"จินตนา เอกสุข"จากหนี้บัตรเครดิต สู่จุดเปลี่ยนชีวิตจนผ่านพ้นมรสุม

โทรศัพท์รุ่นใหม่...ผลิตภัณฑ์หน้าใสเสริมความงาม...กระเป๋ารองเท้าตามแฟชั่น...เสื้อผ้าแบรนด์ดังขึ้นป้ายลดราคา และสารพันสินค้าที่โลกโฆษณากระหน่ำเชิญชวนให้อยากเป็นเจ้าของ คือหลุมพรางที่สาว ๆ ยุคใหม่หลายคนยินยอมพร้อมใจก้าวเข้าไปเป็นเหยื่อ แต่เมื่อเงินที่มีอยู่ไม่เพียงพอที่จะครอบครองสิ่งของนอกกายเหล่านั้น..."บัตรเครดิต" สารพัดเจ้าก็เลยกลายเป็นเพื่อนยามยากให้เราได้พึ่งพายามต้องการใช้เงินในอนาคต และ "จินตนา เอกสุข" เธอผู้นี้ก็คือหนึ่งในทาสของบัตรรูดปรื๊ด

         สินค้าเสริมภาพลักษณ์ให้ดูดีจำนวนมากถูกซื้อด้วยบัตรเครดิต 14 ใบ ที่เซ็นชื่อ "จินตนา เอกสุข" มนุษย์เงินเดือนธรรมดา ๆ คนหนึ่ง ที่ทุกเย็นหลังเลิกงานมีกิจวัตรคือการเดินช้อปปิ้งในห้างดัง และทานอาหารร้านหรูมีระดับ เธอบอกว่า เมื่อ 8 ปีก่อน เธอใช้เงินอย่างไร้สติมาก ทำบัตรเครดิตหลายสิบบริษัท ตามค่านิยมผิด ๆ ที่เธอคิดไปเองว่า การได้ไปอยู่ในสังคมดี ๆ กินอาหารแพง ๆ ร้านหรู ๆ ทำให้เธอดูดีขึ้นในกลุ่มเพื่อนฝูง จึงไม่แปลกที่ความสุขในเวลานั้นของเธอ คือการได้ซื้อของแพง ๆ มาอวดเพื่อน แต่นั่นกลับเป็นความหลงในสิ่งที่เป็นภาพลวงตา

         ชีวิตราวกับเศรษฐีนีในโลกความฝันของ "จินตนา" ดำเนินไปได้เกือบ 2 ปี กระทั่งเธอได้ตื่นขึ้นมาพบกับความจริงที่ว่า วงเงินจากบัตรเครดิต 14 ใบของเธอเต็มทุกใบ และเธอมีหนี้บัตรเครดิตรวมกว่า 3 แสนบาท ยังไม่นับรวมดอกเบี้ยอีกหลายเท่าตัว เมื่อคิดคำนวณดูแล้ว เดือน ๆ หนึ่ง สาวออฟฟิศคนนี้ ต้องจ่ายหนี้เกือบ ๆ 3 หมื่นบาท 
         รอยยิ้มกว้าง ๆ ของมนุษย์เงินเดือนคนหนึ่งที่มีความสุขจากการใช้ของแพง ๆ เริ่มเลือนหาย แปรเปลี่ยนเป็นความเครียด และความทุกข์ ของผู้หญิงคนหนึ่งที่มีเงินเดือนเพียงหมื่นต้น ๆ กำลังนั่งกุมขมับว่า จะหาเงินที่ไหนมาใช้หนี้ที่ถูกโทรจิกโทรทวงทุกวันถึงที่ทำงาน จนอายแทบแทรกแผ่นดินหนี แถมยังมีค่าผ่อนรถ ค่าห้อง ค่ากิน ค่าใช้จ่ายจิปาถะอีก

         แต่แล้ววันหนึ่ง "จินตนา" ก็สามารถหาทางออกให้กับตัวเองได้ เมื่อเดินไปเห็นผู้คนละลานตาที่ตลาดกลางคืนย่านราชประสงค์ แม้ในใจลึก ๆ จะเสียใจที่ตัวเองไม่สามารถมาจับจ่ายเหมือนคนอื่น ๆ ได้แล้ว แต่เธอก็ฉุกคิดได้ว่า ตัวเองน่าจะมาขายของตรงนี้ได้บ้าง ในที่สุด เธอก็กลับบ้าน เปิดตู้เสื้อผ้า กวาดเอาเสื้อผ้าหรู ๆ รองเท้าราคาแพง ๆ และกระเป๋าแบรนด์เนม ลงถุง ขนมาขายในตอนเย็นหลังเลิกงาน 

         จากสาวออฟฟิศใช้ของไฮโซต้องเปลี่ยนเครื่องแบบพนักงานมาใส่เสื้อยืด กางเกงยีน คีบรองเท้าแตะ แปลงโฉมเป็นแม่ค้าในช่วงเย็นเป็นชีวิตใหม่ที่ "จินตนา" ไม่เคยสัมผัส เธอยอมรับว่า ลำบากไม่ใช่น้อยกับการแบกถุงใบโต นั่งคุกเข่าขายของเป็นเวลานานจนเข่าด้าน ต้องคอยหลบหน้าคนรู้จักที่เดินผ่าน และยังต้องรีบตื่นมาถึงที่ทำงานให้เช้ากว่าใคร ๆ เพื่อจะได้ไม่มีใครเห็นเธอแบกถุงขนของมาขายมาซ่อนไว้ ตกเย็นก็ต้องกลับบ้านช้า เพื่อรอให้เพื่อนทยอยกลับไปให้หมดก่อน จึงจะกล้าขนถุงใบโตที่ซ่อนไว้ออกมา 

         แม้ว่าชีวิตซีกที่เคยสุขสบายจะต้องสูญเสีย แต่สิ่งหนึ่งที่ "จินตนา" ยังคงเก็บไว้ นั่นคือ หัวใจที่เข้มแข็ง ไม่ใช่ว่าไม่ร้องไห้ แต่หมายถึงจะไม่ยอมล้ม ไม่ยอมแพ้ และไม่ยอมให้ปัญหาการเงินมาชักนำให้เธอทำอะไรที่ผิดหรือโง่เขลา บ่อยครั้งที่เธอต้องไปทำงานที่ต่างจังหวัด และเป็นคนถือเงินของบริษัทเป็นหมื่น ๆ แต่เธอก็ไม่เคยคิดจะฉกฉวยเงินมาเป็นของตัวเอง เพราะถือคติที่ว่า เกิดเป็นคนต้องซื่อสัตย์ และไม่เฝ้าโทษอดีตที่ผ่านไปแล้ว

         "เหนื่อยมันมี ท้อมันมี แต่เราจะไม่ตัดพ้อต่อโชคชะตา ไม่มานั่งคิดว่าทำไมเรื่องแบบนี้ ต้องเกิดกับฉัน แต่จะบอกตัวเองเสมอว่า แกทำตัวแกเอง จะไม่โทษอดีต คิดอย่างเดียวว่า เราจะผ่านจุดนี้ไปให้ได้ เราต้องรอดให้ได้ แล้วสิ่งนี้ก็จะเป็นบทพิสูจน์หัวใจเราเอง" จินตนา บอกกับตัวเองอย่างเข้าใจ

         อย่างไรก็ตาม "จินตนา" ก็เคยได้ยินได้ฟังคนนินทามาเข้าหูว่า เธออุตส่าห์เรียนจบถึงเมืองนอก ทำไมมานั่งขายของติดดินเช่นนี้ ดูไม่มีเกียรติเอาเสียเลย แต่ "จินตนา" ก็ได้แค่รับฟังไว้ ไม่ปล่อยให้คำพูดเหล่านั้นมาลดทอนคุณค่าในตัวเอง และใช้วิธี "การยอมรับความจริง" เมื่อยอมรับตัวเองได้ คำพูดคนอื่นก็ไม่สามารถทำร้ายจิตใจเธอได้อีกต่อไป 

         ขณะเดียวกัน เธอก็แย้งอยู่ในใจว่า จากการที่ได้ลงไปสัมผัสชีวิตพ่อค้าแม่ค้าบนฟุตปาธ ทำให้เธอรู้ว่า จริง ๆ แล้วพ่อค้าแม่ค้าเหล่านี้ล้วนมีน้ำใจ ไม่เคยดูถูกใคร มีจรรยาบรรณที่จะไม่ขายตัดราคาเพื่อนผู้ค้าด้วยกัน พวกเขาจึงดูมีเกียรติกว่าคนที่ใส่สูทผูกเนคไทหลายคนเสียอีก 
         นอกจากนี้ เธอยังได้เรียนรู้หลาย ๆ อย่างจากคนเหล่านี้ที่ห้องเรียนปริญญาไม่เคยสอนด้วย เช่น มีช่วงหนึ่งเธอขายของได้กำไรแค่ 40-50 บาท จนเริ่มท้อ เพื่อนแม่ค้าจึงแนะนำให้กล้าลงทุน ไปซื้อของอย่างอื่นมา เมื่อเธอทำตาม เธอก็สามารถขายจนได้กำไรนับพัน เพื่อนจึงแนะนำให้เธอหาร้านขายส่งที่ราคาถูกกว่าจะได้มีกำไรมากขึ้น เรื่องนี้ทำให้ "จินตนา" อายตัวเองอยู่ในใจว่า ทั้งที่เธอเรียนจบปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ แม้แต่มินิเอ็มบีเอ การตลาด ก็ผ่านมาแล้ว แต่เรื่องง่าย ๆ แค่นี้กลับคิดไม่ได้ แถมเพื่อนแม่ค้าของเธอยังสอนให้เธอรู้จักออมเงิน

         "มีครั้งหนึ่งเคยถามเพื่อนข้างแผงว่า ไม่คิดทำงานประจำเหรอ มีสวัสดิการ มีประกันสังคม จะได้มั่นคง เขาก็บอกไม่เห็นต้องทำงานประจำเลย แค่จัดสรรการใช้จ่ายให้เป็นก็พอแล้ว อย่าลืมทำประกันชีวิตไว้ เจ็บป่วยก็เบิกได้ แล้ววิธีการเก็บเงินเขาจะมี 3 กล่อง กล่องแรกเป็นต้นทุนไว้หมุนต่อ กล่องที่สองเก็บไว้เป็นค่าใช้จ่ายประจำวัน กล่องสุดท้ายเก็บออม เนี่ย...เขาไม่ได้เรียนหนังสือเยอะนะ แต่เขาคิดได้มากกว่าคนปริญญา 2 ใบอย่างเราอีก" จินตนา เล่าอย่างทึ่ง ๆ 

         อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป 3 ปี "จินตนา" สามารถปลดปลดหนี้บัตรเครดิตไปได้เพียง 2-3 ใบเท่านั้น ความเครียดจึงเริ่มก่อตัวขึ้นอีกครั้ง แม้ในใจจะยังไม่ท้อ แต่ก็มีเพื่อนรุ่นพี่ในที่ทำงานคนหนึ่งมองเห็น และเข้ามาช่วยเหลือปิดบัตรเครดิตให้ แล้วให้เธอผ่อนส่งเขาแทน 

         "เคยถามเขาตรง ๆ นะ ว่าทำไมถึงมาช่วยเรา เขาก็บอกว่า เห็นความพยายามของเราว่าเป็นคนทำมาหากิน ถ้าใช้หนี้เองก็ไม่รู้จะหมดเมื่อไหร่ เหมือนสรรค์มีตาเลยนะ พอเราสู้เต็มที่จนถึงจุดจุดหนึ่ง ก็จะมีคนมองเห็น แล้วยื่นมือมาช่วยเราทั้ง ๆ ที่เรากับเขาก็ไม่ได้สนิทกันเลย" นี่คือสิ่งที่ทำให้จินตนาแปลกใจในช่วงนั้น  

         แม้หนี้บัตรเครดิตจะหมดไป แต่ "จินตนา" ก็ยังคงไปขายของทุกเย็น และทุกเสาร์-อาทิตย์ เช่นเดิม เพื่อหาเงินมาชำระหนี้ให้พี่ที่ทำงาน สุดท้ายภายในเวลาเพียงอีกปีเศษ เธอก็หลุดพ้นจากหนี้สินทั้งหมด แต่ "จินตนา" ก็ยังคงขายของเก็บเงินไปเรื่อย ๆ กระทั่งมีเงินส่งตัวเองเรียนต่อปริญญาโทใบที่ 2 และจากนั้น เธอก็หยุดขายของ เพื่อทุ่มเทให้กับการเรียนอย่างจริงจัง 

         เมื่อเรียนจบ "จินตนา" ได้ย้ายไปทำงานเป็นผู้จัดการร้านอาหารและโรงแรมที่จังหวัดราชบุรีแทน ต่อมาก็ได้ย้ายไปเป็นผู้จัดการรีสอร์ทแห่งหนึ่งในจังหวัดลพบุรี เพื่อจะได้ใกล้ชิดบ้านเกิด และมีเวลากลับไปดูแลพ่อแม่มากขึ้น ทุกวันนี้ ผู้จัดการรีสอร์ทอย่าง "จินตนา" ดำเนินชีวิตด้วยความเรียบง่าย ใส่เสื้อผ้าธรรมดา ขับรถมือสอง เธอเป็นผู้จัดการที่ยกมือไหว้คนสวนและคนขับรถก่อน ซ้ำลงไปช่วยลูกน้องขุดดิน 

         นอกจากนี้ เธอยังเป็นผู้จัดการที่ไม่ได้ดูแลเพียงธุรกิจ แต่ดูแลไปถึงชีวิตของพนักงานบ้านใครเป็นอย่างไร มีปัญหาอะไร "จินตนา" จะเข้าไปถามไถ่ แก้ปัญหา อย่างเช่นโครงการรถรับส่งพนักงานกะบ่าย ที่เธอเป็นคนคิดขึ้น เพื่อช่วยให้ลูกน้องมีความปลอดภัยมากขึ้นเมื่อต้องกลับบ้านที่เปลี่ยว ๆ ในช่วงกลางดึก แม้กระทั่งเรื่องการศึกษา "จินตนา" ก็ช่วยประสานงานกับวิทยาลัยเทคนิคให้พนักงาน 3 คนที่เรียนจบเพียงแค่ ม.3 แล้วดูมีแววน่าจะเรียนได้ ได้เรียนต่อจนจบ ปวส. และได้ปรับเพิ่มเงินเดือน เธอมองว่า นี่เป็นคุณค่าแท้แห่งชีวิตที่ควรภาคภูมิใจ

จากหนี้บัตรเครดิต สู่จุดเปลี่ยนชีวิตจนผ่านพ้นมรสุม

         "ถ้าไม่เป็นหนี้ เราคงไม่คิดเรื่องพวกนี้ คงจะคิดแต่เรื่องตัวเอง ยึดมั่นถือมั่น ตัวตนสูง เช่น นี่ฉันผู้จัดการนะ แต่การเป็นหนี้ทำให้เรามองชีวิตในมุมใหม่ ที่สำคัญคือทำให้กลับมาดูแลเอาใจใส่พ่อแม่ เพราะเมื่อก่อนเงินเดือนเราไม่เคยถึงพ่อแม่เลย แต่ทุกวันนี้เราจะแบ่งเงินเดือนส่วนหนึ่งส่งไปให้พ่อแม่ว่างเมื่อไหร่ก็จะขับรถไปเยี่ยมไปดูแลจินตนา บอกอย่างภูมิใจ

         เธอย้ำด้วยว่า "หนี้" สามารถเปลี่ยนชีวิตเธอได้ดีขึ้นถึงทุกวันนี้ ช่วยให้มองทะลุปรุโปร่งในหลาย ๆ เรื่อง เพราะความทุกข์ครั้งนั้น ทำให้เธอเข้าใจคนมากขึ้น มองว่าทุกคนมีฉากชีวิต มีภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบอยู่เบื้องหลัง เมื่อผ่านพ้นมรสุมลูกใหญ่มา ฟ้าอันสดใส ก็ทำให้ "จินตนา"พบกับความสุขอย่างแท้จริง

         "สิ่งที่ทำให้ภูมิใจมากที่สุดในวันนี้ หนึ่งคือได้ตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ สองคือการได้ช่วยเหลือผู้อื่น และมองอะไรแบบเข้าใจมากขึ้น แล้วก็ค้นพบว่า เออ... ชีวิตแบบนี้มันมีความสุข มีความสุขกว่าสมัยเดินช้อปปิ้งเมื่อก่อน ตอนนั้นมันเป็นแค่ความสุขแบบฉาบฉวย ลุ่มหลง แต่ความสุขตอนนี้ มันแท้จริงสัมผัสได้" จินตนา ย้ำ ก่อนจะปิดท้ายว่า 

         "คุณค่าแท้จริงของชีวิต คือการอยู่ให้มีประโยชน์กับคนอื่น ไม่เบียดเบียนเขา แล้วก็ต้องไม่เบียดเบียนตัวเองด้วย"



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

นิตยสาร ฅ.คน ปีที่ 8 ฉบับที่ 2 (85) ธันวาคม 2555

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม 
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ทีวีบูรพา , นิตยสาร ฅ.คน