'คิมฟุค' ความคิดให้อภัย

บางท่านอาจยังนึกไม่ออกว่า " คิมฟุค " คือใคร ก็ลองหลับตานึกย้อนไปตอนสงครามเวียดนามซีครับ มีภาพอยู่ภาพหนึ่งที่เผยแพร่-โด่งดังจนได้รับรางวัลระดับโลก หนังสือพิมพ์บ้านเราก็ยังเอามาลงหน้า ๑ อยู่บ่อยๆ

ภาพที่เด็กหญิงคนหนึ่ง เนื้อตัวล่อนจ้อน ตื่นตระหนกตกใจ ยืนร้องไห้อยู่กลางถนนคนเดียว ท่ามกลางความสับสนอลหม่านของชาวบ้านที่แตกฉานซ่านเซ็นหนีตาย ท่ามกลางควันโขมงจากไฟระเบิดนาปาล์มของสหรัฐ   

คิมฟุค วันนี้ คือเด็กหญิงเหยื่อสงครามผู้ " บ้านแตก-สาแหรกขาด " ครั้งนั้น สิ่งเดียวที่ " คืนชีวิต " แท้จริงให้กับเธอ ณ วันนี้ คำเดียวสั้นๆ คือ 

อภัย  "  
เปลวสีเงิน - 9 กุมภาพันธ์ 2551  
'คิมฟุค'ความคิดเซ่นเทศกาลตรุษ
วันนี้ผมมีเรื่อง  " คิมฟุค " จากอินเทอร์เน็ตลอกมาเล่าสู่กันฟัง " คิมฟุค " คือใคร.เอาไว้ท่านอ่านดูเองแล้วกัน  

" คิมฟุค " คือเด็กหญิงชาวเวียดนามใต้คนนั้น ซึ่งช่างภาพอเมริกันได้ถ่ายไว้ ขณะที่เธอและเพื่อนบ้านกำลังแตกตื่นหนีภัย   แม้เธอจะรอดตายจากระเบิดนาปาล์มที่ทิ้งลงหมู่บ้านของเธอ แต่ไฟก็ได้เผาลวกผิวหนังของเธอถึง ๖๕%  

เธอต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลถึง   ๑๔ เดือน และผ่านการผ่าตัดถึง ๑๗ ครั้ง กว่าจะหายเป็นปกติ  

เธอยังโชคดี เมื่อเทียบกับลูกพี่ลูกน้องอีก   ๒   คน ซึ่งตายเพราะทนพิษบาดแผลไม่ไหว

นั่นคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๑๕   เมื่อเวียดนามกลายเป็นคอมมิวนิสต์   ๓   ปีต่อมา   ก็ไม่มีข่าวคราวของเธอปรากฏสู่โลกภายนอกอีกเลย 
 แต่แล้ววันหนึ่งในปี พ.ศ.๒๕๓๙ คิมฟุคก็ได้มาปรากฏตัวอยู่ต่อหน้าชาวอเมริกัน ซึ่งเคยผ่านสมรภูมิเวียดนาม เธอได้รับเชิญให้มาพูดเนื่องในโอกาสวันทหารผ่านศึก ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.  

การได้มาเผชิญหน้ากับบุคคล ซึ่งครั้งหนึ่งได้เคยมาทำลายบ้านเกิดเมืองนอนของเธอ   ทำให้ญาติพี่น้องของเธอต้องตาย   และเกือบฆ่าเธอให้ตายไปด้วยนั้น   ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ทำใจได้ง่ายนัก แต่เธอมาก็เพื่อจะบอกให้พวกเรารู้ว่า สงครามนั้นได้ก่อความทุกข์ทรมานแก่ผู้คนอย่างไรบ้าง 

หลังจากที่เล่าถึงประสบการณ์อันเจ็บปวดของเธอแล้ว เธอก็ได้เผยความในใจว่า   มีเรื่องหนึ่งที่เธออยากจะบอกต่อหน้านักบินที่ทิ้งระเบิดใส่หมู่บ้านของเธอ
พูดมาถึงตรงนี้ก็มีคนส่งข้อความมาบอกว่า คนที่เธอต้องการพบกำลังนั่งอยู่ในห้องประชุมนี้ เธอจึงเผยความในใจออกมาว่า

" ฉันอยากบอกเขาว่า เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ได้ แต่เราควรพยายามทำสิ่งดีๆ เพื่อส่งเสริมสันติภาพทั้งในปัจุบัน และอนาคต "   

เมื่อเธอบรรยายเสร็จ ลงมาจากเวที อดีตนักบินที่เกือบฆ่าเธอก็มายืนอยู่เบื้องหน้าเธอ  

เขามิใช่ทหารอีกต่อไปแล้ว   แต่เป็นศาสนาจารย์ประจำโบสถ์แห่งหนึ่ง เขาพูดด้วยสีหน้าเจ็บปวดว่า  

" ผมขอโทษ ผมขอโทษจริงๆ "  

คิมเข้าไปโอบกอดเขา แล้วตอบว่า  

" ไม่เป็นไร ฉันให้อภัย ฉันให้อภัย "  

ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่เราจะให้อภัย โดยเฉพาะกับคนที่ทำร้ายเราปางตาย   คิมฟุคเล่าว่า เหตุการณ์ครั้งนั้นสร้างความทุกข์ทรมานแก่เธอทั้งกายและทั้งใจ จนเธอเองก็ไม่รู้ว่าจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อย่างไร  

แต่แล้วเธอก็พบว่า สิ่งที่ทำร้ายเธอจริงๆ   มิใช่ใครที่ไหน   หากได้แก่ความเกลียดชังที่ฝังแน่นในใจเธอนั่นเอง  ' ฉันพบว่าการบ่มเพาะความเกลียดเอาไว้สามารถฆ่าฉันได้ '  

เธอพยายามสวดมนต์   และแผ่เมตตาให้ศัตรู และแก่คนที่ก่อความทุกข์ให้เธอ  แล้วเธอก็พบว่า  

' หัวใจฉันมีความอ่อนโยนมากขึ้นเรื่อยๆ เดี๋ยวนี้ฉันสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องเกลียด '  

เราไม่อาจควบคุมกำกับผู้คนให้ทำดี   หรือไม่ทำชั่วกับเราได้   แต่เราสามารถควบคุมกำกับจิตใจของเราได้  

เราไม่อาจเลือกได้ว่า รอบตัวเราต้องมีแต่คนน่ารัก พูดจาอ่อนหวาน  

แต่เราสามารถเลือกได้ว่า   จะทำใจอย่างไร เมื่อประสบกับสิ่งไม่พึงปรารถนา

คิมฟุค ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของตัวเองว่า  ' ฉันน่าจะโกรธ แต่ฉันเลือกอีกทางหนึ่ง แล้วชีวิตฉันก็ดีขึ้น '  

บทเรียนของคิมฟุค   คือ ในเมื่อเราเปลี่ยนแปลงอดีตไม่ได้ เราจึงไม่ควรปักใจอยู่กับอดีต แต่เราสามารถเรียนรู้จากอดีตเพื่อทำปัจจุบันและอนาคตให้ดีขึ้นได้

บทเรียนจากอดีตอย่างหนึ่งที่เธอได้เรียนรู้มาก็คือ   การอยู่กับความโกรธ เกลียด และความขมขื่น นั้น ทำให้เธอเห็นคุณค่าของการให้อภัย.  

ครับ