The Richest Man in Babylon นิยายปรัมปราแห่งเมืองบาบิโลน

คนส่วนใหญ่มีความต้องการที่เหมือนๆกันอยู่อย่างหนึ่งนั่นคือ อยากรวย เพราะมักคิดว่าการมีเงินมากๆ จะเปิดโอกาสให้ได้ในสิ่งที่อยากได้ จึงมีหนังสือมากมายพิมพ์ออกมาขาย โดยที่ผู้เขียนหวังจะให้ผู้อ่านใช้เป็นคู่มือในการเรียนรู้ เพื่อสร้างความร่ำรวย รวมทั้งเรื่อง The Richest Man in Babylon ของ George S. Clason ผู้ก่อตั้งบริษัททำแผนที่เคลสัน

หนังสือเล่มเล็กๆนี้ พิมพ์ครั้งแรกตั้งแต่ปี ค.ศ.1926 ซึ่งนับถึงวันนี้ก็เป็นเวลาเกือบ 100 ปีแล้ว และมีความพิเศษกว่าเล่มอื่นๆ เพราะเป็นหนังสืออ่านประกอบสำหรับวิชาวางแผนทางการเงินในสหรัฐอเมริกา ณ วันนี้มียอดจำหน่ายแล้ว กว่า 2 ล้านเล่ม

คงเป็นที่ทราบกันแล้วว่า บาบิโลน เป็นเมืองโบราณที่ร่ำรวยจากน้ำมือมนุษย์ล้วนๆ เพราะตั้งอยู่ในหุบเขาอันแห้งแล้ง บนลุ่มแม่น้ำยูเฟรติส หรือในอิรักปัจจุบัน นอกจากจะไม่มีแม้แต่ก้อนหินที่ใช้ในการก่อสร้างแล้ว ยังไม่ตั้งอยู่บนเส้นทางการค้าขายอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ความจำเป็นก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่นั่นคือ การสร้างระบบชลประทาน เพื่อนำน้ำจากแม่น้ำมาใช้ในการเพาะปลูก การสร้างเขื่อนและคลอง เป็นประดิษฐกรรมทางวิศวกรรมชิ้นแรกๆของโลก

นอกจากความก้าวหน้าทางวิศวกรรมแล้ว บาบิโลน ยังเป็นแหล่งกำเนิดผลิตภัณฑ์ทางการเงินอีกด้วย เช่น สัญญาทางการค้า การกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา และโฉนดที่ดิน เชื่อกันว่า บาบิโลน มีพ่อค้าที่มั่งคั่งและนักการเงินที่ชาญฉลาด จึงเป็นเมืองที่ร่ำรวยที่สุดในยุคโบราณ

การที่ผู้เขียนใช้เมืองนี้เป็นฉากอาจเพื่อบอกเป็นนัยว่า การวางแผนและการจัดการทางการเงินนั้นไม่มีกาลเวลา นั่นคือไม่มีทันสมัยหรือล้าสมัย อะไรที่เคยเป็นสัจธรรมในอดีตเมื่อ 8,000 ปีก่อนก็ยังคงเป็นสัจธรรมที่นำมาปฏิบัติได้ในปัจจุบัน


หนังสือเรื่องนี้มีเอกลักษณ์ที่ผู้เขียนใช้นิทานเป็นสื่อในการถ่ายทอดเรื่องราวทางการเงิน โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็น 11 บท ครอบคลุมประเด็นหลัก 7 ประเด็น ซึ่งเรียงกันตามการนำเสนอในหนังสือ คือ บทเรียนแรกของการเรียนรู้ วิธีการสร้างความร่ำรวย วิธีการแก้ไขความยากจน การเตรียมตัวเพื่อรับความโชคดี กฎทองห้าข้อ กฎการลงทุน และการวางแผนสู่ความสำเร็จ

ผู้เขียนเปิดประเด็นเกี่ยวกับบทเรียนแรกของการเรียนรู้โดยการแนะนำตัวละคร 2 ตัว ซึ่งเป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่เด็ก คือ โคบี นักดนตรี และ บันเซอร์ ผู้มีอาชีพทำรถม้า วันหนึ่งทั้งสองปรับทุกข์ให้กันฟังว่า ไม่ว่าจะขยันทำมาหากินเท่าใด ก็ยังไม่สามารถพ้นจากสภาพความยากจนข้นแค้นได้ ไม่ทราบว่าจะมีหนทางใดจึงจะพ้นจากสภาพนี้

เมื่อ โคบี นึกขึ้นมาได้ว่าเขารู้จักกับ อักรา ซึ่งชาวเมืองบาบิโลนยกย่องให้เป็นคนที่ร่ำรวยที่สุด เขาจึงชักชวน บันเซอร์ ไปพบกับ อักรา ด้วยกัน การปรึกษาและตกลงกันไปพบ อักรา ทำให้เขาทั้งสองเรียนรู้บทเรียนแรกของการเรียนรู้นั่นคือ เราไม่เสียอะไรเลยจากการขอคำแนะนำจากคนฉลาด และสาเหตุที่เราไม่รู้สิ่งต่างๆ เพราะเราไม่เคยคิดจะแสวงหาความรู้

ประเด็นเกี่ยวกับวิธีสร้างความร่ำรวย มาจากตอนที่ โคบี และ บันเซอร์ พบกับ อักรา หลังจากฟังแขกทั้งสองกล่าวเยินยอว่า เขาโชคดีที่ร่ำรวย อักรา ตอบว่า ‘โชคไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับความร่ำรวยของเขา และเขาไม่เชื่อว่าโชคจะทำให้ใครร่ำรวยได้ ที่เพื่อนทั้งสองไม่ร่ำรวยนั้นเป็นเพราะไม่รู้กฎที่ทำให้ร่ำรวยต่างหาก’ เขาจึงเล่าเรื่องของตนให้คนทั้งสองฟังว่า เมื่อเขาเป็นเด็ก เขาสังเกตเห็นว่าคนที่จะมีความสุขได้นั้นสิ่งแรกที่ต้องมีคือความร่ำรวย เพราะความร่ำรวย นำมาซึ่งอิสรภาพที่จะทำ และมีในทุกสิ่งได้ตามใจปรารถนา

ตั้งแต่นั้นมา เขาจึงตั้งเป้าหมายว่าจะต้องรวยให้ได้ อยู่มาวันหนึ่งเขาต้องทำงานชิ้นหนึ่ง ให้กับ เศรษฐีผู้ร่ำรวยที่สุดในบาบิโลนในขณะนั้น เขาจึงขอให้เศรษฐีสัญญาว่า หากเขาทำงานเสร็จทันเวลาเศรษฐีจะสอนหนทางสร้างความรวยให้ เศรษฐีตกลง ฉะนั้นเมื่อเขาทำงานเสร็จ เศรษฐีจึงบอกกฎข้อที่ 1 ว่า ต้องจ่ายหรือให้รางวัลแก่ตัวเองด้วยการกัน 1 ใน 10 ของรายได้ไว้ก่อนที่จะใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นการจ่ายเงินให้กับคนอื่น เศรษฐียังบอกอีกว่า ความร่ำรวยก็เหมือนต้นไม้ซึ่งงอกออกจากเมล็ด ยิ่งเราเริ่มหว่านเมล็ดเร็วเท่าไรต้นไม้ก็จะยิ่งโตเร็วขึ้นเท่านั้น

หลังจากนั้น 1 ปี เศรษฐีกลับมาสอบถามอักราถึงความก้าวหน้า เขาเล่าให้เศรษฐีฟังว่า ได้เริ่มต้นทำตามคำแนะนำ ด้วยการเก็บเงิน 1 ใน 10 จากรายได้จนทำให้มีเงินสะสมอยู่ก้อนหนึ่ง เมื่อช่างอิฐซึ่งกำลังจะเดินทางไปต่างเมืองให้คำแนะนำว่า เขาควรซื้อเพชรพลอยมาขายเพื่อหากำไร เขาจึงฝากเงินสะสมทั้งหมดนั้นให้ช่างอิฐไปซื้ออัญมณี เมื่อเศรษฐีได้ฟังดังนั้นก็หัวเราะแล้วพูดว่า ‘คำแนะนำเป็นของได้เปล่าแต่เราต้องรู้จักเลือกใช้เฉพาะคำแนะนำที่มีค่าเท่านั้น’ ทั้งที่ยังไม่รู้ด้วยว่าอักราต้องสูญเงินที่สะสมทั้งปีไปหมด เพราะช่างอิฐไม่มีความรู้ในการดูเพชรพลอยจึงถูกหลอก

อีก 1 ปีต่อมา เศรษฐีกลับมาหาอักราเพื่อสอบถามถึงความก้าวหน้าอีก เขาเล่าให้เศรษฐีฟังว่าได้เริ่มต้นเก็บเงินใหม่ แล้วนำเงินที่สะสมได้ไปให้คนทำโล่ยืมจึงได้ดอกเบี้ยจากคนทำโล่ทุกเดือน เมื่อเศรษฐีถามว่า แล้วเขาทำอย่างไรกับดอกเบี้ยที่ได้มา เขาตอบว่าได้ใช้ดอกเบี้ยไปกับการจับจ่ายใช้สอย และซื้อเสื้อผ้าให้ภรรยาจนหมด เศรษฐีจึงหัวเราะและถามว่า หากเขาทำเช่นนั้นกับลูกหลานที่ขอเงิน แล้วจะหวังให้มันทำงานให้ต่อไปได้อย่างไร หลังจากนั้นเศรษฐีจึงบอกว่า ‘เราจะต้องนำดอกผลจากการลงทุนไปลงทุนต่อ ไม่ใช่นำไปใช้จ่าย’

ประเด็นเกี่ยวกับวิธีแก้ความยากจน มาจากตอนที่มหาเศรษฐีอักราถูกกษัตริย์แห่งบาบิโลน เรียกให้ไปสอนประชาชนส่วนหนึ่งของพระองค์ ในสถานที่ซึ่งมีชื่อว่า หอแห่งการเรียนรู้ถึงวิธีสร้างความร่ำรวย เพื่อให้คนเหล่านนั้นสร้างความร่ำรวยด้วยตัวเองแล้วนำความรู้ที่ได้รับไปสอนคนอื่นต่อ

เมื่ออักราเริ่มสอนกฎเกี่ยวกับการเก็บ 10% ของรายได้ไว้ให้ตัวเอง ก็มีคนแย้งว่า จะทำได้อย่างไรเพราะรายได้ในขณะนั้น ก็ยังไม่พอกับค่าใช้จ่ายประจำวันเลย อักรา จึงกล่าวว่า ‘สิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตประจำวันมักไม่เกินรายได้ ฉะนั้นจงใช้จ่ายแต่เฉพาะเพื่อสิ่งที่จำเป็นจริงๆ มิใช่ใช้จ่ายเพราะอยากได้ เนื่องจากคนเรามีความอยากไม่สิ้นสุด’ ฉะนั้น เราต้องหาทางจำกัดความอยากของเรา ด้วยการทำงบประมาณการใช้จ่ายอย่างละเอียด เพราะมันจะทำให้เราเห็นจุดรั่วไหล และควบคุมค่าใช้จ่ายได้ง่ายขึ้น

เขาบอกผู้มาเรียนว่า คนที่ร่ำรวยนั้นร่ำรวยไม่ใช่เพราะมีเงินมากในกระเป๋าอย่างเดียว หากยังเพราะมีเงินไหลเข้ากระเป๋าอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะกำลังทำงานอยู่หรือไม่ก็ตามด้วย พวกเขาทำเช่นนั้นได้ด้วยการใช้เงินให้ทำงานนั่นคือ ด้วยการลงทุนที่เหมาะสม

การลงทุนที่เหมาะสม ได้แก่ การเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงและไม่ยากที่จะเรียกคืน การลงทุนเช่นนั้น จะป้องกันมิให้เกิดการสูญเงินทุน หากไม่แน่ใจว่าจะลงทุนอย่างไร อาจไปขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ แต่โดยธรรมชาติแล้วการลงทุนที่ยิ่งเสี่ยงมากก็ยิ่งได้ผลตอบแทนมาก

หลังจากนั้น อักราจึงแนะนำผู้มาเรียนว่า การลงทุนในที่อยู่อาศัยเป็นการลงทุนที่ได้ผลกำไรแน่นอน เพราะนอกจากตัวเราจะอิ่มใจจากการได้เป็นเจ้าของทรัพย์สินแล้ว อสังหาริมทรัพย์นับวันจะยิ่งมีค่าทวีคูณ ยิ่งกว่านั้น การมีบ้านเป็นของตัวเองจะทำให้ภรรยาขยันทำงานบ้านมากขึ้น และลูกๆมีความสุขเพิ่มขึ้น เพราะมีที่วิ่งเล่นเป็นของตัวเอง

ทางลงทุนต่อไปที่ควรจะได้รับการพิจารณา ได้แก่ การปล่อยเงินกู้ จากนั้นอักราจึงบอกกฎข้อสำคัญยิ่งนั่นคือ ‘เราต้องพยายามเพิ่มพูนความรู้ความสามารถอยู่เสมอ เพื่อที่เราจะได้เป็นคนที่ฉลาด และมีความสามารถมากกว่าผู้อื่น เมื่อเราเป็นคนแถวหน้าสุดในสายอาชีพของเราแล้ว เราจะสามารถหาผลประโยชน์ได้มากกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของคนทั่วไปเสมอ’

สำหรับประเด็นเกี่ยวกับการเตรียมตัวเพื่อรับความโชคดี อักรา ไปพบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูงในหอแห่งการเรียนรู้เพื่อถกกันว่า ควรจะทำอย่างไรเมื่อโชคดีมาถึงตัว อักรา กล่าวอย่างแข็งขันว่า ‘เขาไม่เคยเห็นใครร่ำรวยจากการเล่นการพนัน เขาเชื่อว่าเทพเจ้าแห่งความโชคดีจะไม่อยู่ในแหล่งการพนันอย่างแน่นอน’ แต่จะให้ความช่วยเหลือกับคนที่มีความจำเป็นจริงๆ หรือให้รางวัลเฉพาะกับคนที่สมควรได้รับ เช่น ชาวนาหรือพ่อค้าซึ่งสมควรจะได้รับกำไรจากความพยายามในการทำงาน

อักราเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเองเมื่อเขายังเยาว์ให้เพื่อนๆฟังว่า พ่อของเขาได้ชักชวนเขาให้เข้าหุ้นกับลูกเพื่อน เพื่อซื้อที่ดินมาทำจัดสรรโดยใช้เงินเพียงหนึ่งในสิบของรายได้ แต่แทนที่เขาจะเชื่อพ่อนำเงินไปลงทุนตามคำแนะนำ เขากลับนำเงินนั้นไปจับจ่ายใช้สอยและซื้อเสื้อผ้าให้ภรรยาจนหมดสิ้น ผลปรากฏว่าที่ดินแปลงนั้น ทำกำไรอย่างงดงามให้กับผู้เข้าหุ้นทั้งหมด เขาจึงพลาดโอกาสที่จะเริ่มต้นสร้างความร่ำรวยให้กับตัวเอง

หลังจากนั้น อักราจึงเปิดโอกาสให้ผู้มาร่วมชุมนุมได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของตัวเอง ชายคนหนึ่งซึ่งมีอาชีพขายสัตว์เล่าว่า ครั้งหนึ่งหลังจากที่เขาเดินทางออกจากเมืองไปนานกว่าสิบวัน เพื่อหาซื้อแกะ ในวันที่เขาจะกลับเข้าเมืองประตูเมืองปิด เขาจึงกลับเข้าเมืองไม่ได้ทำให้เขาพบพ่อค้าขายแกะอีกคนหนึ่ง ซึ่งรีบร้อนจะขายฝูงแกะทั้ง 900 ตัวให้ในราคาถูก เพราะต้องการนำเงินไปรักษาภรรยาที่เจ็บป่วย แต่เขารั้งรอเพราะขณะนั้นเป็นเวลากลางคืน ซึ่งมืดเกินกว่าจะนับจำนวนแกะได้ เมื่อใกล้รุ่งมีพ่อค้าอื่นเดินทางออกมาจากเมือง จึงได้ต่อรองซื้อฝูงแกะนั้นไปในราคาที่แพงกว่าที่เขาควรจะได้เสียอีก และยังสามารถนำไปขายต่อจนทำกำไรได้อย่างงาม

ก่อนจากกันในวันนั้น อักราสรุปว่า ‘วิธีการเริ่มต้นสร้างความร่ำรวยนั้นเหมือนกันทุกคน โดยจะต้องเริ่มต้นจากจุดเล็กๆก่อนเสมอ’ จากการเป็นคนขายแรงงานซึ่งมีรายได้เป็นค่าแรง แล้วนำเงินที่เก็บหอมรอมริบมาลงทุน จนกระทั่งมีรายได้จากดอกเบี้ยจากเงินสะสม

ส่วนการดึงดูดโชคเข้าหาตัวเอง หมายถึง การรู้จักฉกฉวยโอกาส เพราะคนโชคดี คือคนที่ลงมือกระทำเท่านั้น โอกาสไม่เคยรอใคร ผู้อยากร่ำรวยต้องไม่ผัดวันประกันพรุ่ง

ในด้านประเด็นเกี่ยวกับ กฎสำคัญที่มักเรียกกันว่า “กฎทอง” (golden rules) นั้น ผู้เขียนนำสิ่งที่เขียนมารวมกัน แล้วแยกพิจารณาเป็น 5 ข้อด้วยกันคือ

  1. ออมเงินหนึ่งในสิบของรายได้
  2. ช้เงินทำงานให้ด้วยการลงทุนอย่างชาญฉลาด
  3. ลงทุนตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ
  4. ม่ลงทุนในสิ่งที่ไม่รู้จักหรือคุ้นเคย
  5. ไม่ลงทุนในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ และไม่พยายามหาวิธีที่จะได้เงินอย่างรวดเร็วเพราะจะมีโอกาสสูญเงินอย่างรวดเร็วเช่นกัน

สำหรับประเด็นเกี่ยวกับหลักในการให้กู้ยืมเงิน ตัวละครเป็นคนทำหลาวซึ่งเพิ่งได้รับรางวัลจากกษัตริย์เป็นเงินถึง 50 เหรียญทอง แล้วไปขอปรึกษาจากนักค้าเงินว่าเขาควรจะทำอย่างไรกับเงินที่ได้มา และเขาควรจะให้สามีของน้องสาวยืมเงินหรือไม่ นักค้าเงินกล่าวว่า เงินนั้นนอกจากจะเปลี่ยนฐานะของผู้รับแล้ว ยังอาจนำมาซึ่งความรู้สึกถึงการมีอำนาจ และความสามารถที่จะทำอะไรก็ได้อีกด้วย ในขณะเดียวกัน มันยังอาจนำความทุกข์จากความรู้สึกกลัวการสูญเสียและนำความยุ่งยากมาให้

นักค้าเงินได้เล่านิทานเรื่องหนึ่งให้คนทำหลาวฟังว่า วันหนึ่งขณะที่วัวกำลังรู้สึกอ่อนเพลียและเบื่อหน่ายกับการทำงาน มันจึงรำพึงรำพันให้ลาฟัง ลาจึงแนะนำวัวว่าในวันรุ่งขึ้นหากเจ้านายมาเรียกให้วัวไปทำงาน ให้วัวแกล้งทำเป็นป่วยเสีย ผลก็คือเจ้านายนำลาไปใช้งานแทนวัว ตกเย็นลาเหนื่อยมากจึงกลับมาเล่าให้วัวฟังว่า มันได้ยินเจ้านายบ่นว่า หากพรุ่งนี้วัวยังแกล้งป่วยอีกเจ้านายจะส่งวัวไปโรงฆ่าสัตว์ นักค้าเงินสรุปจากนิทานเรื่องนี้ว่า จงให้ความช่วยเหลือคนอื่นให้มากที่สุด แต่อย่าช่วยจนเขาต้องกลายมาเป็นภาระของตัวเอง

หลังจากนั้น คนทำหลาวสอบถามถึงหลักในการพิจารณาการปล่อยกู้ของนักค้าเงิน นักค้าเงินกล่าวว่า เขาแบ่งคนที่มาขอกู้เป็น 3 กลุ่ม คือ 

1) คนที่ต้องมีหลักประกันเท่านั้น เขาจึงจะให้กู้ และหลักประกันต้องมากพอหรือมากกว่าเงินที่ขอกู้ เพราะเขาเห็นว่าคนกลุ่มนี้อาจนำเงินไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้องทำให้มีโอกาสสูญเสียเงินมากกว่าที่จะได้เงินคืน

2) คนทำงานที่เขาคิดว่ามีความสามารถมากพอที่จะจ่ายเงินคืน คนเหล่านี้มักนำเงินที่กู้ไปลงทุนที่เขาพิจารณาแล้วว่า มีโอกาสทำกำไร

และ 3) คนประเภทที่ต้องมีคนที่ไว้ใจได้ค้ำประกันการกู้หรือเป็นนายประกันให้ กลุ่มนี้ไม่ต่างจากกลุ่มแรกมากนัก ซ้ำร้ายไม่มีแม้แต่สินทรัพย์ที่จะค้ำประกันจึงต้องมีคนที่เขาไว้ใจได้ค้ำประกันเขาจึงจะให้กู้


ประเด็นสุดท้ายได้แก่การวางแผนเพื่อความสำเร็จ ประเด็นนี้มีตัวละครชื่อ ดาบาเซอร์ คนขายอูฐ ซึ่งเล่าเรื่องอันน่าขมขื่นของตัวเองให้ลูกหนี้ฟัง เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อครั้งยังเยาว์ ดาบาเซอร์ ก็ประพฤติตัวเช่นลูกหนี้ในขณะนั้น นั่นคือ ใช้จ่ายเงินเกินตัวจนเป็นหนี้ ภรรยาจึงหนีกลับไปอยู่กับพ่อแม่ เขาต้องหนีเจ้าหนี้ออกจากเมืองไปเป็นโจร เมื่อเขาถูกจับได้ก็ถูกขายไปเป็นทาสในประเทศซีเรีย ด้วยความโชคดีที่เขามีความสามารถในการดูแลและใช้งานอูฐ ภรรยาของเจ้านายจึงยกหน้าที่คนขี่อูฐประจำตัวให้เขา

นางได้สอนบทเรียนอันมีค่าแก่เขาคือ ไม่มีใครได้รับการยอมรับนับถือหรือแม้แต่นับถือตัวเองได้หากไม่สามารถชำระหนี้ การใช้หนี้เป็นการพิสูจน์ว่า เราเป็นคนที่น่าเชื่อถือ และเป็นที่พึ่งของครอบครัวรวมทั้งเป็นลูกที่พ่อแม่ภาคภูมิใจ นางจึงได้หยิบยื่นโอกาสที่สำคัญที่สุดในชีวิตให้แก่เขา โดยเปิดโอกาสให้เขาหลุดพ้นจากความเป็นทาส เขาจึงกลับมาที่เมืองบาบิโลน และเริ่มวางแผนและปฏิบัติตามความตั้งใจของตัวเองเพื่อให้พ้นจากความเป็นหนี้

เขาเริ่มต้นด้วยการทำตามกฎการจ่ายให้ตัวเองก่อน โดยเริ่มเก็บเงินหนึ่งในสิบของรายได้เพื่อการออม ใช้เงินเพียงเจ็ดในสิบของรายได้เพื่อความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าแต่ละเดือนเขาจะมีเงินมากหรือน้อยก็ตาม และสุดท้ายเขาใช้เงินสองในสิบชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ทั้งหลาย เขาใช้ทั้งความอดทนและวินัยในตัวเอง การวางแผนอย่างดี และการดำเนินตามแผนอย่างเข้มงวดทำให้ตัวเองพ้นจากความเป็นหนี้ภายในเวลาไม่กี่ปี และยังสามารถใช้กฎนี้สร้างความร่ำรวยต่อมาจนมีเงินมากมาย

ข้อสังเกต – หนังสือเล่มนี้อ่านง่ายและมีข้อคิดที่ไม่น่าจะยากสำหรับการนำไปปฏิบัติ อาจกล่าวได้ว่า มันเป็นต้นตำรับของหนังสือจำพวกแนะนำ การสร้างความร่ำรวย ซึ่งวางขายอยู่ในตลาดอย่างดาษดื่นอยู่ในขณะนี้ ผู้ได้อ่านหนังสือเรื่อง Rich Dad, Poor Dad ของ Robert T. Kiyosaki และ Sharon L. Lechter ซึ่งขายดีสุดๆ มาเป็นเวลานานและก่อให้เกิดหนังสือแนวสร้างความร่ำรวยอีกหลายชุดตามมา อาจจำได้ว่า ผู้เขียนยกย่องแนวคิดใน The Richest Man in Babylon มาก โดยเฉพาะเรื่องการจ่ายเงินให้แก่ตัวเองก่อนการใช้จ่ายอย่างอื่น หนังสือเล่มนี้จึงเหมาะกับทุกคนไม่เฉพาะแต่กับนักวางแผนทางการเงินเท่านั้น

คงเป็นที่ประจักษ์ หรือเป็นความจริงที่ไม่ต้องพิสูจน์แล้วว่า เหนือสิ่งอื่นใด การอ่านคู่มือสร้างความร่ำรวยอย่างเดียว ไม่สามารถทำให้ใครร่ำรวยได้ มีแต่การลงมือปฏิบัติเท่านั้น หนทางสู่ความสำเร็จต้องเริ่มต้นจากก้าวแรก แล้วเสริมแต่งด้วยความอดทนและความมีวินัย ไม่ใช่ด้วยการเดินทางลัด ทุกคนมีโอกาสที่จะร่ำรวยได้ทัดเทียมกัน นอกจากผลดีจะตกกับตัวบุคคลแล้ว สังคมโดยรวมก็จะมีเงินออมและร่ำรวยมากขึ้นด้วย

ส่วนความร่ำรวยจะนำไปสู่ความสุขหรือไม่ เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันไม่มีวันสิ้นสุด ปัจจุบันนี้เริ่มมีการพิสูจน์ โดยใช้หลักทางวิทยาศาสตร์แล้วว่า ความรวย อาจไม่นำความสุขมาให้ดังที่ใครต่อใครคาดคิด นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษชื่อ Richard Layard เพิ่งพิมพ์คำยืนยันจากผลการศึกษาออกมาในหนังสือเรื่อง Happiness : Lessons From a New Science (London : The Penguin Group, 2005) และคอลัมน์นี้ ได้นำบทคัดย่อมาลงพิมพ์ไว้ในฉบับประจำวันที่ 7 และ 10 สิงหาคมที่ผ่านมาแล้ว

************************

The Richest Man in Babylon นิยายปรัมปราแห่งเมืองบาบิโลน 

นภาพร ลิมป์ปิยากร 

ประชาชาติธุรกิจ


Credit : Stock2morrow.com


คลิปวีดีโอ : Youtube.com


เรียบเรียง : Ruengdd.com