จากทุ่งหญ้าสีทองสู่ผืนดาวพราวฟ้า...ดอยทูเล (อ.ส.ท.)
ทางของลมหายใจ
จากผืนนาเล็ก ๆ ของบ้านกะเหรี่ยงแม่จวาง เส้นทางเดินเท้าที่ตัดขึ้นไปตามสันเนินทีละน้อยจากป่าไผ่ร้อนแล้งเริ่มเข้าสู่ป่าชุมชนที่ชาวบ้านช่วยกันดูแล ช่วยกันใช้ประโยชน์ และเมื่อผ่านชั่วโมงแรกของการเดินเท้าไปได้ ก็พบว่าหนทางเบื้องหน้ายังมีความชันรอเราอยู่อย่างแน่นอน ลมหายใจผ่อนเข้าออกอย่างช้า ๆ บนทุกย่างก้าวค่อย ๆ ย่ำไปบนสันดอย...
อากาศร้อนแล้งสานกับเส้นทางชันได้อย่างลงตัว หัวใจเต้นแรง เหงื่อผุดพรางออกมาขับความร้อนให้ร่างกาย เราหยุดพักกันบ่อยขึ้นกว่าช่วงแรก แต่ด้วยแรงใจที่เต็มเปี่ยมก็พาเราไปอย่างไม่ย่อท้อ ความเปลี่ยนแปลงของผืนป่าปรากฏให้เห็นเมื่อความสูงเพิ่มขึ้น ก่อนจะเข้าสู่ผืนป่าเบญจพรรณที่ค่อนข้างร่มรื่นเดินสบาย บางบริเวณไผ่กอใหญ่ ๆ กำลังเปลี่ยนถ่ายพลังชีวิต โดยการออกขุยหรือเมล็ดก่อนจะแห้งตายลงไป และเมล็ดเหล่านี้จะสุกในช่วงต้นฤดูฝน เพื่อแตกหน่อและหยั่งรากลงบนแผ่นดิน บางส่วนก็เป็นอาหารชั้นดีของเหล่าสรรพชีวิตในผืนป่า บางคราวในสมัยข้าวยากหมากแพง คนในอดีตก็ได้ขุยไผ่นี่แหละหุงประทังชีวิต ผมเคยชิมดูก็รู้สึกว่าแข็ง ๆ กรุบ ๆ กินพอให้ชีวิตอยู่ได้คงพอไหว แต่หากว่าต้องกินประจำก็แย่แน่
ในที่สุดก็เดินกันจนมาถึงสันดอย นั่งดื่มน้ำและพักกันพอหายเหนื่อย จนใครบางคนบอกว่า "เดินกันอีกสักหน่อยก็ถึงจุดกินอาหารกลางวันแล้ว" ตอนนี้ลูกหาบนำหน้าเราไปคอยยังจุดพักนั้นแล้ว เพื่อเตรียมอาหารกลางวันให้กับนักเดินทาง เส้นทางราบทอดตัวผ่านเข้าสู่หุบเขาเบื้องหน้า เปลี่ยนเป็นทางเดินแคบ ๆ เลาะไปตามไหล่เขาก่อนจะตัดลงหุบเบื้องล่าง ความชื้นของผืนดินและมวลอากาศทำให้ลมหายใจของเราค่อยผ่อนคลาย เพียงสิบนาทีก็ได้ยินเสียงคุยเบา ๆ ของกลุ่มลูกหาบดังขึ้นมาจากด้านล่าง
ผมวางกระเป๋ากล้องคู่ใจเรียบร้อยก็เดินไปยังสายห้วยเล็ก ๆ ที่ไหลเอื่อย ทว่าไม่ขาดสาย เพื่อดื่มน้ำดับกระหาย ความหวานของน้ำในลำธารกลางป่าลึก กับความเย็นละเมียดทำให้เรารู้สึกสดชื่นขึ้นอย่างรวดเร็ว กลิ่นควันไฟผสานกับยาสูบขี้โยของลูกหาบลอยอวลอยู่ในอากาศ บวกกับกลิ่นหอมจาง ๆ ของปลาหัวยุ่งย่างไฟอ่อน ๆ (ปลาหัวยุ่งเป็นปลาเค็มที่มีลักษณะคล้ายฟืนแห้ง ๆ มีฟันแหลมเต็มปาก พบในพม่า บังกลาเทศ และอินเดีย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Harpodon nehereus) ในไม่นานนาทีวงข้าวกลางวันก็เปิดขึ้นด้วยอาหารง่าย ๆ แถมด้วยน้ำพริกผัดรสเจ็บที่หอมกระเทียมเจียว หอมพริกคั่ว กินกับข้าวเหนียว บอกได้เลยว่ามื้อนี้คงต้องจัดหนัก...
หลังกาแฟมื้อบ่ายในผืนป่าแบบสบาย ๆ เสียงใครบางคนบอกว่า "ทางข้างหน้าคือของจริงและความชันรอเราอยู่" และการเดินในช่วง 3 ชั่วโมงต่อมา เราได้พิสูจน์กันถึงแรงใจในการก้าวไปข้างหน้า เพราะหนทางนั้นชันกว่าที่ผ่านมาไม่น้อยเลย ในชั่วโมงสุดท้ายก่อนจะขึ้นสู่สันเขาสูงเหนือทิวดอย เราต้องใช้กล้ามเนื้อทุกมัดรีดพลังออกมาทุกหยด พร้อมกำหนดลมหายใจให้พาเราไปยังปลายทางอันเป็นจุดหมายของค่ำคืนนี้
บนหนทางที่ก้าวย่างไปบนความชันของภูเขาอาจจะไม่มากเท่ากับความชันในหัวใจ ซึ่งมีเพียงสิ่งเดียวที่ทำให้กล้าก้าวไปยังปลายทางที่เต็มไปด้วยอุปสรรค นั่นคือ ความตั้งใจ เพราะนอกจากจะทำให้เราไปยังจุดหมายได้สำเร็จแล้ว ยังทำให้เราชนะหัวใจที่พร้อมจะล่าถอยในช่วงเวลาแสนเหนื่อยล้าอีกด้วย...
กล้วยไม้ประหลาดในดงดิบเขา
เมื่อพ้นช่วงสันเขาชันที่ปีนขึ้นมาด้วยกำลังใจและแรงกายที่เหนื่อยอ่อน ก็พบกับความเย็นของอากาศที่โอบคลุมผืนป่าดิบเขาแห่งนี้ ลำธารน้ำที่เคยฉ่ำป่า วันนี้เริ่มแล้งแห้ง เรากำลังเดินผ่านผืนป่าดิบที่งดงามอย่างยิ่ง มีต้นไม้ใหญ่ ๆ ขึ้นหนาแน่น ระหว่างทางเดินเราเจอกับกล้วยไม้หลายชนิดที่คุ้นเคย และชนิดที่น่าสนใจที่สุดเป็นกล้วยไม้ในสกุลสิงโต(Bulbophylum) คนรักกล้วยไม้หลายคนรูจักกันดี ทว่าอาจจะไม่ทราบที่มาของชื่อชนิด ผมจึงขอนำเรื่องราวการสำรวจเมื่อครั้งอดีตมานำเสนอให้มองเห็นความงามในอีกมุม
โดยกล้วยไม้ชนิดที่จะกล่าวถึงก็คือ "สิงโตขยุกขยุย" เป็นกล้วยไม้ขนาดเล็ก รูปทรงแปลกตา มองไปคล้ายกับต้นไม้กินคนในหนังสยองขวัญตลก ๆ แต่เพลงเพราะมาก คือเรื่อง Little Shop of Horrors ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ที่มองเห็นได้จากภายนอก ได้แก่ หัวรูปไข่หรือรูปรี มีสีม่วงเข้ม ผิวมัน เรียงตัวอยู่ห่างกัน ใบรูปรีมี 1 ใบ ใบด้านล่างสีม่วงเข้มอมแดง ด้านบนสีเขียวอมม่วง ปลายแหลม ช่อดอกสั้นเป็นกระจุก ดอกในช่อ 2-5 ดอก ขนาดดอกประมาณ 1.2 เซนติเมตร ขอบกลีบมีขนเป็นครุย กลีบปากสีแดงเข้มไม่เรียบ บริเวณส่วนโคนของกลีบปากมีเดือยขนาดใหญ่ มักพบขึ้นบนหินต้นไม้บริเวณพื้นที่เปิดโล่ง แต่มีความขึ้นในผืนป่าดิบเขา ที่ความสูงเกิน 1,000 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง
สำหรับกล้วยไม้ชนิดนี้ได้รับการบันทึกไว้ว่ามีการเก็บตัวอย่างครั้งแรกจากประเทศพม่า โดยมิชชันนารีที่สนใจทางด้านธรรมชาติวิทยา ขณะนั้นท่านเป็นอนุศาสนาจารย์ประจำกองทหารอังกฤษซึ่งประจำการในประเทศพม่า มีชื่อว่า Charles Samuel Pollock Parish โดยท่านได้สำรวจพรรณไม้อยู่ทั่วบริเวณภาคกลางและภาคใต้ของพม่า รวมถึงเคยสำรวจมาถึงด่านเจดีย์สามองค์ในประเทศไทยด้วย เมื่อพบกล้วยไม้ชนิดนี้ ท่านได้ส่งตัวอย่างไปยังฟาร์มกล้วยไม้ที่มีชื่อเสียงในยุโรป และได้ถึงมือ Heinrich Gustav Reichenbach นักพฤกษศาสตร์ชาวเยอรมันที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น เมื่อดอกบานในโรงเรือนก็ได้พบความประหลาดใจกับดอกที่มีลักษณะแปลกตายิ่งนัก
Heinrich จึงได้ให้ศิลปินวาดภาพทางพฤกษศาสตร์ที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้นวาดเก็บไว้ ซึ่งนั่นนับเป็นการเผยแพร่กล้วยไม้ชนิดนี้เป็นครั้งแรกในยุโรป และได้นำภาพวาดดังกล่าวลงไว้คู่กับผลงานตีพิมพ์กล้วยไม้ชนิดใหม่ของโลก โดย Heinrich Gustav Reichenbach ได้ตั้งชื่อกล้วยไม้ชนิดนี้เป็นเกียรติแก่ศิลปินท่านนั้น John Day โดยให้ชื่อว่า Bulbophyllum dayanum Rchb. f., Gand. Chron. 1865: 434 (1865).
ต้นธารแห่งขุนเขาและทุ่งหญ้าสีทอง
"จากบริเวณนี้เราจะผ่านป่าดิบเขาที่เต็มไปด้วยต้นแดงเขา มะม่วงป่า และกล้วยไม้ จากนั้นก็ขึ้นไปบนสันเขาอีกครั้งจะถึงแคมป์พักแรม" ดอย คณะทำงานขององค์การบริหารส่วนตำบลท่าสองยาง ที่มาช่วยดูแลเรื่องเดินป่าบอกกับผมเมื่อข้ามลำธารเล็ก ๆ ซึ่งบนลำต้นและคาคบของต้นไม้ในบริเวณนั้นเต็มไปด้วย สิงโตปากนกแก้ว (Bulbophllum psittacoglossum) จากลักษณะของดินทรายร่วนละเอียดผสานกับอากาศที่หนาวเย็น ความชื้นสูง และลมแรง บอกได้เลยว่าม่อนดอยแห่งนี้มีความละม้ายกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวงเป็นอย่างยิ่ง
เพียงไม่นานเราก็ข้ามลำธารแล้วตัดขึ้นไปบนสันดอย ที่ตอนนี้หญ้ากำลังเปลี่ยนไปเป็นสีน้ำตาลทอง มองไปได้ไกลสุดสายตากับวันที่ท้องฟ้าแจ่มใสแบบนี้ ผมเดินช้า ๆ ไปตามจังหวะของลมหายใจที่ไม่ได้เร่งรีบ เพราะยังมีเวลาอีกพอสมควรในการสัมผัสความงาม เมื่อถึงจุดพักสำหรับชมทิวทัศน์ วางกระเป๋า ดื่มน้ำ และมองไปยังรอบตัว สำรวจสิ่งต่าง ๆ มากมายเหนือขุนเขาแหล่งนี้ แม้ตรงนี้อาจจะไม่ใช่จุดสูงสุด ทว่าบางครั้งเราก็ไม่จำเป็นต้องไปให้สุดทางเสมอ หากสิ่งที่อยู่ระหว่างทางนั้นมีค่าเกินกว่าจะก้าวผ่าน...
ผืนป่าดิบแน่นทึบเมื่อหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ทำให้ผมหายสงสัยว่าทำไมบนเทือกภูที่มองแทบไม่เห็นไม้ใหญ่ จะมีน้ำอยู่ในช่วงฤดูแบบนี้ ทว่าภูเขาก็ได้ซ่อนความหมายของมันให้พ้นจากสายตาของผู้ที่มองเพียงภายนอก ความชื้นของผืนดินที่ได้ต้นไม้ใบหนามาปกป้องไว้ค่อย ๆ คายออกมาลงสู่ลำธารที่ไม่เคยเหือดแห้ง แม้จะเหลือเพียงน้ำซับในช่วงแล้งจัด ๆ
หลังละสายตามาจากผืนป่าผืนใหญ่ที่แน่นชนิดเป็นที่เรียบร้อย ผมก็ยืนปล่อยให้สายลมเย็น ๆ ได้พัดความอิ่มเอมของธรรมชาติมาใส่ในร่างกาย คล้ายกับรับพลังอันยิ่งใหญ่แห่งขุนเขาเข้ามาไว้ในตัว
"ม่อนทูเล หมายถึงภูเขาที่มีมุ่งหญ้าสีทอง" พี่แจ้ พ่อครัวมือเยี่ยมซึ่งเป็นคนแรก ๆ ที่ขึ้นมาถึงบนยอดดอยแห่งนี้ บอกกับผมเมื่อแสงอาทิตย์ยามเย็นสาดลงทาบทาบนทิวเขา พร้อมกับที่พวกเราออกเดินไปยังจุดที่หมายตาไว้ในการถ่ายภาพพระอาทิตย์ตกดินและถ่ายภาพในค่ำคืนนี้ ความงดงามระหว่างนั่งมองดอกหญ้าไหวไปพร้อมกับสายลมเย็นและพระอาทิตย์กำลังลับขอบฟ้า ช่างเป็นความรู้สึกที่ดีเยี่ยมจริง ๆ
หลายครั้งที่ใครบางคนกล่าวว่า "จะดูไปทำไมพระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตกดินมีอยู่ทุกวัน อยู่ที่ไหนก็เห็นความงาม ไม่ต้องเดินป่าไกล ๆ มาเพื่อสิ่งนี้ก็ได้" ผมเชื่อเช่นนั้นว่า แสงสีของวันมองที่ไหนก็งดงาม หากแต่บางเวลาการได้เปลี่ยนมุมจากที่เคยเห็นบ้าง คงทำให้เราเห็นมิติที่แตกต่างออกไป ซึ่งนั่นอาจมากพอที่จะทำให้เรามองเห็นอะไรบางอย่างในหัวใจก็เป็นได้
พราวพร่างของดวงดาว
ริ้วเมฆบาง ๆ รับแสงสีสุดท้ายของวัน ที่มันเปลี่ยนไปจนเริ่มจางหายไปกับเวลาของยามคืนที่คืบคลาน และมาพร้อมกับความหนาวเย็นของสายลมจากหุบเขาที่พัดขึ้นมา หลังจากผ่านช่วงทไวไลท์ไปไม่นาน เราก็เริ่มมองเห็นดวงดาวที่กำลังระยิบระยับอยู่บนท้องฟ้า ผมตั้งกล้องเล็งไปทางดาวเหนือเพื่อบันทึกภาพการเดินทางของดวงดาวที่จะหมุนเป็นวงกลมรอบดาวดวงนั้น ด้วยการถ่ายแบบใช้ชัตเตอร์ B เป็นเวลานาน ๆ ส่วนกล้องอีกตัวใช้ถ่ายการเคลื่อนไหวของท้องฟ้าในรูปแบบของ Timelapes ซึ่งเป็นการถ่ายภาพนิ่งเป็นจำนวนมากในเวลานาน ๆ แล้วนำมาต่อกันในโปรแกรมที่จะทำให้เราเห็นความเคลื่อนไหวและความแปรเปลี่ยนของสรรพสิ่งที่ค่อย ๆ เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว (สามารถติดตามได้ผ่านอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับออนไลน์)
ขณะกำลังนั่งมองดาวเคลื่อนผ่านไปอย่างช้า ๆ คณะทำงานด้านท่องเที่ยวเชิงนิเวศของ อบต. ท่าสองยางก็ไต่สันดอยขึ้นมาหาพวกเราพร้อมเครื่องดื่มเล็กน้อยและขนมขบเคี้ยว เราพูดคุยจากความสงสัยในการถ่ายภาพไปสู่ประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ รูปแบบการจัดการการท่องเที่ยว รวมถึงแนวทางในอนาคตของผู้นำท้องถิ่น
"การท่องเที่ยวบนม่อนทูเลเพิ่งมีคนเห็นเมื่อไม่นานมานี้เอง ทาง อบต.ท่าสองยางก็อยากให้คนในตำบลมีรายได้เสริมในช่วงนอกฤดูกาลเพาะปลูก ก็เลยจัดการเรื่องท่องเที่ยวกันขึ้น มีนักท่องเที่ยวมา ชาวบ้านก็มีรายได้จากการเป็นลูกหาบ โดยในอนาคตจะมีการจัดการให้ดีขึ้นกว่าปัจจุบันนี้แน่นอน" พี่ดุลย์ ผู้ริเริ่มและบุกเบิกการขึ้นมาเที่ยวบนม่อนทูเลบอกกับพวกเราในช่วงเวลาที่ความหนาวโอบไปทุกตารางนิ้ว
เมื่อได้ภาพแรกจากท้องฟ้าผ่านลงบนไฟล์ในกล้องดิจิทัล ผมขยับมุมเพื่อให้ภาพสมบูรณ์ขึ้นจากภาพแรก ปรับโฟกัสเรียบร้อยก็กดสายลั่นค้างไว้ด้วยชัตเตอร์ B เหมือนเดิม ส่วนทางกล้องที่ใช้เพื่อทำเป็น Timelapes ยังคงมีเสียงชัตเตอร์ต่อเนื่องทุก ๆ 1 นาที เพื่อให้เห็นความเปลี่ยนแปลงบนท้องฟ้า ท่ามกลางเรื่องเล่าต่าง ๆ ทำให้เราได้พบกับรอยยิ้มและมิตรภาพเพิ่มขึ้นทุกนาที
อุณหภูมิลดลงอย่างต่อเนื่องจนค่อนดึก เมื่อถึงเวลาที่กลุ่มดาวนายพรานขยับขึ้นมาอยู่กลางผืนฟ้า เราก็เก็บอุปกรณ์เพื่อลงมานอนยังแคมป์พักริมน้ำ และพอมาถึงคณะพ่อครัวก็อุ่นกับข้าวรอไว้เพียบพร้อม แกงไก่หยวกกล้วยรสกลมกล่อมตามสไตล์ชาวบ้านของแท้ ปลาดุกย่างเกรียมบนถ่านไฟอ่อน ๆ เหลืองกรอบน่ากิน ข้าวสวยร้อน ๆ หุงนิ่มกำลังดีในช่วงดึกและหิวเช่นนี้ เป็นมื้อที่วิเศษเหลือเกิน
หลังมื้อดึกผ่านไป อากาศหนาวเย็นอย่างมากเมื่อตอนผมซุกตัวเข้าไปยังถุงนอนบนเปลคู่ชีพที่ไปกันมาหลายสิบดอย กองไฟจากไม้แห้งกำลังมอดลง ความอบอุ่นที่เคยมีรอบ ๆ ตัวเริ่มหายไป ถุงนอนยังคงทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี และคืนนี้เราหลับไปพร้อมแสงดาวที่ยังคงพราวพร่าง
สายหมอกจางหายในเช้าวันหนาว
อากาศหนาวเหน็บของช่วงเวลาก่อนพระอาทิตย์ขึ้นช่างหนักหน่วงเหลือเกิน ไม่มีใครอยากลุกออกมาจากถุงนอน ทว่ามีเสียงที่ไม่ได้ยินร้องเรียกจนเราไม่อาจต้านทาน นั่นคือความงามแห่งอรุณรุ่งที่จะปลุกทุกสำเนียงไพรให้ตื่นขึ้น รวมทั้งปลุกหัวใจของเราให้ได้รับเอาความงามแรกของวันด้วยเช่นกัน
ทางเดินชันดิกในทุ่งหญ้าสีทองถูกน้ำค้างเกาะพราว เสียงลมหายใจดังออกมาอย่างหนักกับปลายทางที่สั้นลง แสงไฟฉายยังคงมุ่งหน้าสู่ปลายเนิน เราหวังจะก้าวไปให้ถึงก่อนแสงแรกแห่งวันจะทอประกาย ราว 30 นาที บนความเหนื่อยอ่อน ก็มาถึงยอดสูงสุดแห่งดอยทูเล มีป้ายลำลองเล็ก ๆ ปักบอกระดับความสูงเอาไว้ที่ 1,330 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง เมื่อมองลงไปในหุบเขา มีทะเลหมอกบาง ๆ เบื้องล่างที่รับกับทิวเขาหินปูน
"วันนี้หมอกไม่เยอะเท่าไหร่" ใครบางคนกล่าวขึ้นเบา ๆ คล้ายรำพึงกับตัวเอง ขณะที่เรากำลังกดซัตเตอร์แสงแรกของวัน เป็นธรรมดาของธรรมชาติที่สลับสับเปลี่ยนให้เราได้ชื่นชมความงามต่าง ๆ กันออกไป บางวันเต็มไปด้วยทะเลหมอกแน่นในหุบเขา บางคราวก็หนาวยะเยือก ทว่ามีทะเลหมอกเพียงเล็กน้อยเหนือสายน้ำในหุบเขา แต่บางหนก็มีเพียงสายหมอกจาง ๆ หรือไอฝนพร่าง เราไม่อาจเลือกว่าต้องการเห็นสิ่งใด แต่เชื่อเถิดว่าหากเปิดตา เปิดใจ ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ธรรมชาติก็งดงามมากมายอย่างยิ่งอยู่แล้ว
แสงเช้าของวันเริ่มสาดสีสลับแสงเปลี่ยนไปในทุกห้วงยาม อากาศเริ่มอุ่นขึ้นตามลำดับ เราเดินลงมาจากยอดสูงสุดของทิวดอย หลังจากเวลาบนหน้าปัดนาฬิกาบอกว่าแปดโมงเช้าแล้ว ขบวนการรับแสงแรกของตะวันก็เดินลงมาตามทางดิน แต่รู้สึกว่าหนทางช่างลื่นและชันเหลือเกิน ทั้ง ๆ ที่เป็นทางเมื่อเช้ามืดนั่นแหละ ความชื้นของน้ำค้างบนผืนดินยังไม่หมาด เพราะถึงตอนนี้ด้านตะวันตกของภูเขายังเป็นเงาแดดอยู่นั่นเอง
ที่แคมป์พักในหุบเขายังคงโอบหนาวไว้อย่างยาวนาน เราดื่มกาแฟอุ่น ๆ ริมกองไฟก่อนจะกินข้าวต้มหม้อโตที่หอมกระเทียมเจียว รสชาติกลมกล่อม อร่อยไปหลายถ้วยเลยทีเดียว เพราะต้องเตรียมพลังไว้สำรวจผืนป่าดิบในช่วงสายของวันนี้ เรานั่งกันพอแดดส่องลงมาถึง จึงได้เวลาช่วงศึกษาความงามของผืนป่าแห่งนี้
สายหมอก น้ำเหมย เริ่มระเหยไปจากทุกหย่อมหญ้าเมื่อความอุ่นมาไล่หนาว การเข้าไปยังเส้นทางป่าอันอุดมสมบูรณ์ของที่นี่นับได้ว่ายิ่งใหญ่และสวยงามอย่างยิ่ง มีรอยเท้าสัตว์มากมายให้เราได้สังเกต รวมทั้งดอกไม้ กล้วยไม้หลายชนิดที่ดูแปลกตา ซึ่งแม้เราจะมีเวลาสำรวจเยอะกว่านี้ แต่เชื่อว่าคงไม่เพียงพอต่อการสำรวจขั้นละเอียดอย่างแน่นอน...
ม่อนคลุย ดอยหนาวในคืนอบอุ่น
สองวันบนดอยทูเลผ่านไปอย่างรวดเร็ว ความงดงามของผืนป่าดิบเขาและทุ่งหญ้าสีทองยังคงงามประดับใจไม่รู้ลืม จากยอดดอยเราเดินตัดลงสู่พื้นราบอีกครั้งเพื่อไปยังแหล่งพักผ่อนแบบสบาย ๆ ใกล้ชิดธรรมชาติบนดอยม่อนคลุย หลังจากพักผ่อนสบาย ๆ และชาร์จแบตเตอรี่ให้กล้องกันราว 2 ชั่วโมง พวกเราก็พร้อมออกเดินทางอีกครั้งกับรถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อที่จะพาเรามุ่งหน้าสู่สันดอยแห่งนั้น
จาก อบต. ท่าสองยางไปราว ๆ 20 กิโลเมตร มีทางเลี้ยวขวาขึ้นไปตามถนนลูกรังอัดแน่นอีก 7 กิโลเมตร ก็จะถึงจุดพักแรมคืน ซึ่งมีการสร้างศาลาและห้องน้ำอย่างดีไว้อำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว และเพียงไม่นานกับการจัดการเรื่องแคมป์พัก เราก็เดินชมทิวทัศน์และถ่ายภาพกันอย่างสบายใจ
สำหรับ ดอยม่อนคลุย เป็นภาษาปกากะญอ หมายถึงเนินที่มีต้นหญ้าเล็ก ๆ ซึ่งก็ตรงตัวตามสภาพที่มองเห็นเลยทีเดียวครับ เพราะบนดอยที่เรายืนอยู่ในยามนี้มีเพียงหญ้าเล็กสีเหลืองทองขึ้นปกคลุมอยู่ทั่วไป ต้นไม้ที่มีบ้างก็ไม่ใหญ่นัก จากลักษณะบริเวณนี้คงมีลมแรงอย่างแน่นอน เพราะต้นไม้ที่ยืนต้นอยู่ได้ ลำต้นไม่โตนัก และกิ่งก้านก็บิดไปตามแรงลม ทำให้มีแต่หญ้าเท่านั้นที่ยังคงยืนหยัด เรายืนมองพระอาทิตย์ลับเหลี่ยมเขาพร้อมด้วยทีมงานกำลังจัดเตรียมมื้อค่ำสุดแสนพิเศษ
แสงสุดท้ายของวันกำลังหมดไปจากผืนฟ้า จากนั้นรอยต่อระหว่างกลางวันและกลางคืนก็ได้เริ่มต้นขึ้น เป็นสีน้ำเงินทไวไลท์ที่กำลังเข้ามาทดแทนแสงของเวลาวันปลายฟ้า หมู่ดาวเริ่มพราวกันขึ้นมาแล้ว เรายืนมองความเปลี่ยนแปลงของเวลาด้วยความสบายใจ เพราะแม้ทุกสิ่งจะผ่านไปแล้ว แต่ความงามของธรรมชาติยังคงประทับอยู่ในความรู้สึกของเราอีกแสนนาน
อากาศเย็นลงอย่างรวดเร็วเมื่อความมืดเข้าปากคลุม กองไฟถูกจุดขึ้นเพื่อให้ความอบอุ่น เปลวไฟสีเหลืองทองเต้นระริกไหวในสายลมหนาว เรากินข้าวริมกองไฟด้วยความอร่อย แถมมีของปิ้งย่างมาให้ได้กินเล่นหลังมื้อหนักอีกด้วย เครื่องดื่มรสหนักช่วยให้เรื่องเล่าจากไพรพฤกษ์น่าสนใจขึ้น ความหมายของการทำงานท่องเที่ยวของกลุ่มคนเล็ก ๆ ในองค์การบริหารส่วนตำบลไกลปีนเที่ยงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะบางทีการทำให้คนเห็นความสำคัญและมาเที่ยว อาจจะยากกว่าทำให้ชาวบ้านเข้าใจว่าทำเรื่องนี้เพราะอะไร การสร้างรายได้เสริม การเพิ่มอาชีพ และอนุรักษ์ธรรมชาตินั้นเป็นสิ่งที่ไม่ง่าย เราทำได้เพียงให้กำลังใจกับคนทำงานเล็ก ๆ กลุ่มนี้ และได้แต่หวังใจว่าอนาคตของที่นี่จะมั่นคง และงดงามตามแนวทางของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ แบบไร้เรื่องราวของผลประโยชน์จากภาคเอกชนเข้ามากอบโกย จนทำให้ระบบความเชื่อใจในหนทางของการรักษาสมดุลทางธรรมชาติต้องหมดไป
กองไฟมอดลงบ้างตามเวลาที่ผ่านไป ค่อนดึกเรายังคงบันทึกภาพดาวบนฟากฟ้า และนอนมองดูอย่างเป็นสุข ฉากหน้าจากต้นไม้แห้ง ๆ กับดาวที่พราวไปทั้งฟ้า มีเทือกเขาดอยทูเลเป็นฉากหลัง เราเก็บกล้องหลังจากนาฬิกาบอกเวลาเที่ยงคืนผ่านไปไม่นานนาที
หมอกห่มป่าเหนือผืนน้ำเงา
ก่อนที่แสงแรกของวันจะยกที่ตีนฟ้าทางตะวันออก พี่ดุลย์และดอยก็พาเราออกไปยังจุดชมพระอาทิตย์ขึ้น อากาศวันนี้ไม่หนาวมากขนาดบนยอดดอยทูเล แต่ก็ไม่น้อยเลยสำหรับตอนนี้ รถโฟร์วีลไดร์ฟโขยกไปอย่างช้า ๆ บนเส้นทางที่ขรุขระและลาดชัน เพียงไม่นานนักก็ถึงจุดที่ต้องเดินเท้า ซึ่งแค่อึดใจเดียวเราก็มายืนอยู่ในบริเวณที่ต้องการ กับเนินโล่ง ๆ มองเห็นไปไกลสุดสายตา ภาพแรกที่เห็นตรงหน้าคือทะเลหมอกแน่นอยู่ในหุบเขาเบื้องล่าง นิ่งขาวคล้ายเป็นปุยนุ่นที่ใครไปวางไว้
หลังจากยืนมองอย่างเต็มอารมณ์ ผมก็ค่อย ๆ กางขาตั้งกล้องและบันทึกภาพแรกของเช้าตรู่วันนี้ ในเวลาที่แสงแรกเริ่มฉายสู่ผืนฟ้า ริ้วเมฆที่กลิ่นอยู่กับรัตติกาลก็พลันตื่นขึ้นด้วยแสงชมพู ก่อนเปลี่ยนเฉดสีไปทุกช่วงนาที และไม่นานเช่นกันที่เราสามารถเก็บแสงแห่งความงามเหล่านี้ไว้ได้ ทีมช่างภาพไม่พลาดกับช็อตงามเช่นนี้ เรียกว่าขนอุปกรณ์กันมาเต็มที่ กราดูเอท (Graduated neutral density fiter) เพื่อให้ความเปรียบต่างของแสงบนท้องฟ้าและในหุบเขาใกล้เคียงกัน เลนส์ทุกช่วงตั้งแต่ไวด์จนถึงซูเปอร์เทเล เพื่อหวังเก็บความประทับใจจากธรรมชาติมาฝากท่านผู้อ่านอย่างเต็มกำลังความสามารถ
จากสีชมพูหวาน ๆ ก็เริ่มเปลี่ยนเป็นสีโทนอุ่นขึ้นจนออกโทนชมพูอมส้ม และไล่ไปจนถึงค่อนไปทางแดง ก่อนจะจางลงให้สีฟ้าและน้ำเงินของกลางวันเข้ามาแทนที่ ทะเลหมอกในหุบเบื้องล่างเริ่มไหลไปยังที่ซึ่งอบอุ่นกว่า หลังจากนิ่งสนิทมาตลอดคืนหนาว สีขาวคล้ายจะเป็นทะเลน้ำนมกำลังฟูนุ่มขึ้นมาจากหุบลึกเบื้องล่าง
"ในหุบข้างหน้าที่เราเห็นทะเลหมอกเป็นแม่น้ำเงา ซึ่งมีต้นกำเนิดของสายน้ำอยู่ในเขตภูเขาสลับซับซ้อนทางด้านแม่เงาและท่าสองยาง ช่วงแล้งสวยมากนะแม่น้ำเส้นนี้ เพราะใสเหมือนกระจกเลย ด้านบนมีน้ำตกโอโละโกร และมีดอยปุยหลวง หากมีเวลาลองไปเดินดูสิ สวยมากนะ" พี่ดุล ให้ข้อมูลกับเราอย่างละเอียด ซึ่งแน่นอนว่าหากมีโอกาสให้ผมได้ไปที่นั่น เพื่อมองดอยทูเลและดอยม่อนคลุยจากอีกด้านของสายน้ำบ้าง อาจจะทำให้เราเห็นอะไรต่างออกไปจากสิ่งที่ตาเห็นก็เป็นได้
เราเดินหันหลังกลับมาที่รถเมื่อแสงสีเหลืองทองฉาบไปทั้งสันเขา ความอิ่มเอมใจพาให้หัวสมองเล่นไปไกลยังสายน้ำเงา ก่อนจะกลับมายังเทือกดอยแห่งนี้เมื่อล้อรถคันเก่งตกลงไปในร่องน้ำ เสียงนกร้องในหุบเขาไกล ๆ ดังก้องขึ้นมาพร้อมสายลมเย็นสบาย บนผืนฟ้าเมฆปุยก้อนงามเคลื่อนที่ไปทั้งฟ้า ความหมายของสายลม ดอกหญ้า ผืนป่า แมลง หรือเหล่าดวงดาวนั้น เป็นความงามเกินบรรยาย เราทำได้ดีหรืออย่างมากที่สุดเพียงแค่ซึมซับความประทับใจเหล่านั้นเอาไว้ให้เต็มความรู้สึก เพราะอีกไม่นานนี้เราคงต้องล่ำลาความงามของที่นี่กันแล้ว แต่เชื่อเถอะว่ามิตรภาพและไมตรีของคนเดินทางไม่เคยร้างราไป แม้จะห่างไกลแค่ไหนก็ตาม อย่างน้อยบนผืนฟ้ายามค่ำคืนและดวงดาวเหล่านั้น จะทำให้เราได้เจอกันเสมอและตลอดไป...
บทส่งท้ายจากต้นหญ้าถึงดวงดาว
บนหนทางเดินของเรา จากผืนป่าแล้งร้อนจนถึงทุ่งหญ้าสีทองและดอยหนาว กับดวงดาวที่พราวฟ้าระยิบ เป็นสิ่งที่คนเดินทางด้วยเท้าไปบนหนทางแห่งตนได้รับรู้ถึงความยากลำบาก การต่อสู้กับหัวใจของตัวเอง การได้ก้าวย่างไปบนเส้นทางที่อยากจะถอยหลังกลับ บางคราวสมอง หัวใจ และร่างกาย มักต้องการทำอะไรที่ไม่สอดคล้องกัน ทว่าหากเรามีความมุ่งมั่นมากพอ ก็จะเป็นสิ่งที่หลอมรวมทุกอย่างไว้ด้วยกันเพื่อไปยังเป้าหมาย และการได้เข้ามาสัมผัสธรรมชาตินั้น เราบอกได้ว่ามีสิ่งดีงาม และมีอะไรมากมายรอท่านอยู่ ขอจงออกเดินทางเถอะครับ รับรองว่าทุกชั่วโมงมีสิ่งที่ทำให้เราต้องแปลกใจได้เสมอ แค่เปิดใจให้กว้าง แล้วรับสิ่งเหล่านั้นเข้ามาในหัวใจ
จังหวะของธรรมชาติเปลี่ยนไปตามเงื่อนไขแห่งเวลา ขยับหมุนเวียนไปตามช่วงฤดูกาล จากแล้งร้อนสู่ฝนฉ่ำและหนาวเหน็บ ความงดงามของผืนป่าเป็นเรื่องราวที่เรียงร้อยกันขึ้นมา จากผืนดิน สายน้ำ ต้นไม้ สายลม แสงแดด รวมถึงสรรพชีวิตที่เกื้อหนุน เราเฝ้าเวียนบันทึกสิ่งต่าง ๆ บนแผ่นดินนี้จากเหนือสุดถึงใต้สุด จากตะวันออกสุดตะวันตก ความหมายของธรรมชาติอาจจะเป็นสิ่งที่เราไม่เข้าใจ แต่บางลมหายใจเราสัมผัสได้...
คู่มือนักเดินทาง
การเดินทาง : จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) จากนั้นต่อด้วย ทางหลวงหมายเลข 72 (เอเชีย) ผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท นครสวรรค์ จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 1 ผ่านจังหวัดกำแพงเพชร ตาก ก่อนถึงตัวเมืองตากมีทางเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 105 (แม่สอด-แม่สะเรียง) ผ่านอำเภอแม่สอด แม่ระมาด จนถึงอำเภอท่าสองยาง ขับตรงต่อไปอีกประมาณ 60 กิโลเมตร เพื่อไปยัง อบต. ท่าสองยาง
สอบถามเพิ่มเติม : สอบถามอัตราค่าบริการลูกหาบและรถรับจ้างได้ที่ องค์การบริหารส่วนตำบล ท่าสองยาง เลขที่ 127 หมู่ที่ 1 ถนนนิรันดรเกียรติ ตำบลท่าสองยาง อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก 63150 โทรศัพท์ , โทรสาร แต่ละทริปรับนักท่องเที่ยวได้ไม่เกิน 50 คน
ปีที่ 53 ฉบับที่ 2 กันยายน 2555
อนิตา ศรัทธาไทร...เรื่อง
พงษ์ระวี แสงแข, สุทธา สถาปิตานนท์ และจันทร์เพ็ญ บุญวิการัตน์...ภาพ
Credit : กระปุกดอทคอม
Post a Comment