วิเคราะห์จุดแข็ง - จุดอ่อน สุขุมพันธุ์ VS พงศพัศ

ช่วงนี้กรุงเทพมหานครดูจะคึกคักมากเป็นพิเศษ เพราะบรรดาผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานครต่างลงพื้นที่ขอคะแนนเสียงจากพี่น้องชาวกรุงกันอย่างแข็งขันตั้งแต่เช้าจรดค่ำ แถมยังตระเวนปราศรัย ให้สัมภาษณ์ตามสื่อต่าง ๆ เพื่อหวังให้นโยบายของตัวเองมัดใจชาวกรุงให้จงได้ และก็เป็นธรรมดาที่ 2 พรรคใหญ่ อย่าง "พรรคประชาธิปัตย์" และ "พรรคเพื่อไทย" ที่ถูกยกให้เป็นเต็งหามจะถูกจับตามองมากกว่าผู้สมัครคนอื่น ๆ 

           ศึกเลือกตั้งหนนี้ บรรดานักวิเคราะห์ทั้งพากันมองว่า พรรคประชาธิปัตย์ ที่ส่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ลงป้องกันแชมป์ คงไม่ยอมให้พรรคเพื่อไทยมาเจาะไข่แดงแย่งฐานที่มั่นสำคัญในกรุงเทพมหานครไปได้แน่นอน จึงต้องงัดกลยุทธ์มาสู้เต็มที่ ขณะที่ฟากฝั่งพรรคเพื่อไทยเอง หนนี้เลือก พล.ต.อ.พงศพัศ พงศ์เจริญ นายตำรวจที่มีภาพลักษณ์ดีมาเป็นคู่ต่อกร หวังดึงคะแนนเสียงคนกรุง ก็มีโอกาสที่จะล้มแชมป์ได้เช่นกัน ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ดูสูสีกันมาก สอดคล้องกับผลสำรวจความคิดเห็นของสำนักต่าง ๆ ที่ออกมาในทิศทางเดียวกันว่า ผู้สมัครทั้ง 2 คน มีคะแนนมากน้อยต่างกันไม่ถึง 1% 

          ในเมื่อสูสีกันขนาดนี้ ก็ลองมาฟังนักวิชาการ สื่อมวลชน และผู้ที่เกี่ยวข้องวิเคราะห์จุดแข็ง-จุดอ่อน ของผู้สมัครทั้งสองคนนี้ว่าเป็นอย่างไร

อาจารย์สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

         จุดแข็ง-จุดอ่อน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์

          การเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ จะได้เปรียบตรงที่มีฐานเสียงในกรุงเทพมหานครมากกว่า เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์มีจำนวน ส.ก. และ ส.ข. มากกว่าพรรคเพื่อไทยเกือบเท่าตัว แต่ก็ไม่ใช่ข้อได้เปรียบทั้งหมด เพราะในอดีตก็มีข้อมูลแย้งว่า การมีจำนวน ส.ก. และ ส.ข. มากกว่านั้น ไม่ได้ทำให้ชนะการเลือกตั้งได้เหมือนกัน 

          ส่วนเรื่องภาพลักษณ์ของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร นั้น อาจารย์สิริพรรณ ระบุว่า มีทั้งจุดเด่น และจุดด้อย เริ่มที่จุดเด่น คือ ภาพลักษณ์ดูเป็นคนซื่อสัตย์ คนอาจมองได้ว่าไม่น่าจะโกง แม้จะถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษตั้งข้อหาเรื่องต่อสัญญารถไฟฟ้าบีทีเอส แต่เรื่องก็ยังไม่ถึงที่สุด คนอาจมองได้ว่าถูกกลั่นแกล้ง ทำให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้คะแนนสงสารก็เป็นได้

          มาถึงเรื่องที่เป็นจุดด้อยบ้าง นั่นก็คือ หลังจากเหตุการณ์อุทกภัยใหญ่ ทำให้ภาพลักษณ์ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ อาจติดลบ เพราะอุโมงค์ยักษ์ไม่สามารถช่วยระบายน้ำท่วมได้ และยังมีปัญหาด้านการสื่อสารให้คนเข้าใจสถานการณ์ อย่างเช่น ตอนน้ำท่วมดึก ๆ ออกมาประกาศว่าให้พี่น้องอพยพ แทนที่จะให้ข้อมูลคนอพยพ บอกแนวทางแก้ปัญหา แต่กลับทำให้คนตื่นตระหนก รวมทั้งยังมีปัญหาเรื่องสร้างสนามฟุตซอลเสร็จไม่ทัน แต่กลับชี้แจงได้ไม่ชัดเจน แทนที่จะแถลงให้ข้อเท็จจริง แต่กลับแถลงขอความเห็นใจ

          อย่างไรก็ตาม ปกติแล้วคนกรุงเทพฯ เวลาเลือกตั้งจะแยกเรื่องผลงานและพรรคออกจากกัน ดังนั้น คะแนนส่วนหนึ่งของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จะมาจากแฟนพันธุ์แท้ของพรรคประชาธิปัตย์ แม้ไม่ชื่นชอบผู้สมัคร แต่ก็จะลงคะแนนให้ เพราะกลัวพรรคประชาธิปัตย์จะแพ้ ฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์จะได้มาจากคนชั้นกลางจนถึงระดับสูง แต่คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มักจะขี้เกียจออกมาใช้สิทธิ์ 

         จุดแข็ง-จุดอ่อน พล.ต.อ.พงศพัศ พงศ์เจริญ ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย

          มาถึงฝั่งเพื่อไทย อาจารย์สิริพรรณ ชี้ว่า คนจะมองภาพของ พล.ต.อ.พงศพัศ ในฐานะโฆษกตำรวจเป็นหลัก ซึ่งอาจไม่มีผลงานเป็นรูปธรรม แต่พอเริ่มประกาศตัวลงสมัครก็ฉวยโอกาสรับฝากบ้านช่วงปีใหม่ ซึ่งเป็นผลงานหลักอย่างเดียว แต่ถึงกระนั้นก็มีสิทธิที่จะคว้าคะแนนคนกรุงเช่นกัน เพราะคนอาจอยากให้โอกาส อยากลองของใหม่ นอกจากนี้ ภาพลักษณ์ที่เป็นคนมีบุคลิกยิ้มแย้มแจ่มใส เข้าถึงคนง่าย หน้าตาดี อาจดึงคะแนนคนชั้นกลางและชั้นล่างได้มาก แต่ภาพที่ปรากฏต่อสาธารณะดูฉาบฉวย

          ส่วนเรื่องนโยบายนั้น พล.ต.อ.พงศพัศ ได้เปรียบตรงที่ยังไม่มีนโยบายอะไรที่สัญญาแล้วทำไม่ได้ เพราะพรรคเพื่อไทยไม่ได้เป็นผู้ว่าฯ ครั้งที่แล้ว แต่ก็ยังไม่มีผลงานชิ้นโบแดงเช่นกัน ส่วนการเสนอนโยบายหรือจุดยืนทางความคิดที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงก็ยังไม่เห็น จึงต้องพิสูจน์ความจริงใจภายใน 60 วันในช่วงเวลาที่หาเสียง

          ทั้งนี้ แฟนพันธุ์แท้ของพรรคเพื่อไทยอย่างไรก็ต้องเลือกพรรคเพื่อไทยแน่ เพราะกลัวจะแพ้ โดยฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย ส่วนมากจะอยู่ในเขตรอบนอกบางส่วน และไม่ใช่เป็นคนกรุงเทพฯ จึงไม่มีสิทธิเลือกตั้ง

อาจารย์สุขุม นวลสกุล นักวิชาการทางรัฐศาสตร์
         จุดแข็ง-จุดอ่อน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์

          อาจารย์สุขุม มองว่า การหาเสียงของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ คงไม่มีผลต่อการเพิ่มคะแนน เพราะคนจะตัดสินใจจากผลงานเก่าว่าจะเลือกต่อหรือไม่ ดังนั้น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ จึงอาจต้องหาเสียงในลักษณะการชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจในเรื่องข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น หรือพยายามทำให้คนรู้สึกว่าถูกรังแก 

         จุดแข็ง-จุดอ่อน พล.ต.อ.พงศพัศ พงศ์เจริญ ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย

          ขณะที่ พล.ต.อ.พงศพัศ มีภาพลักษณ์การเป็นตำรวจที่น่ารัก เข้าหามวลชน แต่ต้องไม่ลืมว่า คนกรุงเทพฯ อาจเลือกจากเรื่องความคิดทางการเมืองมากกว่าตัวบุคคล อย่างเช่นต้องการถ่วงดุลอำนาจพรรคเพื่อไทย จึงอาจเบนไปเลือกพรรคประชาธิปัตย์ก็เป็นได้ โดยส่วนตัวมองว่า พรรคประชาธิปัตย์เป็นต่อไม่มาก เพราะผลงานไม่ประทับใจ ซึ่งต้องจับตากลยุทธ์หาเสียงในสัปดาห์สุดท้ายของทั้งฝ่ายว่าจะออกมาในรูปแบบไหน

นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
         จุดแข็ง-จุดอ่อน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์

          สำหรับข้อได้เปรียบของผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์นั้น นพดล กรรณิกา มองว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้เปรียบเรื่องประสบการณ์ เข้าใจปัญหาคนกรุงเทพฯ มีความอดทนอดกลั้น และในเหตุการณ์อุทกภัยที่ผ่านมาก็ช่วยปกป้องพื้นที่สำคัญของกรุงเทพฯ ให้พ้นวิกฤติได้ แม้จะขัดแย้งกับรัฐบาล แต่ก็มีข้อเสียเปรียบตรงที่นั่งดำรงตำแหน่งนานถึง 4 ปี แต่ยังแก้ปัญหาไม่ได้ รวมทั้งยังมีปัญหาเรื่องสนามฟุตซอลให้ถูกโจมตีด้วย และหากได้รับการเลือกตั้งอีกครั้ง ก็จะเสียเปรียบในเรื่องของการประสานงานกับรัฐบาล  
ในส่วนคดีต่อสัญญารถไฟฟ้าบีทีเอสนั้น นายนพดล มองว่า หากพบว่ามีความผิดจริง จะส่งผลเสียต่อ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ อย่างมากแน่นอน แต่ถ้าเป็นเพียงเกมการเมือง ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์รายนี้จะคว้าคะแนนได้เปรียบไปทันที

         จุดแข็ง-จุดอ่อน พล.ต.อ.พงศพัศ พงศ์เจริญ ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย

          สำหรับ พล.ต.อ.พงศพัศ นั้น นายนพดล มองว่า เป็นผู้ที่มีภาพลักษณ์ความเป็นตำรวจที่ดี เข้าถึงชาวบ้าน แม้จะไม่เคยทำงานด้านการเมือง แต่ประชาชนก็อาจจะสนใจ และอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น นอกจากนี้ยังมีผลงานโดดเด่นในฐานะเลขาธิการ ป.ป.ส. และแก้ปัญหายาเสพติดระดับครอบครัวด้วย

          อย่างไรก็ตาม จุดเสียก็ยังมีตรงที่ขาดภาพลักษณ์ในเรื่องของเศรษฐกิจ และค่าครองชีพ แต่หากรัฐบาลชุดนี้ทำงานได้ครบวาระก็อาจเป็นข้อได้เปรียบต่อ พล.ต.อ.พงศพัศ 

สารส้ม คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์แนวหน้า
         จุดแข็ง-จุดอ่อน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์

          ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร มีจุดเด่นอยู่ตรงที่เคยทำงานมาแล้ว สามารถสานต่องานได้ทันที และนโยบายที่ประกาศก็ดูแล้วมีความเป็นไปได้ ไม่เพ้อเจ้อ มีบรรดา ส.ส., ส.ก. และ ส.ข. ของพรรคคอยช่วยเหลืออยู่ รวมทั้งผู้ใหญ่ในบ้านเมือง อีกทั้งอาจได้คะแนนความเห็นใจในช่วงที่เกิดเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมือง และน้ำท่วมใหญ่ แต่จุดอ่อนอยู่ที่เมื่อเคยทำงานมาแล้วก็ย่อมมีคนที่พอใจและไม่พอใจ อาจมีคนหยิบยกเรื่องที่ทำงานบกพร่องมาเป็นจุดโจมตีได้ง่าย

          ในเรื่องบุคลิกภาพ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ดูมีความรู้ มีประสบการณ์ แต่มีจุดอ่อนคือ พูดไม่เก่ง ตอบโต้ทางการเมืองไม่เป็น ไม่มีโวหารการเมืองที่คมคาย ขาดเสน่ห์ส่วนตัว

         จุดแข็ง-จุดอ่อน พล.ต.อ.พงศพัศ พงศ์เจริญ ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย

          สำหรับ พล.ต.อ.พงศพัศ นั้น สารส้ม มองว่า มีจุดเด่นตรงที่พรรคเพื่อไทยคอยช่วยเหลืออยู่ และอาจมีกลไกอำนาจรัฐคอยสนับสนุนอยู่ด้วย จึงได้เปรียบมาก สำหรับนโยบายหาเสียงก็ออกมาในลักษณะที่ต้องพึ่งพิงรัฐบาลส่วนกลาง เช่น รถเมล์ฟรีทุกคัน เรือโดยสารฟรี แก้ปัญหายาเสพติด ฯลฯ ซึ่งบางนโยบายอาจต้องนำเงินภาษีอากรของคนทั้งประเทศมาใช้ ตรงนี้อาจทำให้คนเสื้อแดงเต็มตัวมองว่าเป็นจุดแข็งได้ แต่สำหรับคนฝ่ายตรงข้ามก็ยิ่งจะมองเป็นจุดอ่อน สร้างความไม่พอใจได้เช่นกัน ดังนั้น พรรคเพื่อไทยก็ต้องระวังปฏิกิริยาตีกลับ 

          ส่วนการที่พรรครัฐบาลลงพื้นที่ช่วย พล.ต.อ.พงศพัศ หาเสียง พร้อมกับชูนโยบายไร้รอยต่อนั้น สารส้ม มองว่า อาจทำให้ พล.ต.อ.พงศพัศ เสียเปรียบ เพราะช่วยสร้างข้ออ้างที่ได้เปรียบให้กับผู้สมัครคนอื่น ๆ 

          ในด้านบุคลิกภาพ เจ้าของฉายา "จูดี้อีเว้นท์" ได้เปรียบตรงที่เล่นกิจกรรมที่สร้างภาพลักษณ์มาโดยตลอด ตั้งแต่สมัยเป็นโฆษก สตช. จึงสามารถสร้างภาพลักษณ์ให้ตัวเองได้อย่างไม่ขัดเขิน แต่จุดอ่อนคือ ยังไม่ปรากฏผลงานเป็นชิ้นเป็นอันเท่าไรนัก ประชาชนจำได้แต่ภาพที่ออกหน้ากล้อง แถลงข่าวมากกว่า

อนุภพ คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
         จุดแข็ง-จุดอ่อน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์

          สวมเสื้อพรรคประชาธิปัตย์ทำให้ได้เปรียบ เพราะมีฐานคะแนนในกรุงเทพมหานครมากกว่าคู่แข่ง และเป็นอดีตผู้ว่าฯ ที่มีผลงานให้พูดถึง แต่ก็กลายเป็นข้อเสียเช่นกัน เพราะผลงานไม่น่าจะประทับใจสักเท่าไร แถมยังถูกตั้งข้อหาคดีต่อสัญญารถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งมีผลฉุดคะแนนทั้งสิ้น แต่ก็อาจได้รับคะแนนสงสาร เพราะคนกรุงเทพฯ เป็นคนขี้สงสาร

          นอกจากนี้ สุขุมพันธุ์ ยังมีปัญหาเรื่องการสื่อสาร หลายครั้งคนกรุงไม่เข้าใจว่าต้องการสื่ออะไรให้รับทราบกันแน่ ขณะที่คนทั่วไปก็ยังมองว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ไม่ค่อยถึงลูกถึงคนในการทำงาน ทำงานช้า

         จุดแข็ง-จุดอ่อน พล.ต.อ.พงศพัศ พงศ์เจริญ ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย

          คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ มองว่า แม้ฐานเสียงพรรคเพื่อไทยจะน้อยกว่า แต่ภาพลักษณ์ของ พล.ต.อ.พงศพัศ ก็น่าจะเรียกคะแนนเสียงได้ไม่น้อย เพราะคนรู้จักกันดี พูดจาสื่อสารให้สังคมเข้าใจง่าย มีภาพลักษณ์การทำงานที่คล่องตัวกว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ และถึงลูกถึงคนมากกว่า จึงน่าจะได้รับคะแนนจากคนชั้นล่างมาก ขณะที่คนชั้นกลางอาจจะเลือกเพราะอยากลองของใหม่ และเบื่อของเก่าก็เป็นได้ 

ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน
          ดร.เสรี วงษ์มณฑา ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่วิเคราะห์สนามเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานครที่ใกล้จะถึงนี้เช่นกัน โดย ดร.เสรี ได้โพสต์เฟซบุ๊กวิเคราะห์จุดอ่อนของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ไว้อย่างน่าสนใจดังนี้


          1. พรรคประชาธิปัตย์ยึกยักในตอนต้นแสดงให้เห็นว่าแม้แต่คนในพรรคก็ไม่มั่นใจ ตอนตัดสินใจให้คุณชาย (ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร) ลง ก็ยังบอกคะแนนออกเสียงในคณะกรรมการอีกว่าไม่เป็นเอกฉันท์

          2. คุณชายสามารถูกโจมตีผลงานที่ไม่โดดเด่น จะโดนกล่าวหาเรื่องน้ำท่วม เรื่องฟุตซอล และยังโดนการกล่าวหาให้เป็นคดีจาก นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษด้วย

          3. คำขวัญของ พล.ต.อ.พงศพัศ พงศ์เจริญ จากพรรคเพื่อไทย ที่บอกว่าทำงานกับรัฐบาลแบบไม่มีรอยต่อเป็นคำขวัญที่แสดงความแตกต่างที่ได้เปรียบ (unique competitive advantage) ที่พงศพัศพูดได้คนเดียวและดูจะเป็นประโยชน์สำหรับประชาชน ขณะที่คำขวัญของคุณชาย "รักกรุงเทพฯ มาช่วยกันสร้างกรุงเทพฯ " ไม่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของคุณชาย ผู้สมัครคนอื่นก็พูดได้ ถ้าจะเก็บไว้ก็ได้ แต่ต้องหาคำขวัญที่ unique เฉพาะสำหรับคุณชายออกมาโดยเร็ว

          4. คนที่จะเลือกเพื่อไทยเหนียวแน่น ไม่พิจารณาคนอื่น แต่คนจะเลือกคุณชาย แม้จะมีแฟนพันธุ์แท้ของประชาธิปัตย์ แต่คนกลุ่มนี้ยังมีตัวเลือกที่น่าสนใจ คือวัยรุ่นอาจเลือกดีเจวิทยุที่พวกเขาคุ้นเคย และบางคนอาจจะเทคะแนนให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ทำให้เสียงแตก จนทำให้คะแนนคุณชายแพ้พงศพัศได้

          5. พงศพัศ ลงในนามพรรคที่เป็นรัฐบาล ดังนั้นจะมีตัวช่วยเยอะมาก ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ค่อยมีแนวร่วม เพราะวัฒนธรรมของพรรคไม่ค่อยง้อใคร ไม่ชื่นชมใคร คิดว่าตัวเองเก่ง ไม่ค่อยฟังคำแนะนำใคร ไม่ขอให้ใครช่วย ไม่ทำให้คนที่อยากจะช่วยมองเห็นว่าตัวเองมีคุณค่าสำหรับประชาธิปัตย์ที่ไม่ค่อยแสดงว่า appreciate ใคร จึงเดียวดาย

          6. ต้องยอมรับว่า พงศพัศ มีบุคลิกติดดินใกล้ชิดชาวบ้าน พูดเก่ง สามารถเข้าถึงประชาชนได้ดีกว่าคุณชายที่ขรึม พูดจาด้วยความระมัดระวัง ห่วงบุคลิกจนดูห่างไกล เข้าไม่ถึงประชาชน

          7. แกนนำประชาธิปัตย์ที่ลงมาช่วยคุณชายมีเพียงไม่กี่คน ดูไม่พร้อมพรัก แกนนำอาวุโสไม่มีใครออกมาเลย

          8. ส.ก. และ ส.ข. บางรายอาจจะไม่ชอบคุณชาย แม้ไม่โจมตี แต่อาจจะไม่ออกมาช่วยคุณชายหาเสียง

          9. เพื่อไทยจะใช้การตลาดเต็มที่ เพราะทุนหนาและเจ้าของพรรคเชื่อพลังการตลาด แต่ประชาธิปัตย์ขี้เหนียว ผู้ใหญ่ในพรรคไม่เชื่อพลังการตลาด ดังนั้น เรื่องนี้เพื่อไทยจะเต็มที่ แต่พรรคประชาธิปัตย์จะไม่เต็มที่ ดังนั้น exposure ของคุณชายจะสู้พงศพัศไม่ได้

          ฟังการวิเคราะห์แบบนี้แล้วคงยิ่งย้ำภาพให้เห็นชัดขึ้นว่า ศึกเลือกตั้งครั้งนี้สูสีกันชนิดหายใจรดต้นคอแน่นอน โดยเฉพาะธรรมชาติของคนกรุงเทพฯ ที่ส่วนใหญ่ไม่ได้จงรักภักดีกับพรรคใดพรรคหนึ่งมากเป็นพิเศษ คะแนนโหวตจึงมักจะสวิงตามอารมณ์และสถานการณ์เสมอ ๆ โดยเฉพาะในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งดังที่เคยปรากฏมาแล้ว เพราะฉะนั้นอะไรก็เกิดขึ้นได้ ชาวกรุงผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคนจะให้คำตอบในวันอาทิตย์ที่ 3 มีนาคม 2556





อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
    
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ , เฟซบุ๊ก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร