ไนกี้ เผย ‘โปร-ฮิญาบ’ ไอเท็มที่ทำลายทุกข้อจำกัดของผู้หญิงมุสลิมในโลกกีฬา

HIGHLIGHTS:

  • ไนกี้ โปร ฮิญาบ เกิดจากแรงบันดาลใจของ ซาราห์ อัตทาร์ (Sarah Attar) นักวิ่งหญิงทีมชาติซาอุดีอาระเบีย ที่สวมฮิญาบลงแข่งขันในกีฬาโอลิมปิก 2012 ที่กรุงลอนดอน และอัมนา อัล ฮัดดัด (Amna Al Haddad) นักยกน้ำหนักหญิงทีมชาติสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่ลงแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2016 ที่กรุงรีโอเดจาเนโร รวมถึงจากคำร้องขออีกมากมายจากเหล่านักกีฬาหญิงมุสลิมที่ขอให้ไนกี้ช่วยออกแบบฮิญาบที่เหมาะสมสำหรับการเล่นกีฬาโดยเฉพาะ เพื่อให้พวกเธอสามารถทำผลงานได้ดีขึ้น
  • การออกแบบนี้ไม่เพียงจะทำให้นักกีฬาหญิงมุสลิมทำผลงานการแข่งขันได้ดีขึ้น  เปิดเผยความสามารถที่แท้จริงออกมาแล้ว ยังจะทำให้ผู้หญิงมุสลิมอีกจำนวนมากสนใจการเล่นกีฬามากขึ้นด้วยเช่นกัน
  • นักกีฬาหญิงมุสลิมจะต้องรอ โปร ฮิญาบ จากไนกี้ อีกประมาณ 1 ปี (คาดว่าจะจำหน่ายได้ในช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 2018) แต่มันจะเป็นการรอคอยที่คุ้มค่าอย่างแน่นอน

 ณ เข็มนาฬิกาเดินไป ‘ผู้หญิง’ และ ‘กีฬา’ อยู่ใกล้ชิดกันกว่าในอดีตมากครับ
     หากเราไปเดินในห้างสรรพสินค้า เราจะเห็นผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายสำหรับการเล่นกีฬาของผู้หญิงที่มีเยอะมากกว่าสมัยก่อนหลายเท่า
     กระแสรักสุขภาพในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทำให้บริษัทผลิตภัณฑ์กีฬายักษ์ใหญ่หันมาให้ความสำคัญกับตลาดกลุ่มนี้อย่างจริงจัง พวกเขาไม่ได้แค่ปรับเปลี่ยนสิ่งที่ออกแบบสินค้าของผู้ชายด้วยการ ‘ย้อมสี’ ให้สดใสเท่านั้น หากแต่ยังมีการออกแบบเป็นการเฉพาะเพื่อตอบรับกับทุกโจทย์ ไม่ว่าจะเรื่องสรีระ หรือรสนิยม
     ปัจจุบันเรามีแม้กระทั่งรองเท้าฟุตบอลหญิงที่ถูกออกแบบเพื่อเท้านุ่มๆ น้อยๆ ของพวกเธอ ที่บางสี บางคู่ แม้แต่ผู้ชายเองก็ยังแอบอิจฉา เพราะอยากได้สีแบบนี้แต่ไม่มีสิทธิ์
     อย่างไรก็ดีที่ผ่านมายังมีบางเรื่องที่ไม่ได้รับการเหลียวแลมาก่อน
     ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญ เพราะมันเป็น ‘อุปสรรค’ ในการเล่นกีฬาของผู้หญิงจำนวนมาก
     ผู้หญิงกลุ่มที่ว่าคือสตรีมุสลิม ที่มีประเพณีในการสวม ‘ฮิญาบ’ หรือผ้าคลุมศีรษะ ที่เป็นข้อจำกัดที่ส่งผลกระทบต่อการเล่นกีฬาไม่น้อย
     จนบางครั้งข้อจำกัดนี้เกือบทำลายความฝันของพวกเธอโดยไม่ตั้งใจ
 
คำว่า ‘ฮิญาบ’ นั้นมีความหมายว่า ‘ปิดกั้น’

 
‘ฮิญาบ’ อุปสรรคโดยไม่เจตนา
     ฮิญาบ หรือภาษามลายูปัตตานีว่า กาเฮงกลูบง คือผ้าคลุมศีรษะของผู้หญิงมุสลิม ซึ่งศาสนาอิสลามระบุให้ผู้หญิงสวมผ้าคลุมผมจนปิดหน้าอกเพื่อเป็นการปกปิดร่างกายให้มิดชิดเป็นการสำรวม
     โดยคำว่า ‘ฮิญาบ’ นั้นมีความหมายว่า ‘ปิดกั้น’
     ปกติแล้วสตรีมุสลิมจะคลุมฮิญาบโดยเปิดเผยแค่ใบหน้าและฝ่ามือแล้วแต่ประเพณีของประเทศต่างๆ และมีบางประเทศที่มีการปกปิดเหลือเพียงแค่ลูกตาเท่านั้น ซึ่งไม่ได้เป็นการปกปิดเพื่ออำพราง แต่เป็นการป้องกันตัวเองจากฟิตนะห์ ที่มีความหมายถึง ความไม่ดีไม่งามทางสังคม เช่น ป้องกันการถูกแซว หรือการหยอกล้อเชิงชู้สาวจากเพื่อนชาย
     แต่ในการเล่นกีฬาแล้ว การสวมฮิญาบเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งแม้ไม่ตั้งใจ
     ลองจินตนาการภาพนักกีฬาหญิงที่ต้องสวมฮิญาบลงเล่นฟุตบอล, บาสเก็ตบอล, วิ่งแข่ง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกีฬาว่ายน้ำ ก็น่าจะเข้าใจถึงความลำบากของพวกเธอครับ
     ที่ผ่านมานักกีฬา (รวมถึงผู้หญิงมุสลิมที่ต้องการเล่นกีฬาทั่วไป) ลำบากอย่างมากในการหาทางให้ตัวเองเล่นกีฬาได้โดยไม่ผิดต่อหลักศาสนา
     ในการปกปิดเรือนร่างพวกเธอใส่กางเกงขายาวและเสื้อแขนยาวได้ แต่สำหรับผ้าคลุมศีรษะนั้นเป็นเรื่องไม่ง่ายนักในการจะหาผ้าคลุมที่ปกปิดได้โดยให้ความสบายในการสวมใส่ และไม่กลายเป็นอุปสรรคในการเล่นกีฬาเสียเอง
     บันทึกฉบับหนึ่งในโลกออนไลน์โดยนักเขียนที่ชื่อ shireen บอกเล่าความลำบากของการหาฮิญาบเพื่อเล่นกีฬา
     ครั้งหนึ่งในช่วงปลายยุค 90s เธอต้องไปร้านกีฬาเพื่อซื้อเสื้อเชิ้ต 1 ตัว ซึ่งได้รับคำแนะนำจากคนขายว่าทำจากผ้าชนิดใหม่ที่มีคุณสมบัติยืดหยุ่น เธอจำเป็นต้องตัดเสื้อตัวนั้นเป็นชิ้นๆ เพื่อทำเป็นผ้าคาดผมชั้นใน ก่อนหน้านั้นเธอจำเป็นต้องสวมฮิญาบที่ทำจากผ้าฝ้ายสีขาว 2 ผืนที่มีขอบลูกไม้
     แม้จะรู้ว่าอาจเป็นตัวตลกในสายตาคนอื่นที่ไม่เข้าใจในประเพณีศักดิ์สิทธิ์ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะสิ่งที่เธอสนใจคือผลงานในสนามเท่านั้น
     สิ่งที่ผู้หญิงมุสลิมต้องการสำหรับการเล่นกีฬาไม่มีอะไรมากไปกว่าเสื้อผ้าที่ทำกิจกรรมได้อย่างสะดวกสบาย ไม่มีเข็มหมุดหล่นแล้วฮิญาบหลุด
     ที่ผ่านมามีความพยายามในการออกแบบเสื้อผ้าสำหรับนักกีฬาที่สวมฮิญาบโดยผู้หญิงมุสลิมอยู่ไม่น้อย โดยที่พยายามจะออกแบบให้เหมาะสมและตรงกับข้อกำหนดของสมาคมกีฬาต่างๆ เพื่อให้พวกเธอสามารถลงแข่งขันได้ และไม่ถูกกีดกันจากการแข่งกีฬาที่พวกเธอรัก
     แต่ด้วยข้อจำกัดทางเทคโนโลยีการออกแบบของบริษัทหรือห้างร้านเล็กๆ ทำให้ฮิญาบที่ผลิตขึ้นมาสำหรับนักกีฬานั้นยังมีจุดบกพร่องอยู่
     ดีแต่ไม่ที่สุด
     ตอบสนองแต่ไม่ตรงจุด
     ได้เพียงปกปิดร่างกาย แต่ไม่สามารถเปิดเผยความสามารถที่แท้จริง
 
ฮิญาบสำหรับการเล่นกีฬาควรจะมีน้ำหนักเบา หายใจได้สะดวก และยึดติดแน่น โดยไม่ให้พวกเธอต้องกังวลว่าฮิญาบจะเคลื่อนหรือหลุด

 
‘โปร ฮิญาบ’ การออกแบบที่เชื่อมโลกกีฬาและศาสนาเข้าด้วยกัน
     ข่าวการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ของ ‘ไนกี้’ เจ้าแห่งนวัตกรรมกีฬา ที่ชื่อว่า ‘ไนกี้ โปร ฮิญาบ’ (Nike Pro Hijab) ถือเป็นหนึ่งในข่าวดีรับวันสตรีสากล (8 มี.ค.)
     เพราะนี่คือ ‘ตัวประสาน’ ที่จะเชื่อมโยงระหว่างกีฬาและศาสนาเข้าด้วยกันได้อย่างลงตัว
     ไนกี้ โปร ฮิญาบ เกิดขึ้นจากแรงบันดาลใจของ ซาราห์ อัตทาร์ (Sarah Attar) นักวิ่งหญิงทีมชาติซาอุดีอาระเบีย ที่สวมฮิญาบลงแข่งขันในกีฬาโอลิมปิก 2012 ที่กรุงลอนดอน และ อัมนา อัล ฮัดดัด (Amna Al Haddad) นักยกน้ำหนักหญิงทีมชาติสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่ลงแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2016 ที่กรุงรีโอเดจาเนโร
     รวมถึงจากคำร้องขออีกมากมายจากเหล่านักกีฬาหญิงมุสลิมที่ขอให้ไนกี้ช่วยออกแบบฮิญาบที่เหมาะสมสำหรับการเล่นกีฬาโดยเฉพาะ เพื่อให้พวกเธอสามารถทำผลงานได้ดีขึ้น
     จากแรงบันดาลใจและเสียงเรียกร้อง นำไปสู่การเชิญ อัล ฮัดดัด และนักกีฬาหญิงมุสลิมอีกหลายคน มาเป็นที่ปรึกษาในการออกแบบฮิญาบสำหรับนักกีฬา ว่าพวกเธอต้องการเห็นฮิญาบในรูปแบบไหน และต้องการให้มีประสิทธิภาพแบบไหน
     สิ่งที่พวกเธอต้องการไม่มีอะไรมากไปกว่าการที่ฮิญาบสำหรับการเล่นกีฬาควรจะมีน้ำหนักเบา หายใจได้สะดวก และยึดติดแน่น โดยไม่ให้พวกเธอต้องกังวลว่าฮิญาบจะเคลื่อนหรือหลุด
     ความร่วมมือกันทำให้เกิดฮิญาบที่ทำจากโพลีเอสเตอร์น้ำหนักเบาที่ถูกขึ้นรูปแบบ ‘ตาข่าย’ (mesh) ซึ่งมีรูปเล็กๆ จำนวนมากช่วยในการหายใจ ที่สำคัญคือต้องไม่ร้อนด้วย เพราะไนกี้คำนึงถึงเรื่องอากาศร้อนจัดในประเทศมุสลิมทางตะวันออกกลางที่อุณหภูมิสามารถขึ้นสูงถึง 130 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 54 องศาเซลเซียส
     ฮิญาบที่ออกแบบโดยไนกี้ถูกนำไปทดสอบโดย มานาล รอสตอม (Manal Rostom) โค้ชนักวิ่งชาวอียิปต์ และ ซาห์รา ลารี (Zahra Lari) นักกีฬาฟิกเกอร์สเกตชาวสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมถึงนักกีฬาทั่วไปในแถบตะวันออกกลาง
     ผลลัพธ์นั้นออกมาดีทีเดียวครับ ทำให้ไนกี้ตัดสินใจเปิดตัว ไนกี้ โปร ฮิญาบ ขึ้นเมื่อวันที่ 7 มี.ค. ที่ผ่านมา
     ถึงแม้ว่านักกีฬาหญิงมุสลิมจะต้องรอ โปร ฮิญาบ จากไนกี้ อีกประมาณ 1 ปี (คาดว่าจะจำหน่ายได้ในช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 2018) แต่มันจะเป็นการรอคอยที่คุ้มค่าอย่างแน่นอน
     การออกแบบนี้ไม่เพียงจะทำให้นักกีฬาหญิงมุสลิมทำผลงานการแข่งขันได้ดีขึ้น เปิดเผยความสามารถที่แท้จริงออกมาแล้ว ยังน่าจะทำให้ผู้หญิงมุสลิมอีกจำนวนมากสนใจการเล่นกีฬามากขึ้นด้วยเช่นกัน และเชื่อว่าบริษัทยักษ์ใหญ่อีกหลายแห่งไม่ว่าจะเป็น Adidas, Under Armour ฯลฯ ก็น่าจะออกแบบฮิญาบเพื่อการกีฬาตามมา
     ฮิญาบสำหรับการกีฬาน่าจะมีการพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ
     อุปสรรคที่เหลืออยู่จึงมีเพียงเรื่องของกฎข้อบังคับของสมาคมกีฬาบางแห่งที่ยังขัดขวางการเล่นกีฬาของสตรีชาวมุสลิม
     และ ‘ทัศนคติ’ ของคนบางกลุ่มที่มองพวกเธออย่างไม่เข้าใจ
     เรื่องเหล่านี้ต้องใช้เวลาครับ แต่อย่างน้อยที่สุดสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงได้เริ่มขึ้นแล้วครับ และจะไม่มีวันที่มันจะกลับไปแย่เหมือนเดิมแน่นอน :)

อ้างอิง:
     - www.dailymail.co.uk/news/article-4289222/Nike-set-launch-Pro-Hijab-Muslim-athletes.html?ito=social-facebook
     - www.patheos.com/blogs/mmw/2015/06/sports-hijab-industry-wins-or-does-it/?ref_widget=related&ref_blog=mmw&ref_post=are-we-truly-breaking-stereotypes-about-muslim-women

DID YOU KNOW?

  • ซาราห์ อัตทาร์ (Sarah Attar) นักวิ่งหญิง และ วอดยาน ชาเฮอร์คานี (Wojdan Shaherkani) เป็นนักกีฬาหญิง 2 คนแรกของทีมชาติซาอุดีอาระเบีย ที่เข้าร่วมแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2012 ที่กรุงลอนดอน
  • แต่ในการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนั้น ชาเฮอร์คานีเกือบถูกตัดสิทธิ์จากการแข่งขันเพราะสวมฮิญาบ เพราะกีฬายูโดมีข้อกำหนดว่าห้ามสวมผ้าคาดหัวลงแข่งขัน จนต้องมีการเจรจาและสุดท้ายสามารถลงแข่งขันได้
  • สมาคมกีฬาว่ายน้ำสมัครเล่น (Amateur Swimming Association) มีการเปลี่ยนแปลงกฎเกี่ยวกับชุดว่ายน้ำแบบเต็มตัวว่าให้อนุญาตใส่ลงแข่งขันได้ หลังจากที่เคยแบนจากการแข่งโอลิมปิก เพราะช่วยเรื่องของผลงานนักกีฬา ซึ่งต่อมาทางมูลนิธิกีฬาหญิงมุสลิม (Muslim Women’s Sport Foundation) ได้ร้องขอให้มีการอนุโลม เพื่อให้หญิงมุสลิมสามารถลงแข่งขันว่ายน้ำได้สะดวกขึ้น

เครดิต: Momentum