แฮร์รี่ พอตเตอร์(Harry Potter)
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
- บทความนี้เกี่ยวกับชุดหนังสือ สำหรับตัวละคร ดูที่ แฮร์รี่ พอตเตอร์ (ตัวละคร)
แฮร์รี่ พอตเตอร์ | |
หนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์ฉบับอเมริกาทั้ง7เล่ม | |
ผู้ประพันธ์ | เจ. เค. โรว์ลิ่ง |
---|---|
ชื่อต้นฉบับ | Harry Potter |
ผู้แปล | สุมาลี บำรุงสุข วลีพร หวังซื่อกุล งามพรรณ เวชชาชีวะ |
ประเทศ | อังกฤษ |
ภาษา | อังกฤษ |
ชุด | แฮร์รี่ พอตเตอร์ |
ประเภท | นวนิยายแฟนตาซี |
ผู้เผยแพร่ | สำนักพิมพ์บลูมสบิวรี สำนักพิมพ์สกอลาสติก สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ |
วันเผยแพร่ | พ.ศ. 2540 - พ.ศ. 2550 |
ชนิดสื่อ | สิ่งตีพิมพ์ |
แฮร์รี่ พอตเตอร์ คือชุดนวนิยายแฟนตาซี ประพันธ์โดย เจ. เค. โรว์ลิ่ง ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับเด็กชายพ่อมดชื่อว่า แฮร์รี่ พอตเตอร์หนังสือในชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์มีจำนวนเจ็ดเล่ม โดยหนังสือเล่มแรกในชุด แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ วางจำหน่ายในฉบับภาษาอังกฤษเมื่อปี พ.ศ. 2540 และฉบับภาษาไทยในปี พ.ศ. 2543 ส่วนเล่มที่เจ็ด ซึ่งเป็นเล่มสุดท้ายของชุด มีชื่อว่า แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต ฉบับภาษาอังกฤษออกวางจำหน่ายทั่วโลกในวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 โดยสำนักพิมพ์บลูมส์บิวรี่ รับผิดชอบพิมพ์จำหน่ายในสหราชอาณาจักร และสำนักพิมพ์สกอลาสติกในสหรัฐอเมริกา ส่วนฉบับภาษาไทยออกวางจำหน่ายในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2550 โดยสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์[1]
โครงเรื่องหลักของนวนิยายชุดนี้เกี่ยวข้องกับการต่อสู้ของแฮร์รี่ พอตเตอร์ เด็กชายผู้เป็นพ่อมดตัวน้อย กับพ่อมดร้ายลอร์ดโวลเดอมอร์ ผู้สังหารบิดามารดาของแฮร์รี่ และวางฉากหลักอยู่ที่ โรงเรียนคาถาพ่อมดแม่มดและเวทมนตร์ศาสตร์ฮอกวอตส์ หัวใจสำคัญของเรื่องคือการเปลี่ยนผ่านของวัยของตัวละครเอก แฮร์รี่ พอตเตอร์ และเพื่อนสนิท เฮอร์ไมโอนี่ เกรนเจอร์และรอน วีสลีย์ โดยเรื่องราวส่วนใหญ่จะเป็นมุมมองของเขาและสิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากเพื่อน อาจารย์ หรือประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต
หนังสือประสบความสำเร็จอย่างสูงนับแต่เล่มแรกออกวางจำหน่าย นับถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2551 หนังสือชุด แฮร์รี่ พอตเตอร์ ได้รับการตีพิมพ์ทั่วโลกรวมแล้วมากกว่า 400 ล้านเล่ม และมีการแปลไปเป็นภาษาต่าง ๆ 67 ภาษา[2][3] หนังสือเล่มสุดท้ายของชุดยังได้ทำสถิติหนังสือที่จำหน่ายออกหมดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์[4]
หนังสือทั้งเจ็ดเล่มได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์โดยวอร์เนอร์บราเธอร์ส ซึ่งมีทั้งหมดแปดภาคด้วยกันเนื่องจากในภาคสุดท้าย ผู้สร้างได้แบ่งออกเป็นสองตอน การถ่ายทำแฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต ตอนที่ 2 ได้สิ้นสุดลงในวันที่12 มิถุนายน พ.ศ. 2553[5] และมีกำหนดฉายในวันที่14 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 นับเป็นเวลากว่า 10 ปีที่ภาพยนตร์ชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ได้มีการถ่ายทำและออกฉายจนครบทุกภาค นอกจากนี้ ยังมีการนำไปสร้างเป็นวิดีโอเกมและสินค้าอื่น ๆ อีกมากมาย
เนื้อหา[ซ่อน] |
[แก้]จักรวาลของเรื่อง
โลกในนิยายเรื่อง แฮร์รี่ พอตเตอร์นั้น เป็นโลกของพวกพ่อมดและแม่มดที่อยู่ร่วมกันกับโลกของมนุษย์เรานี้ในลักษณะคู่ขนาน ในเรื่องจะเรียกพวกมนุษย์ทั่วไปว่า มักเกิ้ล หรือมนุษย์ผู้ไร้เวทมนตร์ โลกพ่อมดจะมีอาณาเขตที่เชื่อมต่อกับโลกของมักเกิ้ลโดยมีสิ่งต่างๆ เช่นกำแพง เป็นสิ่งที่กั้นขอบเขตระหว่างทั้งสองโลก พ่อมดสามารถไปมาหาสู่กันได้โดยการผ่านกำแพงกั้นระหว่างโลกมักเกิ้ลกับโลกพ่อมด เช่นการผ่านแผงกั้นชานชาลาที่เก้าเศษสามส่วนสี่ พวกมักเกิ้ลจะไม่สามารถเห็นแผงกั้นระหว่างทั้งสองโลกได้ หรืออาจจะเห็นแต่ก็จะเห็นเป็นกำแพงหรือสิ่งของธรรมดาเท่านั้น มักเกิ้ลไม่มีทางเข้าสู่โลกพ่อมดได้แม้ว่าวิธีใด ๆ ก็ตาม แต่ก็มีข้อยกเว้นกับมักเกิ้ลบางคนที่มีพลังเวทมนตร์เช่น เฮอร์ไมโอนี่ เป็นต้น แต่สถานที่บางแห่งก็ไม่มีเขตกั้นระหว่างทั้งสองโลก พวกมักเกิ้ลสามารถเดินเข้าไปในโลกของพ่อมดได้ ทำให้บ่อยครั้งที่มีผู้พบเห็นพวกสัตว์วิเศษที่อาศัยอยู่ตามสถานที่ที่ไม่มีเขตกั้น
พวกพ่อมดแม่มดนอกจากจะมีโลกที่เป็นของตัวเองแล้ว ยังมีสถานที่ที่แอบซ่อนไว้ตามที่ต่าง ๆ ของโลกมักเกิ้ลอีกด้วย มีทั้งซ่อนไว้ใต้ดิน แต่ละที่มีเพียงพ่อมดแม่มดเท่านั้นที่จะมองเห็นและเข้าไปตามสถานที่ต่าง ๆ ได้ แต่กระทรวงเวทมนตร์เป็นข้อยกเว้นเนื่องจากมักเกิ้ลมักพบเห็นพ่อมดเสกเวทมนตร์คาถาอยู่บ่อย ๆ จึงต้องพาตัวมักเกิ้ลมาที่กระทรวงเพื่อลบความทรงจำเกี่ยวกับเรื่องโลกเวทมนตร์เพื่อไม่ให้ความลับเรื่องโลกเวทมนตร์ถูกเปิดเผย
นอกจากนั้นพวกพ่อมดแม่มดยังใช้สถานที่ของมักเกิ้ลเป็นที่จัดการแข่งขันกีฬาควิดดิชอีกด้วย กีฬาประเภทนี้มักจัดตามที่ราบต่าง ๆ หรือตามป่าที่ไม่มีมักเกิ้ลอาศัยอยู่ แต่ถึงกระนั้นพวกพ่อมดก็ไม่อาจวางใจได้ พวกเขาต้องตั้งแนวป้องกันด้วยคาถาต่าง ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้พวกมักเกิ้ลที่บังเอิญหลงทางมาพบเห็นเข้า นอกจากนั้นพวกพ่อมดยังมีคาถาที่ทำให้มักเกิ้ลที่เข้ามาใกล้เปลี่ยนใจเดินออกไปให้ไกลได้อีกด้วย
การป้องกันมักเกิ้ลถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากต่อพวกพ่อมดแม่มด เพราะหากมีมักเกิ้ลพบเห็นว่าพวกเขาเสกเวทมนตร์ ความลับเรื่องเวทมนตร์ที่พวกเขาปกปิดก็อาจจะถูกเปิดเผย ฉะนั้นจึงต้องมีพ่อมดที่คอยป้องกันมักเกิ้ลไว้เสมอ นอกจากจะมีการป้องกันมักเกิ้ลไม่ให้พบพวกพ่อมดเสกเวทมนตร์แล้ว พวกพ่อมดยังต้องป้องกันไม่ให้มักเกิ้ลพบเห็นสัตว์วิเศษ เช่น มังกร ยูนิคอร์น เอลฟ์ โทรลล์ เพราะสัตว์บางพวกอาจทำร้ายมักเกิ้ลได้
[แก้]ลำดับเวลา
เหตุการณ์ต่างๆ ในหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์ไม่มีการระบุถึงปีตามปฏิทินจริงมากนัก อย่างไรก็ตามมีการอ้างอิงถึงปีจริงบางส่วนในเนื้อเรื่อง ซึ่งทำให้สามารถวางเรื่องราวของแฮร์รี่ พอตเตอร์ตามปีปฏิทินจริงได้ ซึ่งต่อมาข้อมูลได้รับการยืนยันจากการยอมรับของผู้แต่ง ลำดับเวลาซึ่งนำเสนอในดีวีดีภาพยนตร์ และแผนผังตระกูลแบล็กซึ่งผู้แต่งได้นำออกประมูลการกุศล
ลำดับเวลาที่ยอมรับกันทั่วไปคือ แฮร์รี่ พอตเตอร์นั้นเกิดในปี พ.ศ. 2523 และเรื่องราวในหนังสือเล่มแรกเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2534 เหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ลำดับเวลาได้อยู่ในเรื่องแฮร์รี่ พอตเตอร์กับห้องแห่งความลับ บทที่ 8 ซึ่งแฮร์รี่ ได้เข้าร่วม"งานเลี้ยงวันตาย ปีที่ห้าร้อย" ของตัวละครนิกหัวเกือบขาด และมีการระบุปีบนเค้กวันตายว่า "ตายวันที่ 31 ตุลาคม ค.ศ. 1492" (พ.ศ. 2035) ซึ่งแปลว่าเรื่องราวนี้เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2535[6]
[แก้]โครงเรื่อง
แฮร์รี่ พอตเตอร์เป็นเรื่องราวของเด็กกำพร้าซึ่งรู้ตัวว่าเขาเป็นพ่อมด เขาได้รับเชิญให้เข้าเรียนที่โรงเรียนคาถาพ่อมดแม่มดและเวทมนตร์ศาสตร์ฮอกวอตส์ ซึ่งวรรณกรรมแฮร์รี่ พอตเตอร์แต่ละเล่มแสดงถึงช่วงเวลาหนึ่งปีในชีวิตของแฮร์รี่ พอตเตอร์ตั้งแต่อายุสิบเอ็ดปีเป็นต้นมา ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่โรงเรียนฮอกวอตส์
[แก้]การเข้าสู่โลกแห่งเวทมนตร์คาถา
ในตอน แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นด้วยการเฉลิมฉลองของโลกเวทมนตร์ จากการหายตัวไปของลอร์ดโวลเดอมอร์ พ่อมดที่สร้างความหวาดกลัวต่อโลกเวทมนตร์มาเป็นเวลานาน โดยโวลเดอมอร์ได้บุกไปที่บ้านของครอบครัวพอตเตอร์ และฆ่าพ่อแม่ของแฮร์รี่ แต่กลับล้มเหลวและหายตัวไปหลังจากพยายามฆ่าแฮร์รี่ ซึ่งเป็นเพียงเด็กชายวัยหนึ่งปี หลังจากนั้น อัลบัส ดัมเบิลดอร์ได้ส่งแฮร์รี่ไปฝากไว้กับครอบครัวเดอร์สลีย์ ซึ่งเป็นญาติทางฝ่ายแม่ ครอบครัวเดอร์สลีย์เป็น "มักเกิ้ล" หรือมนุษย์ที่ไร้พลังเวทมนตร์
แฮร์รี่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างไม่ดีนักในครอบครัวเดอร์สลีย์ และถูกตัดขาดจากโลกเวทมนตร์ อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ประหลาดหลายครั้งที่เกิดขึ้นในชีวิตวัยเด็กของแฮร์รี่จากพลังเวทมนตร์ภายในตัว แฮร์รี่ได้รับการติดต่อจากโลกเวทมนตร์ครั้งแรกก่อนวันเกิดปีที่สิบเอ็ดโดยจดหมายจากโรงเรียนคาถาพ่อมดแม่มดและเวทมนตร์ศาสตร์ฮอกวอตส์ แต่แฮร์รี่ไม่มีโอกาสได้อ่าน จนกระทั่งวันเกิดปีที่สิบเอ็ด แฮร์รี่จึงได้รับรู้ความจริงเกี่ยวกับโลกพ่อมดจาก รูเบอัส แฮกริด และได้เข้าเรียนที่โรงเรียนฮอกวอตส์ ที่นั่น แฮร์รี่พบกับเพื่อนสนิทสองคน คือ รอน วีสลีย์และเฮอร์ไมโอนี เกรนเจอร์ และภายในปีแรกที่ฮอกวอตส์นั้นเองที่เขาเผชิญหน้ากับโวลเดอมอร์เป็นครั้งที่สอง และขัดขวางการกลับคืนสู่อำนาจของเขาโดยการแย่งชิงศิลาอาถรรพ์
ในตอน แฮร์รี่ พอตเตอร์กับห้องแห่งความลับ แฮร์รี่และเพื่อน ๆ ได้เข้าไปพัวพันกับความลึกลับของโรงเรียนที่มีอายุกว่า 50 ปี ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในโรงเรียน โดยเรื่องราวได้เจาะลึกถึงประวัติศาสตร์ของฮอกวอตส์ และตำนานของ "ห้องแห่งความลับ" ซึ่งเป็นที่ซ่อนความชั่วร้ายที่ฝังอยู่ใต้ดิน แฮร์รี่ยังได้พบว่าตัวเองเป็นพาร์เซลเมาท์ ผู้มีความสามารถในการสื่อสารกับงู และแฮร์รี่ยังสามารถช่วยชีวิตของ จินนี่ วีสลีย์ จากความพยายามครอบงำจิตใจของโวลเดอมอร์ผ่านทางบันทึกของเขาเมื่อห้าสิบปีก่อน
ในตอน แฮร์รี่ พอตเตอร์กับนักโทษแห่งอัซคาบัน แฮร์รี่จำเป็นต้องรับรู้ถึงทัศนคติของตนที่มีต่อ ซิเรียส แบล็ก ซึ่งทั่วโลกผู้วิเศษรับรู้แต่เพียงว่าเขาเป็นฆาตกรผู้หลบหนีออกจากคุกอัซคาบัน และมีส่วนร่วมในการสังหารพ่อแม่ของแฮร์รี่ เมื่ออยู่ที่โรงเรียน แฮร์รี่ต้องทนทรมานกับผู้คุมวิญญาณ รีมัส ลูปิน จึงสอนคาถาผู้พิทักษ์ให้แก่เขา แฮร์รี่ยังได้ค้นพบอีกว่าลูปินกับแบล็กเป็นเพื่อนสนิทกับพ่อของเขา ผู้ซึ่งมีส่วนในการทำ "แผนที่ตัวกวน" กับเพื่อนคนที่สี่ ปีเตอร์ เพ็ตติกรูว์ ซึ่งแฮร์รี่ทราบภายหลังว่าเขาเองที่เป็นคนทรยศพ่อกับแม่ของเขา
[แก้]การคืนชีพของลอร์ดโวลเดอมอร์
ในตอน แฮร์รี่ พอตเตอร์กับถ้วยอัคนี แฮร์รี่ พอตเตอร์ไม่คาดฝันมาก่อนว่าตนจะต้องเข้าร่วมแข่งขันการประลองเวทไตรภาคีที่แสนอันตราย แฮร์รี่อยู่ท่ามกลางปริศนาที่ว่าใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการส่งเขามาเข้าร่วมการประลองและสาเหตุที่ทำเช่นนั้น แฮร์รี่ได้รับความช่วยเหลือจากศาสตราจารย์อลาสเตอร์ มู้ดดี้ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ก่อนที่ลอร์ดโวลเดอมอร์กลับฟื้นคืนชีพอีกครั้งและจบลงด้วยการตายของนักเรียนฮอกวอตส์คนหนึ่ง
ในตอน แฮร์รี่ พอตเตอร์กับภาคีนกฟีนิกซ์ แฮร์รี่ต้องเผชิญกับความจริงที่ว่าลอร์ดโวลเดอมอร์กลับมาแล้ว อัลบัส ดัมเบิลดอร์ได้เรียกภาคีนกฟีนิกซ์กลับมาอีกครั้ง แต่กระทรวงเวทมนตร์และโลกผู้วิเศษต่างก็ปฏิเสธข่าวการกลับมาของลอร์ดโวลเดอมอร์ กระทรวงได้ส่งโดโลเรส อัมบริดจ์เพื่อเข้าแทรกแซงการศึกษาของฮอกวอตส์ โดยทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้นักเรียนฝึกเพื่อการต่อสู้กับศาสตร์มืด แฮร์รี่จึงก่อตั้งกลุ่มนักเรียนลับขึ้นมาเพื่อฝึกฝนกันเอง นอกจากนั้น เขายังได้ค้นพบอีกว่ามีความเกี่ยวพันระหว่างเขากับโวลเดอมอร์ทางจิตใจ ทำให้แฮร์รี่คิดว่าเขาถูกครอบงำโดยโวลเดอมอร์ และจากความเกี่ยวพันนี้เองที่นำไปสู่การต่อสู้ในกองปริศนา ผู้เสพความตายหลายคนถูกจับกุมได้ไม่นานหลังจากนั้น
ในตอน แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเจ้าชายเลือดผสม โวลเดอมอร์ตั้งใจจะก่อสงครามพ่อมดอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งชัดเจนมากจนกระทั่งแม้แต่มักเกิ้ลก็สังเกตเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตน ทำให้แฮร์รี่ต้องได้รับการคุ้มกันจากภยันตรายภายนอก ที่โรงเรียน แฮร์รี่พบว่าตนเองโดดเด่นขึ้นมาในวิชาปรุงยาเพราะหนังสือเรียนวิชาปรุงยาของใครคนหนึ่งซึ่งเรียกตัวเองว่า "เจ้าชายเลือดผสม" และในหนังสือเรียนนั้นเองที่แฮร์รี่เดือดร้อนจากศาสตร์มืด แฮร์รี่ยังได้เข้าเรียนเป็นการส่วนตัวกับดัมเบิลดอร์ ซึ่งทำให้เขาเรียนรู้ชีวิตของโวลเดอมอร์ และพบว่าเขาได้ทำฮอร์ครักซ์ของตนไว้ เขาจึงใกล้เคียงกับสภาพอมตะของมนุษย์ ซึ่งซุกซ่อนอยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ
ในตอน แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต หลังจากดัมเบิลดอร์ตายแล้วนั้น โวลเดอมอร์ก้าวขึ้นสู่อำนาจและสามารถยึดกระทรวงเวทมนตร์ได้สำเร็จ แฮร์รี่ รอนและเฮอร์ไมโอนีซึ่งได้ตัดสินใจไม่เรียนฮอกวอตส์จนจบปีสุดท้าย แล้วออกตามหาฮอร์ครักซ์ของโวลเดอมอร์ที่เหลืออยู่ และเพื่อปกป้องครอบครัวและเพื่อนฝูง พวกเขาจึงกระทำกันเองโดยลำพัง เมื่อการค้นหาดำเนินไป พวกเขาก็ได้เรียนรู้ถึงชีวิตของดัมเบิลดอร์และตัวตนที่แท้จริงของสเนป
หลังจากโวลเดอมอร์รู้ตัวว่าตนกำลังถูกคุกคามนั้น เขาจึงกลับมายังฮอกวอตส์ และเกิดการต่อสู้ครั้งใหญ่ขึ้นระหว่างภาคีนกฟีนิกซ์และผู้เสพความตาย ก่อให้เกิดความสูญเสียมากมาย แฮร์รี่จึงตัดสินใจยอมจำนนต่อโวลเดอมอร์ ซึ่งพยายามจะสังหารแฮร์รี่ แต่ถึงกระนั้น แฮร์รี่ก็ไม่ตาย ภายหลังจากฮอร์ครักซ์อันสุดท้ายของโวลเดอมอร์ถูกทำลาย แฮร์รี่จึงสามารถฆ่าโวลเดอมอร์ได้ในที่สุด จากนั้น โลกผู้วิเศษก็กลับคืนสู่สันติภาพดังเดิม
[แก้]ตัวละครสำคัญ
- แฮร์รี่ พอตเตอร์ เป็นตัวเอกของนิยายชุดนี้ เขาเป็นเด็กชายพ่อมดกำพร้า ลักษณะสำคัญคือมีแผลเป็นรูปสายฟ้าบนหน้าผาก มีชื่อเสียงในโลกเวทมนตร์หลังจากรอดชีวิตจากความพยายามฆ่าเขาโดยลอร์ดโวลเดอมอร์เมื่อครั้งยังเป็นทารก
- รอน วีสลีย์ เพื่อนสนิทของแฮร์รี่ โดยแฮร์รี่พบบนรถไฟไปยังฮอกวอตส์ครั้งแรก รอนเป็นลูกคนที่หกจากเจ็ดคนในครอบครัววีสลีย์
- เฮอร์ไมโอนี่ เกรนเจอร์ เพื่อนสนิทของแฮร์รี่อีกคนหนึ่ง เกิดจากครอบครัวมักเกิ้ล เธอเป็นคนที่ฉลาดรอบด้าน ชอบอ่านหนังสือ
- ลอร์ดโวลเดอมอร์ เป็นตัวร้ายหลักของเรื่อง ลอร์ดโวลเดอมอร์เป็นพ่อมดที่มีพลังสูงและแทบจะเป็นอมตะจากการใช้ศาสตร์มืด เขาเป็นผู้ฆ่าพ่อแม่ของแฮร์รี่ ลอร์ดโวลเดอมอร์เป็นพ่อมดที่ผู้คนส่วนใหญ่ในโลกพ่อมดหวาดกลัวถึงขนาดไม่กล้าเอ่ยชื่อออกมา เขาเป็นเด็กกำพร้าเช่นเดียวกับแฮร์รี่ เดิมชื่อว่า ทอม ริดเดิ้ล สุดท้ายตายเนื่องจากโดนคาถาพิฆาตของตนย้อนกลับในการต่อสู้ในสงครามฮอกวอตส์
- อัลบัส ดัมเบิลดอร์ อาจารย์ใหญ่ของฮอกวอตส์ สมาชิกของสมาพันธ์พ่อมดแม่มดนานาชาติและหัวหน้าผู้วิเศษของศาลสูงวิเซ็นกาม็อต เป็นพ่อมดที่ได้รับการนับถือสูง เป็นผู้ให้คำแนะนำและช่วยเหลือแฮร์รี่ เป็นผู้ที่ชนะเกลเลิร์ต กรินเดลวัลด์ เพื่อนรักในสมัยหนุ่มของเขาจนมีชื่อเสียงโด่งดัง
- เดรโก มัลฟอย นักเรียนสลิธีรินปีเดียวกับแฮร์รี่ เป็นคู่ปรับของแฮร์รี่
- จินนี่ วีสลีย์ ลูกคนสุดท้องของครอบครัววีสลีย์ เธอเป็นคนเปิดห้องแห่งความลับ ในแฮร์รี่ พอตเตอร์กับห้องแห่งความลับ และมีความสัมพันธ์กับแฮร์รี่
- เนวิลล์ ลองบัตท่อม เพื่อนของแฮร์รี่ ที่พ่อแม่ถูกผู้เสพความตายทรมานจนเสียสติ เขาเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับคำพยากรณ์ว่าจะปราบโวลเดอมอร์ลงได้
- เกลเลิร์ต กรินเดลวัลด์ พ่อมดฝ่ายมืด ผู้คลั่งไคล้ศาสตร์มืด อดีตเพื่อนรักอาจารย์ใหญ่โรงเรียนฮอกวอตส์ อัลบัส ดัมเบิลดอร์ เคยวางแผนเปลี่ยนแปลงโลกเวทมนตร์กับดัมเบิลดอร์ แต่ความสัมพันธ์ต้องแตกหักเมื่อ เกลเลิร์ต กรินเดลวัลด์ หันไปฝักใฝ่ฝ่ายมืด และสุดท้ายโดนกำจัดโดยดัมเบิลดอร์ เขาถูกจำขังไว้ที่คุกนูร์เมนการ์ดของเขาเอง ภายหลังถูกโวลเดอมอร์ฆ่า
- รูเบอัส แฮกริด คนดูแลสัตว์ของฮอกวอตส์ ต่อมาได้เป็นอาจารย์สอนวิชาการดูแลสัตว์วิเศษ เป็นบุคคลแรกที่แฮร์รี่รู้จักจากโลกเวทมนตร์ แฮกริดเคยถูกไล่ออกจากฮอกวอตส์เพราะถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้เปิดห้องแห่งความลับ
- เซเวอร์รัส สเนป อาจารย์สอนวิชาปรุงยาซึ่งแฮร์รี่ไม่ชอบ โดยสมัยเด็กเคยเป็นคู่ปรับของเจมส์ พอตเตอร์ พ่อของแฮร์รี่ หนึ่งในผู้สร้างแผนที่ตัวกวนและเพื่อนของเขา สเนปเคยเป็นสมุนของโวลเดอมอร์ แต่ก็เป็นบุคคลที่ดัมเบิลดอร์เชื่อใจ สเนปเป็นผู้สังหารดัมเบิลดอร์ในแฮร์รี่ พอตเตอร์กับเจ้าชายเลือดผสม และถูกฆ่าโดยลอร์ดโวลเดอมอร์ ใน แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูตและก่อนที่เขาจะตายได้มอบความทรงจำทั้งหมดที่อธิบายว่าทำไมเขาถึงต้องสังหารอัลบัส ดัมเบิลดอร์และไขข้อข้องใจของแฮร์รี่ทุกเรื่อง
- ซิเรียส แบล็ก นักโทษคนแรกที่สามารถหนีออกจากคุกอัซคาบันได้ เป็นพ่อทูนหัวของแฮร์รี่ พอตเตอร์ เป็นแอนนิเมจัสแปลงร่างเป็นสุนัขสีดำตัวใหญ่หรือกริมได้ หนึ่งในผู้สร้างแผนที่ตัวกวน เสียชีวิตเพราะถูกฆ่าโดย เบลลาทริกซ์ เลสแตรงจ์ ในแฮร์รี่ พอตเตอร์กับภาคีนกฟีนิกซ์ ด้วยคำสาป อะวาดา เคดาฟราและตกลงไปในม่านมรณะ
- รีมัส ลูปิน อาจารย์สอนวิชาการป้องกันตัวจากศาสตร์มืดใน แฮร์รี่ พอตเตอร์กับนักโทษแห่งอัซคาบัน หนึ่งในผู้สร้างแผนที่ตัวกวน เพื่อนรักของ เจมส์ พอตเตอร์ เป็นมนุษย์หมาป่า เขาถูกผู้เสพความตายฆ่าในภาคสุดท้าย
- ปีเตอร์ เพ็ตติกรูว์ อดีตเพื่อนรักของ เจมส์ พอตเตอร์ หนึ่งในผู้สร้างแผนที่ตัวกวน เป็นอะนิเมะจัสแปลงร่างเป็น หนู เป็นทาสรับใช้ของโวลเดอมอร์ เป็นผู้ที่มีส่วนที่ทำให้โวลเดมอร์ฟื้นคืนชีพขึ้นมา สุดท้ายถูกมือวิเศษที่โวลเดอมอร์เสกให้รัดคอตาย
- เจมส์ พอตเตอร์ พ่อของ แฮร์รี่ พอตเตอร์ เป็นหนึ่งในผู้สร้างแผนที่ตัวกวนเป็นแอนนิเมจัส แปลงร่างเป็นกวางตัวผู้ได้ เป็นเพื่อนสนิทของ ซิเรียส แบล็ก และ รีมัส จอห์น ลูปิน ถูกฆ่าโดย ลอร์ดโวลเดอมอร์
- ลิลี่ พอตเตอร์ แม่ของแฮร์รี่ พอตเตอร์ เกิดจากมักเกิ้ล ถูกฆ่าโดยลอร์ดโวลเดอมอร์
- ลูน่า เลิฟกู๊ด เป็นหนึ่งในสมาชิกของกองทัพดัมเบิลดอร์ ปรากฏตัวครั้งแรกในแฮร์รี่ พอตเตอร์กับภาคีนกฟีนิกซ์ พ่อของเธอเป็นบรรณาธิการนิตยสารเดอะควิบเบลอร์
[แก้]แก่นของเรื่องและแรงบันดาลใจ
เจ. เค. โรว์ลิ่ง กล่าวว่ามีแรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์นับไม่ถ้วน ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่เธออ่านหนังสือมากมายตั้งแต่ในวัยเด็กจนถึงวัยทำงาน หนังสือพวกนั้นทำให้ความใฝ่ฝันที่เธอจะเป็นนักเขียนเพิ่มมากขึ้น โรว์ลิ่งมีความสุขที่จะได้อ่าน มีความสุขที่หนังสือ วรรณกรรม วรรณคดีนิยายทั้งหมดทั้งมวลที่เธออ่านคอยเพิ่มพูนความสุขมาให้ โรว์ลิ่งมักจะอยู่กับหนังสือเป็นเวลานาน ๆ เธอไม่เคยเบื่อการอ่านเลย ส่วนที่สองเกิดจากคนรอบข้างเธอตั้งแต่วัยเด็ก เช่น เพื่อนบ้านที่คอยดูแลเธอ เป็นต้น โรว์ลิ่งล้วนรักคนพวกนั้น เธอมักนำชื่อต่าง ๆ ที่เธอเกี่ยวข้องมาลงเขียนในหนังสือเสมอ
ความคิดเกี่ยวกับแฮร์รี่ พอตเตอร์เข้ามาในหัวของเจ. เค. โรว์ลิ่ง ขณะที่เธอนั่งรถไฟจากแมนเชสเตอร์มายังลอนดอนในปี พ.ศ. 2533 ในวันที่โรว์ลิ่งขึ้นรถไฟไปหาแฟนหนุ่มที่แมนเชสเตอร์ ทางเหนือของประเทศอังกฤษ ในขบวนรถไฟของสถานีคิงส์ครอสที่จะเดินทางกลับไปที่ลอนดอน หลังจากที่เธอนั่งลงที่ตู้ผู้โดยสาร ในตอนนั้นโรว์ลิ่งคิดที่จะเขียนนิยายอยู่พอดี เธอคิดถึงหนังสือต่าง ๆ ที่เธอเคยอ่าน เธอมักพูดอยู่เสมอว่าจะเขียนหนังสือที่ได้รับการตีพิมพ์ หนังสือที่เธอชอบคือเรื่อง เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ และ ตำนานแห่งนาร์เนีย ซึ่งเนื้อหาของในหนังสือสองเล่มนี้ก็เป็นแรงบันดาลใจให้กับแฮร์รี่ พอตเตอร์เช่นกัน
เธอคิดถึงตัวเอกของนิยายของเธอ ส่วนของรูปร่างหน้าตาเธอยังไม่สามารถคิดได้ จนในขณะที่เธอมองวิวนอกหน้าต่างอยู่นั้นเธอก็เกิดความคิดขึ้น ภาพของเด็กชายตาสีเขียว ใส่แว่นตา และมีรอยแผลเป็นรูปสายฟ้าอยู่ตรงหน้าผากก็เข้ามาในใจของเธออย่างรวดเร็ว โรว์ลิ่งกล่าวในภายหลังว่า
|
โรว์ลิ่งเดินทางบนรถไฟ 4 ชั่วโมง เธอนั่งคิดเรื่องราวทั้งหมดโดยไม่ได้จดเอาไว้ (เธอไม่มีกระดาษ) โรว์ลิ่งตั้งชื่อเด็กชายว่า "แฮร์รี่" ซึ่งเป็นชื่อที่เธอโปรดปรานมากที่สุด และตั้งนามสกุลว่า "พอตเตอร์" ซึ่งเป็นชื่อของครอบครัวเพื่อนบ้านสมัยเด็ก เธอตั้งวันเกิดของแฮร์รี่ให้เป็นวันที่ 31 กรกฎาคม เหมือนกับวันเกิดของตัวเอง โรว์ลิ่งคิดถึงฉากในเรื่อง โรงเรียนของเด็กชายเป็นโรงเรียนสอนวิชาเวทมนตร์ให้แก่พ่อมดและแม่มดที่ยังเป็นเด็ก โดยให้โรงเรียนอยู่ทางเหนือของสกอตแลนด์ เพราะเธอคุ้นเคยกับปราสาทเก่าแก่มากมายในแถบนั้น
เมื่อรถไฟลงถึงที่ลอนดอน เธอรีบตรงกลับไปที่บ้านและจดบันทึกเรื่องราวทุกอย่างที่เธอคิด โรว์ลิ่งวางแผนว่าจะเขียนให้มีถึง 7 ภาคด้วยกัน แต่ละเล่มคือแต่ละปีของแฮร์รี่ที่ฮอกวอตส์ เธอมักเขียนหนังสือที่ร้านกาแฟในเมืองเอดินเบอระ และคิดค้นหาชื่อตัวละครจากทุกที่ไม่ว่าจะเป็น สมุดโทรศัพท์ ป้ายร้านค้า นักบุญ หมู่บ้านต่าง ๆ รวมไปถึงสมุดตั้งชื่อเด็ก เธอยังได้คิดกีฬายอดฮิตของพวกพ่อมดที่มีชื่อว่าควิดดิช เธอคิดชื่อและประวัติของกีฬา รวมถึงวิธีการเล่นต่าง ๆ ลูกบอล ซึ่งโรว์ลิ่งได้นำกีฬาต่าง ๆ มาผสมผสานกัน
โรว์ลิ่งใช้เวลากว่า 5 ปีเพื่อที่จะทำการขัดเกลานิยายของเธอให้สมบูรณ์ ใช้ภาษาให้ดูสวยขึ้น เธอกล่าวภายหลังว่าบทควิดดิชในหนังสือเล่มแรกเธอสามารถเขียนได้เร็วที่สุดโดยเธอเขียนเสร็จภายในวันเดียวและแก้คำไปเพียงสองถึงสามคำเท่านั้น 5 ปีหลังจากที่เกิดความคิดที่จะเขียนนิยายเรื่องนี้ หนังสือของเธอก็ได้รับการตีพิมพ์และขายดีไปทั่วโลก
[แก้]แก่นเรื่อง
โรว์ลิ่งอธิบายถึงแก่นของเรื่องว่าเป็นการเกี่ยวข้องกับความตาย เธอกล่าวว่า
|
แก่นเรื่องของแฮร์รี่ พอตเตอร์ยังเกี่ยวข้องกับสิ่งอื่นอีกหลายอย่าง เช่น ความรัก ความทระนง เสรีภาพในการเลือกชะตาของตัวเอง โรว์ลิ่งได้กล่าวว่าสารเหล่านี้ฝังตัวอยู่ในโครงเรื่องทั้งหมด เธอชอบที่จะให้เนื้อเรื่องดำเนินไปด้วยตัวของมันเองอย่างเป็นธรรมชาติ มากกว่าที่จะพยายามแทรกข้อคิดของตัวเองลงไปเพื่อให้ผู้อ่านรู้[9] ในขณะเดียวกันก็ยังนำเสนอเรื่องราวของความเป็นวัยรุ่น โรว์ลิ่งตั้งใจที่จะนำเสนอแง่คิดในการเติบโตด้านความรักของตัวละคร เพราะแฮร์รี่ไม่ได้จะเป็นเด็กอยู่ตลอดไป โรว์ลิ่งกล่าวว่า นัยทางด้านศีลธรรมของเรื่องนี้ชัดเจนมากสำหรับเธอ หัวใจของมันอยู่ที่การเลือกระหว่างสิ่งที่ถูกต้องกับสิ่งที่ง่ายดาย ดังที่ อัลบัส ดัมเบิลดอร์ ตัวแทนของฝ่ายดี กล่าวไว้ในเรื่องแฮร์รี่ พอตเตอร์กับถ้วยอัคนี[10]
[แก้]ประวัติการประพันธ์ การพิมพ์ และการแปล
[แก้]การตีพิมพ์
ในปี พ.ศ. 2539 โรว์ลิ่งเขียนต้นฉบับของหนังสือเล่มแรกเสร็จ และหาคนที่จะเป็นตัวแทนของเธอ ตัวแทนคนที่สองที่เธอได้ติดต่อ คริสโตเฟอร์ ลิตเติล ได้ตกลงที่จะเป็นตัวแทนของโรว์ลิ่งและส่งต้นฉบับไปที่สำนักพิมพ์บลูมสบิวรี หลังจากที่สิบสองสำนักพิมพ์ก่อนหน้านี้ได้ปฏิเสธ บลูมสบิวรีเสนอค่าตอบแทนล่วงหน้าเป็นเงิน 2,500 ปอนด์สเตอร์ลิง สำหรับการตีพิมพ์ Harry Potter and the Philosopher's Stone[11] แม้ว่าโรว์ลิ่งจะไม่ได้วางกลุ่มอายุเป้าหมายเมื่อครั้งที่เธอเริ่มเขียน สำนักพิมพ์ได้วางกลุ่มอายุเป้าหมายเริ่มแรกไว้ที่ 9 ถึง 11 ปี[12] สำนักพิมพ์ได้ขอให้โรว์ลิ่งเลือกนามปากกาที่ไม่บ่งบอกเพศ เนื่องจากกลัวว่าเด็กผู้ชายในวัยนี้จะไม่สนใจหากทราบว่าผู้แต่งนั้นเป็นผู้หญิง โรว์ลิ่งเลือกใช้ชื่อย่อว่า "เจ. เค. โรว์ลิ่ง" จากโจแอน แคทลีน โดยแคทลีนนั้นเป็นชื่อของย่าของเธอ[13][14]
หนังสือเล่มแรกได้รับการตีพิมพ์ในสหราชอาณาจักรโดยบลูมสบิวรีในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2540 และหลังจากนั้นในสหรัฐอเมริกาในเดือนกันยายน พ.ศ. 2541 โดยสำนักพิมพ์สกอลาสติก สกอลาสติกต้องการให้เปลี่ยนชื่อเรื่องเป็น Harry Potter and the Sorcerer's Stone เนื่องจากเกรงว่าผู้อ่านชาวอเมริกันอาจไม่คุ้นชินกับคำว่า philosopher (นักปราชญ์) หรือแก่นเรื่องเกี่ยวกับเวทมนตร์หรือการเล่นแร่แปรธาตุ ที่ philosopher's stone (ศิลานักปราชญ์ ฉบับแปลไทยใช้คำว่าศิลาอาถรรพ์) มีความเกี่ยวข้องอยู่ โรว์ลิ่งออกหนังสือเล่มต่อ ๆ มาตามมาในเวลาไล่เลี่ยกัน เรียงตามลำดับตั้งแต่ พ.ศ. ทำให้รักษาความสนใจของผู้อ่านและสร้างกลุ่มผู้อ่านที่ภักดีขึ้นได้[15]
[แก้]งานประพันธ์ต่อเนื่อง
หลังจากหนังสือเล่มสุดท้ายของหนังสือชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ที่มีชื่อว่า แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต วางแผงและออกจำหน่าย โดยจบเรื่องราวของพ่อมดแฮร์รี่ พอตเตอร์ลง ไม่นานนักก็มีกระแสเรียกร้องให้ เจ. เค. โรว์ลิ่ง เขียนหนังสือเล่มที่แปดออกมาอีก โรว์ลิ่งกล่าวว่า เธอไม่ได้ปฏิเสธว่าจะไม่มีหนังสือเล่มที่แปด แต่ตอนนี้เธอยังไม่ได้เขียน ซึ่งถ้าเธอจะเขียน อาจจะหลังจากนี้อีกสักสิบปีแล้วค่อยว่ากันอีกที
โรว์ลิ่งประกาศว่าเธอจะเขียนหนังสือนิยายเล่มใหม่ พร้อมกับบอกว่ากำลังเขียนหนังสือสารานุกรมเกี่ยวกับแฮร์รี่ พอตเตอร์ ซึ่งมีเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับแฮร์รี่ พอตเตอร์ที่ไม่ได้เขียนเอาไว้ในหนังสือมาก่อน เธอจะนำมาบอกเล่าให้ผู้อ่านได้อ่านกันในหนังสือสารานุกรมนี้ แต่คงต้องใช้เวลาอีกหน่อย หลังจากนั้นไม่ถึงเดือน สำนักพิมพ์ในสหรัฐอเมริกา ได้ตีพิมพ์หนังสือสารานุกรมไปก่อนหน้าที่เจ. เค. โรว์ลิ่งจะเขียนเสร็จ จึงเกิดการฟ้องร้องต่อศาลที่สหรัฐอเมริกา โรว์ลิ่งได้ฟ้องร้องสำนักพิมพ์ที่จัดพิมพ์และจำหน่ายสารานุกรมนั้นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเธอและเป็นการคัดลอกข้อมูลของเธอซึ่งเธอกำลังจะเขียนมันในสารานุกรมแฮร์รี่ พอตเตอร์ของจริง ในการฟ้องร้องครั้งนั้นศาลได้ตัดสินให้เธอชนะคดีในที่สุด[16]
หลังจากการฟ้องร้องจบลง เธอได้เขียนนิทานเรื่องหนึ่งขึ้นด้วยลายมือของเธอเอง ใช้ชื่อว่า นิทานของบีเดิลยอดกวี อันเป็นนิทานที่ถูกอ้างอิงอยู่ในเล่มที่เจ็ด นิทานเรื่องนี้ โรว์ลิ่งเขียนขึ้นมาเจ็ดเล่มในโลกเท่านั้น เธอมอบให้กับบุคคลที่ได้ทำให้เธอประสบความสำเร็จรวม 6 เล่ม ส่วนเล่มสุดท้ายนำไปประมูล ได้เงินมาราคาหลายล้านปอนด์[17]และนำเงินมอบให้แก่การกุศล ต่อมามีเด็กสาวชาวออสเตรเลียคนหนึ่งได้แต่งคำกลอนประกวดและชนะเลิศโดยเธอได้อ่านเนื้อหาในหนังสือเล่มนั้นทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตามสำนักพิมพ์ของอังกฤษก็ได้ตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ออกวางจำหน่ายในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ส่วนในประเทศไทยสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ได้ตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้เป็นฉบับภาษาไทย[18] วางจำหน่ายเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2551 โดยมีคุณสุมาลี บำรุงสุขเป็นผู้แปล
หลังจากเจ. เค. โรว์ลิ่งเขียนหนังสือนิทานเล่มนี้แล้ว เธอได้เขียนเรื่องราวสั้นๆ จำนวน 800 คำ ลงในกระดาษ เป็นเรื่องราวของเจมส์ พอตเตอร์กับ ซีเรียส แบล็กปะทะกับตำรวจมักเกิ้ล เป็นเรื่องราวก่อนแฮร์รี่จะเกิด 3 ปี เรื่องสั้นนี้ยังไม่ได้ตั้งชื่อ แต่เรียกกันอย่างย่อว่า พรีเควลแฮร์รี่ พอตเตอร์
[แก้]รายชื่อหนังสือในชุด
- แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ (26 มิถุนายน พ.ศ. 2540)
- แฮร์รี่ พอตเตอร์กับห้องแห่งความลับ (2 กรกฎาคม พ.ศ. 2541)
- แฮร์รี่ พอตเตอร์กับนักโทษแห่งอัซคาบัน (8 กันยายน พ.ศ. 2542)
- แฮร์รี่ พอตเตอร์กับถ้วยอัคนี (8 กรกฎาคม พ.ศ. 2543)
- แฮร์รี่ พอตเตอร์กับภาคีนกฟีนิกซ์(พ.ศ. 2546)
- แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเจ้าชายเลือดผสม (16 กรกฎาคม พ.ศ. 2548)
- แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต (21 กรกฎาคม พ.ศ. 2550)
- หนังสือประกอบ
- ควิดดิชในยุคต่างๆ (พ.ศ. 2544)
- สัตว์มหัศจรรย์และถิ่นที่อยู่ (พ.ศ. 2544)
- นิทานของบีเดิลยอดกวี (พ.ศ. 2551)
- พรีเควลแฮร์รี่ พอตเตอร์ (พ.ศ. 2551)
[แก้]ภาพประกอบ
ผู้วาดภาพให้แก่แฮร์รี่ พอตเตอร์ทั้งเจ็ดเล่มในฉบับอเมริกาคือ แมรี กรองด์เปร นักวาดภาพประกอบหนังสือชาวอเมริกันที่ได้วาดภาพปกหนังสือและภาพประกอบบทให้แก่แฮร์รี่ พอตเตอร์ทั้งเจ็ดเล่ม และรวมถึงนิทานของบีเดิลยอดกวีฉบับอเมริกาด้วย
ส่วนผู้วาดภาพปกแฮร์รี่ พอตเตอร์ในแบบฉบับอังกฤษมีหลายคนด้วยกันคือ โทมัส เทรเลอร์ วาดภาพปกแฮร์รี่พอตเตอร์ภาคหนึ่ง คลิฟฟ์ ไรท์วาดภาพปกแฮร์รี่ พอตเตอร์ในภาคสองและสาม กีเลส กรองด์เปรวาดภาพปกในภาคที่สี่และเจสัน คุกครอฟวาดภาพปกแฮร์รี่ พอตเตอร์ภาคที่ห้า หก และเจ็ด
[แก้]การแปล
หนังสือชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ได้รับการแปลเป็นภาษาอื่นอีกอย่างน้อย 67 ภาษา โดยภาษาแรกที่มีการแปลคือภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน หลังจากนั้นก็ได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ มากมาย รวมถึงภาษาละตินและภาษากรีกโบราณ[19] โดยเป็นงานเขียนที่ยาวที่สุดในภาษากรีกโบราณนับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 3[20] การแปลหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์นั้นมีความยากลำบากหลายประการ เช่น การถ่ายทอดวัฒนธรรมโรงเรียนประจำแบบอังกฤษ การใช้ภาษาที่แสดงถึงบุคลิกภาพหรือสำเนียง รวมถึงการคิดค้นศัพท์ใหม่ ๆ ของผู้แต่งด้วย[21]
ผลงานในชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ฉบับแปลภาษาไทยได้รับการจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ในขณะที่ฉบับภาษาอังกฤษได้ออกมาแล้วสี่เล่ม โดยต้องเร่งแปลหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์ทั้งสี่เล่มให้เสร็จโดยเร็วเพื่อง่ายต่อการแปลแฮร์รี่ พอตเตอร์เล่มที่ห้า ซึ่งโรว์ลิ่งยังเขียนไม่เสร็จ มีผู้แปลทั้งสิ้นสามคน ได้แก่ สุมาลี บำรุงสุข แปลเล่มที่หนึ่ง สอง ห้า หกและเจ็ด วลีพร หวังซื่อกุล แปลเล่มที่สาม และ งามพรรณ เวชชาชีวะ แปลเล่มที่สี่ สาเหตุที่ สุมาลี บำรุงสุข ไม่ได้แปลเล่มสามและเล่มสี่นั้นเป็นเพราะว่าเหน็ดเหนื่อยจากการแปลทั้งสองเล่มแรกมาโดยไม่ได้พัก จึงได้ให้นักแปลคนอื่นมาแปลแทน หน้าปกฉบับภาษาไทยนั้นใช้ภาพแบบเดียวกับหน้าปกฉบับอเมริกัน ซึ่งเป็นผลงานของแมรี กรองด์เปร นอกจากนี้ พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตรได้มาเขียนคำนิยมให้กับหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์ทั้งสี่เล่มแรก โดยกล่าวยกย่องว่าเป็นหนังสือที่ทำให้เด็กรักการอ่าน[22]
[แก้]ความสำเร็จ
[แก้]แรงกระทบทางวัฒนธรรม
เหล่านักอ่านผู้ชื่นชอบนิยายชุดนี้ทั่วโลกล้วนเฝ้ารอการวางจำหน่ายหนังสือทุกๆ เล่มของชุด โดยจะมีการจัดงานเฉพาะกิจในตอนเที่ยงคืนของวันวางจำหน่ายทุกครั้งนับตั้งแต่เล่ม แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับถ้วยอัคนี เป็นต้นมา กิจกรรมพิเศษระหว่างรอจำหน่ายมีมากมายเช่น การแต่งกายเลียนแบบตัวละคร เล่นเกม เพ้นท์หน้า และการแสดงอื่นๆ ที่บรรดาแฟนหนังสือจัดกันขึ้นมา ครั้งสำคัญที่สุดคือในการวางจำหน่ายหนังสือ แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเจ้าชายเลือดผสม หนังสือจำหน่ายออกไปเป็นจำนวนเกือบ 9 ล้านเล่ม จากจำนวนที่พิมพ์เอาไว้ 10.8 ล้านเล่ม ภายใน 24 ชั่วโมงแรกหลังจากวางแผง[23][24]
นวนิยายชุดนี้ยังสามารถครองใจกลุ่มนักอ่านผู้ใหญ่ได้ด้วย ทำให้มีการจัดพิมพ์หนังสือออกเป็น 2 ฉบับในแต่ละเล่ม ฉบับหนึ่งทำปกสำหรับเด็ก อีกฉบับหนึ่งสำหรับผู้ใหญ่[25] นักอ่านสามารถมาพบปะกันได้ทั้งทางบล็อก พ็อตแคสต์ และแฟนไซต์ คำว่า "มักเกิ้ล" กลายเป็นที่นิยมกล่าวขานกันมากยิ่งไปกว่าความหมายดั้งเดิมในนิยาย โดยใช้ในความหมายถึงกลุ่มคนที่ไม่รู้เรื่องหรือด้อยความสามารถบางสิ่งบางอย่าง ในปี พ.ศ. 2546 คำว่า "มักเกิ้ล" (Muggle) ได้บรรจุลงในพจนานุกรมภาษาอังกฤษ ฉบับออกซฟอร์ด ตามความหมายที่กล่าวมานี้[26]
[แก้]รางวัลที่ได้รับ
แฮร์รี่ พอตเตอร์ได้มีรับรางวัลมาแล้วมากมาย ซึ่งทั้งเจ็ดเล่มก็ล้วนแต่ได้รางวัลต่างๆ มาแล้ว ตั้งแต่เล่มแรกจนถึงเล่มสุดท้าย โดยเล่มแรกในชื่อ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ ได้รับรางวัล ชนะเลิศเหรียญทองรางวัล Nestle Smarties Book Prize ประจำปี พ.ศ. 2540 ประเภทหนังสือเด็ก อายุ 9-11 ปี [27] เช่นเดียวกับเล่มที่สอง แฮร์รี่ พอตเตอร์กับห้องแห่งความลับ และเล่มที่สาม แฮร์รี่ พอตเตอร์กับนักโทษแห่งอัซคาบันก็ล้วนแต่ได้รับรางวัลเดียวกันสามปีซ้อน นอกจากนี้แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ยังได้รับรางวัล British Book Awards ประเภท The Children's Book of the Year ในปีพ.ศ. 2541อีกด้วย[28] แฮร์รี่ พอตเตอร์เล่มแรกยังได้รับรางวัล Parenting Book of the Year Award ประจำปี พ.ศ. 2541 รางวัล Whitaker's Platinum Book Award ประจำปี พ.ศ. 2544 อีกด้วย [29] หลังจากแฮร์รี่ พอตเตอร์เล่มที่สี่ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับถ้วยอัคนี ได้รับรางวัลฮิวโกประเภทนวนิยายดีเด่น ปีพ.ศ. 2544 [30] ส่วนแฮร์รี่ พอตเตอร์เล่มที่ห้าในชื่อ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับภาคีนกฟีนิกซ์ ที่ตีพิมพ์ภายหลังได้รับรางวัล Fiction Prize at WH Smith People's Choice Book Awards ปี พ.ศ. 2547[31] ภายหลังจากนั้นแฮร์รี่ พอตเตอร์เล่มที่หก แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเจ้าชายเลือดผสม ได้รับรางวัล British Book Awards ประเภท Book of the year [32] และในเล่มสุดท้าย แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต ได้รับรางวัล Nickelodeon's 2008 Kid's Choice Awards Book of the Year ประเภท Favorite Book ซึ่งเป็นการให้รางวัลแฮร์รี่ พอตเตอร์ทั้งเจ็ดเล่ม[33]
[แก้]ความสำเร็จทางการค้า
ความสำเร็จของนวนิยายชุด แฮร์รี่ พอตเตอร์ ได้สร้างความมั่งคั่งให้แก่ เจ. เค. โรว์ลิ่ง ผู้ประพันธ์ ตลอดไปจนถึงสำนักพิมพ์และผู้ถือสิทธิ์ด้านต่างๆ เกี่ยวกับ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ทั้งหมด โรว์ลิ่งได้รับผลตอบแทนมากจนกระทั่งนับได้ว่าเป็นนักเขียนเพียงคนเดียวที่ติดอันดับ "มหาเศรษฐี" ของโลก[34] มีการจำหน่ายหนังสือไปแล้วกว่า 400 ล้านเล่มทั่วโลก และช่วยนำกระแสนิยมให้แก่ภาพยนตร์ชุดดัดแปลงโดย วอร์เนอร์ บราเธอร์ส ด้วย ภาพยนตร์ดัดแปลงในแต่ละตอนต่างประสบความสำเร็จไปตามกัน นับแต่ แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับศิลาอาถรรพ์ ได้เป็นภาพยนตร์ทำเงินตลอดกาลอันดับที่ 5 ส่วนตอนอื่นๆ อีก 4 ตอนก็ติดอันดับภาพยนตร์ทำเงินตลอดกาลใน 20 อันดับแรก[35][36]
ภาพยนตร์ได้รับการดัดแปลงไปเป็นวีดีโอเกม 8 ชุด และยังได้รับค่าลิขสิทธิ์ในการดัดแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ แฮร์รี่ พอตเตอร์ มากกว่า 400 รายการ (รวมถึงไอพอด) นับถึงปี พ.ศ. 2548 ยี่ห้อ แฮร์รี่ พอตเตอร์ มีมูลค่าสูงถึง 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และทำให้โรว์ลิ่งกลายเป็นมหาเศรษฐีระดับพันล้าน[37] ในรายงานเปรียบเทียบบางแห่งยังกล่าวว่าเธอร่ำรวยกว่าสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักรเสียอีก[38][39] ทว่าโรว์ลิ่งชี้แจงว่าเรื่องนี้ไม่เป็นความจริง[40]
ความต้องการอย่างสูงในหนังสือชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ ทำให้ นิวยอร์กไทมส์ ตัดสินใจเปิดอันดับหนังสือขายดีอีก 1 ประเภทสำหรับวรรณกรรมเด็กโดยเฉพาะเมื่อปี พ.ศ. 2543 ก่อนการวางจำหน่าย แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับถ้วยอัคนี ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2543 และหนังสือของโรว์ลิ่งก็อยู่บนอันดับหนังสือขายดีนี้ติดต่อกันเป็นเวลายาวนานถึง 79 สัปดาห์ โดยที่ทั้งสามเล่มแรกเป็นหนังสือขายดีในประเภทหนังสือปกแข็งด้วย[41] การจัดส่งหนังสือชุด ถ้วยอัคนี ต้องใช้รถบรรทุกของเฟดเอ็กซ์กว่า 9,000 คันเพื่อการส่งหนังสือเล่มนี้เพียงอย่างเดียว[42] วันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2550 ร้านหนังสือ บาร์นส์แอนด์โนเบิล ประกาศว่า แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเครื่องรางยมทูต ได้ทำลายสถิติหนังสือจองผ่านเว็บไซต์โดยมียอดจองมากกว่า 500,000 เล่ม[43] เมื่อนับรวมทั้งเว็บของบาร์นส์แอนด์โนเบิล กับอเมซอนดอตคอม จะเป็นยอดจองล่วงหน้ารวมกันมากกว่า 700,000 เล่ม[42] แต่เดิมสถิติการพิมพ์หนังสือฉบับพิมพ์ครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 3.8 ล้านเล่ม[42]แต่ แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับภาคีนกฟีนิกซ์ ทำลายสถิตินี้ด้วยยอดพิมพ์ครั้งแรก 8.5 ล้านเล่ม และต่อมาก็ถูกทำลายสถิติลงอีกด้วย แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเจ้าชายเลือดผสม ที่ 10.8 ล้านเล่ม[44] ในจำนวนนี้ได้ขายออกไป 6.9 ล้านเล่มภายใน 24 ชั่วโมงแรกหลังจากวางจำหน่าย ส่วนในอังกฤษได้ขายออกไป 2 ล้านชุดภายในวันแรก[45]
[แก้]คำชื่นชมและวิจารณ์
[แก้]การวิจารณ์ทางวรรณกรรม
ในช่วงแรกๆ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ได้รับคำวิจารณ์ค่อนข้างดี ทำให้นวนิยายชุดนี้ขยายฐานผู้อ่านออกไปอย่างมาก หนังสือเล่มแรกของชุดคือ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ ได้จุดประเด็นความสนใจแก่หนังสือพิมพ์ของสกอตแลนด์หลายเล่ม เช่น The Scotsman บอกว่าหนังสือเล่มนี้ "มีทุกอย่างของความคลาสสิก"[46] หรือ The Glasgow Herald ตั้งสมญาให้ว่าเป็น "สิ่งมหัศจรรย์"[46] ไม่นานหนังสือพิมพ์ของทางอังกฤษก็เข้าร่วมวงด้วย มีหนังสือพิมพ์มากกว่า 1 เล่มเปรียบเทียบงานเขียนชุดนี้กับงานของโรอัลด์ ดาห์ล หนังสือพิมพ์ The Mail on Sunday เรียกหนังสือเล่มนี้ว่าเป็น "งานเขียนที่เปี่ยมจินตนาการนับแต่ยุคของโรอัลด์ ดาห์ล"[46] ส่วน The Guardian เรียกหนังสือนี้ว่า "นวนิยายอันงดงามที่สร้างโดยนักประดิษฐ์อัจฉริยะ"[46]
ครั้นเมื่อหนังสือออกวางจำหน่ายถึงเล่มที่ห้า แฮร์รี่ พอตเตอร์กับภาคีนกฟีนิกซ์ นวนิยายก็ได้รับการวิจารณ์ที่หนักหน่วงขึ้นจากเหล่านักวิชาการด้านวรรณกรรม ฮาโรลด์ บลูม ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเยล นักวิชาการวรรณศิลป์และนักวิจารณ์ เป็นผู้ยกประเด็นการวิจารณ์วรรณกรรมเกี่ยวกับศีลธรรม เขากล่าวว่า "ในใจของโรว์ลิ่งมีแต่เรื่องอุปมาเกี่ยวกับความตายวนไปวนมา ไม่มีสไตล์การเขียนแบบอื่นเลย"[47] เอ. เอส. ไบแอต นักเขียนประจำนิวยอร์กไทมส์ บอกว่าจักรวาลในเรื่องของโรว์ลิ่งสร้างขึ้นจากจินตนาการที่ผสมปนเปจากวรรณกรรมเด็กหลายๆ เรื่อง และเขียนขึ้นเพื่อคนที่มีจินตนาการหมกมุ่นกับการ์ตูนทีวี โลกในฟองสบู่ที่เว่อร์เกินจริง รายการเรียลลิตี้ และข่าวซุบซิบดารา[48]
นักวิจารณ์ชื่อ แอนโทนี โฮลเดน เขียนความรู้สึกของเขาจากการตัดสินรางวัลวิทเบรด ปี พ.ศ. 2542 ส่วนที่เกี่ยวกับ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับนักโทษแห่งอัซคาบัน ไว้ใน The Observer โดยที่ค่อนข้างมีมุมมองไม่ค่อยดี เขากล่าวว่า "มหากาพย์พอตเตอร์เป็นงานอนุรักษ์นิยม ย้อนยุค โหยหาความเป็นอดีตและระบบอุปถัมภ์ในอดีตของอังกฤษที่ผ่านไปแล้ว" เขายังวิจารณ์อีกว่าเป็น "งานเขียนร้อยแก้วที่ผิดไวยากรณ์ ใช้สำนวนตลาด"[49]
แต่ในทางตรงกันข้าม เฟย์ เวลดอน นักเขียนผู้ยอมรับว่านวนิยายชุดนี้ "ไม่ใช่งานที่กวีจะชื่นชอบ" แต่ก็ยอมรับว่า "มันไม่ใช่กวีนิพนธ์ มันเป็นร้อยแก้วที่อ่านเข้าใจง่าย อ่านได้ทุกวัน และขายได้"[50]เอ. เอ็น. วิลสัน นักวิจารณ์วรรณกรรม ยกย่องนวนิยายชุดนี้ใน The Times โดยระบุว่า "มีนักเขียนไม่มากนักเหมือนอย่างเจ.เค. ผู้มีความสามารถดังหนึ่งดิกเก้นส์ ที่ทำให้เราต้องรีบพลิกอ่านหน้าต่อไป ทำให้เราร้องไห้อย่างไม่อาย พอไม่กี่หน้าถัดไปเราก็ต้องหัวเราะกับมุกตลกที่แทรกอยู่สม่ำเสมอ ... เรามีชีวิตอยู่ตลอดทศวรรษที่เฝ้าติดตามงานตีพิมพ์อันมีชีวิตชีวาที่สุด สนุกสนานที่สุด เป็นเรื่องเกี่ยวกับเด็กที่โดดเด่นที่สุดเท่าที่เคยมีมา"[51] ชาร์ลส์ เทย์เลอร์ แห่ง salon.com นักวิจารณ์ภาพยนตร์ เห็นด้วยกับความคิดของไบแอต แต่เขาก็ยอมรับว่าผู้ประพันธ์อาจจะ "มีจุดยืนทางวัฒนธรรมที่แตกต่าง คือความเป็นวัยรุ่น มันเป็นแรงกระตุ้นของพวกเราที่จะเข้าใจความเหลวไหลของยุคสมัยใหม่ ซึ่งแตกต่างกับความซับซ้อนของศิลปะยุคเดิม"[52]
สตีเฟน คิง เรียกนวนิยายชุดนี้ว่า "ความกล้าหาญซึ่งผู้มีจินตนาการอันล้ำเลิศเท่านั้นจึงจะทำได้" และยกย่องการเล่นถ้อยคำสำนวนตลอดจนอารมณ์ขันของโรว์ลิ่งในนิยายชุดนี้ว่า "โดดเด่น" แม้เขาจะบอกว่านิยายชุดนี้จัดว่าเป็นนิยายที่ดี แต่ก็บอกด้วยว่า ในตอนต้นของหนังสือทั้งเจ็ดเล่มที่พบแฮร์รี่ที่บ้านลุงกับป้านั้นค่อนข้างน่าเบื่อ[53] คิงยังว่า "โรว์ลิ่งจะไม่ใช้คำขยายความที่เธอไม่ชอบ!" เขายังทำนายด้วยว่า นวนิยายชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ "จะยืนยงท้าทายการทดสอบของกาลเวลา และอยู่บนหิ้งที่เก็บหนังสือดีที่สุดเท่านั้น ผมคิดว่าแฮร์รี่ได้เทียบขั้นกับ อลิซ ฮัค โฟรโด และโดโรธีแล้ว นิยายชุดนี้จะไม่โด่งดังเพียงทศวรรษนี้ แต่จะยืนยงตลอดกาล"[54]
[แก้]การวิจารณ์ทางวัฒนธรรม
นิตยสารไทมส์ประกาศให้โรว์ลิ่งเป็นหนึ่งในผู้มีสิทธิ์เป็น "บุคคลแห่งปี" ของไทมส์ในปี พ.ศ. 2550 ในฐานะที่มีผลงานโดดเด่นทางสังคมและวัฒนธรรมซึ่งสร้างแรงบันดาลใจอย่างมากต่อกลุ่มแฟนคลับของเธอ[55] ทว่าคำวิพากษ์วิจารณ์ทางด้านสังคมและวัฒนธรรมที่มีต่อนิยายชุดนี้ก็มีทั้งด้านดีและไม่ดีปะปนกัน นักวิจารณ์หนังสือจากวอชิงตันโพสต์ รอน ชาร์ลส์ แสดงความเห็นของเขาในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2550 ว่าจำนวนผู้อ่านที่เป็นผู้ใหญ่จำนวนมากซึ่งอ่านหนังสืออื่นค่อนข้างน้อย อาจสะท้อนถึงตัวอย่างที่ไม่ดีของวัฒนธรรมวัยเด็ก รูปแบบการนำเสนอแบบตรงไปตรงมาในเรื่องที่แยกระหว่าง "ความดี-ความเลว" อย่างชัดเจนนั้นก็เป็นแนวทางแบบเด็ก ๆ เขายังบอกว่า ไม่ใช่ความผิดของโรว์ลิ่งเลย แต่วิธีทางการตลาดแบบ "ฮีสทีเรีย" (กรี๊ดกร๊าดคลั่งไคล้อย่างรุนแรง) ที่ปรากฏให้เห็นในการตีพิมพ์หนังสือเล่มหลังๆ "ทำให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่พากันหลงใหลเสียงกรีดร้องในโรงมหรสพ ประสบการณ์สื่อแบบมหาชนซึ่งนิยายอื่นอาจจะทำให้ไม่ได้"[56]
เจนนี่ ซอว์เยอร์ เขียนไว้ใน Christian Science Monitor เมื่อ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 ว่า หนังสือชุดนี้เป็นตัวแทนถึง "จุดเปลี่ยนค่านิยมการเล่านิทานและสังคมตะวันตก" โดยที่ในนิยายชุดนี้ "หัวใจแห่งศีลธรรมกำลังเหือดหายไปจากวัฒนธรรมยุคใหม่... หลังจากผ่านไป 10 ปี, 4195 หน้า และ 375 ล้านเล่ม ท่ามกลางความสำเร็จอย่างสูงยิ่งของ เจ. เค. โรว์ลิ่ง แต่เสาหลักของวรรณกรรมเด็กอันยิ่งใหญ่กลับขาดหายไป นั่นคือการเดินทางของวีรบุรุษเพื่อยืนหยัดความถูกต้อง" ซอว์เยอร์กล่าวว่า แฮร์รี่ พอตเตอร์ ไม่เคยประสบความท้าทายทางศีลธรรม ไม่เคยตกอยู่ใต้ภาวะลำบากระหว่างความถูกผิด ดังนั้นจึง "ไม่เคยมีสถานการณ์ใดที่ความถูกผิดไม่เป็นสีขาวและสีดำ"[57]
คริส ซุลเลนทรอพ ให้ความเห็นคล้ายคลึงกันใน Slate Magazine เมื่อ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 เขาเปรียบพอตเตอร์ว่าเป็น "เด็กผู้เป็นที่ไว้วางใจและชื่นชมที่โรงเรียน อันเป็นผลงานส่วนมากจากของขวัญที่เพื่อนและครอบครัวทุ่มเทให้" เขาสังเกตว่า ในนิยายของโรว์ลิ่งนั้น ศักยภาพและความสามารถทางเวทมนตร์เป็น "สิ่งที่คุณเกิดมาพร้อมกับมัน ไม่ใช่สิ่งที่คุณจะไขว่คว้ามาได้" ซุลเลนทรอพเขียนว่า คำคมของดัมเบิลดอร์ที่ว่า "เราต้องเลือกเองที่จะแสดงตัวตนที่แท้จริงที่ยิ่งใหญ่กว่าความสามารถของเรา" เป็นเรื่องโกหกทั้งเพ ในเมื่อโรงเรียนที่ดัมเบิลดอร์บริหารอยู่นั้นให้ความสำคัญกับพรสวรรค์ที่มีมาแต่กำเนิดมากกว่าอะไรทั้งนั้น[58] อย่างไรก็ดี ในหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ ฉบับวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2550 คริสโตเฟอร์ ฮิทเชนส์ รีวิว แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต โดยยกย่องโรว์ลิ่งว่าได้ปรับเปลี่ยน "นิทานเกี่ยวกับโรงเรียนในอังกฤษ" ที่มีมาแต่ไหนแต่ไร ที่เคยมีแต่เรื่องเพ้อฝัน ความร่ำรวย ชนชั้น และความเป็นผู้ดี ให้กลายเป็น "โลกของประชาธิปไตยและความเปลี่ยนแปลงของวัยหนุ่มสาว"[59]
[แก้]การโต้แย้งต่าง ๆ
หนังสือชุดนี้ตกเป็นประเด็นโต้แย้งทางกฎหมายมากมายหลายคดี มีทั้งการฟ้องร้องจากกลุ่มคริสเตียนอเมริกันว่าการใช้เวทมนตร์คาถาในหนังสือเป็นการเชิดชูศิลปะของพวกพ่อมดแม่มดให้แพร่หลายในหมู่เด็ก ๆ รวมถึงข้อขัดแย้งอีกหลายคดีเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า การที่นวนิยายชุดนี้เป็นที่นิยมอย่างมากและครอบครองมูลค่าตลาดสูงมาก ทำให้โรว์ลิ่ง สำนักพิมพ์ต่าง ๆ ของเธอ รวมถึงวอร์เนอร์ บราเธอร์ ผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์ ต้องใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อปกป้องลิขสิทธิ์ของตน ทั้งนี้รวมถึงการห้ามจำหน่ายสินค้าลอกเลียนแบบแฮร์รี่ พอตเตอร์ เหล่าเจ้าของเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่ใช้ชื่อโดเมนคาบเกี่ยวกับคำว่า "แฮร์รี่ พอตเตอร์" พวกเขายังฟ้องนักเขียนอีกคนหนึ่งคือ แนนซี สโตฟเฟอร์ เพื่อตอบโต้การที่เธอออกมากล่าวอ้างว่า โรว์ลิ่งลอกเลียนแบบงานเขียนของเธอ[60][61][62]กลุ่มนักอนุรักษ์นิยมทางศาสนาจำนวนมากอ้างว่า หนังสือชุดนี้เชิดชูศาสตร์ของพ่อมดแม่มด ดังนั้นจึงไม่เหมาะสมสำหรับเด็ก[63] นอกจากนี้ยังมีนักวิจารณ์อีกจำนวนหนึ่งวิพากษ์วิจารณ์ว่าหนังสือชุดนี้มีแง่มุมทางการเมืองซ่อนอยู่หลายประการ[64][65]
[แก้]การดัดแปลงไปยังสื่ออื่น
[แก้]ภาพยนตร์
ในปี พ.ศ. 2542 เจ. เค. โรว์ลิ่งขายสิทธิ์การสร้างภาพยนตร์จากหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์สี่เล่มแรกให้กับ วอร์เนอร์ บราเธอร์ส ในราคาหนึ่งล้านปอนด์สเตอร์ลิง[66] โรว์ลิ่งยืนยันให้นักแสดงหลักเป็นชาวสหราชอาณาจักร รวมถึงใช้ภาษาอังกฤษบริเตน[67] ภาพยนตร์สองภาคแรกกำกับโดยคริส โคลัมบัส ภาคที่สามโดยอัลฟองโซ กัวรอง ภาคที่สี่โดยไมค์ นิวเวลล์ และภาคที่ห้าโดยเดวิด เยตส์[68] บทภาพยนตร์ของสี่ภาคแรกเขียนโดยสตีฟ โคลฟ โดยร่วมงานกับโรว์ลิ่ง บทภาพยนตร์มีความเปลี่ยนแปลงจากหนังสือบ้างตามรูปแบบการนำเสนอของภาพยนตร์และเงื่อนไขเวลา อย่างไรก็ตาม โรว์ลิ่งได้กล่าวว่าบทภาพยนตร์ของโคลฟนั้นมีความตรงต่อหนังสือ[69]
ภาพยนตร์แฮร์รี่ พอตเตอร์ห้าภาคที่ผ่านมา มีนักแสดงหลักคือแดเนียล แรดคลิฟฟ์ เอ็มม่า วัตสันและรูเพิร์ท กรินท์ โดยแสดงเป็นแฮร์รี่ พอตเตอร์ เฮอร์ไมโอนี่ เกรนเจอร์ และรอน วีสลีย์ตามลำดับ โดยสามคนนี้ได้รับเลือกในปี พ.ศ. 2543 จากเด็กหลายพันคน[70] วอร์เนอร์บราเธอร์สได้ยืนยันว่านักแสดงหลักสามคนนี้จะร่วมแสดงในภาพยนตร์ภาคที่หกและเจ็ดด้วย[71]
นอกจากนี้ยังมีข่าวยืนยันจากวอร์เนอร์บราเธอรส์ว่าภาพยนตร์เรื่อง แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต จะถูกแบ่งเป็นสองตอน[72] กำกับโดย เดวิด เยตส์และสตีฟ โคลฟ จะกลับมาทำหน้าที่เขียนบทเช่นเดิม และทาง เจ. เค. โรว์ลิ่ง ได้เซ็นยอมรับแล้ว[73] ซึ่งทำให้ภาพยนตร์แฮร์รี่ พอตเตอร์จะมีต่อไปจนถึงปี พ.ศ. 2554 รวมแล้วตั้งแต่ภาคแรกจนถึงภาคสุดท้ายใช้เวลานานกว่า 10 ปี
- แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ (16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544)
- แฮร์รี่ พอตเตอร์กับห้องแห่งความลับ (15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545)
- แฮร์รี่ พอตเตอร์กับนักโทษแห่งอัซคาบัน (2 มิถุนายน พ.ศ. 2547)
- แฮร์รี่ พอตเตอร์กับถ้วยอัคนี (17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548)
- แฮร์รี่ พอตเตอร์กับภาคีนกฟีนิกซ์ (12 กรกฎาคม พ.ศ. 2550)
- แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเจ้าชายเลือดผสม (15 กรกฎาคม พ.ศ. 2552)
- แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต ภาค 1 (19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553)[73]
- แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต ภาค 2 (15 กรกฎาคม พ.ศ. 2554)
ภาพยนตร์ชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ประสบความสำเร็จอย่างมากในเรื่องรายได้ของภาพยนตร์ทั้ง 6 ภาคทำรายได้รวมมากกว่า 5,400ล้านเหรียญสหรัฐและภาพยนตร์ชุดที่ทำรายได้สูงสุดตลอดกาล[74]โดยภาคที่ทำรายได้ไปมากที่สุดคือ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ ซึ่งทำรายได้ไปกว่า 974 ล้านเหรียญสหรัฐ[75] ติดอยู่ในอันดับที่ 8 ภาพยนตร์ทำเงินตลอดกาลของบ็อกซ์ออฟฟิศ
ภาพยนตร์ชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์แต่ละภาคได้รับคำวิจารณ์จากแฟนหนังสือมากมาย ในภาคแรกและภาคที่สองซึ่งกำกับโดยคริส โคลัมบัส ตัวภาพยนตร์เองได้รับการดัดแปลงเล็กน้อยแต่ก็ยังคงเนื้อเรื่องในหนังสือไว้ แต่เนื้อหาของภาพยนตร์ก็เป็นภาพยนตร์ที่เหมาะสำหรับเด็ก จึงทำให้เด็กชมภาพยนตร์ภาคแรกและภาคสองมากกว่าผู้ใหญ่ ในภาคที่สามกำกับโดยอัลฟองโซ กัวรองที่ได้ปรับเปลี่ยนตัวปราสาทฮอกวอตส์และใช้บรรยากาศแบบมืดครึ้ม แต่ก็มีการปรับเปลี่ยนเนื้อเรื่องมากกว่าเดิมทำให้ฉากแอ๊คชั่นที่มีในหนังสือลดลงไป ส่วนในภาคที่สี่กำกับโดยไมค์ นิวเวลล์ เน้นหนักในเรื่องฉากแอ๊คชั่นและฉากต่อสู้ที่เพิ่มขึ้นกว่าเดิมมาก แต่การทำฉากแอ๊คชั่นมากเกินไป จึงทำให้เนื้อหาและบทบาทตัวละครในเรื่องลดลงตามไปด้วย และในภาคที่ห้าที่กำกับโดยเดวิด เยตส์ที่ได้มีการปรับเปลี่ยนเนื้อเรื่องและตัดเนื้อเรื่องบางตอนออกไป เนื่องจากเนื้อหาในหนังสือที่มากกว่าเล่มอื่น ๆ ฉากแอ๊คชั่นจึงลดลงทำให้ภาพยนตร์ออกมาในแนวดราม่า แต่ทางทีมงานก็ได้ใช้เทคนิคพิเศษมากกว่าภาคก่อนๆ ทำให้ภาพยนตร์ภาคที่ห้านี้ทำรายได้ไปถึง 938 ล้านเหรียญสหรัฐ[76] ส่วนในภาคที่หกเดวิด เยตส์ทำหน้าที่กำกับภาพยนตร์เช่นเคยโดยจะเน้นบทดราม่ามากกว่าฉากแอ๊คชั่นซึ่งมีอยู่น้อยมากและจะเน้นในเรื่องความสัมพันธ์ของตัวละครต่างๆแทน[77] ซึ่งก็ได้รับคำวิจารณ์ที่แตกต่างกันออกไป แต่อย่างไรก็ตามภาพยนตร์ภาคที่หกนี้ก็ได้สร้างสถิติใหม่นั่นก็คือ ภาพยนตร์ทำเงินทั่วโลกสูงสุดในสัปดาห์แรก โดยทำเงินไปทั้งสิ้น 394 ล้านเหรียญสหรัฐ[78]ทำลายสถิติของไอ้แมงมุม 3ที่เปิดตัวด้วยรายรับทั่วโลก 381 ล้านเหรียญสหรัฐ
[แก้]วิดีโอเกม
แฮร์รี่ พอตเตอร์ได้ถูกดัดแปลงในรูปแบบของวิดีโอเกมหลังจากที่ภาพยนตร์ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ เข้าฉายได้ไม่นานนัก ผลิตและพัฒนาโดยบริษัทเกมอิเลคโทรนิค อาร์ตที่ผลิตออกมาเป็นเกมรูปแบบผจญภัย ในชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ฉบับวิดีโอเกมที่สามารถเล่นได้กับเครื่องเพลย์สเตชัน 2 และต่อมาได้พัฒนาจนสามารถเล่นได้ทั้งเครื่องเอกซ์บอกซ์ 360, วี เป็นต้น ปัจจุบันได้มีการผลิตเกมที่ดำเนินตามเนื้องเรื่องในภาพยนตร์ออกมาแล้วจำนวนหกเกม นอกจากนี้ยังมีเกมควิดดิชเวิลด์คัพซึ่งไม่ได้ดำเนินตามเนื้อเรื่องในภาพยนตร์ แต่จะเป็นรูปแบบเกมกีฬาแทน ผลิตโดยบริษัทอิเลคโทรนิค อาร์ตเช่นกัน โดยเกมควิดดิชเวิลด์คัพนี้สามารถเล่นได้กับเครื่องเพลย์สเตชัน 2 และเอกซ์บอกซ์ เกมในชุดทั้งหมดมีดังนี้
- แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์
- แฮร์รี่ พอตเตอร์กับห้องแห่งความลับ
- แฮร์รี่ พอตเตอร์กับนักโทษแห่งอัซคาบัน
- แฮร์รี่ พอตเตอร์กับถ้วยอัคนี
- แฮร์รี่ พอตเตอร์กับภาคีนกฟีนิกซ์
- แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเจ้าชายเลือดผสม
- แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต
เกมชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ได้รับการสร้างภาคต่อขึ้นและมีการพัฒนารูปแบบของเกมไปเรื่อยๆในทุก ๆ ภาค เช่น การทำภาพสมจริง และเสียงประกอบ เป็นต้น นอกจากนั้นตัวละครในเกมบางส่วนยังได้รับเสียงพากย์จากนักแสดงตัวจริงที่แสดงในภาพยนตร์อีกด้วย
[แก้]ละครเพลง
แฮร์รี่ พอตเตอร์ได้รับการวางแผนให้ได้รับการดัดแปลงในรูปแบบละครเพลงซึ่งจะนำเนื้อหาจากหนังสือนิยายต้นฉบับมาดัดแปลง โดยจะใช้การร้องเพลงเป็นตัวดำเนินเรื่องและคาดว่าจะเริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นในปีต่อๆไป [79] ปัจจุบันการวางแผนให้แฮร์รี่ พอตเตอร์ดัดแปลงในรูปแบบละครเพลงนี้ยังอยู่ในรูปแบบโครงการและยังไม่ได้มีการเริ่มดัดแปลงแต่อย่างใด
[แก้]อิทธิพลและผลสืบเนื่อง
[แก้]วงดนตรี
แฮร์รี่ พอตเตอร์มีอิทธิพลต่อสื่อทางด้านวงดนตรีร็อกของกลุ่มวัยรุ่นชายเป็นอย่างมาก ในปี พ.ศ. 2545 ได้มีผลสำรวจว่ามีวงดนตรีร็อกของกลุ่มวัยรุ่นที่ได้รับแรงบันดาลใจหรืออิทธิพลจากแฮร์รี่ พอตเตอร์มากมายหลายร้อยวงด้วยกัน [80] วงที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดคือวง "แฮร์รีแอนด์เดอะพอตเตอร์ส" ซึ่งเป็นวงดนตรีอินดี้ร็อกที่นำเสนอเพลงแบบเรียบง่าย พวกเขาได้นำเนื้อหาบางส่วนในหนังสือมาแต่งเป็นบทเพลงของตน
[แก้]สวนสนุก
- ดูบทความหลักที่ สวนสนุกแฮร์รี่ พอตเตอร์
หลังจาก แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต วางแผงได้ไม่นานนัก ทางประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีการวางแผนและทำแบบแปลนการสร้างสวนสนุกที่เมืองออร์แลนโด รัฐฟลอริดา โดยจำลองสถานที่ต่าง ๆ ในวรรณกรรมแฮร์รี่ พอตเตอร์ ที่เกี่ยวกับสถานที่ในโลกเวทมนตร์เช่น ฮอกวอตส์ เป็นต้น สวนสนุกแห่งนี้วางแผนการสร้างโดย จิม ฮิล มีแบบจำลองปราสาทฮอกวอตส์ รวมไปถึงหมู่บ้านฮอกส์มีดส์อีกด้วย ทั้งนี้ได้รับการอนุญาตและยืนยันจาก เจ. เค. โรว์ลิ่ง ผู้เขียนแฮร์รี่ พอตเตอร์ เรียบร้อยแล้ว
ผู้สร้างสวนสนุกยังได้เชิญ เจ. เค. โรว์ลิ่ง ให้มาร่วมทำการเนรมิตสวนสนุกแห่งนี้ เพื่อทำให้เหมือนกับสถานที่ในหนังสือของเธอให้มากที่สุด โรว์ลิ่งตอบตกลง ขณะนี้ได้เริ่มทำการก่อสร้างและวางโครงร่างแล้ว มีกำหนดการเปิดสวนสนุกให้เข้าชมในวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2553 [81]
[แก้]มักเกิ้ลควิดดิช
ควิดดิช ถือเป็นกีฬายอดฮิตในโลกเวทมนตร์ ที่บรรดาพ่อมดแม่มดจะขึ้นไปขี่บนไม้กวาดและเล่นกับลูกบอลสี่ลูกด้วยกัน แต่มนุษย์ทั่วไปหรือที่โลกพ่อมดเรียกกันว่ามักเกิ้ลก็พยายามเล่นกีฬาประเภทนี้ในวิธีอื่น ๆ โดยใช้จักรยานหรือจักรยานยนต์แทนไม้กวาด นักศึกษามหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่งพยายามเลียนแบบการเล่นกีฬานี้ในแบบฉบับของมักเกิ้ล มีการทดลองเล่นกีฬาควิดดิชในแบบฉบับของมักเกิ้ลเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2548[82] ที่เลียนแบบควิดดิชจากโลกเวทมนตร์ โดยใช้ห่วงติดกับท่อ ใช้ลูกบอลขนาดต่าง ๆ เช่น ลูกวอลเลย์บอล ลูกบาสเกตบอล แทนลูกควัฟเฟิล ใช้ไม้เทนนิสแทนบีตเตอร์ และใช้คนแทนลูกสนิช
Post a Comment