาอุบัติบังเกิดในชั้นนี้ได้ ต้องสำเร็จตติยฌานได้อย่างประณีต
เวหัปผลาภูมิ
พรหมโลก ชั้นที่ 10 ภูมิอันเป็นที่อยู่แห่งพระพรหมทั้งหลาย ผู้ได้รับผลแห่งฌานกุศลอย่างไพบูลย์ พระพรหม อายุ 500 มหากัป บุพกรรม ผู้ที่เจริญสมถภาวนาสำเร็จ จตุตถฌาน
อสัญญสัตตาภูมิ
พรหมโลก ชั้นที่ 11 ภูมิอันเป็นที่อยู่แห่งพระพรหมทั้งหลาย ผู้ไม่มีสัญญา (พรหมลูกฟัก) อายุ 500 มหากัป บุพกรรม ผู้เจริญสมถภาวนาสำเร็จจตุตฌาน และเป็นผู้มีสัญญาวิราคภาวนา(ยึดมั่นว่ารูปมีสาระ นามไม่มีสาระ)เหลือเพียงหนึ่งขันธ์คือรูปขันธ์ ไม่มีนามขันธ์ทั้งสี่(เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ)เหลือเพียงธรรมธาตุสาม คือ จิต มโน ภวังค์ อันทำให้มีชีวิตินทรีย์(มีชีวิต)อยู่
อวิหาสุทธาวาสภูมิ
พรหมโลก ชั้นที่ 12 ภูมิเป็นที่อยู่อันบริสุทธิ์แห่งพระอนาคามี อริยบุคคลทั้งหลายผู้ไม่เสื่อมคลายในสมบัติของตน พระพรหมอนาคามี อายุ 1,000 มหากัป บุพกรรม ผู้เจริญสมถภาวนาได้จตุตถฌานและเจริญวิปัสสนาภาวนาจนสำเร็จเป็นพระอนาคามีอาริยบุคคล โดยมีสัทธินทรีย์แก่กล้า
อตัปปาสุทธาวาสภูมิ
พรหมโลก ชั้นที่ 13 ภูมิอันเป็นที่อยู่อันบริสุทธิ์แห่งพระอนาคามีอริยบุคคลทั้งหลาย ผู้ไม่มีความเดือดร้อน พระพรหมอนาคามี อายุ 2,000 มหากัป บุพกรรม ผู้เจริญสมถภาวนาได้จตตุถฌานและเจริญวิปัสสนาภาวนาจนสำเร็จเป็นพระอนาคามีอริยบุคคลโดยมีวิริยินทรีย์แก่กล้า
สุทัสสาสุทธาวาสภูมิ
พรหมโลก ชั้นที่ 14 ภูมิเป็นที่อยู่อันบริสุทธิ์แห่งพระอนาคามีอริยบุคคลทั้งหลาย ผู้มีความเห็นอย่างแจ่มใส พระพรหมอนาคามี อายุ 4,000 มหากัป บุพกรรม ผู้เจริญสมถภาวนาได้จตุตถฌานและเจริญวิปัสสนาภาวนาจนสำเร็จเป็นพระอนาคามีอริยบุคคลโดยมีสตินทรีย์แก่กล้า
สุทัสสิสุทธาวาสภูมิ
พรหมโลก ชั้นที่ 15 ภูมิเป็นที่อยู่อันบริสุทธิ์แห่งพระอนาคามีอาริยบุคคลทั้งหลาย ผู้มีความเห็นอย่างแจ่มใสมากกว่า พระพรหมอนาคามี อายุ 8,000 มหากัป บุพกรรม ผู้เจริญสมถภาวนาได้จตุตถฌาน และเจริญวิปัสสนาภาวนาจนสำเร็จ เป็นพระอนาคามีอริยบุคคลโดยสมาธินทรีย์แก่กล้า
อกนิฎฐาสุทธาวาสภูมิ
พรหมโลก ชั้นที่ 16 ภูมิเป็นที่อยู่อันบริสุทธิ์แห่งพระอนาคามีอริยบุคคลทั้งหลาย ผู้ทรงคุณวิเศษโดยไม่มีความเป็นรองกัน พระพรหมอนาคามี อายุ 16,000 มหากัป บุพกรรม ผู้เจริญสมถภาวนาได้จตุถฌานและเจริญวิปัสสนาภาวนาจนสำเร็จ เป็นพระอนาคามีอริยบุคคล โดยมีปัญญินทรีย์แก่กล้า
อากาสานัญจายตนภูมิ
พรหมโลก ชั้นที่ 17 ภูมิเป็นที่อยู่แห่งพระพรหมผู้วิเศษ ผู้เกิดจากฌานที่อาศัยอากาสบัญญัติ ซึ่งไม่มีที่สุดเป็นอารมณ์ อรูปพรหม อายุ 20,000 มหากัป บุพกรรม โยคีฤๅษีผู้จตุตถฌานแล้ว และสำเร็จอากาสานัญจายตนฌาน มี่นามขันธ์สี่ แต่ไม่รูปขันธ์
วิญญาณัญจายตนภูมิ
พรหมโลก ชั้นที่18 ภูมิเป็นที่อยู่แห่งพระพรหมผู้วิเศษ ผู้เกิดจากฌานที่อาศัยวิญญาณอันไม่มีที่สิ้นสุดเป็นอารมณ์ อรูปพรหม อายุ 40,000 มหากัป บุพกรรม โยคีฤๅษีผู้ได้อากาสานัญจายตนฌานและสำเร็จวิญญาณัญจายตนฌาน มี่นามขันธ์สี่ แต่ไม่รูปขันธ์
อากิญจัญญายตนภูมิ
พรหมโลก ชั้นที่ 19 ภูมิเป็นที่อยู่แห่งพระพรหมผู้วิเศษ ผู้เกิดจากฌานที่อาศัยนัตถิภาวนาบัญญัติเป็นอารมณ์ อรูปพรหม อายุ 60,000 มหากัป บุพกรรม เป็นโยคีฤๅษีผู้วิญญาณัญจายตนฌานและสำเร็จอากิญจัญญายตนฌาน มี่นามขันธ์สี่ แต่ไม่รูปขันธ์
เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ
พรหมโลก ชั้นที่ 20 ภูมิเป็นที่อยู่แห่งพระพรหมผู้วิเศษ ผู้เกิดจากฌานที่อาศัยความประณีตเป็นอย่างยิ่งมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ อรูปพรหม อายุ 84,000 มหากัป บุพกรรม โยคีฤๅษีผู้ได้อากิญจัญญายตนฌานและสำเร็จเนวสัญญานาสัญญายตฌาน มี่นามขันธ์สี่ แต่ไม่รูปขันธ์
โสดาบันโลกุตตรภูมิ (ภูมิพ้นโลก ชั้นที่ 1)
ผู้ถึงภูมินี้ได้ชื่อว่าพระอริยบุคคลโสดาบัน แบ่งเป็น
1. เอกพิชีโสดาบัน จะเกิดอีกชาติเดียว แล้วก็บรรลุพระอรหัตผล ปรินิพพาน
2. โกลังโกละโสดาบัน จะเกิดอีก 2-6 ชาติ เป็นอย่างมากแล้วก็บรรลุพระอรหัตผล ปรินิพพาน
3. สัตตักขัตตุปรมะโสดาบัน จะเกิดอีกอย่างมากไม่เกิน 7 ชาติ แล้วบรรลุพระอรหัตผล ปรินิพพาน

สกทาคามีโลกุตตรภูมิ (ภูมิพ้นโลก ชั้นที่ 2)
ผู้ถึงภูมินี้ได้ชื่อว่าพระอริยบุคคลสกทาคามี ซึ่งจะเกิดอีกเพียงชาติเดียว แบ่งเป็น 5 ประเภทคือ
1. ผู้ถึงภูมินี้ในมนุษย์โลก และบรรลุอรหัตผลในมนุษย์โลก
2. ผู้ถึงภูมินี้ในมนุษย์โลกแล้วไปบรรลุพระอรหัตผลในเทวโลก
3. ผู้ถึงภูมินี้ในเทวโลกแล้วมาบรรลุพระอรหัตผลในเทวโลก
4. ผู้ถึงภูมินี้ในเทวโลกแล้วมาบรรลุพระอรหัตผลในมนุษย์โลก
5. ผู้ถึงภูมินี้ในมนุษย์โลกแล้วจุติไปเกิดในเทวโลกแล้วกลับมาบรรลุพระอรหัตผลในมนุษย์โลก
อนาคามีโลกุตตรภูมิ (ภูมิพ้นโลก ชั้นที่ 3)
ผู้ถึงภูมินี้ได้ชื่อว่าพระอนาคามี จะไม่กลับมาเกิดในกามภูมิอีก แบ่งเป็น 5 ประเภท คือ
1. อันตราปรินิพพายี สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ปรินิพพานภายในอายุครึ่งแรกของสุทธาวาสภูมิพรหมโลกที่สถิตอยู่
2. อุปหัจจปรินิพพายี สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ปรินิพพานภายในอายุครึ่งหลังของสุทธาวาสภมิพรหมโลกที่สถิตอยู่
3. อสังขารปรินิพพายี สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ปรินิพพานในพรหมโลกที่สถิตอยู่โดยสะดวกสบายไม่ต้องใช้ความเพียรมาก
4. สสังขารปรินิพพายี สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ปรินิพพานในพรหมโลก โดยต้องพยายามอย่างแรงกล้า
5. อุทธังโสโต อกนิฏฐคามี ไปเกิดในสุทธาวาสพรหมโลก ชั้นต่ำที่สุด (อวิหาสุทธาวาสพรหมโลก) แล้วจึงจุติไปเกิดชั้นสูงขึ้นไปตามลำดับ คือ อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี แล้วสำเร็จเป็นพระอรหันต์ปรินิพพานในอกนิฏฐพรหมโลก
อรหัตโลกุตตรภูมิ (ภูมิพ้นโลก ชั้นสูงสุด)
มี 2 ประเภท
1. เจโตวิมุตติ เป็นผู้ปฏิบัติสมถกรรมฐานได้ฌานก่อน แล้วเจริญวิปัสนากรรมฐานต่อจนสำเร็จพระอรหันต์ หรือ ผู้ที่ปฏิบัติเฉพาะวิปัสนากรรมฐาน เมื่อได้มรรคผลนั้นพร้อมกับได้วิชชา 3 อภิญญา 6 สามารถแสดงฤทธิ์ได้
2. ปัญญาวิมุตติ สำเร็จพรอรหันต์ด้วยการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานล้วน ๆ ไม่ได้บำเพ็ญสมถกรรมฐานมาก่อนเลย เรียกว่า สุกขวิปัสสกพระอรหันต์ คือ ผู้ปฏิบัติทำให้ฌานแห้งแล้ง ผู้ถึงภูมินี้ เป็นผู้ที่สมควรแก่การบูชาของเหล่าเทพยดาและมนุษย์ทั้งหลาย เพราะสิ้นกิเลสโดยตัดสังโยชน์ 10 ประการได้ สามารถเข้าอรหัตผลสมาบัติ เสวยอารมณ์พระนิพพานได้ตามปรารถนา และไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกในวัฏสงสาร เมื่อถึงอายุขัยก็ดับขันธ์ปรินิพพาน



Credit : kapook.com,Youtube.com,Bioscope Magazine,th.wikipedia.org,oknation.net
เรียบเรียง : ruengdd.com,เรื่องดีดี.com