เจาะข่าวเด่น เปิดใจ.. สุขุมพันธุ์ กับตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. สมัยที่ 2พร้อมเปิดนโยบาย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กับคำมั่นที่จะ (ต้อง) ทำ ใน 4 ปี
กระแสที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในขณะนี้คงจะเป็นอะไรไปไม่ได้ นอกจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่เพิ่งผ่านพ้นไปหมาด ๆ ซึ่งเป็นการใช้สิทธิ์ออกเสียงของคนกทม. ที่ให้โอกาส "ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร" จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้บริหารกรุงเทพมหานครอีกครั้งเป็นสมัยที่ 2 ด้วยคะแนน 1,256,349 คะแนน ซึ่งมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ รายการเจาะข่าวเด่น (4 มีนาคม) จึงขอเชิญ ว่าที่ ผู้ว่าฯ กทม. มาพูดคุยถึงความรู้สึกและนโยบายต่าง ๆ กัน
เริ่มต้นรายการด้วยการสอบถามความรู้สึกตลอดระยะเวลาการหาเสียงของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร โดยเจ้าตัวตอบว่า เป็นช่วงเวลาที่หนักจริง ๆ และเมื่อบวกกับในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ในการทำหน้าที่ผู้ว่าฯ กทม. ที่ต้องเจอกับเหตุการณ์หนัก ๆ มาโดยตลอด ทั้งวิกฤติทางการเมืองที่ยืดเยื้ออยู่ 2 ปี และสถานการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่อีก 1 ปี ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้คงไม่เกิดขึ้นกับผู้ว่าฯ กทม. คนอื่นได้บ่อยครั้งนัก
ส่วนในการหาเสียงนั้น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บอกว่า ตนเองไม่ได้รู้สึกกดดันอะไรมากนัก เพราะเป็นคนไม่ชอบแข่งกับใคร แต่ชอบแข่งกับตัวเองมากกว่า ตนจะไม่เคยตามดูว่าคู่แข่งทำอะไรหรือไปหาเสียงที่ไหน ตนเพียงแค่ทำเตรียมตัวทำแต่ละวันให้ดีที่สุด
ขณะที่ วลีเด็ด "อย่าดูถูกกู" ที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เคยพูดไว้บนเวทีปราศรัย เขาบอกว่า เป็นการพูดกับตัวเองมากกว่าโดยเขาใช้คำพูดว่า "ทำไมถึงดูถูกกูขนาดนี้" ซึ่งเหมือนเป็นคำเปรยกับตัวเอง จนกลายเป็นเรื่องใหญ่ เพราะไม่มีใครเคยเห็นตนเองพูดจาแบบนี้ ส่วนเรื่องที่ทำให้ต้องเสียน้ำตาคือการนึกถึงช่วงเวลาที่ผ่านมา ซึ่งพี่น้องประชาชนต้องเป็นทุกข์ และกทม.ต้องเสียเวลาในการพัฒนาเมือง ไปเป็นการซ่อมแซมเมืองแทน อีกทั้งเมื่อได้ออกไปเห็นพี่น้องประชาชนต้องเป็นทุกข์กับน้ำท่วมอยู่ทุกวัน ทำให้มีแวบนึงที่เมื่อถึงนึกแล้วก็ต้องหลั่งน้ำตาออกมาเท่านั้นเอง ส่วนใครจะว่าใจเสาะก็ไม่เป็นไร
หากถามถึงผลการเลือกตั้งที่ทำสถิติใหม่ เป็นการเลือกตั้งที่ได้คะแนนเยอะที่สุดเป็นประวัติการณ์ รวมถึงเป็นการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่มีคนออกมาใช้สิทธิ์มากถึง 63.98% ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บอกว่า ต้องขอขอบคุณพี่น้องประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิ์เป็นจำนวนมาก และได้ให้ความไว้วางใจกับตน ตนเองคงมิบังอาจวิเคราะห์ว่าเหตุผลของการตัดสินใจเป็นอย่างไร แต่พี่น้องประชาชนอาจจะเห็นว่าตนเองทำงานหนักอย่างไร อยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับพี่น้องประชาชนอย่างไร ก็คงมีส่วนช่วยในการตัดสินใจบ้าง
นอกจากนี้ยังต้องขอขอบคุณสื่อ ที่ให้ความสนใจการเลือกตั้งครั้งนี้ ทำให้พี่น้องประชาชนรู้สึกมีอารมณ์ร่วม และออกมาใช้สิทธิ์กันมาก เสียดายที่ไม่ถึง 70% เหมือนตอนที่ คุณสมัคร สุนทรเวช ชนะการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. แต่ไม่แน่ถ้าหากฝนไม่ตกก็อาจจะมีการออกมาใช้สิทธิ์มากกว่านี้ก็ได้ ซึ่งหากมองว่าเป็นการชนะการเลือกตั้งเพราะเรื่องการเมืองในระดับประเทศหรือไม่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บอกว่า ตนคงตอบไม่ได้ แต่ถ้าให้เดาก็คงจะมีคะแนนเสียงจากหลาย ๆ ส่วนมารวมกัน เช่น แฟนคลับของพรรคประชาธิปัตย์ คนที่มองเห็นการทำงานของตน หรือแม้กระทั่งคนที่มองการเมืองภาพใหญ่ ก็เช่นกัน
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ยอมรับว่า ช่วงเวลาการหาเสียงและระหว่างนับคะแนน ตนเองยังไม่รู้สึกกดดันเท่าไหร่ แต่เมื่อชนะการเลือกตั้งแล้ว กลับมีความกดดันอยู่มาก เพราะคะแนนเสียงนับล้านที่เลือกตนนั้นมีความคาดหวังรวมอยู่ด้วย แต่ตนก็ยินดีและเต็มใจที่จะเดินหน้าต่อไปท่ามกลางความคาดหวัง และจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งนโยบายต่าง ๆ หากจะให้เห็นผลใน 6 เดือน ก็อาจจะยาก คงต้องรอดูสัก 1 ปีขึ้นไป เพราะนโยบายบางอย่างก็สามารถทำได้ทันที แต่บางอย่างก็ต้องมีงบประมาณ ซึ่งกว่าจะเริ่มใช้ได้ก็วันที่ 1 ตุลาคม
ขณะที่นโยบายที่สามารถทำได้ทันที ก็คือ กล้องวงจรปิด 27,000 ตัว ที่ได้จัดสรรงบประมาณเอาไว้แล้ว และทยอยติดตั้งไปแล้วบางส่วน ส่วนกล้องดัมมี่ตนเองได้สั่งให้เอาออกหมดแล้ว แม้ว่าการใช้กล้องแบบนี้จะมีการใช้กันทั่วไปในสากลก็ตาม นอกจากนี้สวนสาธารณะ 3 สวน ก็สามารถเดินหน้าได้เลยทันที อีกทั้งยังมีอำนาจลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า BTS ส่วนต่อขยาย จาก 15 บาท เหลือ 10 บาท และรถไฟฟ้า BRT ส่วนต่อขยาย จาก 10 บาท เหลือ 5 บาท ได้ทันที แต่ต้องขอดูระเบียบการให้ถี่ถ้วนอีกครั้งว่าจะประกาศใช้ได้เมื่อไหร่ โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าอยากให้บริการฟรีแต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับกระทรวงคมนาคมด้วย
ทั้งนี้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เปิดใจว่า ตนเองรู้สึกดีใจมากที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกมาประกาศว่ายินดีทำงานร่วมกันอย่างไร้รอยต่อ ซึ่งทางกทม.และรัฐบาล ก็ได้เดินหน้าร่วมกันอย่างไร้รอยต่อมาตั้งแต่ช่วงน้ำท่วมแล้ว โดยเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำอย่างมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน อีกทั้งข้าราชการที่ต้องทำงานร่วมกันก็รู้จักกันดีและทำงานร่วมกันได้อย่างไร้รอยต่อมานานแล้ว
เมื่อถามถึงข่าวคราวที่บอกว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ สนใจจะทาบทาบคู่แข่งอย่าง นายสุหฤท สยามวาลา มาเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. นั้น ตนเองไม่เคยคิดแบบนั้น เพราะเมื่อเป็นผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เหมือนกัน จะมีการทาบทามให้มาเป็นรองผู้ว่าฯ ตั้งแต่ยังไม่รู้ผลได้อย่างไร เพียงแต่เวลาไปงานร่วมกัน ก็อาจจะคุยกันบ้างว่า หากตนเองไม่ได้รับการเลือกตั้งตนก็ยินดีช่วยงาน นายสหฤท โดยไม่รับตำแหน่ง หรือหากตนเองได้รับตำแหน่ง ก็ยินดีให้คนเก่งมีวิสัยทัศน์ดีอย่าง นายสุหฤท มาร่วมงานเช่นกัน แต่ไม่ใช่การเสนอตำแหน่งแต่อย่างใด เพียงแต่อยากให้ร่วมกันพัฒนากทม.เท่านั้น
สุดท้าย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ทิ้งท้ายว่า พรรคประชาธิปัตย์ก็เหมือนเรือน้ำมันขนาดใหญ่ กว่าจะเคลื่อนตัวได้อาจจะนานหน่อย แต่หากได้เดินหน้าแล้วก็หยุดยาก และจะยังคงเดินหน้าต่อไป
คลิป เปิดใจ สุขุมพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. สมัยที่ 2 เครดิตรายการเจาะข่าวเด่น
โพสต์โดยคุณ DuangAesthetic สมาชิกเว็บไซต์ยูทูบดอทคอม 1/2
คลิป เปิดใจ สุขุมพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. สมัยที่ 2 เครดิตรายการเจาะข่าวเด่น
โพสต์โดยคุณ DuangAesthetic สมาชิกเว็บไซต์ยูทูบดอทคอม 2/2
เปิดนโยบาย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กับคำมั่นที่จะ (ต้อง) ทำ ใน 4 ปี
แม้ว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จากพรรคประชาธิปัตย์ จะกำชัยในการเลือกตั้งเป็นหนที่ 2 แต่นี่คือการบ้านชิ้นใหญ่กว่าเดิมที่คนกรุงเทพมหานครตั้งความหวังไว้ให้พ่อเมืองมาช่วยแก้ไขจัดการสารพันปัญหาในเมืองหลวงแห่งนี้
ทั้งนี้ ในการหาเสียงเลือกตั้งตลอด 45 วันที่ผ่านมา มีหลากหลายนโยบายพรั่งพรูออกมาซื้อใจพี่น้องประชาชนกว่า 1.2 ล้านคนที่ช่วยเทคะแนนให้ นโยบายและโครงการต่าง ๆ เปรียบเสมือนคำสัญญาที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ให้ไว้กับชาวกรุง กระปุกดอทคอม จึงหยิบสิ่งที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เคยหาเสียงไว้มาประมวลอีกครั้ง เพื่อให้ชาวกรุงได้ร่วมกันตรวจสอบตลอดระยะเวลา 4 ปีจากนี้เป็นต้นไป ว่าจะทำได้จริงมากน้อยแค่ไหน หรือจะเป็นเพียงการขายฝัน
ด้านคุณภาพชีวิตของคนกลุ่มต่าง ๆ
เด็กและเยาวชน
เปิดพื้นที่สร้างสรรค์ สร้างตลาดสำหรับคนรุ่นใหม่ Young Designer Market ทั้งแบบถาวร และแบบครั้งคราว และเปิดเว็บไซต์เพื่อคนรุ่นใหม่ ขยายช่องทางสื่อสารงานสร้างสรรค์
สร้างหอสมุดการเรียนรู้มิติใหม่ มีห้องสมุดการ์ตูนแห่งแรกในประวัติศาสตร์ และพัฒนาประชาชนให้สามารถอ่านหนังสือที่จัดไว้บนรถประจำทาง หรือ รถแท็กซี่ อย่างที่เคยทำมา
จัดอาหารเช้าให้เด็ก 3.2 แสนคน
ดูแลป้องกันไม่ให้วัยรุ่นตั้งครรภ์ก่อนวัยเรียน และหากเกิดการตั้งครรภ์ก่อนวัยเรียนควรได้รับการดูแลจากภาครัฐในการเยียวยาเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย
เพิ่มอัตราค่าจ้างให้อาสาสมัครศูนย์เด็กเล็ก/อาสาสมัครพี่เลี้ยงเด็ก ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี 15,000 บาท ปวส. 10,000 บาท และ ปวช. 8,600 บาท
นักเรียน-นักศึกษา
เรียนฟรี 2.0/นักเรียนโรงเรียน กทม. "อิ่มท้อง สมองดี มีวินัย โตไปไม่โกง" จะได้รับการดูแลในโครงการอาหารเช้าและกลางวัน
กวดวิชาให้นักเรียน ม.3 และ ม.6 ครบทุกโรงเรียน โดยสถาบันกวดวิชาชื่อดัง
ฟรี รถรับ-ส่งนักเรียนโรงเรียน กทม. ในพื้นที่เดินทางไม่สะดวก
บริการหมวกกันน็อก สำหรับนักเรียนโรงเรียน กทม.
จัดสรรคอมพิวเตอร์ 20,000 เครื่อง เพื่อให้นักเรียนได้ใช้ 1 คน/เครื่อง
สร้างโรงเรียนกีฬาและดนตรีแห่งแรกที่เขตบางบอน โดยเป็นโรงเรียนกีฬาและดนตรีแห่งแรกในประเทศไทย คาดว่า 3 ปีจะก่อสร้างแล้วเสร็จ
ผู้สูงอายุ
ดูแลผู้สูงอายุตั้งแต่บ้านถึงโรงพยาบาลให้ครบวงจร
รับสมัครอาสาสมัครดูแลจะเริ่มฝึกอบรมรองรับอนาคตที่สังคมไทยจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. ให้มีทีมแพทย์พยาบาลดูแลผู้สูงอายุเบื้องต้น หากมีโรคที่จำเป็นจะถูกส่งต่อมาที่โรงพยาบาลบางขุนเทียน
ผู้หญิง
ดำเนินการติดตั้งกล้องวงจรปิดทุกจุดเสี่ยง ไฟฟ้าส่องสว่างทุกจุดมืด เพื่อความปลอดภัย
เปิดอบรมเรื่องทักษะป้องกันตัวเอง เพื่อระวังภัย โดยจะให้มีหลักสูตรทั้งในโรงเรียนของ กทม. และเปิดอบรมทั่วไปให้กับประชาชน
จัดบทเรียนสอนให้เคารพคุณค่าความเป็นคนของทุกเพศในโรงเรียน กทม. ให้ความรู้ผู้ปกครองและคนในชุมชน
ตั้งศูนย์อนามัยของ กทม. เป็นหน่วยดูแลทั้งด้านร่างกายและจิตใจผู้ถูกกระทำ โดยแพทย์และนักสังคมสงเคราะห์ มีกองทุนป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ทำงานร่วมกับเครือข่าย มูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์
เน้นการดูแลป้องกันมะเร็งเต้านมและปากมดลูก และป้องกันปัญหาท้องไม่พร้อม ให้บริการตรวจมะเร็งเต้านมและปากมดลูกฟรี ให้ความรู้ผ่านโรงเรียนและชุมชน และเสริมความรู้เรื่องเพศอย่างปลอดภัยป้องกันท้องไม่พร้อม
ยกระดับศูนย์ฝึกอาชีพให้ผู้หญิงมีรายได้ มีอาชีพ รองรับได้ 200,000 คน
คนพิการ
เพิ่มโรงเรียนรองรับนักเรียนความสามารถพิเศษ รวมถึงเด็กออทิสติก อีก 100 โรงเรียน
เพิ่มแท็กซี่ เพื่อคนพิการ และผู้สูงอายุ เป็น 250 คัน
สานต่อห้องน้ำคนพิการ ทำไปแล้ว 43 เขต กำลังทำอีก 4 เขต
สานต่อที่จอดรถคนพิการ โดยทำไปแล้ว 40 เขต อยู่ระหว่างดำเนินการ 5 เขต
จัดสรรงบ 639 ล้าน เพื่อทำลิฟต์เพิ่มบนสถานี BTS จาก 11 ตัวเป็น 100 ตัว ภายในปี 57 การติดตั้งลิฟต์เพิ่มเติมทำได้ล่าช้า เพราะเรื่องข้อกฎหมาย และการประมูลจัดจ้างคนมาสร้างลิฟต์ แต่จะสามารถทำได้แน่นอน
ผู้ด้อยโอกาส/ชุมชนแออัด
สานต่อการสร้างบ้านมั่นคง เพื่อแก้ปัญหาที่พักอาศัยให้คนในชุมชน
ด้านสุขภาพ และสาธารณสุข
กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ
รณรงค์ให้มีการเพิ่มพื้นที่สันทนาการและสถานที่ออกกำลังกาย
สร้างศูนย์กีฬาทันสมัยครบวงจร 4 มุมเมือง
ยกระดับลานกีฬาเดิม 200 แห่ง เดินหน้าทันที
ไม่ป่วยทั้งปี รับฟรี 1,000 บาท แถมตรวจสุขภาพ ฟรี
การรักษาพยาบาล
สร้างโรงพยาบาลให้ครบ 4 มุมเมือง
ขยายการมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพ
เพิ่มบริการสุขภาพ 24 ชม. ครอบคลุมทุกกลุ่มอายุ ทุกพื้นที่
มีสวัสดิการเจ็บป่วยดูแลฟรีทั้งครอบครัว สำหรับ อปพร.และ อสส.
คู่สมรส หากภรรยาตั้งครรภ์จะได้รับการฉีดวัคซีน
ปัญหาปากท้อง/การทำมาหากิน
การสร้างรายได้/พัฒนาเศรษฐกิจ
ขยายปริมาณและมูลค่าเศรษฐกิจภาคกลางคืน เช่น การขนส่งและกระจายสินค้า และการท่องเที่ยว
สร้าง Bangkok Brand ให้เป็นที่ยอมรับ ยกระดับ SMEs และ OTOP กทม. เพื่อผลผลิตให้ได้มาตรฐานสากล และเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้า
ทำฐานข้อมูล SMEs/OTOP ทุกสินค้าและบริการใน กทม. เพื่อประโยชน์ต่อผู้ซื้อผู้ขาย เชื่อมโยงข้อมูลกับประเทศต่าง ๆ สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ
เปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ได้แสดงสินค้า "Young Designer Market"
ดูแลปัญหาปากท้องของประชาชน โดยจะลดค่าครองชีพ พร้อมยกระดับชีวิตวิถีชุมชนให้ดีขึ้น
ปัญหาหนี้สิน
ให้โรงรับจำนำ กทม. รับจำนำดอกเบี้ย 1 สลึง 5,000 บาทแรก
มีกองทุนเศรษฐกิจพอเพียงให้กู้ประกอบอาชีพ โครงการยิ้มสู้กู้สร้างอาชีพ หลักสูตรหมอแก้หนี้ ให้ความรู้หลุดวงจรหนี้ถาวร
บริการสาธารณะอื่น ๆ
เพิ่มจุดบริการพิเศษงานทะเบียนราษฎร์ ในห้างสรรพสินค้าและขยายเวลาให้บริการถึง 22.00 น.
ติดตั้ง Wi-Fi ฟรี 20,000 จุด ต่อด้วยการติดตั้ง Hi-Speed Wi-Fi 4 Mb 5,000 จุด โดยเน้นที่โรงเรียน ห้องสมุด สวนสาธารณะ และสถานที่อื่น ๆ ของกรุงเทพฯ
ปัญหาจราจร
ปรับปรุงถนน ตรอก ซอย ทางลัด 100 สาย
การสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเกียกกาย ซึ่งสามารถเริ่มการก่อสร้างได้ทันทีหากได้เป็นผู้ว่าฯ อีกสมัย ส่วนอีก 4 แห่งขณะนี้ยังไม่ผ่านการประชาพิจารณ์ยังมีการคัดค้านอยู่มากจะต้องมีการศึกษาต่อไป
สร้างอุโมงค์ลอดทางรถไฟ 5 แห่ง คือ 1. ทางลอดถนนศรีนครินทร์ - ถนนพัฒนาการ-ทางรถไฟสายตะวันออก, 2. ทางลอดรามคำแหง - ทางรถไฟสายตะวันออก, 3. ทางลอดถนนราชปรารภ - ทางรถไฟสายตะวันออก, 4. ทางลอดถนนเพชรบุรี - ทางรถไฟสายเชื้อเพลิง, 5. ทางลอดถนนบางขุนเทียน - ทางรถไฟสายวงเวียนใหญ่-มหาชัย โดยจัดสรรงบทยอยเริ่มสร้าง เพื่อไม่ให้กระทบงบประมาณภาพรวมของ กทม.
เช็กระบบการจราจรผ่านสมาร์ทโฟน ด้วยแอพพลิเคชั่น bma live traffic ที่มีอยู่แล้วโดยจะปรับปรุงให้ดีขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อให้ประชาชนใช้ฟรี และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนใช้มากขึ้น
สร้างที่จอดรถแนวดิ่ง เพิ่มจุดจอด 4 มุมเมือง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ใช้รถไฟฟ้า
ระบบขนส่งมวลชน
เพิ่มทางเลือกด้วยการเดินทางด้วยเรือโดยสารที่คลองภาษีเจริญ และปรับปรุงท่าเรือ 18 ท่า โดยจะเป็นการเชื่อมต่อกับทางรถไฟสายสีเขียวกับสีน้ำเงินในอนาคต
ปรับลดค่าโดยสาร BTS ช่วง อ่อนนุช-แบริ่ง, สะพานตากสิน-บางหว้า เหลือ 10 บาท และลดราคาบีอาร์ทีจาก 10 บาท เหลือ 5 บาทตลอดสาย
การสร้างรถไฟฟ้า 5 เส้นทาง ได้แก่ 1. ไลท์เรล สายบางนา - ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 2. โมโนเรลจากศาลาว่าการ กทม. (ดินแดง) – อนุสาวรีย์ชัย - ถนนโยธี 3. โมโนเรล ม.รามคำแหง – ทองหล่อ พร้อมเดินหน้าศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการลงทุน ส่วนอีก 2 สายอยู่ในแผนของ สนข. ซึ่งหาก กทม. ดำเนินการเอง สนข. ก็ไม่ขัดข้อง คือสายที่ 4 โมโนเรลสายสีเทา วัชรพล-ลาดพร้าว และ 5. โมโนเรลสายสีฟ้า ดินแดง - สาทร
ศึกษารายละเอียดของมินิบีอาร์ที ที่จะนำไปวิ่งบนสกายวอล์กที่จะสร้างเพิ่ม 2 เส้นทาง คือ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-สี่แยกปทุมวัน ระยะทาง 3.1 กิโลเมตร มีอาคารที่จะทำทางเชื่อมต่อ 9 อาคาร และอีกเส้นทางจากนานา - แบริ่ง 10 กิโลเมตร มี 44 อาคารที่อยากจะเชื่อมต่อกับ กทม. โดยหลายจุดเอกชนจะเป็นผู้ลงทุนให้
การใช้พาหนะทางเลือก
ทำเส้นทางจักรยานเพิ่มอีก 30 สาย
ปรับปรุงผิวถนนและเปลี่ยนฝาตะแกรงท่อระบายน้ำให้เป็นแนวขวาง เพื่อให้ผู้ใช้จักรยานปลอดภัย
ส่งเสริมให้ข้าราชการ กทม. ปั่นจักรยานมาทำงาน โดยศาลาว่าการ กทม. แห่งใหม่ ที่ดินแดง จะจัดให้มีห้องอาบน้ำและห้องแต่งตัวให้ข้าราชการปั่นจักรยานมาเปลี่ยนเสื้อผ้าที่ทำงานได้
ส่งเสริมโครงการให้เช่าจักรยานในราคาถูกเพิ่มเติมบริเวณเส้นทาง BTS (บีทีเอส) ให้ได้ 10,000 คัน
การแก้ปัญหาอาชญากรรม
ติดกล้อง CCTV เพิ่มเติมทั่วทั้งเมือง พร้อมเชื่อมโยงเครือข่ายเอกชน 200,000 ตัว
อาสาสมัครชุมชนเฝ้าระวังภัย เสริมความปลอดภัยทุกชุมชน
ดูแลชุมชนให้ปลอดภัย ปลอดยาเสพติด และให้ อสส. มีบทบาทสำคัญในการติดตามผลหลังจากบำบัดยาเสพติด
หารือกับสภา กทม. ช่วยเพิ่มสวัสดิการเสริมศักยภาพให้ อปพร. และ อสส. โดยเสริมกำลังทหารกองหนุนช่วยเฝ้าระวังยาเสพติดในชุมชนและจะเพิ่มค่าตอบแทนให้กับ อปพร.และ อสส.
การป้องกันภัยพิบัติ
ระบบป้องกันพร้อมแจ้งเตือนอัคคีภัย อุทกภัย และแผ่นดินไหว
จัดตั้งโรงเรียนดับเพลิง เน้นการเข้าถึงพื้นที่แคบ ในการควบคุมเหตุเพลิงไหม้
ขยะ/ท่อตัน/น้ำเน่าเสีย
สร้างโรงงานบำบัดน้ำเสียเพิ่มอีก 5 แห่ง พร้อมวางแผนขยายการบำบัดน้ำเสียครอบคลุมทั่วกรุงเทพฯ เพิ่มระบบจัดการขยะ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่จัดเก็บ ขนถ่าย จนถึงเปลี่ยนขยะ ให้เป็นพลังงานไฟฟ้า ด้วยเทคโนโลยีสะอาด
เพิ่มการเก็บขยะตามตรอกซอกซอยมากขึ้น
รณรงค์ลดและแยกขยะ จัดหาสถานที่ชักลากขยะรวมเก็บเป็นเวลาในชุมชน โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมรายเดือนให้ชุมชนที่มีส่วนร่วม เพื่อที่พนักงานเก็บขยะจะได้ช่วยเก็บได้ง่ายขึ้น
จัดหาคนเก็บขยะให้มากขึ้น
จัดถังขยะ street furniture ใน 50 เขต แบบสนามหลวง 50,000 ใบ
สร้างเตาเผาขยะเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าอีก 2 แห่ง แห่งละ 300 ตัน
เปิดโรงกำจัดไขมันเพื่อผลิตเชื้อเพลิงแห่งที่ 2 ที่อ่อนนุช
สร้างโรงกำจัดขยะติดเชื้อด้วยระบบความร้อนสูง
สร้างโรงผลิตปุ๋ยจากขยะอินทรีย์ขนาด 1,000 ตัน
จัดสร้างสถานีขนถ่ายย่อยให้ครบ 6 โซน เพิ่มเที่ยวการขนขยะของรถขยะ กทม.
สร้างโรงกำจัดและแปรรูปขยะจากสิ่งก่อสร้างแห่งแรกของประเทศ
ปัญหาหาบเร่แผงลอย
ดำเนินการแก้ไขระเบียบการดูแลหาบเร่แผงลอย จากที่ต้องดูแลร่วมกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล มาอยู่ในความดูแลของ กทม. แต่เพียงผู้เดียว เพื่อให้เกิดเอกภาพในการทำงาน
ลงทุนสร้างตลาดใหม่ เพื่อเปิดให้ผู้ค้าเช่าในราคาถูก
ให้กำลังใจและสนับสนุนให้ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่ปฏิบัติตามเกณฑ์และให้ความร่วมมือในการจัดระเบียบได้ขยับขยายไปขายในห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้าใกล้เคียง โดยจะประสานขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้า
กำหนดให้มีคณะกรรมการชุมชนย่อยเป็นรายจุดผ่อนผัน เพื่อให้พิจารณาผลกระทบจากการอนุญาต หรือการยกเลิกจุดผ่อนผันอย่างครบถ้วน และให้คณะกรรมการชุมชนรายพื้นที่มีอำนาจหน้าที่กำกับการให้การค้าขายในจุดผ่อนผันต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ และมีอำนาจหน้าที่ในการติดตามการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่เทศกิจในพื้นที่นั้น ๆ อีกด้วย
กำหนดให้มีคณะกรรมการรับเรื่องร้องเรียนเรื่องหาบเร่แผงลอยโดยตรง เพื่อให้ปัญหาของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการค้าหาบเร่แผงลอยได้รับการพิจารณาโดยเร็ว
เปิดช่องทางพิเศษให้มีการร้องเรียนโดยตรงในปัญหาหาบเร่แผงลอย ที่ส่งผลกระทบต่อการสัญจรบนทางเท้าเพิ่มเติมจากการร้องเรียนผ่าน 1555 เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นการเฉพาะจุด มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
พื้นที่สีเขียว
เพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยเน้นสวนสาธารณะขนาดใหญ่
สร้างสวนลอยน้ำแห่งแรก
สร้างสวนสุนัข (Dog Park) 4 มุมเมือง
ส่งเสริมสวนบนอาคารสูง (Green Roof) และแนวกำแพงอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้ได้ ร่วมมือกับภาคเอกชนสร้างสวนแนวตั้งและหลังคาเขียว หรือ Green roofs บริเวณพื้นที่สีลม-สาทร
ปรับปรุงพื้นที่ว่างและทางสาธารณะให้เป็นเส้นทางเชื่อมพื้นที่สีเขียว มีต้นไม้ตลอดแนว
การปรับปรุงทัศนียภาพ
ปรับภูมิทัศน์ถนนสายหลัก นำสายไฟฟ้าลงดิน 3 เส้นทาง และย้ายสายโทรศัพท์ - เคเบิล ลงดิน
การบริหารจัดการน้ำ
สานต่อเรื่องอุโมงค์ระบายน้ำ และอุโมงค์ยักษ์เพื่อช่วยการจัดการน้ำในพื้นที่ กทม. โดยอุโมงค์รัชดาภิเษก - สุทธิสาร/บึงหนองบอน/คลองเปรมประชากร ระบายน้ำได้จากพื้นที่รวม 250 ตารางกิโลเมตร
เพิ่มอุโมงค์ระบายน้ำที่ฝั่งธน จากคลองทวีวัฒนาสู่ภาษีเจริญ คลองทวีวัฒนาสู่ราชมนตรี และแนวนอกแนวคันกั้นน้ำ และสร้างอุโมงค์ระบายน้ำเพิ่ม 6 แห่ง เป็นอุโมงค์ยักษ์ 3 แห่ง เส้นผ่าศูนย์กลาง 5 เมตรขนาดเท่ากับที่พระราม 9
เน้นการจัดหาพื้นที่แก้มลิงเพิ่มเป็น 4.07 แสนล้านลูกบาศก์เมตร
สร้างคันกั้นน้ำบนแม่น้ำเจ้าพระยา 77 กิโลเมตร
การจัดการดูแลโซนต่าง ๆ
พลิกโฉมพื้นที่ชั้นในย่านธุรกิจ เช่น สยามสแควร์ ราชประสงค์ เพลินจิต
เพิ่มและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และเชิงอนุรักษ์ ทั้งฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี
เน้นการดูแลอนุรักษ์วัฒนธรรม คือการดูแลพื้นที่วัฒนธรรมย่านกุฎีจีน รวมถึงการส่งเสริมด้านรวมกลุ่มประชาชนในการพัฒนาตลาดน้ำในเขตตลิ่งชัน
พัฒนากุฎีจีน บางลำพู ตลาดพลู และเยาวราช นำร่องเป็นศูนย์การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
ผลักดันให้เยาวราชเป็นไชน่าทาวน์ระดับโลก และเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงจะพัฒนารักษาคุณภาพของอาหารข้างทางและอาหารในภัตตาคารต่าง ๆ โดยส่วนหนึ่งจะผลักดันให้เมนูอาหารของธุรกิจขนาดเล็กแต่ละแห่งมีภาษาอังกฤษด้วย
ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ผลักดันให้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว ทั้งต่างจังหวัดและต่างชาติให้มากขึ้น
พัฒนาฝั่งธนบุรีให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงมรดกวัฒนธรรม โดยจะปรับปรุงทางเดินริมน้ำ ส่งเสริมให้มีการปลูกผักตามแนวรั้ว ตามวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม พัฒนาท่าน้ำวัด สร้างสวนลอยน้ำ
ทำระบบขนส่งมวลชนแบบราง แทนระบบรถไฟฟ้าใต้ดิน เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนต่อโบราณวัตถุ และโบราณสถานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่
ความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน
เด็กกรุงเทพฯ ภาษาอังกฤษแข็งแรง พร้อมรับประชาคมอาเซียน
จะทำให้กรุงเทพฯ เป็นมหานครแห่งอาเซียน และศูนย์กลางการค้าครอบคลุมกลุ่มประเทศอินโดจีนและจีนตอนใต้ และเป็นฐานหลักการลงทุนประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว เวียดนาม กัมพูชา
ร่วมมือกับโรงพยาบาลรัฐ มหาวิทยาลัย และเอกชน เพื่อให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางการบริการด้านการแพทย์ และการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ ของอาเซียนและของโลก
จัดตั้งศูนย์ส่งเสริม SMEs อาเซียน และจัดทำ BMA SMEs ASEAN Data Bank
ส่งเสริมการผลิตอาหารฮาลาลรองรับสมาชิกประเทศอาเซียนมากขึ้น
ศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนศิลปะและวัฒนธรรมอาเซียน
Post a Comment