รวมเรื่องเล่าจากชีวิตจริงที่สร้างแรงบันดาลใจให้คนทั้งโลก


ผมอยากเป็นนักเขียน
ผู้คนเฝ้าบอกผมว่า การเป็นนักเขียน ต้องมีสมองที่ชาญฉลาด ต้องมีคลังคำศัพท์เป็นล้านล้านคำ ต้องละเลียดกับทุกสัมผัสที่เกิดขึ้นรอบตัว ต้องรู้จักการบรรยายที่เข้าถึงอรรถรส ต้องสั่งสมประสบการณ์ ต้องมีมุมมองชีวิตที่แปลกใหม่ ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ และที่สำคัญที่สุด ต้องมีสองมือที่ลงมือเขียนผ่านน้ำหมึก มิเช่นนั้น เราคงเรียนตัวเราว่า ‘นักเขียน’ ไม่ได้


ผมอายุเกือบสี่สิบปีแล้ว แต่ยังไม่ได้เข้าใกล้คำว่านักเขียนแม้แต่น้อย
ผมตื่นเช้าก็เข้าทำงานที่บริษัท ตกเย็นก็ต้องไปรับลูกที่โรงเรียน งานเขียนของผมคืบหน้าได้วันละบรรทัด กว่าจะครบครึ่งเล่ม เล่นเอาผมใช้เวลาเป็นสิบปี ภรรยาและลูกของผมบอกเสมอว่า วันหนึ่งผมจะเป็นนักเขียนได้อย่างเต็มตัว พวกเขาอยากเห็นชื่อของผมอยู่ทุกหัวมุมกระดาษถนอมสายตา อยู่บนชั้นหนังสือเคียงข้างกับนักเขียนชื่อดังอย่างฮารุกิ มุราคามิ โบเฆส และชาล์ส ดิคเก้น
“ผมคิดว่าจะเขียนมันให้เสร็จและประกวดให้ได้ในปีนี้” ผมบอกภรรยาและลูกวัยประถมก่อนจะเริ่มลงมือขีดเขียนอย่างจริงจัง แต่ไม่นานนักความฮึดของผมก็ล่มสลายราวกับกาแฟร้อนที่ถูกตั้งทิ้งไว้ในตู้เย็น

“เขาอยากจะเป็นนักเขียนครับพ่อ”
ลูกชายของผมเล่าถึงพ่อของเพื่อนคนที่เพิ่งโบกมือลากันเมื่อครู่ให้ฟัง
“เหมือนที่พ่ออยากจะเป็นเลย”
“เขาเขียนอะไรได้ถึงไหนแล้วล่ะ” ผมถามตอนที่เดินเคียงข้างกับเด็กตัวน้อย ขณะที่เพื่อนคนนั้นเดินจูงมือแม่ไปอีกทาง
“ผมเห็นว่าเขาเขียนลงอินเตอร์เน็ตไว้นะ” พูดจบเด็กตัวน้อยก็ชี้ไปที่ไอแพดในมือของผม “พ่อลองเปิดดูสิ เพื่อนผมไปเล่าให้ครูฟัง ครูเปิดอ่านแล้วบอกว่าเขียนสนุกมาก แต่ผมอ่านแล้วไม่ค่อยเข้าใจหรอก ยาก” เขาบ่นตามประสาเด็กประถม แล้วคะยั้นคะยอให้ผมเปิดออกอ่านให้ได้
ครอบครัวนั้นขึ้นรถ ขณะที่ผมอ่านเรื่องที่พ่อเขาเขียน
เขาเขียนได้สนุกจริงๆ บรรยายอาหารได้อร่อยราวกับว่าลิ้นของผมได้แตะสัมผัสเอง บรรยายสัมผัสแต่ละสัมผัสได้ละมุนละไมราวว่าผมถูกห้อมล้อมไปด้วยตัวหนังสือของเขา
“เขาบอกว่าพ่อเขียนลงทุกสัปดาห์ แถมมีห้องทำงานที่ไม่เหมือนใครคนไหนอีกต่างหาก”
“พ่ออยากรู้จักจัง”
“ผมก็อยากไปหาเขานานแล้วฮะ”

เขาอยากเป็นนักเขียน
ผมเปิดเข้าไปในห้องที่เขาบอกว่าเป็นห้องทำงานที่ไม่เหมือนใคร ผมก็ได้รู้ว่าไม่มีใครจะมีห้องทำงานได้เหมือนเขา และไม่มีใครจะเป็นนักเขียนที่ยิ่งใหญ่ได้มากไปกว่าเขา
ผู้ชายคนที่บรรยายอาหารได้น่าทานเสียขนาดนั้น เป็นคนเดียวกันกับที่ต้องทานอาหารด้วยสายยางและควบคุมการไหลของน้ำลายตนเองไม่ได้ คนที่บรรยายสัมผัสได้แสนละมุนละไมขนาดนั้น แท้จริงแล้วเขาไม่สามารถแม้จะขยับร่างกายไปสัมผัสอะไรได้อีกแล้ว เขาเป็นโรคลอคอินซินโดรม
“วันแรกๆ ที่เขาเป็นโรคนี้ ฉันตื่นขึ้นมาตอนเช้าแล้วถามเขาว่าต้องการอะไร เขาคุยกับฉันด้วยการขยับตาซ้ายเพียงข้างเดียวของเขา เพราะเป็นสิ่งเดียวที่เขาใช้งานได้ ฉันเดาว่าเขาคงหิว หรือจะเข้าห้องน้ำ หรืออยากกอดลูก แต่ไม่ใช่ สิ่งเดียวที่เขาอยากทำก็คือ..เขาอยากเขียนหนังสือ”
“แล้วเขาเขียน?”
“ด้วยการบอกตัวอักษรผ่านดวงตาข้างเดียวของเขา”
ผมเงยหน้ามองเขา และดวงตาข้างซ้ายข้างนั้นราวกับพูดกับผมว่า
“สิ่งเดียวที่จะทำให้คุณวิ่งหนีออกจากความฝัน ไม่ใช่อุปสรรคทางร่างกาย แต่มันอยู่ที่ใจของคุณต่างหาก”
วันนั้นผมกลับบ้าน กระโดดลงหน้าจอคอมพิวเตอร์ และบอกตัวเองว่า
ผมจะเป็นนักเขียน

แรงบันดาลใจจาก ฌอง โดมินิค โบบี้
                               ผู้เขียนหนังสือชุดประดาน้ำกับผีเสื้อด้วยการกะพริบตาเพียงข้างเดียว
ฌ็อง-ดอมีนิก โบบี (ฝรั่งเศสJean-Dominique Bauby, เมษายน พ.ศ. 2495 – 9 มีนาคม พ.ศ. 2540) เป็นนักหนังสือพิมพ์ นักเขียน และบรรณาธิการของนิตยสาร ELLE เมื่อวันที่วันที่ 8 ธันวาคม 1995 ขณะเขามีวัยได้ 43 ปี เกิดอาการเส้นเลือดสมองแตก ทำให้ก้านสมองเสียหาย เขาสลบไป 20 วัน และเมื่อฟื้นขึ้นมาเขาพบว่าตัวเองไม่สามารถพูดได้ และเป็นอัมพาตเกือบทั้งตัว
โบบีสามารถเคลื่อนไหวศีรษะได้เพียงเล็กน้อย ส่งเสียงอืออา และกระพริบตาซ้ายได้ เขาอยู่ที่สภาพที่ทางการแพทย์เรียกว่า Locked-in Syndrome แต่ในระหว่างที่เขาตกอยู่ในสภาพเช่นนั้น เขาเขียนหนังสือที่ชื่อว่า Le Scaphandre et Le Papillon (แปลเป็นภาษาไทยโดยวัลยา วิวัฒน์ศร ในชื่อ ชุดประดาน้ำและผีเสื้อ พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ผีเสื้อ) โดยให้คนท่องชุดตัวอักษรที่เรียงตามความถี่ในการใช้ในภาษาฝรั่งเศส และโบบีจะกระพริบตาเมื่อถึงตัวอักษรที่เขาต้องการ
โบบีแต่งและเรียบเรียงเรื่องราวทั้งหมดในสมอง และให้คนเขียนตามคำบอกทีละตัวอักษร หนังสือของเขาวางขายในฝรั่งเศสในวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2540 ได้รับคำวิจารณ์ที่ดีเยี่ยม และขายได้ถึง 150,000 เล่มในสัปดาห์แรก โบบีเสียชีวิต 3 วันหลังจากหนังสือออกวางขาย ไม่มีการเปิดเผยสาเหตุการเสียชีวิตของเขา

“โอกาสที่จะชนะคดีมีน้อยมาก”
ฉันบอกกับผู้หญิงคนหนึ่งตามตรงในฐานะที่ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด
แม้ว่าเรื่องที่เธอเล่ามาในชีวิตทั้งหมดจะน่าหดหู่หรือน่าสงสารเพียงใดก็ตาม แต่ศาลไม่ได้นำเรื่องความรู้สึกส่วนตัวมาตัดสิน เขาพิจารณากันเพียงแค่หลักฐานที่เห็นเด่นชัดจริงเท่านั้น
“แต่ยังไงหนูก็ต้องชนะ” เธอพูดด้วยความมุ่งมั่น
“ก่อนอื่นเธอต้องจ้างทนายดีๆ สักคนเสียก่อน”
“ไม่มีใครเป็นทนายให้หนูหรอกค่ะ” เธอพูดคำนั้นแต่แววตาของเธอยังคงมุ่งมั่นว่าจะฟ้องหย่าให้สำเร็จแม้เหตุผลที่ไม่มีทนายทำหน้าที่ให้เธอจะเป็นเหตุผลที่ว่า “เพราะพวกเขาไม่อยากมีประวัติแพ้คดี” ก็ตามที
ถ้าฉันเป็นเด็กผู้หญิงคนนั้นฉันจะไม่เลือกสู้ให้เป็นคดีความ
ฉันอาจจะเลือกเพียงหนีออกจากบ้านหลังนั้นแล้วหายตัวไปที่ไหนสักแห่ง ฉันอาจจะไปอยู่บ้านญาติ หรืออาจจะออกนอกประเทศนี้ไปเลย
“หนูไม่สู้ไม่ได้” เธอบอกกับฉัน “และหนูหนีไม่ได้”
“แต่นั่นเป็นวิธีการที่ดีที่สุดของเธอ”
“ไม่ใช่หรอกค่ะ” เธอยืนยันก่อนจะคลุมฮิญาบและเดินออกห่างไป เธอไม่มีทนาย ไม่มีอะไรนอกจากเรื่องราวสุดรันทดในชีวิตที่ต้องถูกบังคับให้แต่งงานเพื่อใช้หนี้ แต่กลับโดนทำร้ายร่างกายและกดขี่ข่มเหงอยู่ในบ้านเท่านั้น
ฉันยังคงยืนยันกับเธอว่าวิธีที่ดีที่สุดคือ จงหนีไปเมื่อได้โอกาสหนี
แต่เธอยังคงกลับบ้านหลังนั้นและให้เขาทรมานเหมือนเช่นที่เป็นมา ยิ่งถ้าเขารู้ว่าเธอเตรียมฟ้องหย่า ฉันนึกไม่ออกเลยว่าถ้าเธอไม่หนี เธอจะทำอย่างไร

“แต่หนูไม่หนี” เธอยืนยันคำเดิม “และหนูจะยังฟ้องต่อไป แม้จะไม่มีทนาย แม้จะไม่มีใครสนับสนุนการสู้ แม้ใครจะพูดว่าสิ่งที่ดีที่สุดคือการหนี แต่หนูจะไม่ทำ”
เธอคลุมฮิญาบไปตามถนนหนทางเมืองเยเมน ปลอมตัวออกไปเพื่อไม่ให้ทางบ้านสามีจับได้ว่าเธอกำลังทำเรื่องฟ้องร้อง กระทั่งเธอมั่นใจว่าทันจะสำเร็จ
อย่างที่เธอบอกเธอจะไม่หนีและเธอก็ไม่หนี เธอได้อยู่ต่อหน้าครอบครัวของเขาบนศาลได้สำเร็จ
ส่วนอย่างที่ใครๆ บอกเธอไม่มีทางชนะคดีนี้นั้น….

“ทำไมเธอถึงไม่หนี” ฉันถามเธอก่อนที่เธอจะยืนอยู่ในศาลและเธอตอบว่า
“ถ้าหนูหนี จะต้องมีผู้หญิงอีกที่คนในเยเมนที่ต้องหนี จะต้องมีภรรยาในกฏหมายสักกี่คนที่ต้องโดนทำร้ายร่างกายโดยทำอะไรไม่ได้ จะต้องมีสักกี่คนที่หนีไม่ได้และทรมานไปจนวันตาย … หนูไม่ได้ต่อสู้เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของตัวเอง แต่หนูจะต่อสู้เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของผู้หญิงเยเมน”

สุดท้ายคำปรามาสที่ใครๆ ก็ว่าว่าเธอไม่มีทางชนะก็พ่ายแพ้ความมุ่งมั่นของผู้หญิงคนนี้
เธอชนะคดี
เธอทำให้สิทธิสตรีในเยเมนเด่นชัดขึ้น
เธอทำให้เยเมนเปล่งแสงสีทองขึ้นระเรื่อ
เย็นวันชนะคดีฉันถามเธอว่า
“ชนะคดีแล้ว ไม่ต้องกลับไปบ้านหลังนั้นแล้ว เธอจะทำอะไรต่อ”
“หนูจะกลับไปเรียนป.สามค่ะ”
จริงๆ แล้วเธอยังเป็นเด็กตัวนิดเดียวเท่านั้น
แรงบันดาลใจจาก นูจู๊ด โมฮัมหมัด นัสเซอร์
เด็กหญิงผู้ถูกบังคับให้แต่งงานตั้งแต่อายุแปดขวบ
และต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีในเยเมนอย่างไม่ย่อท้อ

Dick Rick
Team Hoyt


“ผมกับลูกจะไปแข่งไตรกีฬากัน” ฉันเกือบหัวเราะใส่หน้าสามีตอนที่เขาพูดคำคำนี้ออกมา
ฉันมีเหตุผลที่จะหัวเราะก็คือ สามีของฉันอายุหกสิบกว่าแล้ว การจะไปแข่งขันไตรกีฬาสุดโหดที่ประกอบด้วยการวิ่งมาราธอน การว่ายน้ำในทะเล และการปั่นจักรยาน ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ของคนวัยเกษียณ
“ฉันคิดว่าคุณแก่เกินไป”
“มันไม่ใช่ไอเดียของผมนะ”
“ลูกอยากไปแข่งหรือ” ฉันถามเบาๆ ถึงลูกชายอายุสี่สิบกว่า
“ใช่”
“แล้วคุณจะไปแข่งด้วยกัน”
“ใช่”
“ทำไม”
“จำวันที่เราพาเขาออกจากโรงพยาบาลได้ไหม คุณบอกผมว่าลูกแรงเยอะ ถีบคุณจนเจ็บท้องไปหมด ผมเลยคิดว่าลูกคงทำให้ผมชนะแน่”
ฉันยิ้มให้
“ลูกอายุสี่สิบกว่าเนี่ยแข็งแรงพอจะพยุงคนอายุหกสิบกว่าอย่างผมแน่ คุณว่าไหม”
“ค่ะ” ฉันตอบรับ
แม้จะรู้ดีว่าความจริง มันไม่ใช่เช่นนั้นเลย

มันตลกดีที่ชายแก่อายุหกสิบจะแข่งไตรกรีฑาคู่กับลูกชายวัยสี่สิบกว่า และพวกเขาไม่เคยหยุดที่จะแข่งมัน อาจจะอย่างที่เขาบอก ‘ลูกแข็งแรงพอที่จะพยุงเขา’ จนถึงตอนนี้พวกเขาแข่งด้วยกันร่วมพันรายการแล้ว
พวกเขาวิ่งไปพร้อมกันเสมอ ว่ายน้ำไปพร้อมกันเสมอ และขี่จักรยานคันเดียวกันเสมอ
พวกเขาวิ่งด้วยขาเพียงสองข้างร่วมกันเสมอ ว่ายน้ำด้วยแขนเพียงสองข้างเสมอ และขี่จักรยานด้วยสองเท้าถีบร่วมกันเสมอ
คุณอ่านไม่ผิดหรอก พ่อลูกคู่นี้มีแขนรวมกันเพียงสองแขนและมีขารวมกันเพียงสองข้าง
และทั้งหมดนั้นอยู่ที่ชายชราวัยหกสิบปีคนเดียว

หมอแนะนำเราตั้งแต่ตอนที่ลูกอายุได้แปดเดือนว่า ‘คุณควรปล่อยเขาไปซะ’
เพราะลูกของเราสมองพิการแต่กำเนิดเนื่องจากถูกสายสะดือพันคอ ออกซิเจนไม่สามารถไปเลี้ยงสมองได้ทัน และทำให้เขาเป็นเพียงร่างกายที่มีลมหายใจเท่านั้น
ตอนนั้นฉันพูดเพียงประโยคสั้นๆว่า ‘แต่ตอนที่เขายังอยู่ในท้อง เขายังถีบฉันแรงมาก’
สามีของฉันจึงตัดสินใจว่าเราจะพาเขากลับบ้าน และบอกกับฉันว่าวันหนึ่งเขาจะแสดงให้ฉันเห็นว่าลูกกลับมามีแรงได้อย่างนั้นอีกครั้ง
และวันนี้ไม่ว่าเขาจะไปแข่งอยู่ที่ซีกโลกไหน เขาก็พาลูกเข้าเส้นชัยและบอกฉันเสมอ

แรงบันดาลใจจาก TEAM HOYT
พ่อและลูกผู้พิการทางสมองที่แข่งกรีฑามาแล้วร่วมพันรายการ


ฉันไม่ชอบเขา ผู้ชายคนที่เป็นเพื่อนร่วมงานของฉัน
ฉันไม่ชอบเขาเพราะเขามักทำงานเชื่องช้า ฉันไม่ชอบเวลาที่ส่งของที่คิดเงินแล้วให้ เขาจะบรรจงหยิบของใส่ถุงกระดาษอย่างค่อยเป็นค่อยไป ฉันไม่ชอบที่เขาทำเช่นนั้นแม้จะอยู่ในชั่วโมงเร่งด่วน หรือมีคนเข้าคิวที่แคชเชียร์คิดเงินในซุปเปอร์มาเก๊ตของเรามากขนาดไหนก็ตาม
ฉันไม่ชอบเลย

“ไม่ใช่ฉันจะไม่เห็นใจเขาหรอกนะ”
ฉันพูดกับเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ หลังจากซุปเปอร์มาเก๊ตของเราปิดลงในช่วงค่ำ พนักงานทุกคนต่างก็ออกมารอรถเพื่อกลับบ้านท่ามกลางอากาศหนาวเย็น
“แต่ว่าบางอย่างก็ต้องเห็นใจฉันบ้าง ฉันต้องการความรวดเร็ว ถ้าทำช้าอย่างนี้แล้ว ใครที่ไหนจะอยากมาที่ซุปเปอร์มาเก๊ต ดีแต่จะเสียอารมณ์ไปกับการคิดเงินที่เซื่องซึม ฉันไม่รู้ว่าเขาคิดอะไรอยู่ตอนที่บรรจงหยิบของแต่ละชิ้นลงในถุง”
“ถ้าถามฉันนะ ฉันคิดว่าเขาคงคิดว่าจะทำงานให้ปราณีตที่สุด”
“แต่เธอก็รู้ว่าถ้าลูกค้าประเมินการทำงานของแคชเชียร์ขึ้นมา ฉันเองจะต้องโดนว่าแน่ๆ เพราะทำให้ลูกค้าเสียเวลา”
“ก็จริง”
“ซึ่งจะให้ฉันไปโทษว่าเป็นเพราะเขา ฉันก็ทำไม่ลงหรอก”
“เพราะเขาเป็นออทิสติก?”
“ใช่ เพราะเขาเป็นออทิสติค”
และเพราะเป็นออทิสติคทำให้ฉันว่าเขาไม่ลง ไม่สามารถบ่นพร่ำอะไรได้เพราะมันเสี่ยงมากที่จะกลายเป็นว่าฉันรังเกียจผู้บกพร่องทางร่างกาย ฉันจึงได้แต่หงุดหงิดงุ่นง่าน และรู้สึกคันอยู่ในหัวใจยิกๆ เท่านั้น

แถวแคชเชียร์ของเรายาวสะสมอีกครั้ง
แม้ผู้จัดการจะเพิ่งประชุมไปว่าจงทำอะไรสักอย่างให้ลูกค้าประทับใจในบริการและกลับมาอีกครั้ง ซึ่งฉันรู้ว่าฉันทำไม่ได้แน่ๆ
“ผมอยากให้ลูกค้ากลับมาหาเรา” เพื่อนร่วมงานของฉันเอ่ยขึ้น “ผมจะทำอะไรได้บ้าง”
“ใส่ของให้เร็วขึ้น” ฉันตอบ “คนสมัยนี้ต้องการความรวดเร็ว”
แล้วนั่นก็เป็นครั้งแรกที่ฉันเห็นว่าเขาเริ่มขยับแขนให้เร็วขึ้น แต่ไม่ได้เร็วขึ้นสักเท่าไหร่หรอก ถ้าจะเทียบเวลาที่เร็วขึ้น ฉันนับได้เพียงหลักวินาทีเท่านั้น

แถวแคชเชียร์ของเรายาวสะสมอีกครั้ง
“คราวนี้ผมจะใส่ของให้เร็วกว่าเดิม ผมอยากให้ลูกค้ากลับมาหาเรา ผมอยากให้บริษัทมีความสุข”
“ตั้งใจล่ะ” ฉันพูดเพียงสั้นๆ ขณะชายผู้นั้นพยายามขยับแขนให้เร็วขึ้น
แต่…มันก็ยังเท่าเดิม

แถวแคชเชียร์ของเรายาวสะสมอีกครั้ง
“คุณว่าผมจะทำอะไรได้ดีกว่าทำให้เร็วขึ้นไหม”
“ฉันคิดว่าคุณทำดีที่สุดแล้ว ช่างมันเถอะ” ฉันตอบสั้นๆ เหนื่อยหน่ายกับความพยายามที่ไม่มีทางสำเร็จได้ เขาเป็นออทิสติคและนั่นเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เราจะทำได้ แต่สิ่งที่ดีกว่าเท่าที่ฉันคิดได้ก็คือ
“คุณผู้หญิงข้างหลังคะ..” ฉันพูดกับคนที่อยู่ท้ายแถว “ช่องอื่นจะสะดวกกว่าค่ะ”
เขามองหน้าฉัน
“คุณอยากให้บริษัทมีคนกลับเข้ามาคุณก็ต้องให้ความสะดวกลูกค้านะ”
“ผม…” เขาแอบสะอื้น “ผมเข้าใจแล้ว”

วันรุ่งขึ้นเขาไม่มาทำงาน
ฉันคิดว่าเขาลาออก
พนักงานที่มาแพคของให้ฉันคนใหม่ทำงานเร็ว เราแทบไม่มีแถวสะสม แต่ถ้าถามฉันว่าลูกค้าเพิ่มมากขึ้นไหม ฉันพบว่า ‘ไม่’

บางทีความเร็วอาจไม่ใช่คำตอบ
บางทีคำตอบอาจเป็นอะไรที่ลึกซึ้งกว่านั้น

“ผมจะทำให้บริษัทมีความสุข ผมจะทำให้คนมาจับจ่ายที่ซุปเปอร์ของเรา” เขาพูดอีกครั้งเมื่อกลับมาทำงานในอีกสัปดาห์ถัดมา “แต่ผมไม่สามารถทำให้เร็วขึ้นได้”
จริงอยู่ ที่เขาไม่สามารถทำให้เร็วขึ้นได้ แต่เขาก็ทำให้คนจับจ่ายที่ซุปเปอร์เรามากขึ้นได้

แถวแคชเชียร์ของเรายาวสะสมอีกครั้ง
ไม่ใช่เพราะเราทำอะไรได้ไม่เร็วพอ แต่เป็นเพราะลูกค้าเลือกที่จะไม่ไปช่องที่ว่างกว่า ลูกค้าต่ออยากต่อแถวแคชเชียร์ของเรา แม้ตอนนี้จะยาวเหยียดเป็นหางงู
“ทำไมคุณต้องต่อช่องนี้” ผู้จัดการลงมาถามปรากฏการณ์นี้กับลูกค้าด้วยตนเองและลูกค้าพูดว่า
“เพราะเขาแพคของอยู่ช่องนี้”
พนักงานออทิสติคที่ฉันไม่ชอบคนนี้ไม่ได้ทำความเร็วเพิ่มขึ้น และยังทำแถวสะสมให้มากขึ้น แต่เขาทำให้คนอยากจ่ายช่องของเรามากเป็นประวัติการณ์เพียงแค่เพราะว่า เวลาเขาแพคของเขาจะใส่กระดาษที่เขียนคำเหล่านี้ลงไปด้วยในทุกถุง
“What the mind can conceive, it can achieve.” – Napoleon Hill
แต่ละวันเขาจะหาคำที่ไม่ซ้ำกัน เขาทำให้ซุปเปอร์มาเก๊ตของเราแตกต่างด้วยการมี Quote of the day
“ผมมาซื้อของทุกวัน และต้องจ่ายช่องนี้ เพราะผมอยากได้โคว้ทของเขา”

แรงบันดาลใจจาก Johnny the bagger พนักงานแพคของผู้เป็นออทิสติค
ผู้พลิกมุมมองการจับจ่ายให้มีชีวิตชีวา
และทำให้ซุปเปอร์มาเก๊ตยอดขายเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์




  



ภาพสุดท้ายที่ฉันเห็นขณะที่ร่างกายตั้งตัวตรง คือภาพตอนที่แฟนของฉันเดินเข้าครัว และเมื่อรู้ตัวอีกครั้ง ร่างกายของฉันก็กลายเป็นอัมพาตเสียแล้ว
ตั้งแต่คอลงไปฉันขยับไม่ได้ราวกับว่านี่ไม่ใช่ร่างกายของฉันอีกต่อไป
“เคท” เสียงแฟนฉันดังขึ้น ฉันได้แต่กะพริบตาตอบเขาว่าฉันรับรู้ “ผมจะไม่ทิ้งคุณ” นั่นคือคำมั่นสัญญาของเขาในวันที่เกิดเรื่อง ขณะที่ทุกคนรอบข้างบ่นงึมงำอยู่ในมุมปากว่า แม้เขาจะไม่ทิ้งฉัน แต่อีกไม่ช้าไม่นาน ฉันก็คงจะต้องทิ้งเขาไป
“เคท” เขาพูดขึ้นอีกครั้ง “จำได้ไหมว่าผมขอคุณแต่งงาน”
ฉันกะพริบตาหนึ่งครั้งเพื่อเป็นสัญญาณว่าฉันจำได้
“และผมจะจัดงานแต่งงานกับคุณ” เขาพร่ำบอกข้างหูของฉัน “ยังไงเราก็ต้องมีงานแต่งงาน ไม่ว่างานแต่งงานของเราจะมีสภาพเป็นเช่นไรก็ตาม”
‘จะแต่งงานได้อย่างไร’ ฉันคิด ‘ในสภาพที่ฉันเป็นอัมพาตเช่นนี้’
ในขณะที่หมอเองก็บอกกับฉันว่า ‘คุณจะเดินไม่ได้ไปอีกตลอดชีวิต’
ฉันพยายามปฏิเสธแฟนตัวเอง ‘ถ้าฉันไม่ได้เดินเข้าโบสถ์แบบที่มีลูกจับชายขอบกระโปรง ถ้าฉันไม่ได้ยืนจูบคุณอย่างสง่างาม และถ้าฉันไม่ได้กระโดดขึ้นรถคันงามแล้วโยนดอกไม้ไปที่กลุ่มสาวโสดด้วยตัวเอง ฉันก็ไม่อยากจะมีงานแต่งงาน ฉันต้องการงานแต่งงานที่เพอเฟคที่สุด ฉันจะสวยที่สุดในชุดสีขาวตัวนั้น มิใช่การนอนเป็นอัมพาตและมีสายระโยงระยางเช่นนี้’
“เราจะต้องแต่งงานกัน”
ฉันกะพริบตาสองครั้งเพื่อบอกว่า ‘ไม่’ และยิ่งไปกว่านั้น ฉันไม่อยากจะแต่งงานกับเขา หากว่าเมื่อแต่งแล้วฉันไม่ได้อยู่เพื่อช่วยพยุงอนาคตของเราไปด้วยกัน ฉันไม่อยากจะให้ตัวเองต้องเป็นภาระที่เขาจะดูแล ฉันไม่ต้องการทำให้ชีวิตของเขายุ่งยากขึ้น
ฉันรักเขาแบบนั้น ฉันจึงต้องปฏิเสธซ้ำอีกครั้งด้วยการกะพริบตาสองที
‘ไม่ ฉันไม่แต่งงานกับคุณแล้ว ฉันไม่เอา’
แต่เขากลับลูบใบหน้าของฉัน จูบหน้าผากและพูดว่า “ก็ผมรักคุณ”
‘ฉันพูดว่าไม่ก็เพราะฉันรักคุณเช่นกัน’
“ดังนั้นเราจะแต่งงาน”
‘ไม่’ ฉันยืนยันคำเดินและหลบตาหนี
“ผมจะไม่ให้คุณทำแบบนี้ ผมรู้ว่าคุณปฏิเสธผมเพราะอะไร แต่คุณก็รู้ว่าที่ผมยังยืนยันเพราะอะไรเหมือนกัน ผมจะกำหนดงานแต่งงานไว้ปีหน้า ผมจะไม่ให้คุณปฏิเสธ คุณมีทางเลือกทางเดียวคือ จงยืนแล้วเข้าโบสถ์กับผม” เขายิ้ม “ถ้าคุณปฏิเสธเพื่อจะให้ผมมีชีวิตที่ดีกว่าดูแลคุณ ก็จงอย่าทำ แต่รับความต้องการของผม เพราะผมอยากอยู่กับคนคนเดียวก็คือคุณ ถ้าคุณไม่อยากให้ผมลำบาก ช่วยยืนให้ผมเห็นอีกครั้งหนึ่ง”
หมอพูดว่า เป็นไปไม่ได้
พยาบาลบอกว่า ไม่เคยเกิดขึ้น
ผู้คลุกคลีกับผู้ป่วยโรคเส้นเลือดในสมองทั่วโลกพูดว่า ไม่มีทาง

“ช่วยยืนอีกครั้ง และกลับมาจับลูกๆ แสนซนทั้งสามกันเถอะ” เขาขอร้องในสิ่งที่ทุกคนพูดว่าเป็นเรื่องฝันเฟื่อง “ผมให้เวลาคุณหนึ่งปี มันคงไม่น้อยไปนะ”
ฉันมองหน้าเขา อยากพูดประโยคยาวๆ ให้เขาฟัง และฉันจะต้องพูดให้ได้ในสักวัน
ฉันอยากบอกเขาว่า ฉันจะเป็นปกติให้ได้ภายในแปดเดือน ฉันจะต้องทำในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ เพราะฉันจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ฉันจะลุกขึ้นมาดูแลทุกคนอีกครั้ง ตอบแทนความรักของทุกคนอีกครั้ง
ฉันจะทำ

งานแต่งงานของฉันมีขึ้นในเดือนพฤษภาคมปี 2554
แน่นอนว่า ฉันก้าวขาและเดินเข้าโบสถ์ และพูดคำสาบานด้วยตัวของฉันเอง
แรงบันดาลใจจาก เคท อัลแลตต์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิ Fighting Stroke
เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยเส้นเลือดในสมองแตกและอัมพาตให้กลับมาเดินและพูดได้อีกครั้ง

Credit :  BLOGSTORYDD.COM,
th.wikipedia.org,SIAMZA.COM,sutenm.com,trainingsolutions.com,gotoknow.org

เรียบเรียง : 
ruengdd.com,เรื่องดีดี.com