มาเร็วกว่าที่คิด! น้ำท่วมเหมือนแบบจำลองอีก 10 ปี ข้างหน้าพร้อมรวมสถานะการณ์น้ำท่วม



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก รายการเจาะข่าวเด่น, Youtube.com โพสต์โดย ladyEdnaMode     

          วิกฤติน้ำท่วมในหลายจังหวัด ขณะนี้ยังไม่มีวี่แววว่าจะคลี่คลายลง ประชาชนในหลายจังหวัดต้องทนทุกข์ ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ยอมเป็นที่พักน้ำให้กับเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร แต่ทั้งนี้ก็ไม่อาจทราบได้ว่า  แต่ละจังหวัดจะสามารถรับน้ำได้อีกขนาดไหน และรับน้ำได้นานเท่าไร ส่วนเขื่อนใหญ่ ๆ หลายเขื่อน ปริมาณน้ำเกินความจุหมดแล้ว ทำให้น้ำอาจจะไหลเข้ามาท่วมกรุงเทพฯ ในไม่ช้า และถึงแม้วันนี้สถานการณ์จะยังไม่วิกฤติ แต่หลายพื้นที่น้ำเริ่มท่วมในหลายจุดแล้ว และคาดกันว่าในไม่ช้าเมืองหลวงของประเทศไทย อาจจะจมอยู่ใต้บาดาล ดังที่ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ เคยได้วิเคราะห์ไว้เมื่อปี 2553 ... ว่าภายใน 10 ปีนี้ น้ำจะท่วมหนักเหมือนปี 2538 หรืออาจจะหนักกว่านั้นก็เป็นได้ ซึ่งวันนี้เราขอย้อนนำคลิปเกี่ยวกับการทำนายน้ำท่วม ของ รศ.ดร.เสรี มาให้อ่านและดูกัน


           โดยในคลิปดังกล่าว ได้จำลองเหตุการณ์น้ำท่วมในอีก 10 ข้างหน้า ซึ่งวิเคราะห์โดย รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์  ที่ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการเจาะข่าวเด่น ทางช่อง 3 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2553  ซึ่งใครเลยจะรู้ว่า เหตุการณ์ที่คาดไว้ล่วงหน้าจะมาถึงอย่างรวดเร็วขนาดนี้ ...

          ทั้งนี้ รศ.ดร.เสรี ระบุว่า ทุก ๆ 25 ปีของประเทศไทย จะเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ เนื่องจากปัญหาแผ่นดินทรุดตัว น้ำทะเลหนุน ภาวะโลกร้อน บวกกับปัญหาทางธรรมชาติ ทั้งพายุที่ถาโถมเข้ามาหลายต่อหลายลูก และเมื่อคำนวนจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2538 จนถึงวันนี้ ก็ผ่านมา 15 ปีแล้ว และต่อจากนี้ไป ภายใน 10 ปี กรุงเทพมหานครจะต้องจมลงอยู่ใต้บาดาลแน่นอน ... ถ้าตอนนี้ยังไม่เตรียมการที่จะรับมือกันตั้งแต่เนิ่น ๆ

        รศ.ดร.เสรี  กล่าวต่ออีกว่า ภายในระยะเวลา 10 ปี กรุงเทพฯ จะมีน้ำท่วมสูงถึง 1.80 เมตร ถึง 2 เมตร เรียกได้ว่าเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมที่ใหญ่ และรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์เลยทีเดียว แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่ระดับความสูงของพื้นที่ในกรุงเทพฯ ที่มีระดับความสูงลดหลั่นกันไป โดยเฉพาะในช่วงเดือนตุลาคม และเดือนพฤศจิกายน ที่น้ำทะเลหนุนตัวสูง เวลาฝนตก น้ำก็ไม่สามารถระบายออกสู่ทะเลได้ ทำให้ประชาชนในกรุงเทพ 1 ล้าน 6 แสนครัวเรือน ต้องจมอยู่ในน้ำอย่างเลี่ยงไม่ได้

         และหลังจากประเมินเหตุการณ์ล่วงหน้านั้น รศ.ดร.เสรี  กล่าวว่า น้ำจะท่วมหนักไล่ลงมาตั้งแต่ จ.ชัยนาท จ.สิงห์บุรี จ.อ่างทอง และที่หนักที่สุดที่ จ.อยุธยา เพราะเป็นที่ที่น้ำสองส่วนไหลเข้ามาบรรจบกัน ทั้งจากเขื่อนเจ้าพระยาและจากแม่น้ำป่าสัก อีกทั้งจังหวัดอยุธยายังเป็นจังหวัดพักน้ำให้กับกรุงเทพฯ และปริมณฑล และเมื่ออ่างเก็บน้ำต่าง ๆ รับไม่ไหว คันกั้นน้ำท้านต้านไม่อยู่ กระแสน้ำก็จะไหลเข้าสู่กรุงเทพอย่างแน่นอน

         แต่ทว่า หลังจากนี้ ทุกจังหวัดต่างก็จะสร้างคันกั้นน้ำของตัวเอง จะไม่ยอมให้จังหวัดตัวเองต้องทนทุกข์อยู่ใต้บาดาล เพื่อช่วยชาวเมืองกรุงเทพฯ แค่เมืองเดียว เพราะที่ผ่านมาแต่ละจังหวัดต่างก็เสียสละ เป็นที่พักน้ำโดยไร่นา พืชผลทางการเกษตร และที่อยู่อาศัยของประชาชนเสียหายประเมินค่าแทบไม่ได้
    
      และถึงแม้ว่า ทางกรุงเทพฯ จะสร้างอุโมงค์ระบายน้ำถึง 4 แห่ง ก็ไม่สามารถต้านทานได้ เพราะแต่ละอุโมงค์จะรับน้ำได้เพียง 4-5 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น แต่จำนวนน้ำที่จะไหลลงมานั้น มันมากกว่า 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เลยทีเดียว  แต่ถึงทางจังหวัดต่าง ๆ จะยอมเสียสละเป็นที่พักน้ำให้ แต่กรุงเทพฯ ก็เสี่ยงที่จะจมน้ำกว่าครึ่งเมือง แต่ถ้าจังหวัดที่พักน้ำไม่ยอมกันน้ำให้ ... แน่นอน กรุงเทพฯ จะกลายเป็นทะเลสาบขนาดใหญ่ไปในพริบตา

      ส่วนวิธีแก้ปัญหาเท่านี้ มีเพียงสองทางเท่านั้น ทางเลือกที่หนึ่ง คือ หาพื้นที่พักน้ำทำเป็นแก้มลิงเพื่ออมน้ำ แล้วค่อย ๆ ปล่อยมาให้ทางกรุงเทพฯ หาทางระบายน้ำได้ทัน ส่วนทางเลือกที่สอง คือขุดรอกคูคลอง เพื่อให้มีที่ระบายน้ำเพิ่มขึ้น เสริมคันดินให้ชาวบ้าน ปลูกป่าชายเลนเป็นกันชน เพื่อบรรเทาการไหลของน้ำ และจะได้มีเวลาระบายน้ำออกจากกรุงเทพฯ ได้

      ... จากคลิปดังกล่าว จะเห็นได้ว่า การวิเคราะห์และการประเมินการณ์ต่าง ๆ สอดคล้องกับเหตุการณ์ในปัจจุบันเป็นอย่างมาก จนไม่น่าเชื่อว่า ภายในระยะเวลา 10 ที่ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์  กล่าวไว้นั้นจะมาถึงเร็วขนาดนี้ ... แต่ที่แน่ ๆ  บางนาตราด บางขุนเทียน ลาดพร้าว และฝั่งธนบุรี ท่วมแน่นอน ... เตรียมตัว เตรียมใจ ตั้งสติ พร้อมรับมือให้ดี ๆ 




สื่อนอกรายงานข่าวน้ำท่วมไทย ระบุร้ายแรงสุดในรอบ 10 ปี

                          น้ำท่วม




น้ำท่วม  
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ครอบครัวข่าว 3


          กลายเป็นประเด็นที่ปรากฎให้เห็นแทบจะทุกตารางนิ้วของหน้าหนังสือพิมพ์และสื่อต่าง ๆ เลยทีเดียว สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมไทย ที่นับว่าหนักมากในรอบหลายปีที่ผ่านมา และความเสียหายเดือดร้อนจากน้ำท่วมในครั้งนี้ ถือว่าอยู่ในระดับที่รุนแรงมาก จนในขณะนี้ไม่ใช่แค่เพียงสื่อมวลชนไทยเท่านั้นที่เฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิด แต่สื่อมวลชนทั่วโลกต่างติดตามสถานการณ์บ้านเราและรายงานข่าวกันอย่างต่อเนื่องเช่นกัน


          สำนักข่าวยักษ์ใหญ่ของโลกอย่างรอยเตอร์ส, ซีเอ็นเอ็น, เอเอฟพี และบีบีซี ต่างรายงานสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศไทยกันทุกวัน นับตั้งแต่ที่น้ำเริ่มท่วมในพื้นที่ต่าง ๆ เรื่อยมาจนถึงวันนี้ โดยระบุว่าประเทศไทยเป็นประเทศล่าสุดในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ เผชิญกับสถานการณ์น้ำท่วม ซึ่งสถานการณ์น้ำท่วมในไทยขณะนี้ เป็นน้ำท่วมครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปี และสร้างความเสียหายหนักครอบคลุมในหลายพื้นที่ รวมแล้วส่งผลกระทบมากกว่า 33 จังหวัด แม้แต่เมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ก็กำลังจะได้รับผลกระทบในเร็ววันนี้ หลังจากรัฐบาลได้ออกมาเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำให้เตรียม ตัวรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมและเตรียมอพยพออกจากพื้นที่เสี่ยงแล้ว โดยน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะเพิ่มระดับขึ้นสูงในช่วงวันที่ 15-18 ตุลาคมนี้ ขณะที่บางพื้นที่ในกรุงเทพฯ ก็ถูกน้ำท่วมไปแล้ว อย่างไรก็ดี ทางรัฐบาลไทยกำลังพยายามอย่างสุดกำลังเพื่อระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาลงสู่ ทะเล


            ส่วนพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบร้ายแรงที่สุด คือ พื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ อยุธยา ลพบุรี นครสวรรค์ และชัยนาท ซึ่งประชาชนที่ได้รับผลกระทบหนักมีจำนวนรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 820,000 คน และโรงงานอุตสาหกรรมกว่า 1,215 แห่งจมอยู่ใต้น้ำ โดยเฉพาะโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ อยุธยา ระดับน้ำท่วมสูงกว่า 3 เมตร ทำให้โรงงานในพื้นที่นี้กว่า 200 แห่งต้องปิดตัวลงเพราะได้รับความเสียหายหนักมาก ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตจากสถานการณ์น้ำท่วมทั่วประเทศตอนนี้มีไม่ต่ำกว่า 269 คน และสูญหายอีก 5 คน


             ขณะเดียวกัน สำนักข่าวต่างประเทศยังระบุว่า คนไทยมีการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ ในการแพร่กระจายข่าว รูปภาพ ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วม  และประสานงานช่วยเหลือผู้ประสบภัย ซึ่งเป็นช่องทางการสื่อสารที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากในช่วงที่สถานการณ์เข้าขั้นวิกฤต


             ส่วนทางด้านหน่วยงานหลายหน่วยงานจากต่างประเทศ ขณะนี้ต่างเป็นห่วงสถานการณ์น้ำท่วมในเมืองไทยและประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และได้ติดต่อเข้ามาสอบถามข้อมูลเพื่อยื่นมือให้ความช่วยเหลือแล้ว ขณะที่ทางด้าน ฮิลลารี่ คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ‎ของสหรัฐ ได้แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุการณ์น้ำท่วมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


            ทั้งนี้ ไม่ใช่เพียงประเทศไทยเท่านั้นที่สถานการณ์น้ำท่วมอยู่ในขั้นวิกฤต แต่เพื่อนบ้านของเราอย่างกัมพูชา ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ก็ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเช่นกัน โดยเฉพาะกัมพูชา มีรายงานว่า เหตุการณ์น้ำท่วมได้นำมาซึ่งความสูญเสีย มีผู้เสียชีวิตแล้วไม่ต่ำกว่า 207 คนและปศุสัตว์อีกไม่ต่ำกว่า 1,000 ตัว ส่วนฟิลิปปินส์ หลังจากเผชิญกับไต้ฝุ่นเนสาตและพายุนาลแกแล้ว ก็ทำให้เกิดน้ำท่วม ดินถล่มตามมา คร่าชีวิตประชากรไปแล้วไม่ต่ำกว่า 95 คน และที่ประเทศเวียดนาม ได้เผชิญกับฝนตกหนักหลายวันทำให้เกิดน้ำท่วมตามมา มีผู้เสียชีวิตแล้วไม่ต่ำกว่า 23 คน ขณะที่ประเทศลาวก็มีฝนตกหนักน้ำท่วมในบางพื้นที่เช่นกัน และกำลังทุ่มทุนเพื่อวางระบบรับมือกับน้ำท่วมแล้ว


น้ำท่วม

CNN เตือน 1-2 วัน ความกดอากาศต่ำจะเข้าไทย  (ไอเอ็นเอ็น)



         เว็บไซต์ CNN รายงานสรุปสถานการณ์น้ำท่วมในไทย และเตือน จะมีหย่อมความกดอากาศต่ำ เคลื่อนเข้าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นที่ตั้งของไทยใน 1-2 วันนี้


         ซีเอ็นเอ็น รายงาน ทางการไทย เร่งเสริมมาตรการป้องกัน ไม่ให้กทม. ถูกน้ำท่วมจากระดับน้ำที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่ ผู้ป่วยในโรงพยาบาลของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและนครสวรรค์ ต่างต้องเร่งอพยพ หลังจากที่ ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น จนท่วมมิดชั้นล่าง นายแบรนดอน มิลเลอร์ นักอุตุนิยมวิทยาอาวุโสของซีเอ็นเอ็น ระบุว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เผชิญพายุโซนร้อนหลายลูก ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้ฝนในช่วงฤดูมรสุม ยิ่งตกหนักขึ้น จนเกิดน้ำท่วม และจะมีหย่อมความกดอากาศต่ำลูกใหม่ เคลื่อนเข้ามาในภูมิภาคนี้อีก ในวัน 1-2 วันนี้ ซึ่งจะทำให้มีฝนตกอีก


         ทั้งนี้ ประชาชนนับล้านทั้งในไทยและกัมพูชา ต่างได้รับผลกระทบจากปริมาณฝนที่มากกว่าระดับปกติกันอย่างถ้วนหน้า โดยอ้างตัวเลขของศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยว่า จนถึงเมื่อ 10 ต.ค. มีผู้เสียชีวิตแล้ว 269 คน สูญหาย 4 คน ขณะที่ อ้างรายงานข่าวของ สำนักข่าว เอเคพี ที่ระบุว่า กัมพูชา พบผู้เสียชีวิตแล้ว 207 คน 

ผู้ว่าฯ กทม. ห่วง คลองรังสิต-คลองหกวา - คลองมหาสวัสดิ์







เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม



         ผู้ว่าฯ กทม. ยันพร้อมทำตามคำสั่งรัฐบาล เผย เป็นห่วง 3 จุด คลองรังสิต-คลองหกวา-คลองมหาสวัสดิ์ – ด้าน ผอ.ศปภ.ชี้แจงจุดเสี่ยง อีก 2 จุด เมืองเอก-คลองสามวา


         ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ได้ทราบว่ารัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 2550 แล้ว ซึ่งตามมาตรา 31 จะทำให้การสั่งการหน่วยงานต่าง ๆ ทำได้ง่ายขึ้น หากรัฐบาลสั่งมา กทม. ก็พร้อมดำเนินการ แต่หากสิ่งไหนที่ไม่เห็นด้วยก็พร้อมจะคัดค้านอย่างมีเหตุผล 


         นอกจากนี้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้สั่งการให้เปิดประตูกว้างขึ้นในพื้นที่ที่สามารถเปิดได้ ยืนยันว่าได้ร่วมมือเต็มที่กับรัฐบาล ส่วนประตูระบายน้ำฝั่งตะวันออกที่ยังไม่ได้เปิด ไม่ได้เป็นของ กทม. แต่เป็นของกรมชลประทาน


         อย่างไรก็ตาม ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กล่าวว่า ขณะนี้มีจุดที่น่าเป็นห่วง 3 จุด คือ 


         1. คลองรังสิตตัดถนนพหลโยธิน เพราะยังไม่มีหน่วยงานรัฐเข้าไปดูแล และระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจนท่วมถนนหน้าห้างเซียร์รังสิตแล้ว ซึ่งนายพระนาย สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ประสานมายัง กทม.ว่าจะส่งบุคลากร 1,000 นาย เข้าไปดูแลจุดนี้ แต่หากไม่สามารถป้องกันได้ น้ำจะทะลักเข้าคลองเปรมประชากร


         2. คลองสองและคลองหกวา กทม.จะสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมให้แล้วเสร็จอย่างช้าสุด วันที่ 22 ตุลาคมนี้


         3. พื้นที่ฝั่งตะวันตกของ กทม.และคลองมหาสวัสดิ์ ซึ่งมีระดับน้ำสูงถึง 2 เมตร หากปริมาณน้ำสูงถึง 2.5 เมตร จะมีปัญหาได้ เพราะเกรงว่าปริมาณน้ำจะโอบล้อมเข้าท่วมพื้นที่


         ขณะที่ทางด้าน พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ผอ.ศปภ. ได้ชี้แจงจุดเสี่ยง กทม. อีก 2 จุดเช่นกัน คือ เมืองเอก และบริเวณคลองสามวา โดยขณะนี้ทางศปภ.จะทำกำแพงคอนกรีตเพื่อป้องกันน้ำเข้ามากทม. หากควบคุมพื้นที่ทั้งสองจุดนี้ได้กทม.ก็น่าจะปลอดภัย แต่ยังจะต้องเฝ้าระวังฝนช่วงวันที่ 28-30 ตุลาคม ซึ่งจะเป็นช่วงที่มีน้ำทะเลหนุนสูง และหากผ่านช่วงนี้ได้น้ำก็จะไม่ท่วม กทม.












อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก


 














กทม. เผยหลายจุดระดับน้ำสูงต้องเฝ้าระวัง (ไอเอ็นเอ็น)



          กรุงเทพมหานคร สรุปสถานการณ์น้ำรอบวัน หลายจุดยังมีระดับน้ำท่วมสูง ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ขณะที่น้ำท้ายเขื่อนมีปริมาณลดลง


          สำนักการระบายน้ำ รายงานสถานการณ์น้ำ ประจำวันที่ 22 ตุลาคม โดยปริมาณน้ำฝน สูงสุด 6 ช.ม. ที่ผ่านมาไม่มีปริมาณน้ำฝนรวม ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-22ต.ค. รวม 2,193 มากกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 44.4 ส่วนมวลอากาศเย็น อยู่ที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน น้ำเหนือไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา และพระราม 6 รวม 4,100 ลบ.ม.ต่อวินาที ลดลง 34 ลบ.ม.ต่อวินาที ปริมาณน้ำผ่าน อ.บางไทร 3,448 ลบ.ม.ต่อวิาที ลดลงจากเมื่อวาน 169 ลบ.ม.ต่อวินาที น้ำทะเลหนุนสูงสุดวันนี้ เวลา 15.48 นาที ระดับ +0.97 ม. รทก. น้ำทุ่งไหลลงคลองหกวาสายล่าง ตลอด 24 ช.ม. ที่ผ่านมา ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 9 ซ.ม. ระดับน้ำคลองเปรมประชากร หน้า สน.ดอนเมือง ขึ้นสูงใกล้ขอบตลิ่ง


          อย่างไรก็ตาม สำหรับภาพรวมสถานการณ์น้ำใน กทม. ต้องเฝ้าระวังน้ำทุ่งเป็นระยะ พื้นที่เฝ้าระวังประกอบด้วย ดอนเมือง หลักสี่ บางเขน สายไหม ลาดกระบัง คันนายาว มีนบุรี คลองสามวา หนองจอก ระดับน้ำคลองสามเสน ช่วงต่อเชื่อมคลองประปา ระดับต่ำกว่าสันเขื่อน 1.84 ม. น้ำในคลองประปาไหลสู่คลองสามเสน ในอัตราที่ต่ำกว่าที่คาด กรณีน้ำรั่วซึมจากคลองประปา เกิดน้ำท่วมถนนแจ้งวัฒนะ จากคลองประปา ถึงบิ๊กซี ระดับน้ำ 40-50 ซ.ม. ทั้ง 2 ฝั่ง ถนนเลียบคลองประปาจากแยกพงษ์เพชร ถึงถนนแจ้งวัฒนะ ระดับน้ำ 5 ซ.ม. จากถนนแจ้งวัฒนะ ถึงศรีสมาน ระดับ น้ำท่วมเป็นช่วงๆ ประมาณ 20 ซ.ม. หมู่บ้านเวฬุ วัดไผ่เขียว ระดับน้ำ 50 ซ.ม.ถนนแจ้งวัฒนะ หน้ากรมทหาร ระดับน้ำ 40-50 ซ.ม. ซ.แจ้งวัฒนะ 14 ระดับน้ำ 40-50 ซ.ม.




น้ำจ่อทะลักกรุงฯ หน้าเซียร์รังสิต 40 ซ.ม. แล้ว 


          สถานการณ์น้ำท่วมล่าสุด บริเวณย่านรังสิตใน ขณะนี้ทางด้านเซียร์รังสิต ได้มีการปิดถนนเส้นที่จะมุ่งหน้าสู่ถนนพหลโยธินสายเหนือ - อีสาน โดยห้ามรถเล็กวิ่งผ่าน ซึ่งระดับน้ำสูงประมาณ 30 - 40 ซ.ม. ประชาชนเร่งสร้างคันกระสอบทรายรวมถึงเจ้าหน้าที่มาอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนและควบคุมการจาราจร โดยการจรจรในขณะนี้ ได้เปิดเส้นทางให้รถวิ่งสวนกันบนถนนวิภาวดี - รังสิต ขาออกเลี่ยงเส้นทาง ที่ปริมาณน้ำท่วมสูงมาก ส่วนทางด้านบริเวณหมู่บ้านเมืองเอก จนถึงสะพานข้างแยกรังสิตถนนวิภาวดี - รังสิต ขาออกไปปทุมธานี - นวนคร ปริมาณน้ำสูงขึ้นอีกประมาณ 50 ซ.ม. 


          ส่วนทางด้านตลาดรังสิต โรงพยาบาลปทุมเวชและหมู่บ้านรัตนโกสินทร์ 200 ปี ประชาชนต้องนำเรือออกมาใช้เดินทาง เนื่องจากระดับน้ำสูงกว่า 1 เมตร ทั้งนี้ ห้างสรรพสินค้าย่านนี้ เมเจอร์รังสิต ฟิวเจอร์พาร์ครังสิต และโลตัสรังสิต ปิดให้บริหารทั้งหมด รวมถึงท่ารถต่างจังหวัดในขณะนี้ ไม่มีรถให้บริการแล้ว









[21 ตุลาคม] ผู้ว่าฯ กทม.เสนอ ศปภ.ปิดไซฟ่อนรังสิต กันท่วม ถ.วิภาวดี
ผู้ว่าฯ กทม.

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ครอบครัวข่าว 3


          ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ รับสถานการณ์น้ำคลองประปาน่าห่วง เสนอ ศปภ. ปิดไซฟ่อนรังสิต ลดระดับน้ำ หวั่นไหลลงคลองเปรมประชากรแล้วเอ่อท่วม ถ.วิภาวดี


          ช่วงบ่ายวันนี้ (21 ตุลาคม) ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในคลองประปา ว่า ยังน่าเป็นห่วง เพราะระดับน้ำสูงขึ้นต่อเนื่อง และอาจไหลลงคลองเปรมประชากรได้ ซึ่งขณะนี้น้ำในคลองเปรมประชากร อยู่ที่ 1 เมตร ถ้ามีน้ำไหลเข้ามาเพิ่มก็จะเป็น 1.30-1.50 เมตร ส่งผลให้น้ำท่วมเอ่อท่วม ถนนวิภาวดี และพื้นที่ใกล้เคียงทันที


          ผู้ว่าฯ กทม. ระบุว่า จากสถานการณ์ดังกล่าว จึงได้เสนอไปยัง ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ให้ปิดไซฟ่อนรังสิต และซ่อมแบริเออร์ หรือแนวคันกั้นน้ำในคลองประปาทั้งหมดโดยเร็วที่สุด เพื่อจะได้ระบายน้ำใน 2 ส่วน ได้แก่ คลองประปาแยกซ้าย ลอดอุโมงค์มักกะสัน ลงบึงมักกะสัน และน้ำจากคลองประปาแยกขวา ระบายลงสถานีสูบน้ำสามเสน ทั้งนี้ก็เพื่อลดระดับน้ำในคลองประปา 


          นอกจากนี้ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ ยังกล่าวด้วยว่า จุดที่ต้องเฝ้าระวังอีกจุดคือบริเวณคลอง 2 เนื่องจากมีน้ำเหนือไหลเข้ามาเพิ่มแล้ว ทางกรุงเทพมหานครจึงได้สั่งการให้เปิดประตูระบายน้ำทุกประตูให้กว้างที่สุดเท่าที่จะทำได้




 ผู้ว่าฯ กทม.เผยสั่งเปิดประตูระบายน้ำทุกบานแล้ว


          ผู้ว่าฯ กทม.เผยสั่งเปิดประตูระบายน้ำทุกบานแล้ว เพื่อให้น้ำไหลผ่านโดยเร็ว


          หลังจากเมื่อวานนี้ (20 ตุลาคม) นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สั่งการให้กรุงเทพมหานคร เปิดประตูระบายน้ำทุกจุด เพื่อช่วยระบายน้ำเหนือ ที่จะไหลมาในปริมาณ 8-10 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน


          ล่าสุด ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า ขณะนี้ประตูระบายน้ำของ กทม.ได้เปิดทุกประตูแล้ว โดยที่ประตูระบายน้ำคลอง 2 ได้เปิดแล้ว 1 เมตร เพื่อระบายน้ำที่ไหลมาจากนวนคร แต่คงต้องมีการลดระดับประตูระบายน้ำลง ส่วนที่ประตูระบายน้ำทวีวัฒนาคลองมหาสวัสดิ์ก็ได้เปิดขึ้นไปแล้ว 80 เซนติเมตร ซึ่งปริมาณน้ำก็ไหลผ่านได้ดี


          ขณะที่เจ้าหน้าที่การประปานครหลวงและกรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกันเปิดประตูกั้นคลองประปากับคลองสามเสนแล้ว เพื่อระบายน้ำที่เอ่อล้นมาจากคลองเชียงราก และคลองบางพูน ให้ไหลเข้าคลองสามเสนและบึงพระราม 9 ก่อนจะระบายออกแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อไม่ให้น้ำท่วมใจกลางกรุงเทพมหานคร




อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
  






น้ำท่วม




[20 ตุลาคม] ผู้ว่าฯ กทม. ยันฉุกเฉินจะไม่จุดพลุเตือน แต่ให้เขตแจ้งเตือน


          คลองรังสิตเตรียมรับน้ำเหนือก้อนใหญ่ คาดมาถึงคืนนี้ (20 ต.ค.) หากแนวกั้นน้ำต้านไม่ไหว น้ำทะลักเขตสายไหม บางเขน ดอนเมือง แน่ ด้าน ผู้ว่าฯ กทม.เผยสถานการณ์น้ำยังไม่วิกฤติ ปัดข่าวคันกั้นน้ำคลองหกวาแตก เผยหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้ ผอ.เขต เป็นผู้แจ้งเหตุ ยันไม่ใช้พลุส่งสัญญาณ 


          หลังจากที่เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 19 ตุลาคม ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้แถลงข่าวว่า สถานการณ์น้ำขณะนี้น่าเป็นห่วง เนื่องจากน้ำที่มาจากตอนเหนือของกรุงเทพมหานครเคลื่อนตัวมาเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ จึงคาดการณ์ว่า น้ำจากนิคมอุตสาหกรรมนวนคร และจากคลองระพีพัฒน์ จะไหลลงมาถึงคลองรังสิตในคืนวันนี้ (20 ต.ค.) และลงมาถึงคลองสอง และคลองหกวา ในวันศุกร์นี้ (21 ต.ค.) พร้อมกับเตือนให้ประชาชนในพื้นที่ 7 เขต คือ ลาดกระบัง หนองจอก มีนบุรี คลองสามวา สายไหม คันนายาว และบางเขน ยกข้าวของขึ้นที่สูงนั้น


          พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม ได้กล่าวหลังจากร่วมประชุมกับนายกรัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้องว่า ขณะนี้กำลังรอมวลน้ำจากคลองระพีพัฒน์ซึ่งแตกแล้วจะเข้ามาที่คลองรังสิต กทม.ภายใน 24 ชั่วโมงนี้ ซึ่งต้องรอดูว่าจะยันไว้ได้หรือไม่ หากสามารถป้องกันได้ หลังจากนี้จะไม่มีปัญหา และเชื่อว่า น้ำจะไม่ทะลักเข้า กทม.ชั้นใน เพราะได้สร้างแนวกั้นน้ำเป็นแนวป้องกันที่คลองรังสิตไปถึงคลองแปดเพื่อดันน้ำออกไปข้างล่างถึงคลองหกวา และดันออกสู่แม่น้ำบางปะกง


          ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ได้กล่าวภายหลังการประชุมว่า ทหารได้เร่งช่วยเหลือต้านทานน้ำที่ กทม.รอบนอกแล้ว พร้อมกับเสริมคันกั้นน้ำแนวคลองรังสิต คลองระพีพัฒน์และคลองหกวา ตามคำสั่งของ ศปภ. แต่อย่างไรก็ตาม หากแนวกั้นน้ำไม่สามารถต้านทานได้อยู่ ก็ต้องเตรียมแผนอพยพให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนก เพราะที่ผ่านมาได้มีการสร้างคันกั้นน้ำซึ่งเป็นแนวดิน แต่ต้องยอมรับว่า แนวดินไม่สามารถต้านทานน้ำนานได้ เนื่องจากหากกั้นน้ำไปนาน ๆ ผนังก็ยุ่ย จึงทำได้แค่ซื้อเวลาให้ระบายน้ำไปทางตะวันออกโดยเร็วเท่านั้น หากซื้อเวลาไม่ได้ น้ำก็ทะลุได้


          อย่างไรก็ตาม มีแหล่งข่าวจาก ศปภ. ระบุว่า ได้มีการประเมินสถานการณ์ดังกล่าวแล้ว โดยคาดว่า น้ำที่ไหลมาจากจังหวัดปทุมธานีจะเข้าสู่พื้นที่ กทม.อย่างเร็วที่สุดคือภายในคืนนี้ ซึ่งทาง ศปภ.ประเมินว่า มวลน้ำนั้นจะเข้ามามีความสูงไม่เกิน 3.5 เมตรจากระดับน้ำทะเล จึงได้สั่งให้ทำคันกั้นน้ำสูงที่ระดับดังกล่าว แต่หากว่าคันกั้นดังกล่าวไม่สามารถต้านน้ำไว้ได้ น้ำจะทะลักเข้าสู่เขตสายไหม บางเขน และดอนเมืองได้


          ทั้งนี้ แหล่งข่าวยังระบุด้วยว่า หากให้ประเมินสถานการณ์ขั้นเลวร้ายที่สุด ก็เป็นไปได้ที่ในเขตสายไหม และดอนเมืองจะมีน้ำท่วมสูงประมาณ 1 เดือน และน้ำจะท่วมขังอยู่นานอย่างน้อยประมาณ 1 เดือน แต่นี่เป็นการประเมินขั้นร้ายแรงที่สุดเท่านั้น แต่สนามบินดอนเมืองจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะเป็นพื้นที่สูง


          ด้านนายภูมิพัฒน์ ดำรงเกียรติศักดิ์ ผู้อำนวยการเขตดอนเมือง กล่าวถึงสถานการณ์บริเวณคลองหลักหก ว่า มีความมั่นใจอย่างมากว่าคันกั้นกระสอบทรายที่ทำไว้จะสามารถรับมือกับสถานการณ์น้ำได้อย่างแน่นอน เนื่องจากดำเนินการสร้างมาเป็นเวลาหลายเดือน และมีการซ่อมแซมอยู่ตลอดเวลา


          อย่างไรก็ตาม เขตดอนเมืองนั้น ไม่ได้อยู่ใน 7 เขต ที่ทางกรุงเทพมหานครประกาศให้เป็นพื้นที่เสี่ยง แต่ก็มีความพร้อมหากเกิดเหตุฉุกเฉิน โดยมีการเตรียมศูนย์อพยพและประสานทหารในการเข้าขนย้ายประชาชนแล้ว


          ส่วนในเขตสายไหม ได้มีประชาชนเดินทางมายังโรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัย 2 ที่ถูกใช้เป็นสำนักงานชั่วคราว เพื่อบรรจุกระสอบทรายเป็นจำนวนมาก โดยนำทรายมาจากสำนักการโยธา ซึ่งนายสุรเกียรติ ลิ้มเจริญ รองผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร ระบุว่าในขณะนี้จะต้องเพิ่มความสูงของแนวกั้นอีก 50 ซ.ม. เพื่อให้เป็น 3.50 เมตร ส่วนความกว้างนั้น ต้องเสริมขึ้นอีก 1 ชั้น และต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันนี้


          อย่างไรก็ตามล่าสุด  ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้ย้ำว่า  มาตรการในการเตือนภัยของ กทม. จะได้มอบหมายให้สำนักงานเขต เป็นผู้แจ้งเหตุ และยืนยันจะไม่ใช้พลุในการแจ้งเตือนเด็ดขาด  
















          ขณะที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้แถลงสรุปสถานการณ์น้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (20 ตุลาคม) ว่า ขณะนี้ถือว่ายังไม่วิกฤติ แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังติดตามอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้มวลน้ำที่ไหลลงมาจะเริ่มมีผลกระทบต่อชาวกรุงเทพมหานคร ในวันพรุ่งนี้ (21 ตุลาคม) โดยทาง กทม. จะเร่งภารกิจเสริมแนวคันกั้นน้ำเลียบคลองหกวา ตามเป้าหมายเดิมที่ได้วางไว้ ซึ่งจะแล้วเสร็จภายใน 24.00 น. พร้อมกันนี้ของให้รัฐบาลช่วยดูแลจุดอ่อน 3 จุดที่อยู่นอกเหนือพื้นที่ กทม. ด้วยคือ หลักหก จ.ปทุมธานี พื้นที่การประปาเชื่อมแนวคันกั้นน้ำของ กทม. และถนนพหลโยธินช่วงตัดคลองรังสิต ในความรับผิดของกรมทางหลวงชนบท


          อย่างไรก็ตามเมื่อคืนที่ผ่านมา ที่มีข่าวระบุว่า แนวคันกั้นน้ำเลียบคลองหกวาแตกเสียหาย จนทำให้มีน้ำทะลักเข้ามาในพื้นที่เขตสายไหมนั้น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้ปฏิเสธเรื่องดังกล่าว และระบุว่า หากเกิดสถานการณ์คันกั้นน้ำมีปัญหา ทาง กทม. ก็มีแผนมาตรการรองรับทุกแห่งอยู่แล้ว









อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
  






ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร




[19 ตุลาคม] ระทึก! น้ำเหนือมาเร็ว ถึงคลองรังสิตคืนพฤหัสนี้


           ระทึก! น้ำเหนือมาเร็วกว่าที่คาด ชี้น่าจะถึงคลองรังสิตคืนวันพฤหัสบดีนี้ ก่อนลงคลองหกวาศุกร์นี้ พร้อมประกาศอพยพประชาชนริมคลอง 6 ใน 24 ชั่วโมงคาดปริมาณน้ำสูง หลังก่อนหน้านี้ ประกาศ 7 เขต เสี่ยงน้ำท่วม


            เมื่อเวลา 15.30 น. วันนี้ (19 ตุลาคม) ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. ได้ออกแถลงรอบ 2 โดยประกาศให้อพยพประชาชน 200 ครัวเรือน บริเวณริมคลอง 6 นอกคันกั้นน้ำ ย้ายไปยังศูนย์พักพิงที่โรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัย และโรงเรียนสายไหม ภายใน 24 ชั่วโมง เนื่องจากเป็นจุดเสี่ยงที่คาดว่าจะมีปริมาณน้ำมาก  ภายใน 24 ชม.


            โดยก่อนหน้านี้ ทางผู้ว่าฯ กทม. ได้ออกแถลงว่า สถานการณ์น้ำท่วมในประเทศไทยมีแนวโน้มจ่อทะลักเข้าเขตพื้นที่กรุงเทพฯ มากขึ้นเรื่อย ๆ ล่าสุดพบว่าการระบายน้ำคลอง 3-6 จ.ปทุมธานี มีปัญหา ทำให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) ประกาศเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ตอนเหนือและตะวันออกรวม 7 เขต ได้แก่ สายไหม คลองสามวา บางเขน หนองจอก มีนบุรี ลาดกระบัง และคันนายาว ให้ขนของขึ้นที่สูงและเตรียมแผนอพยพอย่างรอบคอบ


            ทั้งนี้ กทม. ระบุว่า ถ้าหากประเมินแล้วพบว่าเหตุการณ์ไม่ปลอดภัยจะแจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้า 12 ชั่วโมง และจะติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ทุก ๆ 3 ชั่วโมง


           ต่อมา ในเวลา 16.30 น. ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการ กทม. ได้แถลงข่าวเป็นครั้งที่ 3 ระบุว่า ขณะนี้น้ำจากทางตอนเหนือของ กทม.เคลื่อนตัวลงมาเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งมีทั้งน้ำจากนิคมอุตสาหกรรมนวนคร และน้ำจากคลองระพีพัฒน์ โดยคาดว่าน้ำจะมาถึงคลองรังสิตในคืนวันพรุ่งนี้ (20 ต.ค.) และจะไหลลงมายังคลองสอง และคลองหกวา ในคืนวันศุกร์นี้ (21 ต.ค.)


           ด้วยเหตุนี้ ผู้ว่าฯ กทม.จึงสั่งเร่งเสริมคันกั้นน้ำที่เลียบคลองหกวาโดยด่วน โดยเพิ่มความสูงจากเป็น 3.5 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง จากเดิมกั้นที่ระดับ 2.5 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง พร้อมกับเพิ่มความหนาของกระสอบให้เป็นสามกระสอบด้วย คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในวันพรุ่งนี้








อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
   





[18 ตุลาคม] พื้นที่ กทม.23 แห่งที่คาดว่าเสี่ยงน้ำท่วม 

ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร
         ศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุว่าจะมีน้ำท่วมเพิ่มใน 23 แห่งของกทม.ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า คันกั้นน้ำแตก พร้อมให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วม กทม.จนถึงปลายเดือนนี้


         แบบจำลองสถานการณ์น้ำท่วมของศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต แสดงให้เห็นว่ามวลน้ำขนาดใหญ่ที่กำลังไหลอยู่ทางตอนเหนือของ กทม. ที่อาจจะเข้าท่วมพื้นที่กทม.เพิ่มขึ้นอีก 23 แห่ง ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าคันกั้นน้ำหรือพนังกันน้ำไม่สามารถกั้นน้ำ หรือคันกันน้ำแตก แต่เครื่องสูบน้ำทุกแห่ง ต้องทำงานได้จริง 
         โดย ฝั่งพระนครคาดว่าจะมีน้ำท่วม 6 แห่ง ได้แก่ ดอนเมือง หลักสี่ สายไหม บางคอแหลม ยานนาวา ยานนาวา และสาธร เนื่องจากเป็นพื้นที่ต่ำ น้ำท่วมขังได้ สูงประมาณ 1-2 เมตร ส่วนใหญ่ต่ำกว่า 1 เมตร

 




         ส่วนฝั่งธนบุรี คาดว่าจะมีน้ำท่วม 17 แห่ง ได้แก่ ตลิ่งชัน อรุณอัมรินทร์ บางพลัด บางขุนนนท์ บางขุนศรี จอมทอง บางประกอกในเขตราษฎร์บูรณะ บางขุนเทียน บางกอกใหญ่ บางกอกน้อย ธนบุรี บางแวกในเขตภาษีเจริญ หลักสอง บางแคและบางแคเหนือ และบางบอนเนื่องจากน้ำจากจังหวัดนครปฐม จังหวัดนนทบุรี อาจจะไหลบ่าล้นคันกั้นน้ำลงมาและไหลเข้าท่วมพื้นที่ได้


         ทั้งนี้ทีมข่าวไทยพีบีเอสลงพื้นที่เขตบางคอแหลม พบว่า ประชาชน ที่อาศัยอยู่ระหว่างแนวถนนเจริญกรุงกับแม่น้ำเจ้าพระยา ได้นำกระสอบทรายทำเป็นคันกั้นน้ำ ขณะที่บางคนก่อคันคอนกรีตถาวรไว้ป้องกันน้ำท่วม แม้ว่าชุมชนวัดลาดบัวขาวจะอยู่ในแนวคันกั้นน้ำถาวร แต่พบปัญหาว่ามีน้ำเอ่อล้นมาตามท่อระบายน้ำ และเข้าท่วมในบางจุดของชุมชนแห่งนี้ ซึ่งชาวชุมชนที่นี่ยังมองว่าเป็นเรื่องปกติเพราะเป็นสภาพที่เกิดขึ้นทุกปี แต่ไม่ประมาท และติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด


         ขณะ ที่เขตสาทรเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ถูกคาดการณ์ว่าจะเกิดน้ำท่วม เนื่องจากมีพื้นที่ที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทาง 945 เมตร ซึ่งมีบางพื้นที่ไม่มีแนวคันกั้นน้ำ จึงเป็นจุดเสี่ยงน้ำท่วม ซึ่งกระสอบทรายที่วางเป็นคันกั้นน้ำชั่วคราวซึ่งระดับเดียวกันกับคันกั้นน้ำ ถาวรของ กทม. เป็นแนวทางที่สำนักงานเขตสาทร มั่นใจว่าจะป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ได้ ขณะที่ปัจจัยของปริมาณน้ำฝน ก็เป็นสิ่งที่ทางสำนักงานเขตเป็นห่วง เพราะหากฝนตกหนักก็จะทำให้น้ำท่วมขังได้ แต่ น.ส.พรรณทิพา งามญาณ ผู้อำนวยการเขตสาทร ได้ทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่รวมถึงเตรียมแผนในการอพยพไว้แล้ว


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก




ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร




เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก กองประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร


          ผู้ว่าฯ กทม. แถลง 3 แนวทางป้องกันน้ำท่วมเขตดอนเมืองและสายไหม หลังจากที่ไม่สามารถคุมปริมาณน้ำบริเวณคลอง 8 และ 9 ได้


          เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม เวลา 21.30 น. ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมว่า ขณะนี้ กทม. เตรียมดำเนินงาน เพื่อป้องกันพื้นที่ด้านเหนือของกรุงเทพฯ ได้แก่ เขตดอนเมืองและสายไหม ภายในเวลา 48 ชั่วโมง หลังจากที่พบว่าไม่สามารถควบคุมปริมาณน้ำบริเวณคลอง 8 ถึง คลอง 9 จ.ปทุมธานีได้ จึงส่งผลกระทบต่อคลองที่เชื่อมโยง ทำให้มีปริมาณน้ำสูงกว่า 3 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งแผนการป้องกันจะดำเนินการ 3 แนวทาง ดังนี้

          1. เสริมแนวคันกั้นน้ำที่คลองหกวา จากเดิม 2.5 เมตร เป็น 3 เมตร ระยะทาง 6 กิโลเมตร โดยคาดว่าน่าจะใช้กระสอบทรายจำนวน 1.2 ล้านใบ

          2. สร้างแนวคันกั้นน้ำใหม่ ความสูง 3 เมตร ตามถนนประชาสำราญจากคลอง 8 ถึงคลอง 12 รวมระยะทาง 15 กิโลเมตร

          3. เดินทางไปตรวจสถานการณ์ที่ถนนพหลโยธิน ช่วงริมคลองรังสิตด้วยตัวเอง เพราะคิดว่าน่าจะมีน้ำท่วมตรงบริเวณนี้ โดยจะร่วมมือกับกรมทางหลวงชนบทในการปิดจุดอ่อน



          ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า ในภาวะเช่นนี้ไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนก ถ้าหากมีความคืบหน้าทาง กทม. จะแจ้งให้ประชาชนรับทราบในทันที และขอให้ผู้อาศัยในเขตดอนเมืองและสายไหม นำของมีค่าขึ้นที่สูงไว้ก่อน













อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
 











[17 ตุลาคม] สุขุมพันธุ์ รับ กทม.ยังไม่ปลอดภัย-เขตสายไหมเสี่ยง
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม



         ผู้ว่าฯ กทม. เผยสถานการณ์น้ำในกรุงเทพมหานคร ยังไม่วิกฤติ แต่รับว่ายังไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะเขตสายไหม บางจุด เตรียมเสริมแนวป้องกันเพิ่ม


         วันนี้ (17 ตุลาคม) ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวสรุปสถานการณ์น้ำท่วมว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำใน กทม.ยังถือว่าไม่วิกฤต แต่ก็ยอมรับว่ายังไม่ปลอดภัย โดยเขตที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ เขตสายไหม ที่ต้องเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์แบบวันต่อวัน เนื่องจากระดับน้ำในคลองสามวาและคลองหกวา เขตสายไหม มีปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงได้สั่งการให้เพิ่มความสูงของแนวกระสอบทรายริมคลองหกวา อีก 50 เซนติเมตร รวมความสูงทั้งหมด 1.50 เมตร และเพิ่มระยะทางทั้งหมดรวมเป็น 7 กิโลเมตร 


         พร้อมกันนี้ ผู้ว่าฯ กทม. ยังได้สั่งกรมโยธาฯ ยกระดับถนนสายไหม 85 เพิ่มอีก 30 เซนติเมตร ในระยะทาง 1 กิโลเมตร และถนนเลียบคลอง 2 สูงขึ้นอีก 30 เซนติเมตร ระยะทาง 1.25 กิโลเมตร เพื่อเป็นแนวคันกันน้ำ แทนการเรียงกระสอบทราย เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งของประชาชนในพื้นที่เรื่องกระสอบทราย


         ด้านปัญหาพื้นที่น้ำท่วม กทม.ฝั่งตะวันออก ขณะนี้ได้เพิ่มกระสอบทราย 600,000 ใบ กระจายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ โดยประชาชนสามารถร่วมบริจาคทรายได้ที่ศูนย์รับบริจาคของ กทม. หรือสำนักงานเขตทุกเขตแล้ว


         ส่วนสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา วัดที่ปากคลองตลาดในช่วงเช้าวันนี้ อยู่ที่ 1.56 เมตร ซึ่งต่ำกว่าคันกั้นน้ำ 1.24 เมตร  ส่วนปริมาณน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนพระราม 6 อยู่ที่ 4,238 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งลดลงจากเมื่อวานนี้ (16 ตุลาคม)








http://www.krobkruakao.com/store/news/46104/1318745446.jpg






[16 ตุลาคม] ธีระ แถลงมวลน้ำก้อนใหญ่ไหลผ่าน กทม. ไปแล้ว


           รมว.เกษตรและสหกรณ์ นำทีมแถลงยันน้ำจากนครสวรรค์ก้อนใหญ่ไหลผ่าน กทม. ลงทะเลแล้ว สถานการณ์น้ำจากนี้จะเริ่มทรงตัว ก่อนมีน้ำทะเลหนุนสูงสุดอีกครั้งวันที่ 28-30 ตุลาคมนี้ 


           วันนี้ (16 ตุลาคม) ที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย หรือ (ศปภ.) นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงถึง สถานการณ์น้ำในขณะนี้ว่า มวลน้ำสูงสุดจาก จ.นครสวรรค์ ได้ไหลผ่านกรุงเทพมหานครลงสู่ทะเลเรียบร้อยแล้ว ส่วนที่ต้องเฝ้าระวังของ จ.นครสวรรค์ คือ อ.บรรพตพิสัย และ อ.ชุมแสง แต่ระดับน้ำมีปริมาณลดลงเรื่อย ๆ


           ด้าน นายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ระดับน้ำจากนี้ไปจะทรงตัว แต่ระหว่างวันที่ 28 ถึง 30  ตุลาคมนี้ จะมีน้ำทะเลหนุนสูงสุดอีกครั้ง จึงขอให้ประชาชนอย่าทำลายแนวคันกั้นน้ำ ส่วนคันกั้นน้ำที่อ่อนขอให้เสริมให้มีความแข็งแรงมากขึ้น


            ขณะ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แสดงความมั่นใจว่า น้ำจะไม่ท่วมกรุงเทพฯ ค่อนข้างแน่นอน พร้อมกล่าวถึงการดำเนินงานของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า เป็นไปตามแผนการที่วางไว้ และยืนยันว่า ศปภ. จะดำเนินการเพื่อช่วยเหลืออย่างเต็มกำลัง และจะชี้แจ้งข้อเท็จจริงให้ประชาชนทราบต่อไป






อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
  




[15 ตุลาคม] ปภ.ประกาศมีนบุรีเป็นเขตภัยพิบัติฉุกเฉินเฉพาะหน้า


น้ำท่วมมีนบุรี 

          ผอ.เขตมีนบุรี สรุปตัวเลขผู้ประสบอุทกภัย 35 ชุมชน 4,000 กว่าครัวเรือน ขณะที่ ปภ.ประกาศให้เป็นพื้นที่ภัยพิบัติฉุกเฉินเฉพาะหน้าแล้ว
          นายอรุณ พ่วงสมบัติ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตมีนบุรี สรุปถึงผลกระทบสถานการณ์น้ำท่วมในเขตมีนบุรี ว่า ขณะนี้มีชุมชนที่ได้รับผลกระทบ 35 ชุมชน รวมจำนวนทั้งสิ้น 4,636 ครอบครัว รวมถึงพื้นที่เกษตรกรรม ได้รับความเสียหายแล้ว จำนวน 1,390 ไร่ จากเกษตรกร 194 ราย ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ การเดินทาง ได้รับความเดือดร้อน           ทั้งนี้ ทางสำนักงานเขตมีนบุรี ก็ได้มีการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยการแจกถุงยังชีพ ยาเวชภัณฑ์ ทราย กระสอบทราย ทำสะพานไม้ชั่วคราว เพื่อช่วยในการบรรเทาทุกข์ของประชาชนนอกจากนี้ทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ประกาศให้เขตมีนบุรีเป็นพื้นที่ภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินเฉพาะหน้าอีกด้วย


 
คนเมืองตื่นแห่ โทร 191 ถามน้ำทะลักกรุง 







           ประชาชนตื่นตระหนกน้ำทะลักกรุง โทรสายด่วน 191 ถามสถานการณ์ ขณะสายโทรป่วนลดลง


           พ.ต.อ.ณภัทร จุลละบุษปะ รองผู้บังคับการกองบังคับสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ (191) เปิดเผยถึงข้อมูลเบอร์สายด่วน 191 ในช่วงสถานการณ์น้ำท่วม ตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม ที่ผ่านมา มีประชาชนโทรเข้ามาสอบถาม แจ้งข่าวสาร ข้อมูล เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมแล้วกว่า 700 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นการโทรแจ้งเรื่องน้ำท่วม โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชนที่เดือดร้อน 28 ชุมชน รวม 14 เขต ซึ่งทั้งหมดอยู่ในพื้นที่นอกแนวคันกั้นน้ำของ กทม. ทั้งนี้ จะเป็นการสอบถามเรื่องทั่ว ๆ ไป ส่วนใหญ่สอบถามว่าน้ำจะท่วมกรุงเทพหรือไม่ เส้นทางที่น้ำท่วม หรือสอบถามว่าเมื่อไหร่น้ำจะลด ซึ่งสายที่โทรสอบถาม ส่วนหนึ่งจะมีความตื่นตระหนก จากการบริโภคข่าวสารของประชาชน แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ว่าพี่น้องประชาชนมีการเตรียมความพร้อม เรื่องการขนย้ายสิ่งของหนีน้ำ หรือสถานที่ ที่จอดรถหากเกิดน้ำท่วม


           นอกจากนี้ พ.ต.อ.ณภัทร ระบุว่า ในช่วงที่มีสถานการณ์น้ำท่วมเกิดขึ้น พบว่า สายก่อกวนโทรแจ้งเท็จยังมีอยู่ถึง 2 พันกว่ารายต่อวัน แต่ถือว่าเป็นสถิติที่น้อยลงกว่าเดิม ส่วนสาเหตุนั้น คาดว่า สายที่โทรก่อกวนอาจจะมีจิตสำนึกมากขึ้น หลังจากที่เห็นว่าพี่น้องประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ ต้องประสบกับความเดือดร้อนจากอุทกภัย


           ขณะที่สายแจ้งปัญหาอาชญากรรมนั้นลดลง จะมีก็เพียงการจี้ ชิง ปล้นธรรมดา ๆ เท่านั้น และ จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีสายการแจ้งการถูกโจรกรรมซ้ำเติมของชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วม แต่อย่างใด


           อย่างไรก็ตาม ต้องวอนเรียนพี่น้องประชาชน ให้ช่วยแจ้งเบาะแสเรื่องน้ำท่วม เช่น หากพบคันกั้นน้ำชำรุด ก็ให้แจ้ง 191 ได้ทันที เนื่องจากเจ้าหน้าที่อาจจะดูแลได้ไม่ทั่วถึง และช่วยสอดส่องปัญหาอาชญากรรมในช่วงดังกล่าวด้วย อีกทั้งในส่วนของ 191 เอง ก็ได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือน้ำท่วม และจัดหน่วยเคลื่อนที่เร็ว พร้อมกันนี้ยังพร้อมให้การช่วยเหลือบริการรถเสียจากน้ำท่วม อีกด้วย











 [ 14 ตุลาคม] น้ำทะเลหนุนสูงสุดพรุ่งนี้ กทม. รับมือได้


           รองผู้ว่าฯ กทม. เผย วันพรุ่งนี้น้ำทะเลหนุนสูงสุด 2.20-2.30 เมตร ถือว่าเป็นระดับฉุกเฉินปานกลาง ยันรับมือได้


          วันนี้ (14 ตุลาคม) นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ (15 ตุลาคม) น้ำทะเลจะหนุนสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 2.20-2.30 เมตร ขณะนี้สถานการณ์ถือว่าอยู่ระดับฉุกเฉินปานกลาง 


          ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร ได้เตรียมเจ้าหน้าที่ 5 พันคน ในการเร่งระบายน้ำไว้แล้ว และหากผ่านช่วงวันที่ 15-17 ตุลาคมนี้ ที่น้ำทะเลหนุนสูงไปได้ สถานการณ์จะคลี่คลาย ส่วนที่มีการประกาศพื้นที่ภัยพิบัติฉุกเฉินเฉพาะหน้า 17 เขตใน กทม. เป็นเพียงจุดที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษเท่านั้น













น้ำท่วมกรุงเทพ






[13 ตุลาคม] ผอ.สำนักระบายน้ำกทม.ยันน้ำกทม.ยังปกติ (ไอเอ็นเอ็น)


          ผอ.สำนักการระบายน้ำ กทม. ชี้ กทม. ยังปลอดภัยดี แต่ยอมรับ หากฝนตกหนักช่วงที่น้ำเหนือ และน้ำทะเลหนุนสูง 14-18 ต.ค. อาจส่งผลให้ กทม. เสี่ยงน้ำท่วมสูง


          นายสัญญา ชีนิมิตร ผอ.สำนักการะบายน้ำ กล่าวยืนยันว่า ขณะนี้ กรุงเทพมหานคร สถานการณ์ยังอยู่ในภาวะปกติ พื้นที่ของ กทม. ไม่มีปัญหา นอกจาก ชุมชนแนวคันกั้นน้ำที่ได้รับผลกระทบ อีกทั้ง กรมชลประทาน ได้ดูแลและระบายน้ำลงคลองแสนแสบ คลองประเวศ และพยายามกระจายน้ำออกไป ส่วนต่าง ๆ ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าว พยายามสอบถามว่า ตอนนี้ กทม. เสี่ยงน้ำท่วมหรือไม่ ผอ.การระบายน้ำ ยืนยันว่า ตอนนี้กรุงเทพมหานคร ยังปลอดภัยดี แม้จะมีความเสี่ยงจากน้ำฝน แต่ระบบการระบายน้ำก็ทำได้ดี ขณะที่ แนวคันกั้นน้ำที่ กทม. ได้ดำเนินการก่อสร้างและมีความยาวกว่า 77 กม. ความสูง 2.50 ซ.ม. ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ก็ยังมีระดับสูงกว่า


          อย่างไรก็ตาม สำหรับมวลน้ำก้อนใหญ่ ประกอบกับน้ำทะเลหนุนสูง ระหว่างวันที่ 14-18 ต.ค.นี้นั้น จะส่งผลกระทบต่อกรุงเทพชั้นในหรือไม่นั้น จำเป็นต้องดูว่า น้ำฝนมีจำนวนมากน้อยเพียงใด ซึ่งปริมาณน้ำเหนือนั้น ก็ได้มีการประสานกับทางกรมชลประทาน เพื่อให้ทราบจำนวนที่ถูกต้องมาโดยตลอด ทั้งนี้ ยอมรับว่า หากฝนตกลงมามากเท่าใด ย่อมมีความเสี่ยงมาก









[12 ตุลาคม] ผู้ว่าฯ รับ กทม.เสี่ยงท่วมทุกจุด เตือนเฝ้าระวัง 24 ชม.







เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

        ผู้ว่าฯ กทม. ยอมรับทุกพื้นที่ของ กทม. เสี่ยงท่วมทุกจุด เตือนให้เฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง


        วันนี้ (12 ตุลาคม) ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิด โดยได้ลงพื้นที่เขตทวีวัฒนา ที่น้ำได้เข้าท่วมที่อยู่อาศัยประชาชนเป็นบางส่วนแล้ว ซึ่งคลองทวีวัฒนานั้น สามารถรองรับน้ำได้อีกเพียง 50 เซนติเมตรเท่านั้น และขณะนี้กำลังเร่งระบายออกสู่คลองมหาสวัสดิ์


         ทั้งนี้ หลังการร่วมประชุมกับนายกรัฐมนตรี ได้มีมติให้เพิ่มการระบายน้ำในคลองทวีวัฒนา เพื่อรองรับน้ำจาก จ.นนทบุรี และ จ. ปทุมธานี เพิ่มเติม รวมไปถึงสั่งการให้กองทัพเรือ และกองทัพบก เสริมกระสอบทรายเพิ่มอีก 50 เซนติเมตร ตั้งแต่แนวคันกั้นน้ำคลองทวีวัฒนา จนถึงคลองมหาสวัสดิ์


       ขณะเดียวกัน ทางกรุงเทพมหานคร ก็ได้เร่งระบายน้ำในคลองแสนแสบ และคลองประเวศโดยผ่านอุโมงค์ระบายน้ำพระโขนง เพื่อระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา และออกสู่ทะเลต่อไป ทั้งนี้เพื่อรองรับน้ำฝนที่จะตกเพิ่มอีกในช่วง 16-18 ตุลาคมนี้ 


        อย่างไรก็ตาม ทางผู้ว่าฯ กทม. ออกมายอมรับว่า ทุกพื้นที่ของกรุงเทพฯ มีความเสี่ยงต่อน้ำท่วมทุกจุด เพื่อความไม่ประมาท ให้ประชาชนติดตามข่าว และเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก




[11 ตุลาคม] กรุงเทพฯ เตรียมแผนอพยพประชาชน 9 เขต








เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ครอบครัวข่าว 3


          จากสถานการณ์น้ำท่วมทั่วทั้งภาคกลาง ทำให้หลายฝ่ายวิตกกังวล เพราะเกรงว่าน้ำจะไหลทะลักเข้ามาท่วมกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ตอนปลายของแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนจะไหลลงสู่อ่าวไทย อีกทั้งระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลจากภาคเหนือและภาคกลางตอนบนมายัง กรุงเทพฯ ก็มีปริมาณสูงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นั้น


          เกี่ยวกับเรื่องนี้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวว่า กรุงเทพฯ ยังสามารถรับมือกับน้ำได้อยู่ ถึงแม้ว่าปริมาณน้ำในคลองจะสูงขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับปกติ จึงอยากขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก และทางกรุงเทพฯ ก็ไม่ประมาท โดยได้สั่งการทุกสำนักงานเขตเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากน้ำเหนือที่ระบายลงมา น้ำทะเลหนุนสูงสุด และปริมาณน้ำฝน จึงต้องจับตาใกล้ชิด โดยเฉพาะช่วง 16 - 18 ตุลาคมนี้


          พร้อมกันนี้ ทางกรุงเทพฯ ต้องจับตาเฝ้าระวังจุดเสี่ยง 27 ชุมชน นอกแนวเขื่อนกั้นน้ำ และพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ พร้อมเตรียมแผนอพยพประชาชนไปยังโรงเรียนฝึกอาชีพของกรุงเทพฯ ทั้ง 10 แห่ง อีกทั้งยังเปิดศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ในพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก โดยเร่งให้วางระบบรับมือต่าง ๆ


          อย่างไรก็ตาม ล่าสุดวันนี้ (11 ตุลาคม) ทางกรุงเทพฯ เตรียมแผนอพยพประชาชน 9 เขตแล้ว เนื่องจากคาดว่าอาจจะเกิดน้ำท่วมได้ ดังนี้


           1. เขตคลองสามวา
           2. เขตหนองจอก
           3. เขตคันนายาว
           4. เขตบึงกุ่ม
           5. เขตบางกะปิ
           6. เขตสะพานสูง
           7. เขตประเวศ
           8. เขตลาดกระบัง
           9. เขตมีนบุรี 




          ส่วนพื้นที่ในกรุงเทพฯ ที่น้ำเข้าท่วมบางส่วนใน 11 เขตเตือนภัยของ กทม.แล้ว ได้แก่


           1. เขตบางแค
           2. เขตคลองสามวา
           3. เขตภาษีเจริญ
           4. เขตทวีวัฒนา
           5. เขตสายไหม
           6. เขตบางเขน
           7. เขตมีนบุรี
           8. เขตหนองจอก
           9. เขตตลิ่งชัน
           10. เขตคันนายาว
           11. เขตลาดกระบัง


          โดยบริเวณชุมชนตลาดมีนบุรี บ้านเรือนของประชาชนที่อยู่อาศัยบริเวณริมคลอง ระหว่างคลองสามวาและคลองแสนแสบนั้น ขณะนี้น้ำล้นตลิ่ง เอ่อเข้าท่วมจนถึงหน้าบ้านแล้ว ทำให้ชาวบ้านต้องนำกระสอบทรายที่ได้รับแจกจากสำนักงานเขต ทำเป็นที่กั้นน้ำไว้ แต่เนื่องจากกระสอบทรายที่เขตมีนบุรีแจกจ่ายไปให้พี่น้องประชาชน ครัวเรือนละ 25 ถุง ไม่เพียงพอ ขณะนี้เหลือเพียง 10 เซนติเมตรเท่านั้น น้ำก็จะเข้าไปภายในตัวบ้านแล้ว






อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
 รายการเรื่องเล่าเช้านี้ ช่อง 3








[9 ตุลาคม] กทม. สั่งจับตาปริมาณน้ำเหนือ 15-18 นี้ 




กทม. สั่งจับตาปริมาณน้ำเหนือ 15-18 นี้ (ไอเอ็นเอ็น)



          กรุงเทพมหานคร จับตาปริมาณน้ำเหนือ 15-18 ต.ค.นี้ พร้อมเตรียมอพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยง หากเกิดวิกฤติน้ำท่วมกรุง โดย สนง.พัฒนาสังคม เตรียมสถานที่พักไว้พร้อมแล้ว


          ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ และได้เตรียมแผนป้องกันอพยพผู้ประสบภัยน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่เสี่ยงของกรุงเทพมหานคร โดยได้ให้สำนักงานเขตเฝ้าระวังตรวจสอบกระสอบทรายที่เป็นแนวเสริมคันกั้นน้ำ ความยาว 86 กิโลเมตร ทั้งแบบถาวรและชั่วคราว ให้อยู่ในสภาพที่แข็งแรง สามารถรับกับน้ำที่จะเพิ่มปริมาณสูงขึ้น


          โดยสำนักการระบายน้ำ คาดการณ์ว่า สัปดาห์หน้าจะมีปริมาณน้ำเหนือมวลใหญ่เข้าสู่พื้นที่กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 15-18 ตุลาคมนี้ อาจทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีการคาดการณ์ว่าจะมีร่องความกดอากาศต่ำยังคงอยู่ในพื้นที่ กทม. ซึ่งจะทำให้มีฝนตกปริมาณมากช่วง 2-3 วันนี้ จึงต้องเฝ้าระวังพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ 27 ชุมชน ใน 13 เขต รวมถึงพื้นที่ฝั่งตะวันออกของ กทม. และถนนสายหลักที่เป็นจุดอ่อนน้ำท่วม เช่น ถนนวิภาวดีรังสิต รามอินทรา บางกะปิ รวมถึงพื้นที่ทางฝั่งตะวันออกทั้งหมด โดยเบื้องต้น ให้สำรองโรงเรียนในสังกัดเป็นที่รองรับ เนื่องจากขณะนี้อยู่ในช่วงปิดเทอม โดยสำนักพัฒนาสังคมกทม. ได้มีการเตรียมสถานที่พัก เครื่องนอน อาหาร และอุปกรณ์ ยารักษาโรค ห้องน้ำ และอุปกรณ์ดำรงชีพไว้พร้อมแล้ว


          ส่วนพื้นที่ฝั่งเหนือของ กทม. ที่ติดกับ จ.ปทุมธานี ขณะนี้ได้มีการเสริมกระสอบทรายเพิ่มขึ้น พร้อมส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมประสานงานกับท้องถิ่นในจังหวัดปทุมธานี เพื่อช่วยป้องกันน้ำในคลองเอ่อล้นในพื้นที่ จ.ปทุมธานี และไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่เขตดอนเมือง หลักสี่ และสายไหม 








[8 ตุลาคม] เตือน!!! 15 พื้นที่่กรุงเทพฯ เสี่ยงน้ำท่วมหนัก 

















เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม




          เตือน! พื้นที่่ กทม.ชั้นใน  15 จุด เสี่ยงน้ำท่วม ทั้ง สาทร ลาดพร้าว ดินแดง ยันบางแค 


          สถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดยังน่าเป็นห่วง ขณะที่ กรุงเทพฯ ยังคงต้องจับตาดูกันอย่างใกล้ชิด เนื่องจากว่ามีฝนตกหนักตลอดทั้งคืนที่ผ่านมา (7 ตุลาคม) ประกอบกับน้ำจากทางภาคเหนือจะไหลบ่าทะลักลงมากรุงเทพฯ และน้ำทะเลหนุนสูง ในช่วง 2-3 วันนี้ จึงอาจจะทำให้พื้นที่เมืองหลวงของประเทศไทยจมอยู่ใต้บาดาล!!!  


          โดยเกี่ยวกับเรื่องนี้  นายสัญญา ชีนิมิตร ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ออกมาเปิดเผยว่า จาก การที่ฝนตกหนัก น้ำเหนือ และน้ำทะเลหนุน จะทำให้กรุงเทพฯ พื้นที่ชั้นใน 15 แห่งเป็นจุดที่เสี่ยงต่อน้ำท่วมมากที่สุด ซึ่งทั้ง 15 จุดเสี่ยงได้แก่ 


          1. เขตสาทร ย่านถนนจันทร์ เซนต์หลุยส์ สาธุประดิษฐ์
          2. เขตพญาไท ถนนพหลโยธิน ช่วงคลองสามเสน-คลองบางซื่อ
          3. เขตพระโขนง ถนนสุขุมวิท จากคลองพระโขนง-ซอยลาซาล
          4. เขตวัฒนา ซอยสุขุมวิท 39 และ 49
          5. เขตวังทองหลาง ถนนลาดพร้าว จากคลองลาดพร้าว-ห้างเดอะมอลล์
          6. เขตบึงกุ่ม ถนนนวมินทร์ จากคลองดอนอีกา-แยกถนนประเสริฐมนูกิจทั้งสองฝั่ง
          7. เขตดินแดง ถนนรัชดาภิเษก หน้าห้างโรบินสัน
          8. เขตจตุจักร ถนนรัชดาภิเษก แยกลาดพร้าว
          9. เขตราชเทวี ถนนเพชรบุรี จากถนนบรรทัดทอง-แยกราชเทวี
          10. เขตราชเทวี ถนนนิคมมักกะสัน
          11. เขตราชเทวี ถนนพระรามที่ 6 หน้าตลาดประแจจีน
          12. เขตบางแค ถนนเพชรเกษม ซอย 63 (ซอยวัดม่วง)
          13. เขตยานนาวา ถนนเย็นอากาศ จากถนนนางลิ้นจี่- ซอยศรีบำเพ็ญ
          14. เขตประเวศ ถนน ศรีนครินทร์ ช่วงคลองตาสาด-คลองตาช้าง
          15. เขตพระนคร ถนนสนามไชยและถนนมหาราช










ฝนตกหนัก กทม.น้ำขังหลายจุด (ไอเอ็นเอ็น)

          ฝนตกหนัก ตลอดทั้งคืน ส่งผลให้ หลายพื้นที่ กรุงเทพฯ มีน้ำท่วมขัง เจ้าหน้าที่ เร่งระบายน้ำ


          เมื่อคืนวันที่่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา มีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งคืน ส่งผลให้ในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร เกิดน้ำท่วมขังและยังไม่สามารถระบายได้ทัน อาทิ ถ.รัชดาภิเษก ตัด ถ.ลาดพร้าว ต่อเนื่องหน้าศาลอาญา ระดับน้ำท่วมสูงเกินกว่าริมฟุตบาท ถ.ประชาสงเคราะห์ ถ.ประดิษฐ์มนูธรรม ถ.งามวงศ์วาน ช่วงแยกพงษ์เพชร มีน้ำท่วมขังสูง และมีรถยนต์จอดเสียหลายคัน และรถเล็กไม่สามารถผ่านได้ ถ.ลาดพร้าว ทั้งขาเข้าและขาออก ช่วง ซ.ลาดพร้าว 71 น้ำท่วมระดับฟุตปาธ ถ.รามคำแหง 43/1 มีน้ำท่วมขัง ท่วมระดับล้อรถเก๋ง จาก 5 แยกลาดพร้าว มุ่งหน้า แยกรัชโยธิน มีน้ำท่วมขังถึงริมฟุตปาธ รถวิ่งได้เลนขวาเลนเดียว ถ.นวมินทร์ ช่วงหน้า ร.ร.บ้านบางกะปิ น้ำท่วมสูงระดับฟุตปาธ บริเวณเมืองทองธานี มีน้ำท่วมขังสูงประมาณ 30-50 ซ.ม. ถ.พหลโยธิน ช่วงแยกเกษตร น้ำท่วมฟุตปาธ มองไม่เห็นทางเดินแล้ว


          ด้าน นายสัญญา ชีนิมิตร ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กล่าวถึง การเร่งระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ว่า เจ้าหน้าที่ ได้นำเครื่องสูบน้ำไปติดตั้งในพื้นที่ ที่มีน้ำท่วมขังแล้ว แต่เนื่องจาก ฝนยังคงตกลงมาอย่างต่อเนื่อง น้ำจึงยังไม่สามารถระบายได้ทัน ขณะที่ เรือในคลองแสนแสบ ยังเดินเรือตามปกติ แต่จะช้ามาก เพราะระดับน้ำเพิ่มสูง ไม่สามารถใช้ความเร็วได้มากนัก











จับตา! น้ำท่วมกรุงเทพ วันนี้พร้อมรับมือหรือยัง?




[7 ตุลาคม]จับตา! น้ำท่วมกรุงเทพ วันนี้พร้อมรับมือหรือยัง? 


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก facebook ศูนย์ป้องกันน้ำท่วม กรุงเทพมหานครครอบครัวข่าว3 


          จากข่าวอุทกภัยที่เกิดขึ้น ก็ทำให้ชาวกรุงเทพมหานครที่อยู่ในพื้นที่ตอนปลายของแม่น้ำเจ้าพระยาอดอกสั่น ขวัญแขวนไปไม่ได้ เพราะขณะนี้มวลน้ำเหนือปริมาณมหาศาลกำลังเดินทางมารวมกันที่แม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อจะไหลลงสู่อ่าวไทย ซึ่งก็ทำให้ทุกวันนี้ ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านในเขตกรุงเทพมหานครเพิ่มสูงขึ้นอย่าง มาก จนไหลท่วมทะลักในชุมชนบางแห่งที่อยู่นอกคันกั้นน้ำแล้ว โดยเฉพาะที่เขตลาดกระบัง หนองจอก และมีนบุรี


          ขณะที่ในพื้นที่ที่อยู่ติดริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เจ้าหน้าที่และชาวบ้านต่างก็เร่งเสริมกระสอบทรายกั้นน้ำอย่างรีบเร่ง เนื่องจากกรมชลประทานออกมาคาดการณ์ว่า ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะเพิ่มสูงขึ้นกว่านี้อีก จากมวลน้ำเหนือซึ่งคาดว่าจะไหลลงมาสู่แม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ในช่วงวันที่ 16-17 ตุลาคมนี้ และเป็นเวลาเดียวกับที่น้ำทะเลหนุนสูงที่สุดในรอบปีพอดิบพอดี (13-18 ตุลาคม) ซึ่งจะทำให้สถานการณ์อุทกภัยในกรุงเทพมหานคร ปทุมธานี และนนทบุรี น่าวิตกกว่าปัจจุบัน


          และที่ยิ่งทำให้คนกรุงหายใจไม่ทั่วท้อง ก็เพราะมีข้อมูลภาพแสดงระดับพื้นดินของกรุงเทพมหานคร เปรียบเทียบกับระดับน้ำเจ้าพระยา ถูกเผยแพร่ในเฟซบุ๊กของ "ศูนย์ป้องกันน้ำท่วม กรุงเทพมหานคร" ซึ่งแสดงให้เห็นว่า พื้นดินหลายจุดของกรุงเทพมหานครทรุดต่ำกว่าระดับน้ำแล้วกว่า 2 เมตร แต่ที่น้ำยังไม่ท่วมเพราะมีคันกันน้ำในพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ หัว กั้นไว้อยู่ทางพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร คนกรุงในพื้นที่ชั้นในจึงยังอยู่รอดปลอดภัยมาถึงทุกวันนี้


          คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ แล้วกรุงเทพมหานครจะสามารถรับมือกับน้ำท่วมได้มากเพียงใด? เพราะเพียงแค่พายุฝนที่ถล่มหนักในช่วงค่ำของวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา ก็ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังสูงบริเวณถนนวิภาวดี-รังสิต ฝั่งขาเข้า จนการจราจรเป็นอัมพาตนานกว่า 7 ชั่วโมงแล้ว แสดงให้เห็นว่า การระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีปัญหา และยิ่งได้ฟังข่าวอุทกภัยทุกวัน ๆ ก็ทราบดีว่า น้ำท่วมปีนี้มีปริมาณมากกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา


          แล้วจะเกิดอะไรขึ้น? หากระบบการป้องกัน และการระบายน้ำยังไม่สามารถทำงานได้ดีพอ ในวันที่น้ำหลากมาถึง!!!


          อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจสอบจากข้อมูลปริมาณน้ำที่ไหลเข้าสู่พื้นที่กรุงเทพมหานคร ณ วันที่ 6 ตุลาคม จะพบว่า ขณะนี้มีน้ำไหลเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยาในกรุงเทพมหานคร เฉลี่ย 4,300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และมีระดับน้ำสูงอยู่ที่ 1.8 เมตรจากระดับน้ำทะเล ซึ่งทางกรุงเทพมหานครก็ได้เร่งระบายน้ำออกไปทางจังหวัดสมุทรปราการแล้ว 


          โดยทางศูนย์ป้องกันน้ำท่วมก็มั่นใจว่า หากน้ำไหลเข้าสู่พื้นที่กรุงเทพมหานครถึง 5,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ก็ยังสามารถรับมือได้ แม้จะทำให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นเป็น 2.30 เมตรจากระดับน้ำทะเล แต่ก็ยังไม่เกินแนวคันกั้นน้ำที่กรุงเทพมหานครเตรียมพร้อมรับมือไว้อย่างแน่ นอน


          จากสภาพการณ์ดังกล่าวสามารถประเมินได้ว่า พื้นที่นอกแนวคันกั้นน้ำของกรุงเทพมหานครคงไม่แคล้วที่จะต้องเผชิญกับ สถานการณ์อุทกภัยครั้งรุนแรงเป็นแน่ ดังนั้น ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวต้องติดตามฟังข่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้เตรียมรับมือทัน ส่วนพื้นที่ชั้นในกรุงเทพมหานครนั้น คงต้องมาจับตาดูกันว่า มาตรการการป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพมหานครในปีที่มีน้ำปริมาณมหาศาลเช่นนี้ จะช่วยป้องกันไม่ให้เขตเมืองหลวงจมน้ำได้มากน้อยแค่ไหน







อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร






[1 ตุลาคม] ผู้ว่าฯ กทม.รับห่วงน้ำท่วม แต่มั่นใจรับมือได้


น้ำท่วม




เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ครอบครัวข่าว 3


          ผู้ว่าฯ กทม. รับห่วงน้ำท่วม กทม. เหตุฝนตกหนัก น้ำในเขื่อนหลักเกินความจุแล้ว แต่เตรีมยพร้อมรับมือไว้แล้ว ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก


          เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. ได้เดินทางมายังโรงเรียนเจริญวิทยาศึกษา ริมสะพานข้ามคลองเปรมประชา เขตดอนเมือง เพื่อตรวจแผนมาตรการรับมือน้ำท่วม ภายหลังเกิดข่าวลือว่าเขตดอนเมืองได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม โดยมีชาวบ้านเข้ามารับฟังและรับแจกถุงยังชีพ


          ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีคำเตือนจากหลายหน่วยงานโดยระบุว่า กทม.จะเกิดน้ำท่วม ซึ่งตนก็พร้อมรับฟังข้อคิดเห็น แต่ กทม.ได้เตรียมพร้อมมาโดยตลอด โดยสั่งให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง ถึงแม้อาจจะมีฝนตกหรือน้ำเหนือเข้ามาก็ขอให้คน กทม.อย่าตื่นตระหนก โดยเฉพาะคนที่อยู่ดอนเมือง เพราะ กทม.ยังควบคุมสถานการณ์ได้ แต่หากเกิดสภาวะมีปริมาณน้ำฝนและน้ำทะเลหนุน กทม.ก็จะมีสิทธิถูกน้ำท่วมได้เช่นกัน เพราะต้องยอมรับว่า กทม.เป็นพื้นที่ราบลุ่ม แต่ทาง กทม.ก็จะเร่งผันน้ำลงทะเลโดยเร็วที่สุด 


          อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนหลักมากกว่าทุกปี และเกินความจุไปแล้ว เช่น เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ทาง กทม. จึงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอดเดือนตุลาคมนี้ เพราะยังเป็นช่วงของฤดูฝน ประกอบกันในช่วงวันที่ 4-5 ตุลาคมนี้จะมีพายุดีเปรสชั่นเข้ามาอีก
        
          ทั้งนี้ เมื่อช่วงเช้าวันที่ 1 ต.ค.ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลทำให้น้ำเอ่อเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ริมคลองรังสิตประยูรศักดิ์ บริเวณ ต.หลักหก ต.บ้านใหม่ ต.บางพูน อ.เมืองฯ จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นคลองรอยต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะที่ประตูระบายน้ำจุฬาลงกรณ์ ตลาดรังสิต ต.ประชาธิปัตย์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ระดับน้ำบริเวณประตูระบายน้ำเพิ่มสูงขึ้นจนปริ่มแนวคันกั้นเดิม


          เจ้าหน้าที่เทศบาลนครรังสิตต้องประกาศรวมกำลังชาวบ้านในพื้นที่เร่งช่วยกันกรอกกระสอบทราย เพื่อนำไปเสริมแนวคันกั้นบริเวณรอบประตูระบายน้ำจุฬาลงกรณ์อย่างเร่งด่วน เสริมสูงเพิ่มอีกประมาณ 30-50 ซม. เพื่อจะได้สามารถรับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นไม่ให้เข้าท่วมเมืองเศรษฐกิจย่านรังสิต




อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก







[1 ตุลาคม] แจงภาพน้ำท่วมรังสิต ที่แท้อุทกภัยนิวออร์ลีนส์ ปี 2005


อุทกภัยนิวออร์ลีนส์
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก en.wikipedia.org


          ชาวเน็ตส่งต่อภาพน้ำท่วมรังสิต ที่แท้อุทกภัยครั้งประวัติศาสตร์ของเมืองนิวออร์ลีนส์ ปี 2005 หลังพายุเฮอริเคนแคทรีนาพัดถล่ม


          หลังจากเมื่อวานที่ 29 กันยายน มีข่าวน้ำจากคลองรังสิตทะลักเข้าคลองเปรมเปรมประชากร ท่วมถนนโลคัลโรด จนทางเทศกิจเขตดอนเมือง ต้องส่งเจ้าหน้าที่มาช่วยจำนวน 40 นาย และทหารจาก ปตอ.พัน 7 จำนวน 60 นาย มาช่วยป้องกันน้ำเข้าท่วมในเขตกรุงเทพฯ ทำให้มีการส่งต่อรูปภาพน้ำท่วมรังสิตกันไปในโลกของโซเชียลเน็ตเวิร์ค ทั้งเฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ เพื่อส่งข่าวบอกเพื่อนพ้องให้เตรียมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจมาเยือน กทม. ในเร็ววัน


          แต่ทว่า ภาพน้ำท่วมรังสิตบางภาพที่ถูกส่งต่อกันนั้น กลับเป็นความเข้าใจผิด เมื่อภาพที่ปรากฏอยู่นี้ เป็นภาพเหตุการณ์น้ำท่วมที่เมืองนิวออร์ลีนส์ ในรัฐลุยเซียนา เมื่อปี 2005 หลังจากพายุเฮอร์ริเคนแคทรีนาพัดถล่มครั้งร้ายแรง หรือนับได้ว่าเป็นอุทกภัยครั้งประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาเลยทีเดียว






[29 กันยายน] เผย 13 พื้นที่ กทม.เสี่ยงน้ำท่วม-น้ำทะลักเข้าคลองเปรมฯ แล้ว





น้ำคลองรังสิต ทะลักท่วมเขตดอนเมือง


น้ำคลองรังสิต ทะลักท่วมเขตดอนเมือง


น้ำคลองรังสิต ทะลักท่วมเขตดอนเมือง


น้ำคลองรังสิต ทะลักท่วมเขตดอนเมือง


น้ำคลองรังสิต ทะลักท่วมเขตดอนเมือง




เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ครอบครัวข่าว 3


          สทอภ.ชี้ 13 พื้นที่ กทม. เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน ขณะที่น้ำจากคลองรังสิตทะลักเข้าคลองเปรมประชากร เขตดอนเมืองแล้ว ทหารเข้าช่วยเหลือเร่งด่วน ส่วนที่ปทุมฯ น้ำท่วมถนน ทำรถติดยาวหลายกิโล


          วานนี้ (28 กันยายน) ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ. (GISTDA) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ทาง สทอภ.ได้ร่วมกับองค์การสำรวจอวกาศแห่งประเทศญี่ปุ่น หรือแจ็กซ่า ส่งเครื่องบินติดอุปกรณ์ถ่ายภาพระบบเรดาร์ ไปบินสำรวจสถานการณ์อุทกภัยในภาคกลางของประเทศไทย พร้อมถ่ายภาพเพื่อช่วยให้การประเมินพื้นที่ที่เสียหายจากน้ำท่วมเป็นไปได้แม่นยำขึ้น


          ทั้งนี้ สทอภ. ยังได้เผยภาพถ่ายจากดาวเทียม แสดงให้เห็นพื้นที่เสี่ยงภัยจะเกิดน้ำท่วมฉับพลันใน 3-5 วันนี้ ในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งประกอบไปด้วย 13 เขต ได้แก่ หนองค้างพลู, ทุ่งสองห้อง, สายไหม, คลองถนน, อนุสาวรีย์, จระเข้บัว, ลาดพร้าว, คลองกุ่ม, คลองจั่น, หัวหมาก, สะพานสูง, คลองสองต้นนุ่น และลาดกระบัง รวมทั้งพื้นที่ส่วนปริมณฑล ได้แก่ จังหวัดนนทบุรี จังหวัดนครปฐม จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อเตือนให้ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวเตรียมตัวรับมือ และติดตามข่าวสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิด เพื่อจะสามารถลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้


          สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑลนั้น ขณะนี้มีรายงานว่า ตรงจุดประตูน้ำคลองเปรมประชากร น้ำได้ข้ามกระสอบทรายเข้าพื้นที่ริมถนนโลคัลโรดแล้ว ทำให้เจ้าหน้าที่เทศกิจเขตดอนเมือง ต้องส่งเจ้าหน้าที่มาช่วยจำนวน 40 นาย และทหารจาก ปตอ.พัน 7 จำนวน 60 นาย มาช่วยป้องกันน้ำเข้าท่วมในเขตกรุงเทพฯ 


          เช่นเดียวกับที่จังหวัดปทุมธานี ระดับน้ำในคลองรังสิตประยูรศักดิ์ได้เอ่อล้นท่วมบ้านเรือนประชาชน และถนนสายซ่อมสร้างในหมู่ 5 ตำบลบางพูน อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานีซึ่งเป็นถนนเชื่อมต่อระหว่างถนนรังสิต-ปทุมธานี และถนนติวานนท์ ส่งผลให้การจราจรติดขัดหลายกิโลเมตร เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงต้องปิดถนนขาออกจากรังสิต และให้รถวิ่งสวนทางในฝั่งขาเข้าแทน ซึ่งก็ส่งผลให้การจราจรในฝั่งขาเข้าติดขัดยาวหลายกิโลเมตรเช่นกัน


          โดยนายสมพงษ์ ศรีอนันท์ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลหลักหก จ.ปทุมธานี พร้อมด้วย นายทวีวิทย์ พันธชาติ ปลัดเทศบาลตำบลหลักหก และพนักงานเจ้าหน้าที่ตำบลหลักหก ได้ตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกัน และแก้ไขปัญหาอุทกภัยน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่ประจำปี 2554 บริเวณทางเข้าหมู่ที่ 5 ต.หลักหก จ.ปทุมธานี โดยได้ออกแก้ไขปัญหาอุทกภัยน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่หมู่ที่ 4 และหมู่ที่ 5 ต.หลักหก ถนนเลียบคลองรังสิต หรือซอยผู้ใหญ่เลี้ยง ด้วยการระดมพนักงานเจ้าหน้าที่ของเทศบาลตำบลหลักหกมาทำคันกั้นกระสอบทรายยาว 1,600 เมตร ในพื้นที่หมู่ที่ 5 และแนวกั้นยาว 2,400 เมตร พื้นที่หมู่ที่ 4 เพื่อให้ประชาชนสามารถสัญจรไปมาในการใช้ชีวิตประจำวันได้สะดวกขึ้น


          นอกจากนี้ ทางเทศบาลตำบลหลักหกได้ให้การช่วยเหลือเบื้องต้นในขณะนี้ โดยส่งอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านไปดูแลคนชราในพื้นที่ และแจกถุงยังชีพจำนวน 460 ชุด เฉพาะประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนน้ำท่วมบ้านที่อยู่อาศัย จำนวนประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน 1,200 คน










อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
   


รวมภาพในวันน้ำหลาก เมืองปากน้ำโพ...นครสวรรค์

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก คุณ Peachzang
รวมภาพในวันน้ำหลาก เมืองปากน้ำโพ...นครสวรรค์ 2


ขอขอบคุณภาพประกอบจาก คุณ Peachzang
รวมภาพในวันน้ำหลาก เมืองปากน้ำโพ...นครสวรรค์ 3

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก คุณ Peachzang
รวมภาพในวันน้ำหลาก เมืองปากน้ำโพ...นครสวรรค์ 4

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก คุณ Peachzang

ประมวลภาพสถานการณ์ล่าสุด จาก จ.ลพบุรี(1)
ประมวลภาพสถานการณ์ล่าสุด จาก จ.ลพบุรี(1)
ประมวลภาพสถานการณ์ล่าสุด จาก จ.ลพบุรี(1)
ประมวลภาพสถานการณ์ล่าสุด จาก จ.ลพบุรี(1)
ประมวลภาพสถานการณ์ล่าสุด จาก จ.ลพบุรี(1)
ประมวลภาพสถานการณ์ล่าสุด จาก จ.ลพบุรี(1)
ประมวลภาพสถานการณ์ล่าสุด จาก จ.ลพบุรี(1)
ประมวลภาพสถานการณ์ล่าสุด จาก จ.ลพบุรี(1)
ประมวลภาพสถานการณ์ล่าสุด จาก จ.ลพบุรี(1)
ประมวลภาพสถานการณ์ล่าสุด จาก จ.ลพบุรี(1)
ประมวลภาพสถานการณ์ล่าสุด จาก จ.ลพบุรี(1)
ประมวลภาพสถานการณ์ล่าสุด จาก จ.ลพบุรี(1)
ประมวลภาพสถานการณ์ล่าสุด จาก จ.ลพบุรี(1)
ประมวลภาพสถานการณ์ล่าสุด จาก จ.ลพบุรี(1)
ประมวลภาพสถานการณ์ล่าสุด จาก จ.ลพบุรี(1)
ประมวลภาพสถานการณ์ล่าสุด จาก จ.ลพบุรี(1)

ขอบคุณภาพจาก คุณ Ann Burin @Facebook

 โดย :หมูอ้วน (ทีมงาน TeeNee.Com)
ประมวลภาพสถานการณ์ล่าสุด จาก จ.ลพบุรี(2)
ประมวลภาพสถานการณ์ล่าสุด จาก จ.ลพบุรี(2)
ประมวลภาพสถานการณ์ล่าสุด จาก จ.ลพบุรี(2)
ประมวลภาพสถานการณ์ล่าสุด จาก จ.ลพบุรี(2)
ประมวลภาพสถานการณ์ล่าสุด จาก จ.ลพบุรี(2)
ประมวลภาพสถานการณ์ล่าสุด จาก จ.ลพบุรี(2)
ประมวลภาพสถานการณ์ล่าสุด จาก จ.ลพบุรี(2)
ประมวลภาพสถานการณ์ล่าสุด จาก จ.ลพบุรี(2)
ประมวลภาพสถานการณ์ล่าสุด จาก จ.ลพบุรี(2)
ประมวลภาพสถานการณ์ล่าสุด จาก จ.ลพบุรี(2)
ประมวลภาพสถานการณ์ล่าสุด จาก จ.ลพบุรี(2)
ประมวลภาพสถานการณ์ล่าสุด จาก จ.ลพบุรี(2)
ประมวลภาพสถานการณ์ล่าสุด จาก จ.ลพบุรี(2)
ประมวลภาพสถานการณ์ล่าสุด จาก จ.ลพบุรี(2)

ขอบคุณภาพจาก คุณ Ann Burin @Facebook

 โดย :หมูอ้วน (ทีมงาน TeeNee.Com)
ประมวลภาพน้ำท่วมสวนอุตสาหกรรมโรจนะ

Fwdder by: nusss

 โดย :พิกกี้โกะ
มธ. แพร่ภาพ น้ำเจ้าพระยาทะลักจากริมฝั่งท่วมถนนท่าพระจันทร์
เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม   ในเฟซบุ๊กของ  "งานประชาสัมพันธ์ ม.ธรรมศาสตร์" ก็ได้มีการเผยแพร่ภาพถ่าย

ที่แสดงให้เห็นถึงผลกระทบจากน้ำเจ้าพระยาที่เอ่อทะลักเข้าท่วมบริเวณท่าพระจันทร์ ติดกันเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์  โดยน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาได้ท่วมลามมาบนถนนรถที่ใช้สัญจรไปมาแทบไม่เหลือ ไล่มาตั้งแต่บริเวณท่าเรือข้ามฟาก  ลานคนเมืองซึ่งเป็นที่ตั้งขายของ   ร้านค้า ร้านขายอาหาร  อาคาร บ้านเรือนที่อยู่ไม่ห่างแม่น้ำเจ้าพระยาจนหมดระดับน้ำประมาณมิดข้อเท้าได้ ซึ่งประชาชนที่อยู่บริเวณดังกล่าวต่างก็ต้องลุยน้ำกันอย่างทุลักทุเล ขณะที่รถยนต์ซึ่งวัญจรไปมาก็ต้องขับขี่ด้วยความระมัดระวังและมีบางส่วนก็นำเรือมาใช้ด้วย

ทั้งนี้  เฟซบุ๊ก  "งานประชาสัมพันธ์ ม.ธรรมศาสตร์"   ในอัลบั้มภาพที่ใช้ชื่อว่า 19 ตุลาคม 2554   มีรูปถ่าย น้ำท่วมบริเวณท่าพระจันทร์ ทั้งหมด 20 ภาพ  ระบุข้อความดังนี้ 


"19.10.54 เวลา 12.30 น. เนื่องจากในวันนี้มีปริมาณน้ำเจ้าพระยาสูงขึ้นมาก น้ำให้น้ำได้เอ่อล้นเข้ามาบริเวณพื้นที่ลานคนเมือง ท่าพระจันทร์ และถนนบริเวณท่าพระจันทร์ แต่ภายในเวลา 1 ชม. ปริมาณน้ำก็เริ่มลดลง"


มติชนออนไลน์ จึงขออนุญาตแพร่ภาพถ่ายบางส่วนที่นำมาจากเฟซบุ๊กดังกล่าว มาให้ผู้อ่าน และผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณโดยรอบได้รับมือกัน หากน้ำเจ้าพระยา ท่วมสูงขึ้นมาอีก

ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์มติชน
   โดย :หมูอ้วน (ทีมงาน TeeNee.Com)
ชมภาพชุดนํ้าท่วม กทม.-นนท-ปทุม21ต.ค.54

ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
   โดย :หมูอ้วน (ทีมงาน TeeNee.Com)
ชมภาพชุดนํ้าท่วม กทม.-นนท-ปทุม21ต.ค.54 (2)

ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
   โดย :หมูอ้วน (ทีมงาน TeeNee.Com)