เส้นทางชีวิต "ณดล จูทะสมพากร" หนูน้อยอัจริยะ 10 ขวบ แชมป์กีตาร์คลาสสิกระดับโลก
แม้ว่าหลายคนจะเคยรู้จักและได้สัมผัสกับฝีไม้ลายมือของหนูน้อยอัจฉริยะคนนี้มาบ้างแล้ว แต่เชื่อว่าก็น่าจะมีอีกหลายกลุ่มที่ยังไม่รู้จักเด็กชาย คนนี้ ทั้งก่อนและหลังที่เด็กชายตัวน้อยกลายเป็นผู้โด่งดังไปทั่วโลก ชีวิตของเขาเป็นไปและเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง
มาฟังเรื่องราวของเด็กดังจากปากเจ้าตัวกันดีกว่า
ทีมงาน "ประชาชาติธุรกิจ" ได้รับเชิญให้เข้าไปพูดคุยถึงในบ้าน เด็กชาย ณดลและครอบครัวที่ช่วยกันบอกเล่าเรื่องราวของมุมมองชีวิตจากเด็กธรรมดาสู่เส้นทางที่ไม่ธรรมดา พร้อมกับบรรเลงกีตาร์คลาสสิก สลับเสียงเปียโนแสนหวานคลอเคล้าตลอดการพูดคุยในครั้งนี้
ก่อนเริ่มการสนทนา เสียงเพลง "โรแมนซ์" อันแสนนุ่มนวลจากกีตาร์คลาสสิกของน้องณดลก็ดังขึ้นหนึ่งท่อน ก่อนที่จะเริ่มเล่าเรื่องราวของเขาในเส้นทางสายนี้ให้เราฟัง
"ตอนอายุ 6 ขวบ ผมเห็นคุณพ่อเล่นกีตาร์คลาสสิกอยู่ ก็รู้สึกว่าอยากเล่น เลยขอเล่นบ้าง และตั้งแต่ตอนนั้นก็เล่นมาเรื่อย ๆ จนอายุ 10 ขวบ" น้องณดลได้เล่าย้อนให้เราฟังถึงสาเหตุที่ทำให้ตัวเองเลือกจับกีตาร์คลาสสิกเป็นครั้งแรก
หลังจากที่ณดลเริ่มเล่นกีตาร์มาได้สักระยะหนึ่งแล้ว พ่อของณดลก็ตัดสินใจที่จะพาเขาไปหัดเรียนอย่างจริง ๆ จัง ๆ กับอาจารย์กมล อัจฉริยะศาสตร์ ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นอาจารย์สอนกีตาร์คลาสสิกคนแรกของเมืองไทย
ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ที่เด็กคนหนึ่งจะได้เรียนกับปรมาจารย์ เพราะขณะนั้นเขาอายุได้เพียงแค่ 6-7 ปีเท่านั้นเอง นับว่าเป็นช่วงอายุที่น้อยเกินกว่าที่จะเรียนได้ แต่สุดท้ายเมื่อณดลได้ลองแสดงฝีมือกีตาร์ คลาสสิกให้ฟัง อาจารย์กมลก็เกิดเปลี่ยนใจและตกลงรับสอนเขาทันที
จนกระทั่ง 2 ปีผ่านไป ณดลได้มีโอกาสมาพบกับอาจารย์โน้ต-ณัฐวุฒิ รัตนกาญจน์ ลูกศิษย์อีกคนหนึ่งของอาจารย์กมล เส้นทางชีวิตของเขาก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
เนื่องจากอาจารย์โน้ตได้ชักชวนกึ่งรบเร้าแกมขอร้องให้คุณพ่อและคุณแม่ของณดล อนุญาตให้เขาลงแข่งขันกีตาร์คลาสสิกในรายการ Kyznecov"s International Competition 2010 ที่เมืองมะนิโตกอร์ส ประเทศรัสเซีย จนสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศจากการแข่งขันเวทีแรกมาได้สำเร็จ ทั้ง ๆ ที่มีเวลาฝึกซ้อมเพียงแค่ 1 เดือนเท่านั้น ก่อนการเดินทางไปแข่งขันที่รัสเซีย
ณดลเกากีตาร์คลาสสิกในมืออย่างนุ่มนวล ก่อนที่จะเล่าต่อว่า "ตอนที่ไปแข่งที่รัสเซีย อากาศหนาวมาก ติดลบ 3 องศา หนาวจนมือแข็งนิ้วแข็งไปหมด แต่โชคดีที่โรงแรมที่จัดการแข่งมีฮีตเตอร์ก็เลยเอามือไปอุ่นก่อนเล่น อีกอย่างหนึ่งตอนที่แข่งผมก็รู้สึกกังวลเหมือนกันว่า ถ้าไม่ชนะจะทำยังไง เพราะคุณพ่อก็เสียเงินไปเยอะกับค่าใช้จ่ายในการแข่งขัน แต่พอถึงตอนนั้นผมก็เล่นได้และชนะกลับมา"
ภายหลังจากที่ณดลคว้ารางวัลชนะเลิศจากประเทศรัสเซียมาแล้ว หนุ่มน้อยมากพรสวรรค์ผู้นี้ก็ได้รับรางวัลชิงชนะเลิศอีกหลายรายการ ไม่ว่าจะเป็น Thailand International Guitar Festival 2010, Bangkok Guitar Festival 2010 และ Mario Egido 2011 ที่ประเทศสเปน
เสียงกีตาร์คลาสสิกแสนนุ่มนวลของณดลเริ่มบรรเลงขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะเริ่มเล่าให้ฟังถึงสาเหตุที่ทำให้เด็กชายวัย 10 ปีคนนี้ติดอกติดใจ และมุ่งมั่นที่จะอยู่บนเส้นทางสายนี้
"ผมเลือกเล่นกีตาร์คลาสสิกเพราะเสียงมันเพราะ เวลาเล่นออกมาเสียงมันจะนุ่มน่าฟัง แต่ถ้าเป็นกีตาร์โปร่ง เวลาที่เราเล่นเสียงจะเป็นเหล็ก ฟังแล้วไม่รู้สึกนุ่ม คือผมชอบอะไรที่เสียงมันนุ่ม ๆ จากนั้นเป็นต้นมากีตาร์คลาสสิกก็เป็นส่วนหนึ่งที่ผมจะขาดไปไม่ได้เลย"
นี่คือคำบอกเล่าของหนูน้อยวัย 10 ขวบ แชมป์กีตาร์คลาสสิกระดับโลก
ส่วนเบื้องหลังความสำเร็จ บนเส้นทางสายดนตรีของณดล นอกจากพรสวรรค์ที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดแล้ว ส่วนหนึ่งต้องยกเครดิตให้กับ "คุณพ่อชูศักดิ์ จูทะพากร" และ "คุณแม่อริยา บัณฑิตยานนท์" ที่คอยผลักดัน สนับสนุน ปลูกฝังหัวใจแห่งดนตรี และวินัยในการใช้ชีวิตของ ณดล จนหล่อหลอมให้เกิดแชมป์กีตาร์คลาสสิกระดับโลกคนนี้ขึ้นมาได้
พ่อชูศักดิ์เล่าให้ฟังว่า ที่สนับสนุนให้ณดลเล่นดนตรีนั้น ส่วนหนึ่งมาจากความชอบส่วนตัวของเขา และอีกส่วนหนึ่งก็ต้องการใช้ "ดนตรี" เป็นเครื่องมือในการแย่งเวลาในการทำสิ่งไร้สาระของณดล หรือเด็กในสมัยนี้ออกไป เช่น การเล่นคอมพิวเตอร์ หรือการดูโทรทัศน์
อีกอย่างดนตรีสามารถทำให้เขาคลายเครียด และพัฒนาเรื่องของสมาธิได้เป็นอย่างดี
"การที่ณดลเล่นดนตรียังช่วยให้เขาพัฒนาในเรื่องของสมาธิ สมอง และการจดจำ ซึ่งส่งผลไปถึงเรื่องการเรียนของเขาที่ทำออกมาได้ดีทุกปี ทั้ง ๆ ที่ในเวลาปกติที่อยู่บ้านจะไม่ค่อยได้มีเวลาทบทวนบทเรียนมากสักเท่าไรนัก
อีกอย่างดนตรีเป็นสิ่งที่ต้องทำซ้ำ ๆ ทุกวัน จุดนี้เองจะช่วยให้เขาเกิดสิ่งที่เรียกว่าระเบียบวินัยในตัวเองขึ้นมา"
คาดว่าอีกไม่กี่ปี เมืองไทยจะมีครูสอนดนตรีที่อายุน้อยที่สุดในโลก ตามที่เด็กอัจฉริยะผู้นี้ยืนยันว่า "โตขึ้นผมอยากเป็นครูสอนกีตาร์คลาสสิกและเปียโน"
Credit : prachachat.net,Youtube.com,
Post a Comment