เปิดความสุขต่างมุมมอง จากรายการเจาะใจ
ผู้คนนับล้านบนโลกกลม ๆ ใบนี้ ล้วนแสวงหาความสุขในรูปแบบที่แตกต่างกันไป รายการเจาะใจ (7 มิถุนายน) จึงขอเป็นตัวแทนบอกเล่าเรื่องราวความสุขต่างองศา ผ่านวิถีชีวิตของผู้คนจากคนละมุมโลก ว่าความสุขในมุมมองของพวกเขาคืออะไรและความสุขเหล่านั้นมีอะไรกันบ้าง อยากรู้แล้วต้องไปดูกันเลย ..
มุมมองความสุขต่างองศานี้ ถูกถ่ายทอดโดย วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล หนึ่งในพิธีกรรายการเจาะใจ ที่มีโอกาสได้ท่องเที่ยวไปทั่วโลก เพื่อเก็บภาพประทับใจและข้อมูลดี ๆ ของมุมมองความสุขมาฝากกัน โดยมุมมองแรกเป็นเรื่องราวความสุขของชนเผ่ามาไซ ในประเทศเคนย่า ที่เป็นชนเผ่านักรบและมีธรรมเนียมในการล่าวัวเพื่อประกาศความเป็นชายชาตรี พวกเขานิยมดื่มเลือดสด ๆ จากวัว ด้วยการเจาะคอวัวเป็นรูเล็ก ๆ ก่อนที่จะเอาภาชนะมารองเลือดไปดื่มด่ำอย่างมีความสุข เพราะเชื่อว่าการดื่มเลือดวัวจะทำให้พวกเขาแข็งแรง แต่ที่เด็ดกว่านั้นคือพวกเขาจะใช้ใบไม้เพื่อช่วยในการสมานแผลให้วัว ก่อนที่จะปล่อยมันไปใช้ชีวิตตามปกติ โดยไม่ตายซะอย่างนั้น! อึ้งล่ะสิ
ประเทศญี่ปุ่นก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และมีมุมมองความสุขหลากหลาย หนึ่งในนั้นคือผู้คนในย่านฮาราจูกุ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าพวกเขาจะพร้อมเพรียงกันออกมาปลดปล่อยจินตนาการหลุดโลก ณ สถานที่แห่งนี้ กันเป็นประจำโดยเฉพาะในช่วงวันหยุด โดยความสุขของพวกเขาเหล่านั้นก็อยู่ที่การได้เปลี่ยนตัวเองเป็นอีกคน จากพนักงานบริษัทใส่สูทผูกไทเรียบร้อย มาแต่งชุดประหลาด ร้องรำทำเพลง เต้นแร้งเต้นกา ก่อนที่จะกลับไปใช้ชีวิตประจำวันตามปกติในช่วงวันธรรมดาเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
อีกหนึ่งความสุขที่ต้องใช้การเปิดใจมอง เกิดขึ้นที่หมู่บ้านพลัม ในประเทศเวียดนาม มีพระสงฆ์กลุ่มหนึ่งรวมทีมกันเตะฟุตบอล เล่นกีต้าร์ ร้องเพลง ดื่มด่ำในความสุขแบบเต็มที่ โดยไม่ละทิ้งการปฏิบัติหน้าที่ของพระสงฆ์อย่างสำรวม แม้ว่าชาวพุทธต่างถิ่นอย่างคนไทยอาจจะตั้งคำถามถึงความเหมาะสม แต่พวกเขาก็ให้เหตุผลเพียงว่านั่นคือการออกกำลังกายอย่างหนึ่ง ซึ่งความแตกต่างทางวัฒนธรรมของแต่ละมุมในโลกอาจทำให้เขากับเราคิดไม่เหมือนกัน ดังนั้นนี่จึงเป็นเพียงเรื่องราวบอกเล่า ที่ไม่ต้องการค้นหาคำตอบของความเหมาะสมแต่อย่างใด
เพราะความสุขเกิดขึ้นจากความพึงพอใจ ความสุขของการปีนเขาเอเวอร์เรสต์ที่ทั้งเสี่ยงทั้งหวาดเสียว จึงถือเป็นอีกหนึ่งความสุขที่นักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลกแสวงหา แม้ว่าจะอันตรายขนาดไหน แต่ความท้าทายก็คือสิ่งที่ทำให้พวกเขามุ่งหน้าไปยังประเทศเนปาล เพื่อพิชิตยอดเขาเอเวอร์เรสต์อันโด่งดัง ทั้ง ๆ ที่ คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นคนที่มีฐานะร่ำรวยแล้วทั้งนั้น แต่ก็ยังดั้นด้นมาค้นหาความสุขยังดินแดนที่สูงที่สุดในโลก ทำให้เราเข้าใจได้ว่า บางครั้งความสุขอาจไม่ใช่เรื่องของการเสพอะไรที่เราชอบอย่างเดียว ไม่ใช่เรื่องการอยู่เฉย ๆ ไม่ใช่เรื่องของจิตวิญญาณ แต่เป็นเรื่องของการสร้างความหมาย สร้างจุดหมายให้กับเรา ความสุขไม่ใช่เรื่องของความสบาย หากลำบากก็เป็นสุขได้ เพราะความสุขคือการที่เราตื่นขึ้นมาแล้วรู้ว่า เราอยากทำอะไร เพื่ออะไร
ความสุขของหญิงสาวมุสลิมชาวอิหร่าน คือการได้เลือกซื้อเสื้อผ้าสีสันสดใสแม้จะมีกฎหมายให้แต่งตัวมิดชิดสวมผ้าคลุมผมตามหลักศาสนาอิสลาม โดยพวกเธอเหล่านั้นมีความสุขกับการจับจ่ายใช้สอยสินค้าแฟชั่นแม้ว่าจะต้องสวมใส่มันเอาไว้ภายใต้ผ้าคลุมที่ดูเหมือนกันหมดก็ตาม ซึ่งนี่ถือเป็นอีกหนึ่งความสุขที่แตกต่างที่ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยให้ใครรู้ แต่ก็สามารถมีความสุขได้เหมือนกัน นั่นก็เพราะความสวยอยู่ที่ตัวเรา ไม่ได้อยู่ที่คนอื่นบอกว่าเราสวยหรือไม่
สุดท้ายประเทศภูฏาน คือประเทศที่ให้ความสำคัญกับความสุขมวลรวมของคนในประเทศเป็นหลัก โดยยึดเอาค่า GNH (Gross National Happiness) มาวัดความสุขของคนในสังคม แทนการใช้ค่า GDP (Gross Domestic Product) หรือค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ แบบที่นิยมใช้กันทั่วโลกเพราะเขาเห็นว่าการวัดค่าจากผลผลิตในประเทศไม่ใช่การวัดความสุขที่แท้จริงของคนในสังคม แม้ว่าแนวคิดนี้จะทำให้ประเทศภูฏานเติบโตช้าในระดับโลก แต่นั่นไม่ใช่อุปสรรคของประเทศนี้ เพราะพวกเขาไม่คิดแข่งกับใคร ขอแค่พึงพอใจในความสุขที่มีอยู่แล้วเท่านั้นก็พอ
และนี่คือเรื่องราวของความสุขต่างมุมมอง ในแต่ละสังคมบนโลกกลม ๆ ใบนี้ ที่แท้จริงแล้วไม่มีดัชนีใด ๆ สามารถชี้วัดได้ นอกจากความพึงพอใจส่วนบุคคลเท่านั้น ตราบใดที่ความสุขเหล่านั้นไม่ผิดกฎการอยู่ร่วมกันในสังคม ก็ถือว่าเป็นสิ่งดีที่จะเปิดใจให้กว้างแล้วยอมรับในความสุขส่วนบุคคลของผู้อื่นเหมือนกันนะ ขอให้ทุกคนมีความสุขในแบบที่ตัวเองเลือกค่ะ
Post a Comment