10 ปี แห่งการเจริญเติบโต แก๊งค์แฟนฉัน(FAN CHUN)
แฟนฉัน ก็โตเป็นหนุ่ม-สาว กันหมดแล้ว วันนี้เราจะพาท่านมาชมกันว่า แก๊งค์แฟนฉัน แต่ละคนโตขึ้นมาหน้าตาหล่อสวยกันขนาดไหน
แฟนฉัน เป็นภาพยนตร์ไทย เรื่องราวเกี่ยวกับ ความรักวัยเด็ก ในอดีตแห่งความทรงจำ กำกับการแสดงโดย กลุ่ม 365 ฟิล์ม และเข้าฉายเมื่อวันที่ 3 ตุลาคมพ.ศ. 2546
แฟนฉัน เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่เกิดขึ้นจากการที่ 3 บริษัทบันเทิงไทยอย่าง จีเอ็มเอ็ม พิคเจอร์ ที่พรั่งพร้อมด้วยแผนการตลาดและโฆษณามี ไท เอ็นเตอร์เทนเมนท์ ที่เชี่ยวชาญในเรื่องการจัดจำหน่ายแน่นด้วยประสบการณ์ที่เข้าใจคนดูหนังไทย และ หับโห้หิ้น ฟิล์ม ที่อัดแน่นด้วยทีมงานการสร้างภาพยนตร์ระดับแนวหน้าร่วมมือร่วมใจกันทำงานเพื่อบันทึกไว้เป็นเกียรติประวัติทั้ง 3 บริษัทมีมุมมองเดียวกัน
เป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้มากที่สุดในปีนั้น ด้วยมูลค่าถึง 137 ล้านบาท
ภาพ แห่งอดีต จริงๆ แล้วมันไม่เคยจากไปไหน มันอาจจะซุกอยู่ที่ซอกหนึ่ง ในลิ้นชักความทรงจำ และอยู่อย่างนั้นมาตลอด จนความทรงจำใหม่ๆ เข้ามาทับ เข้ามาซ้อน ดันมันไปจนสุดลิ้นชัก แต่เมื่อใดก็ตามที่ได้ยินเพลงอย่างนี้แว่วมา หรือเห็นรูปภาพสีเหลืองๆ แดงๆ เก่าๆ ความทรงจำในครั้งนั้น ก็เหมือนถูกมือซนๆ หยิบมันออกมาปลุกให้กลับมามีชีวิต... อีกครั้งหนึ่ง
ทุกคนคงมีภาพความทรงจำในวัยเด็กกันทั้งนั้น เหมือนกันในรูปแบบ ต่างกันในรายละเอียด มีสิ่งที่ชอบเล่นเหมือนกัน ผู้ชายอาจจะมีขี่จักรยาน เป่ากบ ผู้หญิงอาจจะมีกระโดดยาง เล่นขายของ ...แต่ผมมีทั้งสองแบบ บางคนอาจจะขลุกอยู่หน้าจอทีวี กับลีลาสุดเท่ของยอดมนุษย์ หรือจอมยุทธจากหนังจีนกำลังภายใน ในขณะที่บางคนอาจจะชอบใช้ชีวิตนอกบ้าน เที่ยวเล่นจนตัวดำ ออกจากบ้านตั้งแต่เช้า กลับมาอีกทีก็เมื่อฟ้ามืด ...แต่ผมเป็นทั้งสองแบบ บางคนอาจจะมีเพื่อนเป็นแก๊งค์ลิงทะโมนอยู่กลุ่มใหญ่ ที่พากันดื้อซนจนแม่ๆ เอือมที่จะด่า ในขณะที่อีกคนกลับมีเพื่อนน้อยมาก เพื่อนที่ซี้ที่สุดอาจจะมีแค่คนเดียว และเป็นเด็กผู้หญิงแก่นกะโหลกด้วยก็มี ...และผมก็มีทั้งสองแบบ น้อยหน่า คือชื่อเด็กผู้หญิงคนนั้น เธอเป็นเพื่อนผมมาตั้งแต่ยังเล็ก เพราะบ้านเราอยู่ติดกัน แถมละแวกบ้านเรา ยังไม่ค่อยมีเด็กวัยเดียวกันอีก เราจึงเล่นด้วยกัน ถึงแม้ว่ามันจะเป็นการละเล่นแบบผู้หญิง พวกกระโดดยาง เล่นขายของก็ตาม ผมก็สนุกที่จะเล่นกับเธอ จนกระทั่ง...ผมเริ่มโต เริ่มอยากเล่นแบบเด็กผู้ชายที่มันโลดโผนบ้าง ถึงขนาดไปขอเข้าแก๊งค์เด็กผู้ชาย ที่เป็นคู่อริกับน้อยหน่าก็ยอม พวกมันยื่นคำขาด ให้ผมพิสูจน์ความเป็นลูกผู้ชายให้มันเห็น ลูกผู้ชายที่เข้มแข็ง สามารถเอาชนะศัตรูได้ และศัตรูของพวกมันก็คือน้อยหน่า และเด็กๆ ผู้หญิงละแวกนั้น ...ผมยอมทำ นั่นทำให้น้อยหน่าโกรธผม และอาจจะถึงขั้นเกลียดเลยก็ได้ และที่สำคัญก็คือ ผมไม่มีโอกาสได้ขอโทษเธอ เพราะไม่กี่วันต่อมา เธอก็ย้ายบ้านไปที่อื่น คนละจังหวัดกัน และไม่ได้เจอเธออีกเลย วันนี้ เธอส่งการ์ดงานแต่งงานมาให้ที่บ้านผม สิบกว่าปีที่เราไม่ได้เจอกัน เธอยังจำเพื่อนคนแรกของเธอได้ ลิ้นชักของเธอคงเป็นระเบียบกว่าของผมเยอะ ไม่รู้ว่าเธอจะเปลี่ยนไปแค่ไหน หรือว่าเห็นหน้าผมแล้วเธออาจจะงง ว่าไอ้ชายหนุ่มคนนี้ เป็นคนเดียวกับเด็กชายคู่หูเธอคนนั้นหรือเปล่า แต่ผมก็จะไปงานแต่งงานเธอ เพื่อนซี้เมื่อสิบขวบของผม...แน่ๆ
[แก้]นักแสดง
- ชาลี ไตรรัตน์ (แน็ค) - แสดงเป็น “เจี๊ยบ”
- โฟกัส จีระกุล (โฟกัส) - แสดงเป็น “น้อยหน่า”
- เฉลิมพล ทิฆัมพรธีรวงศ์ (แจ๊ค) - แสดงเป็น “แจ๊ค”
- ธนา วิชยาสุรนันท์ (อ๋อง) - แสดงเป็น “พริก”
- อัญญาฤทธิ์ พิทักษ์ติกุล (เกตต์) - แสดงเป็น “บอย”
- หยก ธีรนิตยาธาร (เนิร์ต) - แสดงเป็น “มาโนช”
- อภิชาญ เฉลิมชัยนุวงศ์ (ออฟ) - แสดงเป็น “ตี่”
- ภานุชนารถ สีหะอำไพ (น้ำผึ้ง) - แสดงเป็น “เงาะ”
- มัธณา ใจเย็น (เฟิร์สท์) - แสดงเป็น “โอเล่”
- หัทยา รัตนานนท์ (ไหม) - แสดงเป็น “จุก”
- สุวรี วรศิลป์ (เอิร์ธ) - แสดงเป็น “กิมเตียง”
- ชวิน จิตรสมบูรณ์ แสดงเป็น เจี๊ยบ ตอนโต
[แก้]งานสร้าง
ภาพยนตร์เรื่อง แฟนฉัน กำกับโดยผู้ผู้กำกับฯ 6 คน ในนาม กลุ่ม 365 ฟิล์ม กลุ่มคนรักหนังของเพื่อนๆ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่น 29 วิชาเอกภาพยนตร์และภาพนิ่ง อันประกอบด้วย นิธิวัฒน์ ธราธร (ต้น), ทรงยศ สุขมากอนันต์ (ย้ง), คมกฤษ ตรีวิมล (เอส), วิทยา ทองอยู่ยง (บอล), วิชชา โกจิ๋ว (เดียว), อดิสรณ์ ตรีสิริเกษม (ปิ๊ง) โดยมี จิระ มะลิกุล, ยงยุทธ ทองกองทุน และ ประเสริฐ วิวัฒนานนท์พงษ์ เป็นโปรดิวเซอร์
ในเรื่องการเขียนบท ที่ผู้กำกับฯ ทั้ง 6 คนร่วมกันเขียน ยังได้ อมราพร แผ่นดินทอง รุ่นน้องที่เป็นนักเขียนนิตยสารเด็ก มาร่วมเขียนบทอีกด้วย โดยดัดแปลงมาจากเรื่องสั้น อยากบอกเธอรักครั้งแรก ในเว็บไซต์ นิเทศฯ ดอตเน็ต ที่บอล (วิทยา ทองอยู่ยง) เป็นคนเขียน[2]
ชื่อภาพยนตร์ มาจากชื่อเพลง แฟนฉัน ของวงชาตรี โดยฉากในภาพยนตร์ ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดเพชรบุรี
[แก้]เพลงประกอบภาพยนตร์
เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ นำเพลงที่เคยโด่งดังในอดีต ถึง 19 เพลง ได้แก่ เพลงประตูใจ, รักคือฝันไป, เป็นแฟนกันได้อย่างไร, รักครั้งแรก ของ สาว สาว สาว, เพลงแฟนฉัน, รักครั้งแรก ของวงชาตรี, เพลงป้ากะปู่, รักบึงเก่า ของวงเพื่อน, เพลงใจเธอใจฉัน ของ 18 กะรัต, เพลงน่าอาย ของวงรอยัลสไปรท์, เพลงหัวใจสลาย ของเดอะฮอตเปปเป้อร์ซิงเกอร์, เพลงสายเกินไป จากวงโอเวชั่น, เพลงคนที่รู้ใจ ของ แหวน ฐิติมา สุตสุนทร, เพลงคอนเสิร์ตคนจน ของวงนกแล, เพลงอย่าดีกว่า ของวงไมโคร, เพลงสาวสวนแตง และ เป็นโสดทำไม ของ สุรพล สมบัติเจริญ รวมไปถึงเพลงเอก จากภาพยนตร์จีนชุดทางโทรทัศน์เรื่อง กระบี่ไร้เทียมทาน และเพลงสากลยอดนิยมในอดีต อย่างเพลง More Than I Can Say ของลีโอ เซเยอร์
ส่วนเพลงที่นำมาทำใหม่เช่น แฟนฉัน โดย AB Normal, เพลงรักครั้งแรก โดย จั๊ก - ชวิน, เพลงป้ากะปู่ โดย ดาจิม และเพลงที่แต่งใหม่ร้องโดย ปาล์มมี่
[แก้]รางวัล
- รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 13 ประจำปี พ.ศ. 2546 [3]
- ผู้กำกับการแสดงยอดเยี่ยม (นิธิวัฒน์ ธราธร, ทรงยศ สุขมากอนันต์, คมกฤษ ตรีวิมล, วิทยา ทองอยู่ยง, วิชชา โกจิ๋ว และ อดิสรณ์ ตรีสิริเกษม)
- ผู้แสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (เฉลิมพล ทิฆัมพรธีรวงศ์)
- รางวัลภาพยนตร์ไทย ชมรมวิจารณ์บันเทิง ครั้งที่ 12 ประจำปี พ.ศ. 2546 [4]
- ผู้แสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (เฉลิมพล ทิฆัมพรธีรวงศ์)
- สตาร์ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ อวอร์ด ประจำปี พ.ศ. 2546 [5]
- บันทึกเสียงยอดเยี่ยม (อมรพงศ์ เมธาคุณวุฒิ)
- กำกับภาพยอดเยี่ยม (ทรงยศ สุขมากอนันต์)
- ลำดับภาพยอดเยี่ยม (นิธิวัฒน์ ธราธร)
- บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (นิธิวัฒน์ ธราธร, ทรงยศ สุขมากอนันต์, คมกฤษ ตรีวิมล, วิทยา ทองอยู่ยง, อมราพร แผ่นดินทอง, วิชชา โกจิ๋ว และ อดิสรณ์ ตรีสิริเกษม)
- ผู้กำกับการแสดงยอดเยี่ยม (นิธิวัฒน์ ธราธร, ทรงยศ สุขมากอนันต์, คมกฤษ ตรีวิมล, วิทยา ทองอยู่ยง, วิชชา โกจิ๋ว และ อดิสรณ์ ตรีสิริเกษม)
- ผู้แสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (เฉลิมพล ทิฆัมพรธีรวงศ์)
- ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
- หมายเหตุ - ในปีนั้น สมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทย งดการประกาศผล รางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี
ขอบคุณรูป
จาก http://news2012.gmember.com/10-ปีผ่านไป-เมื่อแกงค์-แฟนฉัน-เติบใหญ่เป็นหนุ่มสาว/News-2697
Credit : กระปุกดอทคอม,Youtube.com
เรียบเรียง : ruengdd.com,เรื่องดีดี.com
Post a Comment