ยายยิ้มไม่ได้ขาดอะไร แต่โลกขาดคนอย่างยายยิ้ม ต่างหาก....
ท่ามกลางกระแสร้อนแรงตลอดรอบปีที่ผ่านมา ชวนให้หลายคนถึงกับอมทุกข์ เบื่อหน่าย ไปกับการดำรงชีวิตแบบ "วิถีมนุษย์" ซึ่งต้องปากกัด ตีบถีบ ยื้อแย่ง เรียกร้อง และวางตัว ในสังคม โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อความอยู่รอดสุขสบายของตัวเอง เพื่อใครบ้างคน(หรือหลายคน) เพื่อตำแหน่งหน้าที่ เพื่อสิทธิ เท่าเทียม เพื่อความเป็นธรรม เพื่อประชาธิปไตย เพื่อ...ฯลฯ ถูกยกย่องบ้าง สร้างความเดือดร้อนแสนเข็ญบ้าง ก็แล้วแต่ว่า คนหรือมวลหมู่เหล่านั้น ได้สร้างหรือรับประโยชน์ให้กับใคร จากผู้ใด กลุ่มไหน จำนวนมากเท่าไหร่ กว่ากัน...
ดูเหมือน ปี 2553 นี้ ตามหน้าสื่อหลายแขนงจะนำเสนอบุคคลตัวอย่างที่ควรค่าแก่การยกย่องในด้านสังคมน้อยกว่า การนำเสนอข่าว หรือสกู๊ปที่เกิดขึ้นจากความรุนแรงทางการเมือง นักการเมืองด่าทอ เรื่องอื้อฉาวของดารา อุบัติเหตุ หรือแม้แต่ภัยธรรมชาติน้อยกว่าปีที่ผ่านๆมา เสียหน่อย แต่ใช่ว่า คนที่ทำดี (แบบไม่สร้างภาพ) จะลดน้อยไปเสียหน่อย
หากจะพูดถึงนักสู้ผู้ไม่แพ้ จาก " คนค้นฅน อวอร์ด" ครั้งที่ 1 เมื่อปี 2552 อาจไม่คุ้น แต่ถ้าเอ่ยนาม " สุทธิ อัชฌาศัย" กว่าค่อนประเทศคงรู้จักเขา ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ที่มีบทบาทร่วมกับชาวบ้านในการเคลื่อนไหวคัดค้านและเดินหน้าชนกลุ่มทุนอุตสาหกรรมขนาดยักษ์ซึ่งเข้ามาแสวงหาประโยชน์ บนพื้นที่ จ. ระยอง มาเป็นระยะเวลาหลายปี หนุ่มนักเคลื่อนไหวภาคประชาชนวัย 30 ต้นๆ จึงกลายเป็นผู้นำการต่อสู้ที่กล้าชนดะ กับนายทุนและรัฐอย่างเด็ดเดี่ยวไม่เกรงกลัวอำนาจใด โดยเฉพาะกับกรณี มหากาพย์มาบตาพุด กระทั่งศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ระงับ 76 โครงการตามคำฟ้องของชาวบ้านไปแล้ว |
ถึงวันนี้ ทั้ง สุทธิ และชาวมาบตาพุด ก็ยังคงต้องเหนื่อยกับก้าวที่ต้องสู้ต่อด้วยอยากเห็นคุณภาพชีวิตซึ่งมุ่งเน้นไปที่สุขภาพกายและใจไม่ต้องผจญกับปัญหามลพิษคุกคามของชาวระยอง มากกว่าการ "พัฒนา" ที่มักแฝงคู่มากับ "ความเสื่อมถอย" ของจิตใจคนกันต่อไป...
ช่วงปีที่ผ่านมา ชื่อของ "หมอเขียว" หรือ "ใจเพชร กล้าจน" ถูกกล่าวขานบอกต่อกันออกไปเป็นวงกว้าง ชาวบ้านผู้ไม่มั่งมีส่วนใหญ่รู้จักและต่างพึ่งพิงการรักษาโรคภัยทางเลือกจากเขา โดยใช้แพทย์วิถีพุทธ ด้วยการยึดถือคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นแก่น
ความพยายามช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้หายจากโรคภัยของหมอเขียว ทำให้หลายคนได้เห็นว่า ชีวิตที่ปราศจาคโรคภัย ไม่จำเป็นต้องใช้เงินทองมากมาย แต่หากเป็นการนำรวมเอาหลายๆวิถีมาประกอบกัน ก็เพียงพอแล้วสำหรับการดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข ยังผลให้คนจำนวนหนึ่งให้ความไว้วางใจ "หมอเขียว" มากกว่าแพทย์แผนปัจจุบัน ด้วยวิธีรักษาที่เรียบง่าย ผสมสานแพทย์ต่างๆ ประกอบการใช้สมุนไพร แล้วใช้ธรรมมะเป็นตัวเชื่อม ทั้งยังไม่มีค่าใช้จ่าย สมดังสโลกแกน "ศูนย์บาท รักษาทุกโรค"
แต่สำหรับผู้ที่มติชนออนไลน์เลือกให้เป็น1 ใน 10 ผู้ทรงอิทธิพลแห่งปี ด้านสังคม ขอยกให้เป็น คุณ ยายยิ้ม จันทร์พร หรือ ยายยิ้ม เย้ยยาก หญิงชราวัย 83 ปี ชาวจังหวัดพิษณุโลก ที่เลือกจะ อาศัยอยู่กลางป่าลึกตัวคนเดียว ไร้ระบบสาธารณูปโภคใดๆ มากกว่าแสวงหาความสุขสบายยามบั้นปลายชีวิตในสังคมเมืองกับบ้านหลังโต รถคันงาม แวดล้อมไปด้วยลูกหลาน เงินทอง มานานกว่า 20 ปี ทั้งๆ ที่ไม่ได้ถูกคนในครอบครัวทอดทิ้ง และ ยายยิ้มก็ไม่ใช่พวกปฏิเสธสังคม แต่เธอเลือกที่จะ"พึ่งตัวเอง" มากกว่า "ขอความช่วยเหลือ" จากใคร
คนไทยกลุ่มเล็กๆ รู้จักยายยิ้ม ครั้งแรกผ่าน นิตยสาร ฅ.คน ฉบับเดือนตุลาคม 2553 จากนั้นรายการดังอย่างคนค้นฅน ก็นำเสนอเรื่องราวของยายยิ้ม ผ่านภาพจริง เผยแพร่ทางทีวีตามมา เพิ่มปริมาณคนรู้จัก และอยากรู้จัก คุณยายให้เพิ่มขึ้น จากปากต่อปาก กลายเป็นส่งลิงค์ดูทีวีย้อนหลังทางอินเตอร์เน็ต เพียงไม่นาน ชื่อของ ยายยิ้ม เย้ยยาก ก็กลายเป็นที่รู้จัก เป็นที่รักของผู้มีโอกาสได้ติดตามเรื่องราว เป็นข่าวออกโทรทัศน์ เป็นเรื่องที่สังคมเริ่มพูดถึง จี้จุดต่อมสำนึกให้ใครอีกหลายคนที่มัวแต่ยึดปัญหาตัวเองเป็นหลักใหญ่จนต้องหันไปปรับทัศนคติใหม่ ดูราวไม่ต่างจากการได้รู้จัก " ปู่เย็น เฒ่าทรนง แห่งลุ่มน้ำเพชรบุรี" ซึ่งเสียชีวิตไปก่อนหน้านี้ |
ผู้เฒ่าร่างเล็ก ใบหน้ายับย่นตามริ้วรอยแห่งวัย มวยผมสีดำแซมขาวหลวมๆ สวมเสื้อเก่ามอซอ กับนุ่งผ้าถุงลายสีเริ่มซีด กระย่องกระแย่งๆ เดินลึกเข้าไปในป่า ออกแรงตัด ดึง ทึ้งไม้ไผ่ลำสูงมาสร้างฝายให้ครบ 14 ฝายตามความมุ่งหวัง แม้ตอนนี้ ฝายซึ่งสำเร็จมาแล้วถึงอันที่ 11 จะไม่สมบูรณ์ดี แต่ยายยิ้มยังเพียรสร้างต่อไปโดยไม่ทดท้อ ด้วยสองมือของตัวเอง
ไม่มีใครจ้างให้เธอทำ ไม่มีงบประมาณจากหน่วยราชการที่ไหน แต่ ยายยิ้ม มีแค่ "ใจ กับ จอบ" ค่อยๆ โกยคันดิน ทีละเล็กทีละน้อยให้ถมสูงขึ้นๆ ด้วยหวังให้ฝายเล็กๆ ด้วยสองมือหยาบกร้านที่เหี่ยวย่น จะพอช่วยบรรเทาชีวิตเมื่อยามหน้าแล้งให้เธอได้อาศัยน้ำ หล่อเลี้ยงต้นไม้และสัตว์ได้พึ่งประโยชน์ รวมถึงทานแรงดันของกระแสน้ำที่ไหลบ่า ไม่ให้ทะลักไหลลงสู่เบื้องล่างทำความเสียหายให้กับชาวบ้านในพื้นที่ต่ำ
"รักในหลวง พระราชินี ท่านเป็นพระเจ้าแผ่นดินท่านยังทำ ยายอยากทำได้แบบที่เขาแนะ ท่านไม่เห็น ผีสางเทวดาต้องเห็น ว่ายายทำจริงด้วยความจริงใจ"
"ทำฝาย หากเกินกำลังมันเกินอยู่แล้ว ถ้าไม่มีความพยายามทำไม่ได้หรอก"
"ถ้าวันนี้เราเหนื่อย กำลังหมด พรุ่งนี้แรงมันก็มีมาเองใหม่"
บ้านไม้หลังย่อมสร้างเกือบเสร็จของยายยิ้ม ที่มิอาจต้านแรงฝนได้ยามกระหน่ำหนัก หรือกันลมหนาวที่เสียดแทรกผ่านไปยังผิวหนัง มีแค่กล่องกระดาษใส่เสื้อผ้า หมอนหนุนซอมซ่อ บนเสื่อเกือบขาด ถังพลาสติกใส่ข้าวซึ่งเป็นรูจากหนูกัด ยายยิ้มไม่มีนาฬิกาดูเวลา ไม่มีปฏิทินบอกคืนวัน แต่เธอเรียนรู้เอาเองจากการ "จดจำ" และ "กฎของธรรมชาติ"
ก่อนฟ้าสางยายยิ้มจะตื่นมาจุดฟืนหุงหาอาหาร ทำความสะอาดบ้าน กราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก่อนไปตัดฟืน สร้างฝาย ฯลฯ นี่คือกิจวัตรที่ยายยิ้มทำอยู่สม่ำเสมอมิได้ขาด ท่ามกลางความเงียบสงัด ปราศจากความอึกทึกของผู้คน รถรา ความวุ่นวายใดๆ มีเพียงแค่เสียงใบไม้กระหวัดปลิวลู่ไปมาตามสายลม เสียงหริ่งเรไร สัตว์น้อยใหญ่ที่ขับขานกู่ก้องในธรรมชาติเท่านั้นที่เป็นเพื่อน
วันสำคัญของยายยิ้ม ไม่ใช่วันเกิด ไม่ใช่วันหยุดราชการ แต่ คือ " วันพระ" ที่บรรจบมาทุกอาทิตย์ ทุกๆ วันโกน ยายยิ้มจะเก็บของใช้จำเป็นพร้อมเสบียงเล็กๆ น้อยๆ แต่งกายในสภาพทะมัดทะแมง กราบไหว้พระ(ที่เป็นแค่เพียงรูปถ่ายของพระพุทธรูป) เดินทางออกจากบ้านซึ่งแวดล้อมด้วยป่าไผ่อันรกชัฏไปยังวัดของหมู่บ้านซึ่งเป็นระยะทางไกล กว่า 7กิโลเมตร กับ 2 เท้าที่ค่อยๆ ก้าวไปอย่างความระมัดระวัง อย่างมี" สติ" พร้อม " จิตอันเบิกบาน" |
แม้ทางเดินจะขรุขระ ด้วยหิน กรวด หรือลื่นแฉะขี้เลน แต่ยายยิ้มมิได้ลดละความตั้งใจต่อสิ่งที่มุ่งหวังข้างหน้า ผ่าน ร้อน หนาว ฝน กับเส้นทางที่คุ้นเคยดีมากว่า สองทศวรรษ สองเท้าของยายยิ้มก็ยังคงประทับบนผืนดินแห่งความยากลำบากนี้สม่ำเสมอ ย่างไปเรื่อยๆ เหนื่อยก็พัก มีแรงก็เดินใหม่ แต่แล้วสังขารที่ร่วงโรยไปตามกาลเวลาก็พ่ายให้กับพลังแห่งศรัทธาในพุทธศาสนา กำลังแห่งใจที่มีเหนือกว่าอุปสรรคนำพายายยิ้ม เดินทางมาถึงจุดหมายได้อย่างราบรื่น
"เดินไปวัดไกลๆ ไม่ท้อหรอก เหนื่อยก็หยุด อยากไปเจอพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เห็นแล้วชื่นใจ สุขใจ ใครจะว่านรก นี่คือสวรรค์ของยาย ทางสวรรค์มันรก ทางนรกมันเรียบ ไปนรกมันง่ายกว่าสวรรค์"
คำพูดซื่อๆ ง่ายๆ กลั่นออกมาจากใจของยายยิ้ม บอกกับพิธีกรรายการ คนค้นฅน เมื่อครั้งนำเรื่องราวของเธอมาออกอากาศ ทั้งยังได้เห็นอีกว่า ยายยิ้ม มีชีวิตอยู่เพื่อการบริจาคทานแก่ผู้อื่นโดยแท้ เงินจากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จากลูกหลาน หรือคนอื่นให้ ยายยิ้มเก็บสะสมเอาไว้ทำบุญทั้งหมด
ภาพรอยยิ้มกลั้วเสียงหัวเราะ ติดตาและประทับเข้าไปในความทรงจำของใครหลายคนที่ได้รับชมในเทปนั้น ซึ่งออกอากาศถึง สองสัปดาห์ด้วยกัน
สัจธรรมชีวิตจากยายยิ้ม ไม่ใช่ความทะยานอยากได้ อยากมี อยากเป็น แต่คุณค่าของความมีอยู่ คือ จิต กับวิญญาณ ที่ถูกนำมาใช้อย่างพอเพียงอย่างพอดี ยายยิ้มไม่ได้กลัวความตาย แต่ท้าทายความยาก ไม่ได้ต้องการความมั่งมี ด้วยแก้ว แหวน เงิน ทอง อำนาจ ลาภ ยศ ชื่อเสียง แต่สิ่งที่ยายยิ้มปรารถนา กลับเป็นแค่ความหวังจะได้เป็น "อาจารย์ใหญ่" ให้กับนักศึกษาแพทย์เท่านั้น แม้เธอ จะมิสามารถล่วงรู้สังขารธาตุของตัวเองเมื่อหมดลมหายใจเลยว่าจะถูกเผาหรือรอให้หนอนกิน...
บนโลกกลมโต ซึ่งค่อยๆ กระชับพื้นที่แคบลงด้วยความเห็นแก่ตัวของผู้คนใบนี้ น่าจะยังมี "ตัวตนและจิตวิญญาณ" อันยิ่งใหญ่ แบบคนอย่าง "ยายยิ้ม" ดำรงอยู่ไม่มากก็น้อย
เรื่องราวของยายยิ้มอาจไม่ถึงขนาดต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ ไม่ถึงขั้นต้องถกในวาระครม. ไม่มีผลประโยชน์ร่วมกับใคร ไม่ได้ต้องการเป็นที่รู้จัก ไม่จำเป็นต้องสร้างภาพ แต่ยายยิ้ม เป็นเพชรเม็ดเล็กที่สว่างเจิดจ้า ส่องทางจิตสำนึกให้ใครอีกหลายคนเห็นคุณค่าของชีวิตอย่างน่ายกย่องที่สุดในรอบปีที่ผ่านมา จึงไม่แปลก ที่เมื่อใครได้ติดตามเรื่องราวของยายยิ้ม จะ "อิ่มสุข" ได้ "กำลังใจ" และ "รัก" คุณยายหน้ายิ้มคนนี้ขึ้นมาทันทีทั้งที่ไม่รู้จักกัน สดรับในความรู้สึกว่า ความลำบากไม่ได้อยู่ที่ความยาก มันอยู่ที่ใจของเราต่างหาก
จริงอย่างที่ สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ เจ้าของรายการ " คนค้นฅน" สรุปปิดท้ายว่า
ยายยิ้มไม่ได้ขาดอะไร แต่โลกขาดคนอย่างยายยิ้ม ต่างหาก....
Post a Comment