Bill Gates "คำถามแห่งชีวิต"
"ถ้าคุณมีเวลา 2-3 ชม.ต่อสัปดาห์ และมีเงิน 2-3 ดอลลาร์ต่อเดือนสำหรับอุทิศให้กับอะไรสักอย่างที่มีผลสูงสุดต่อการช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน หรือทำให้ชีวิตของเขาดีขึ้น ถามว่าคุณจะใช้เวลาและเงินนั้นอย่างไร"เป็นคำถามที่บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้รับ ในวันรับปริญญาจาก "บัณฑิตใหม่" คนหนึ่งที่ชื่อ "บิล เกตส์"
"บิล เกตส์" เคยเรียนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดแต่เรียนไม่จบ เขาเลิกเรียนเพื่อไปสร้างตำนานบทใหม่กับอาณาจักรธุรกิจที่กลายเป็นความใฝ่ฝันของคนหนุ่มสาว นั่นคือ "ไมโครซอฟต์"
หลังจากลาออกไป 30 ปี วันนี้มหาวิทยาลัยได้มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตให้กับ "บิลเกตส์" พร้อมกับเชิญเขาเป็นผู้กล่าว "ปัจฉิมนิเทศ" ให้กับบัณฑิตใหม่ ใครๆก็นึกว่า "บิล เกตส์" มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลกจะพูดถึงเรื่องวิธีคิดทางธุรกิจหรือเส้นทางสู่ความสำเร็จแบบ "กบฏ" แต่ใครจะไปนึกว่าสิ่งที่เขาตั้งใจที่จะบอกกับ "บัณฑิต" และคณาจารย์ของ "ฮาร์วาร์ด" กลับเป็น "มุมมองใหม่" และ "คำำถามแห่งชีวิต"
เขาเริ่มต้นปาฐกถาด้วยการยิงมุขเรียกเสียงฮาจากคนฟัง
"บิล เกตส์" บอกว่าเขาคอยมา 30 ปีเพื่อที่จะพูดว่า "คุณพ่อครับ ผมบอกคุณพ่อเสมอมาใช่ไหมว่าวันหนึ่งผมจะกลับมาเอาปริญญาให้ได้" และ "ผมมักชักนำคนไปในทางเสีย นั่นคือเหตุผลที่ผมได้รับเชิญให้มาพูดในวันรับปริญญาของคุณ เพราะถ้าผมมาพูดในวันปฐมนิเทศของคุณ คุณบางคนอาจเรียนไม่จบในวันนี้ก็ได้"
จากนั้น "บิล เกตส์" ก็เริ่มเล่าเรื่องราวของเขากับ "ฮาร์วาร์ด"
"สิ่งที่ผมจำได้เกี่ยวกับฮาร์วาร์ดได้แก่การอยู่ท่ามกลางพลังงานและปัญญา"
ก่อนจะ "ตีแสกหน้า"คณาจารย์และบัณฑิตของสุดยอดมหาวิทยาลัยของโลก
เขาบอกว่าเมื่อมองย้อนกลับไป มีความสลดใจเรื่องหนึ่งเกิดขึ้นในใจของเขา
"ผมออกจากฮาร์วาร์ดไปโดยไม่มีความตระหนักอย่างแท้จริงเลยถึงความไม่เสมอภาคอันแสนโหดร้ายในโลก ความเหลื่อมล้ำอันน่าขนหัวลุกในด้านสุขภาพ ทรัพย์สิน และโอกาส ผมได้เรียนรู้แนวคิดใหม่ๆ ด้านเศรษฐศาสตร์และการเมืองอย่างมากมายในฮาร์วาร์ด ผมได้สัมผัสใกล้ชิดถึงความก้าวหน้าซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นในด้านวิทยาศาสตร์ แต่ความก้าวหน้าของมนุษยชาติไม่ได้ขึ้นอยู่กับการค้นพบ หากอยู่ที่การค้นพบนั้นสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อลดความไม่เสมอภาคได้อย่างไรต่างหาก ผมออกจากฮาร์วาร์ดไปโดยแทบไม่รู้เลยว่าเยาวชนนับล้านคนถูกโกงโอกาสด้านการศึกษาในประเทศของเรานี่เองและผมไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับคนเป็นล้านๆที่ต้องมีชีวิตอยู่กับความยากจนแสนสาหัสและโรคร้ายในประเทศกำลังพัฒนา เป็นเวลาหลายทศวรรษกว่าผมจะค้นพบ"
จากนั้นเขาก็เริ่มตั้งคำถาม
"ถ้าคุณมีเวลา 2-3 ชม.ต่อสัปดาห์ และมีเงิน 2-3 ดอลลาร์ต่อเดือนสำหรับอุทิศให้กับอะไรสักอย่างที่มีผลสูงสุดต่อการช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน หรือทำให้ชีวิตของเขาดีขึ้น ถามว่าคุณจะใช้เวลาและเงินนั้นอย่างไร"
"2-3 ชม.ต่อสัปดาห์" หรือ "2-3 ดอลลาร์ต่อเดือน" เป็นการสร้างเงื่อนไขที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า "ไม่มีเวลา-ไม่มีเงิน"
สำหรับ "บิล เกตส์" และภรรยา ความท้าทายของเขาในมุมเดียวกันก็คือ
"เราจะทำอย่างไรให้เกิดผลดีที่สุดต่อคนจำนวนมากที่สุดจากทรัพยากรที่เรามีอยู่"
"บิล เกตส์" ตอนนี้อายุ 52 ปี อีก 1 ปี เขาจะเกษียณจากบริษัทไมโครซอฟต์เพื่อไปบริหารมูลนิธิของเขา มูลนิธินี้มีเงินทุนประมาณ 30,000 ล้านเหรียญ และ “วอร์เรน บัฟเฟ็ตน์” มหาเศรษฐีอันดับ 2 ของโลก ซึ่งเป็น “สหายต่างวัย” ของเขาสมทบให้อีก 37,000 ล้านเหรียญ ครับ ทรัพยากรที่เขามีอยู่ คือ 67,000 ล้านเหรียญ หรือ 2.4 ล้านล้านบาท เขากำลังจะเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง ครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อ "ตัวเอง" แต่เพื่อ "ผู้อื่น"
เขาไม่เชื่อว่าคนเราไร้ "น้ำใจ"
"ผมเชื่อว่าเรามีน้ำใจมากจนไม่รู้ว่าจะใช้ทำอะไรหมด" แต่ที่ไม่แสดงออกมาเพราะไม่รู้ว่าจะทำอะไร ถ้าทุกคนเข้าใจปัญหา มองเห็นทางแก้ปัญหาและเห็นผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น ทุกคนคงแสดงน้ำใจกันแล้ว แต่เพราะ "ความสลับซับซ้อน" ปิดกั้น ทำให้ทุกคนไม่เห็นปัญหา-ทางแก้และผลลัพธ์ ทุกคนจึงไม่รู้ว่าจะแสดงน้ำใจอย่างไรดี
"บิล เกตส์" เสนอแนวทางทะลุทะลวง "ความสลับซับซ้อน" 4 ขั้นตอนด้วยกัน
1. พิจารณาจุดหมายหรือกำหนดเป้าหมาย
2. ค้นหากลวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
3. หาเทคโนโลยีที่เหมาะสมที่สุด
4. ระหว่างที่กำลังค้นหา ให้นำเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วมาใช้อย่างชาญฉลาด
เขาเชื่อว่าการนำเสนอที่ดีจะนำมาซึ่งการร่วมมือร่วมใจทั้งภาครัฐและเอกชน
ในตอนท้ายของปาฐกถา “บิล เกตส์” ย้อนกลับไปถามคนใน “ฮาร์วาร์ด” อีกครั้งหนึ่ง
"ฮาร์วาร์ดสามารถจะอุทิศพลังทางปัญญาของตนเพื่อช่วยปรับปรุงชีวิตของผู้คนที่ไม่เคยแม้แต่จะได้ยินชื่อฮาร์วาร์ดได้ไหม"
"สติปัญญาชั้นยอดเยี่ยมของเราควรจะอุทิศให้แก่การแก้ปัญหาที่หนักหนาสาหัสที่สุดของเราหรือไม่"
ก่อนจะทิ้ง "ความหวัง" ให้กับ "บัณฑิตใหม่" ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้
"ผมหวังว่าคุณจะกลับมาที่ฮาร์วาร์ดในอีก 30 ปีจากนี้ไป และมาไตร่ตรองถึงการใช้พรสวรรค์และพลังงานของคุณ ผมหวังว่าคุณจะวินิจฉัยตัวคุณเองไม่เฉพาะในด้านของความสำเร็จในอาชีพเท่านั้นแต่ในด้านผลงานของคุณเกี่ยวกับความไม่เสมอภาคกันอันล้ำลึกที่สุดด้วย คุณได้ปฏิบัติต่อคนที่อยู่คนละฟากโลกได้ดีแค่ไหน เมื่อคนเหล่านั้นไม่มีอะไรร่วมกับคุณเลย ยกเว้นแต่ความเป็นมนุษย์ของเขาเท่านั้น"
ที่มา หนังสือ ปัญหาคือยาวิเศษ ของหนุ่มเมืองจันท์
รูปภาพ http://mynotetakingnerd.wordpress.com/category/wealth-attraction/
Post a Comment