15 สุดยอดคนแห่งปี ผู้ทำดีเป็นต้นแบบสังคม

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก นิตยสาร ค ฅน , youtube โพสต์โดย TheGuardianAngle1 , ทีวีบูรพา ,รายการคนค้นฅน , Youtube. โพสต์โดย uthestreet , gog.com , chn.chinamil.com.cn
 
          สังคมของเราจะน่าอยู่ได้ ถ้าหากคนบนโลกใบนี้ รู้จัก "ให้" มากกว่า "รับ" ซึ่งก็ยังมีคนอีกจำนวนมากที่พร้อมจะเป็น "ผู้ให้" และรังสรรค์สิ่งดี ๆ เพื่อสร้างรอยยิ้มและความสุขให้กับสังคมของเรา ลองไปดูกันว่า ในรอบปี พ.ศ. 2554 เรื่องราวของใครที่ทำให้เรารู้สึกประทับใจ และซาบซึ้งไปกับสิ่งดี ๆ ที่พวก



เขาสร้างขึ้น เพื่อทำให้ผู้อื่นรู้สึกอิ่มเอมใจกันบ้าง รับรองว่าทุกคนที่ได้อ่านเรื่องที่กระปุกดอทคอมนำมาเสนอในวันนี้ ต้องรู้สึกภาคภูมิใจที่มีพวกเขาอยู่ร่วมในสังคม และคงเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคนได้ทำดี เพื่อผู้อื่นกันค่ะ

ย่ายิ้ม...หญิงชรา กับชีวิตลำพังกลางป่าเขา
 
 ชีวิตที่มีความหมายของคนสร้างฝาย ... คุณย่ายิ้ม
 
          ใครที่ได้รับรู้เรื่องราวของ "ย่ายิ้ม" หรือ "ย่ายิ้ม เย้ยยาก" คงจะอดอมยิ้มตามไปกับแกไม่ได้แน่นอน เมื่อหญิงชราวัย 80 กว่า ที่ใช้ชีวิตอยู่ในป่าทึบเพียงลำพัง กลับไม่เคยอยู่ห่างจากคำว่า "ความสุข" เลย 
 
          นั่นเพราะทุก ๆ วัน "ย่ายิ้ม" จะไม่ปล่อยให้เวลาเดินผ่านไปอย่างไร้ค่า และสิ่งมีค่าที่ "ย่ายิ้ม" ทำก็คือ การเดินถือจอบเก่า ๆ 1 อัน ขึ้นเขาไปตัดไม้ไผ่หลายสิบท่อนเพื่อมาสร้างฝาย โดยหวังจะให้ผืนป่าประเทศไทยเป็นผืนป่าที่ชุ่มชื้นอุดมสมบูรณ์ ตามพระราชดำรัสของพ่อหลวงที่คุณย่ายิ้มเคยได้ยินได้ฟังมานานนับสิบปีแล้ว และตั้งแต่นั้นมา คุณย่ายิ้มก็จำคำสอนของพ่อหลวงใส่เกล้า และปณิธานกับตัวเองว่า จะต้องสร้างฝาย เพื่อสร้างประโยชน์ต่อแผ่นดินไทย
 
          อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสังขารของหญิงชราจะร่วงโรยลงไปตามวัย แต่นั่นไม่ใช่อุปสรรคที่ทำให้ "ย่ายิ้ม" หยุด เพราะแกถือคติว่า วันนี้มีแรงแค่ไหนก็ทำเท่านั้น พอตื่นเช้าขึ้นมาในวันรุ่งขึ้น ก็ลุกขึ้นมาทำใหม่ แต่จะมีเพียงวันโกนและวันพระเท่านั้น ที่ "ย่ายิ้ม" จะหยุดพักจากการสร้างฝาย และการหยุดของแกไม่ใช่การหยุดพักผ่อนกาย เพราะในวันดังกล่าวนั้น ย่ายิ้มจะเดินทางลงจากเขากว่า 8 กิโลเมตร เพื่อไปเข้าวัดเข้าวาทำจิตใจให้สงบผ่อนคลายจิตใจ
 
          หลายคนสงสัยว่า "ย่ายิ้ม" จะมาลำบากทำไม ทั้งที่ลูก ๆ หลาน ๆ ของแกก็มีฐานะและอ้อนวอนให้ "ย่ายิ้ม" กลับไปอยู่บ้านด้วยกัน แต่ "ย่ายิ้ม" กลับเลือกที่จะอยู่ที่นี่ นั่นเพราะแกคิดเสมอว่า "ทางสวรรค์จะเป็นทางที่รก ทางนรกจะเป็นทางที่เรียบ..."
 
          ตลอดหลายปีกับชีวิตกลางป่าเขาเพียงลำพัง ย่ายิ้ม สารภาพว่า เมื่อไหร่ที่ลูกขึ้นมาหาและมานอนด้วย แกก็ดีใจทุกครั้ง แต่พอกลับกันไป แค่เห็นเดินคล้อยหลังก็นั่งใจละห้อยแล้ว...แต่ถึงอย่างไร แกก็ยังยืนหยัดว่าจะขออยู่ในป่าในเขาอย่างนี้ไปจนตาย และคำขอสุดท้ายที่ฝากไว้กับลูกคือ...ถ้าแม่ตาย ก็ให้เผาให้ฝังไว้ที่ไร่บนเขานี้
 
          "ย่าไม่อยากตายหรอกหนา แต่ไม่เคยกลัว ถึงเวลาจะต้องละแล้ว ก็ต้องไป..." ถ้อยคำนี้บอกได้เป็นอย่างดีว่า หญิงชราวัย 80 เข้าใจถึงแก่นแท้ของชีวิตแล้วจริง ๆ



 ชุดปฏิบัติการเหยี่ยวดง 60 ผู้ยอมเสี่ยงชีวิตปกป้องด้ามขวานไทย
 
          ไม่มีใครอยากทิ้งชีวิตไว้ยังพื้นที่สีแดงของปลายด้ามขวานไทย แต่สำหรับพวกเขา "ชุดปฏิบัติการเหยี่ยวดง 60" ทั้งหมด 15 ชีวิต นี่คือหน้าที่ในฐานะชายชาติทหารผู้ต้องเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด ก่อนที่มันจะไปคร่าชีวิตของใคร นำทีมโดย ร้อยตำรวจตรีแชน วรงคไพสิฐ ซึ่งทุกคนในทีมล้วนผ่านเหตุการณ์ระเบิดมาหลายต่อหลายครั้ง ผ่านเหตุการณ์เสี่ยงตายมาก็มากมาย บาดเจ็บมาจนนับครั้งไม่ถ้วน แต่ทว่าก็ไม่มีใครยอมแพ้ และขอลาออกจากทีมชุดนี้ เพราะหัวใจยัง "สู้" อยู่
 
          ไม่มีใครรู้ว่า สถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้จะสิ้นสุดลงเมื่อใด เช่นเดียวกับเหล่าสมาชิกหน่วยเก็บกู้ระเบิดที่ไม่มีใครรู้ว่า วันใดที่พวกเขาจะออกไปปฏิบัติหน้าที่เป็นวันสุดท้าย แต่พวกเขาตระหนักไว้เสมอว่า หากต้องตายก็ขอตายอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ในฐานะของข้าราชการที่ปวารณาตัวเป็นข้าของแผ่นดิน 
 
          "พวกผมเกิดเป็นคนไทย เกิดในสามจังหวัดภาคใต้ พวกผมต้องตอบแทนพระคุณแผ่นดิน พวกผมทั้งหมดที่ยืนตรงนี้เป็นลูกชาวสวน ชาวนา ชาวไร่ อุปกรณ์ที่ชาวสวน ชาวนาใช้ทำงานก็คือ "ขวาน" หาก "ขวาน" ไม่มีด้าม ก็ใช้ทำอะไรไม่ได้ พวกผมขอสัญญาต่อหน้าพระคุณเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตรงนี้ว่า พวกผมจะดูแลรักษาด้ามขวานตรงนี้ตลอดไป" 
 
          นี่คือคำปฏิญาณของนายทหารกล้าที่ประกาศก้องต่อหน้าทุกคน และถ้อยวาจานี้คงเป็นคำตอบว่า ทำไมทั้ง 15 ชีวิต ยังยืนหยัดที่จะอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อปกป้องคนไทยให้นอนหลับฝันดี


 
 น้ำใจเล็ก ๆ ที่ยิ่งใหญ่ของป้าหาบ...แม่ค้า 5 บาท
 
          ในยุคข้าวยากหมากแพง การจะหาอะไรรับประทานให้อิ่มท้องในราคาเพียงแค่ 5 บาท ดูจะเป็นเรื่องยากเสียยิ่งกว่ายาก แต่ทว่า...ในมุมเล็ก ๆ มุมหนึ่งของสังคม ยังมีแม่ค้าวัยย่างหกสิบปีคนหนึ่งประกอบอาชีพหาบเร่ขายกับข้าวมานานกว่า 30 ปีแล้ว และยังคงตรึงราคาเดิมที่ 5 บาท แม้ว่าข้าวจะยาก หมากจะแพง น้ำมันจะปรับขึ้นราคา แต่ "ป้าแดง บุญยัง พิมพ์รัตน์” หรือที่ทุกคนเรียกแกว่า "ป้าหาบ" แม่ค้าในซอยจรัญสนิทวงศ์ 33 แยก 3 ก็ไม่เคยแม้แต่จะคิดปรับขึ้นราคา
 
          "นึกถึงตัวเองเวลาไม่มี ท้องหิวมันทรมานมากนะ คนเงินเดือนน้อย ๆ ก็อยากให้เขากินอิ่ม บางคนมีเงินมา 10 บาท มาซื้อกับป้า ป้าก็ให้เขาเยอะ ๆ เป็นข้าวเหนียวเป็นอะไรอย่างนี้ บางคนมาไกล ๆ ไม่มีเงินมา ป้าก็ให้ไปบ้าง หรือไม่ก็คิดเขาแค่ครึ่งเดียว 20 บาท เอา 10 บาทพอ" ป้าหาบ บอก
 
          เพราะความที่้ป้าหาบเคยอัตคัดขัดสนมาก่อน แต่ ณ วันนี้ แกสามารถสร้างเนื้อสร้างตัวจนพอมีพอใช้อย่างพอเพียงแล้ว ก็ได้เวลาที่จะแบ่งปันความอิ่มท้องให้กับผู้อื่นบ้าง โดยป้าหาบบอกว่า ชีวิตของแกสุขสบายดี ไม่เป็นหนี้ ไม่ลำบาก ก็ไม่เป็นจำเป็นที่จะต้องเอากำรี้กำไรอะไรให้คนอื่นเดือดร้อน สู้ "ให้ผู้อื่น" จะดีกว่า
 
          เห็นไหมว่า เพียงแค่ความคิดเล็ก ๆ ของป้าหาบที่เจือจานน้ำใจอันยิ่งใหญ่สู่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน กลับทำให้มุมหนึ่งของสังคมไทยในยุคข้าวยากหมากแพงดูแล้วมีความสุขขึ้นมาถนัดตา


เพ็ญลักขณา ขำเลิศ

 เพ็ญลักขณา ขำเลิศ กับบทบาทหน้าที่พยาบาลไร้หมวก
 
          ณ โรงพยาบาลภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไม่บ่อยนักที่เราจะได้เห็นภาพของ "เพ็ญลักขณา ขำเลิศ" พยาบาลวิชาชีพที่ประจำอยู่ในโรงพยาบาลแห่งนี้อยู่ในยูนิฟอร์มสีขาวของสาวพยาบาล แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เธอละทิ้งหน้าที่ เพราะเธอบอกว่า หน้าที่ของเธอไม่ใช่แค่การดูแลผู้ป่วยตามเตียงในโรงพยาบาลเท่านั้น แต่เธอยังอุทิศตัวเองให้กับเตียงผู้ป่วยนับร้อยนับพันหลังคาเรือนในอำเภอภาชี ในฐานะ "พยาบาลไร้หมวก"
 
          เพ็ญลักขณา บอกว่า การเป็นพยาบาลไม่จำเป็นต้องมีเครื่องแบบ หากแต่ "หัวใจ" ต่างหาก คือสิ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นพยาบาลที่แท้จริง นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไม เพ็ญลักขณา หรือ พี่ติ๋ง จึงมักจะเลือกลงพื้นที่ไปดูแลผู้ป่วยใน 60 หมู่บ้านในอำเภอภาชี มากกว่าการทำงานอยู่ในโรงพยาบาลภาชี เพราะจะได้เห็นกับตาตัวเองว่า คนไข้กินอยู่อย่างไร และทำไมหลายคนจึงไม่หายจากโรคเสียที แม้ว่าตัวเธอเองก็กำลังทนทุกข์ทรมานจากการเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ซึ่งต้องได้รับการเยียวยาไม่ต่างจากคนไข้รายอื่น ๆ ที่เธอรับผิดชอบอยู่ แต่พี่ติ๋งกลับมองว่า นี่ไม่ใช่เงื่อนไขที่จะมาทำให้เธอย่อหย่อนต่อหน้าที่การงานได้
 
          "ที่พี่ทำทุกวันนี้ทำเพื่อคนไข้ ไม่ได้ทำเพื่อตอบสนองนโยบายเอาเงินมาแลกกับงาน งานที่พี่ทำคืองานที่ทำเพื่อแลกกับคน แลกกับชีวิตมนุษย์ เราต้องเป็นผู้ให้ อย่าเป็นผู้รับ เวลาที่เราเป็นข้าราชการ เราต้องนึกเสมอว่า จะทำอย่างไรที่จะมีโอกาส "ให้" ให้ประชาชนมีความสุข ให้คนที่เจ็บไข้ได้ป่วยเขาพ้นทุกข์ได้ มันไม่มีอะไรมากนอกจากการให้" 
 
          ...สิ่งที่พี่เพ็ญลักขณากำลังทำอยู่ใช่ไหม? ที่เขาเรียกว่า ทุ่มเททั้งกายและใจให้กับเพื่อนมนุษย์


วิชิต คำไกร
 
 วิชิต คำไกร หมออนามัย...ผู้ทุ่มเทกายใจให้คนชายแดน
 
          หลังจากจบการศึกษาจากวิทยาลัยสุขภาพ ชลบุรี เด็กต่างจังหวัดลูกชาวนาจากปราจีนบุรี อย่าง "วิชิต คำไกร" ก็ตัดสินใจเลือกบรรจุตัวเองให้มาทำงานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทับพริก อำเภออรัญประเทศ พื้นที่ชายขอบซึ่งคงจะมีน้อยคนนักที่อยากจะมาอาศัยอยู่ แต่ "หมออนามัย" คนนี้ เลือกเส้นทางนี้ เพราะได้เห็นความทุกข์ยากของคนไข้ในเขตชายแดนที่ห่างไกล และคิดไปถึงตัวเองที่เป็นลูกชาวนาในพื้นที่ทุรกันดารเช่นกัน จึงตัดสินใจลงมาทำงานยังที่ตำบลทับพริก
 
          นอกจากการรักษาคนไข้ในโรงพยาบาลแล้ว ภารกิจหลักของ "วิชิต" คือ การลงพื้นที่ไปเคาะประตูดูแลสารทุกข์สุกดิบด้านสุขภาพให้กับชาวบ้าน ด้วยความรู้สึกที่ว่า ชาวบ้านคือคนในครอบครัวเดียวกัน และหากมีเวลาว่าง หมออนามัยคนนี้จะลงพื้นที่ตระเวนตรวจความเรียบร้อยของหมู่บ้าน ร่วมกับผู้นำชุมชน เพื่อป้องปรามปัญหายาเสพติดในหมู่เยาวชนภายในตำบลทับพริก โดยหวังขจัดปัญหาต่าง ๆ และยกระดับชุมชนให้เข้มแข็งขึ้น ซึ่งเป็นงานที่คุณหมอลงมาทำด้วยตัวเองด้วยจิตใจที่หวังให้ประโยชน์เกิดแก่ชาวชุมชนด้วยกัน
 
          "เราเป็นข้าราชการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระองค์ทรงบอกว่า เมื่อจะทำงานอย่ายกเอาความขาดแคลนมาเป็นข้ออ้าง แต่ให้ทำงานท่ามกลางความขาดแคลนนั้นให้บรรลุผล เพราะฉะนั้นความขาดแคลนในพื้นที่ตำบลทับพริกอาจจะมีบ้าง แต่เราต้องแปรเปลี่ยนความขาดแคลนนั้นให้เป็นพลังในการที่จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ ก็จะทำให้เรามีพลังใจในการทำงานช่วยเหลือผู้อื่น"
 
          ...หากทุกคนคิดได้เหมือนกับพี่วิชิต ชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกล คงจะได้มีคุณภาพชีวิต และได้รับโอกาสทางสังคมมากกว่าที่เป็นอยู่อย่างแน่นอน


หน่อคำ สมสวัสดิ์ ผู้ทอแสงแห่งความหวังให้ผู้พิการ
 
 หน่อคำ สมสวัสดิ์ ผู้ทอแสงแห่งความหวังให้ผู้พิการ
 
          หนุ่มลูกจ้างชั่วคราวของโรงพยาบาลแม่ลาว อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย ที่คอยช่วยเหลืองานในโรงพยาบาลอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง อย่าง "หน่อคำ สมสวัสดิ์" คนนี้ แต่เดิมเขาเป็นเพียง "จิตอาสา" ของชมรมพัฒนาผู้พิการ ที่มีหน้าที่ลงไปช่วยเหลือและเติมเต็มกำลังใจให้ผู้พิการในพื้นที่มีกำลังใจต่อสู้ชีวิตต่อไปได้ในสังคม แต่เมื่อทางโรงพยาบาลแม่ลาวให้โอกาส "หน่อคำ" จึงได้เข้ามาทำหน้าที่เป็นเลขานุการของชมรมพัฒนาผู้พิการ โรงพยาบาลแม่ลาว
 
          แม้ว่าร่างกายของหน่อคำจะไม่ปกติเหมือนใครหลาย ๆ คน แต่ทำสามารถทำกิจวัตรประจำวันของตัวเองได้อย่างไม่ต้องเป็นภาระให้ใคร ทั้งการขี่มอเตอร์ไซค์ ใช้คอมพิวเตอร์ และจัดรายการวิทยุชุมชน นอกจากนี้ "หน่อคำ" ยังเป็นคนมองโลกในแง่ดี เพราะไม่เคยรู้สึกเป็นทุกข์กับความพิการของเขาเลย ตรงกันข้าม เขายังมองว่า ตัวเองโชคดีกว่าคนอื่นที่พิการไม่มาก เพราะยังมีอีกหลายชีวิตที่น่าเศร้ากว่าเขา นั่นจึงเป็นแรงบันดาลใจให้ "หน่อคำ" ใช้ความจริงใจลงไปพบปะพูดคุยกับผู้พิการคนอื่น ๆ เพื่อสร้างกำลังใจให้พวกเขา
 
          "คนเราเกิดมาสามารถทำดีได้ทุกคน ไม่จำเป็นว่าคุณจะต้องมีการศึกษาสูง มีฐานะร่ำรวย หรือมีสภาพร่างกายปกติ แข็งแรง เราสามารถทำดีได้ทุกเวลา ไม่จำกัดเวลา ถ้าเรามีความตั้งใจที่จะทำเพื่อผู้อื่น ชีวิตของเราจะมีค่าหรือด้อยค่า ขึ้นอยู่กับตัวเราเอง หากมองตัวเองให้มีค่า มีประโยชน์ต่อคนอื่น ก็เหมือนกับเป็นภารกิจหนึ่งที่เราเกิดมาทำหน้าที่นี้โดยตรง เกิดมาเพื่อให้คนอื่นได้รับการปลดปล่อยความทุกข์" หน่อคำ ว่าไว้
 
          คำว่า "ขอบคุณ" คงไม่ใช่เป็นเพียงคำพูดของผู้พิการที่อยู่ในความดูแลของ "หน่อคำ" เอื้อนเอ่ยออกมาจากใจให้กับชายหนุ่มคนนี้เพียงเท่านั้น แต่สำหรับคนทั่วไปที่ได้รับรู้เรื่องราวชีวิตของ "หน่อคำ" ก็คงต้องกล่าวคำว่า "ขอบคุณ" ให้กับชายหนุ่มคนนี้เช่นเดียวกัน เพราะชีวิตของเขาได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้คนธรรมดา ๆ ที่กำลังหมดแรงจากการล้มลุกคลุกคลานมาหลายต่อหลายครั้ง มีรอยยิ้ม และมีกำลังใจสู้ชีวิตต่อไปได้อีกครั้ง

 

 นภินทร์ จอกลอย ผู้ใช้ธรรมะ...สร้างแดนธรรมให้แดนคุก
 
          เมื่อ "เรือนจำ" คือสถานที่คุมขังผู้เคยกระทำผิด นั่นอาจจะทำให้ "นักโทษ" หลาย ๆ คน เกิดความอัดอั้นตันใจและก่อเรื่องทะเลาะวิวาทดังที่เรือนจำหลายแห่งเคยเป็นข่าว แต่ ณ เรือนจำกลางจังหวัดอุดรธานีแห่งนี้ "นักโทษ" เปรียบเสมือน "ลูก ๆ" ของ "พ่อ" ซึ่งมีตำแหน่งผู้บัญชาการเรือนจำกลางจังหวัดอุดรธานี
 
          นภินทร์ จอกลอย ผู้บัญชาการเรือนจำกลางจังหวัดอุดรธานี ผู้คอยควบคุมดูแลรักษาความเรียบร้อยของเรือนจำแห่งนี้ ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงแค่เซ็นเอกสารให้หมดไปวัน ๆ หนึ่งเท่านั้น แต่ทุกเช้า ผบ.นภินทร์ จะปั่นจักรยานมาทำงานตรวจดูความสะอาดเรียบร้อยรอบเรือนจำ ก่อนจะเดินสั่งงานทุกซอกทุกมุม ไม่เว้นแม้แต่ห้องน้ำ เพื่อให้มั่นใจว่าเรียบร้อยทุกกระเบียดนิ้ว
 
          "ผมพยายามจะลบคำสบประมาทที่ประชาชนมีต่อข้าราชการ คือ ใต้โต๊ะ เรือเกลือ เช้าชามเย็นชาม ผมเกลียดที่สุดคือเรื่องผักชีโรยหน้า" ผบ.นภินทร์ ประกาศเจตนารมณ์
 
          ผบ.นภินทร์ รู้ดีว่า การที่นักโทษอยู่ในสภาพมีกุญแจมือ ติดอยู่ภายใต้ประตูรั้วที่กั้นดำทึบย่อมส่งผลต่อสภาพอารมณ์ นั่นจึงทำให้ ผบ.นภินทร์ พยายามหาโอกาสให้ผู้ต้องขังได้เข้าวัดเข้าวา ร่วมทำบุญตักบาตร ฟังธรรม และใกล้ชิดพระสงฆ์ เพราะจะช่วยระบายความเครียดได้เป็นอย่างดี และเป็นการลดช่องว่างระหว่างผู้ต้องขังกับเจ้าหน้าที่ที่ได้ผลดีด้วย นอกจากนั้นแล้ว "พ่อ" คนนี้ ยังนำเอาหลักธรรมมาใช้ขัดเกลาจิตใจผู้ต้องโทษ เพื่อทำให้พวกเขามีจิตใจอ่อนโยน รู้จักเสียสละ และพบกับความสุขที่แท้จริง เมื่อกลับออกจากดินแดนแห่งนี้ไปแล้ว จะได้สามารถใช้ชีวิตใหม่ในสังคมได้อย่างมีคุณค่า และไม่หวนกลับมา ณ ที่แห่งนี้อีก
 
          ...ไม่มีการให้อะไรจะยิ่งใหญ่เท่ากับการให้ชีวิตใหม่ และให้โอกาสกับผู้ที่เคยพลาดพลั้ง นี่กระมังที่ทำให้ ผบ.นภินทร์ ดำเนินตามเจตนารมณ์ของตัวเองอย่างไม่หยุดยั้ง


 
 พีระพงษ์ วงศ์ศรีจันทร์ สายเลือดครู...ผู้แต่งแต้มผ้าขาว
 
          ณ โรงเรียนซับมงคลวิทยา พื้นที่ไกลปืนเที่ยงของอำเภอเทพสถิตย์ จังหวัดชัยภูมิ เป็นสถานที่ที่ครูเอ หรือ ครูพีระพงษ์ วงศ์ศรีจันทร์ เลือกมาประจำการ โดยเห็นว่า เด็กอีสานเป็นเด็กที่ขาดโอกาสมากกว่าพื้นที่อื่น ๆ และเขาก็ขอเป็นส่วนเล็ก ๆ ที่จะมาเติมเต็มโอกาสให้กับผ้าขาวผืนบริสุทธิ์เหล่านี้
 
          ในฐานะครูสอนศิลปะ ครูเอ ได้พร่ำสอนเด็ก ๆ ให้ใช้ศิลปะสร้างความสุนทรีย์ และเพลิดเพลิน หลังจากเหน็ดเหนื่อยจากการเรียน และการทำงานหนักช่วยพ่อแม่ที่บ้าน แต่เหนือสิ่งอื่นใดแล้ว ศิลปะของครูเอไม่ได้เป็นไปเพื่อความบันเทิงเท่านั้น แต่ ครูเอ ยังหวังให้ศิลปะเป็นใบเบิกทางให้เด็ก ๆ ได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น ดังที่เด็ก ๆ หลายคน นำความรู้วิชาศิลปะไปต่อยอดจนได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยดี ๆ และได้รับรางวัลอีกมากมาย
 
          "ผมเป็นศิลปินประเภทที่ไม่ได้จะสร้างผลงานทางศิลปะบนเฟรมผ้าใบ แต่เฟรมของผมคือชีวิตของเด็ก ผมต้องรับผิดชอบสิ่งที่ผมเขียน ซึ่งก็คือชีวิตคน" ครูเอ บอก
 
          เมื่อถามถึงความคาดหวังของครูเอ เขาบอกว่า ไม่ได้คาดหวังอะไรมาก เพราะนี่คือความสุขของเรา แค่ทำวันนี้ให้ดีที่สุด เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมาแก้ไขอะไรอีก แม้ว่าเขาอาจจะเสียโอกาสกับอาชีพที่ก้าวหน้า เงินทองก้อนโต แต่การที่ลงมาทำอย่างนี้ ทำให้เขามีความสุขทุกวัน และยิ่งเห็นเด็กมีอาชีพ มีความสุข มันคือสิ่งที่เงินซื้อไม่ได้ และเป็นความสุขที่สุดของคนที่ได้ชื่อว่าเป็น "ครู" แล้ว
 
          การ "สร้าง" และ "เปลี่ยน" ชีวิตของผู้อื่นให้ดำเนินอยู่ในเส้นทางแห่งความถูกต้อง และได้รับโอกาสทางสังคมมากขึ้น นี่คือหน้าที่ของครูอย่างแท้จริง...และครูพีระพงษ์ ก็กำลังทำหน้าที่นั้นได้อย่างสมบูรณ์แบบ


 
 ธีรพันธุ์ บุญบาง ผู้ใหญ่บ้านใฝ่ธรรมะ
 
          ด้วยสไตล์การแต่งตัวนุ่งขาว ห่มขาว ไว้ผมเผ้าหนวดเครา อาจทำให้คนที่ไม่รู้จัก ไม่เชื่อว่าเขาผู้นี้คือ "ผู้ใหญ่บ้าน" แห่งบ้านเนินน้ำเย็น ตำบลหนองบัว อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ และเมื่อมองข้ามเรื่องการแต่งตัวไป "ธีรพันธุ์ บุญบาง" คนนี้ คือผู้ปกครองหมู่บ้านที่ชาวบ้านรักและเคารพ ในฐานะผู้นำชุมชนที่ยึดวิถีเศรษฐกิจพอเพียง
 
          หากเดินเข้าไปในที่ทำการผู้ใหญ่บ้านของผู้ใหญ่ธีรพันธุ์ หลายคนอาจจะแปลกใจที่ได้เห็นทุ่งนา แปลงผัก บ่อปลา บ่อกบ เล้าหมู เล้าไก่ และองค์ความรู้อีกมากมายภายใต้ชื่อ "โครงการเศรษฐกิจพอเพียง 1 ไร่แก้จน สวรรค์บ้านนา" ซึ่งผู้ใหญ่จัดสร้างขึ้นเพื่อทำการเกษตรแบบผสมผสานเป็นตัวอย่างให้ชาวบ้านเห็น และนำไปปฏิบัติตาม โดยหวังจะให้ชาวบ้านเลิกจน พึ่งพาตัวเองได้ และด้วยการจัดแปลงเกษตรแบบผสมผสานของผู้ใหญ่เป็นที่เลื่องลือไปทั่วจังหวัด ทำให้มีชาวบ้านในหลาย ๆ ชุมชนเดินทางมาศึกษาดูงานที่หมู่บ้านนี้ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้บ้าง 
 
          "ผู้นำต้องมีเอกลักษณ์ของตัวเอง เราต้องเป็นต้นแบบของการทำความดีให้ลูกบ้านได้เห็น ชุมชนจะเข้มแข็งได้ต้องเริ่มจากจิตใต้สำนึกก่อน ถ้าจิตใต้สำนึกเข้มแข็งก็เท่ากับมีความคิด มีปัญญา ถ้ามีปัญญาแล้วก็จะไม่ไปคิดทำเรื่องไม่ดี ดังนั้นเราต้องปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมกับเยาวชนให้มากที่สุด และใช้การศึกษาสร้างคน" ผู้ใหญ่ธีรพันธุ์ บอกแนวคิด
 
          ผู้ใหญ่เดินหน้าสร้างคนด้วยการใช้ธรรมะที่เขาเลื่อมใสศรัทธา ชักจูงให้คนเข้ามาใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนามากขึ้น โดยทำตัวอย่างให้ลูกบ้านเห็น ทำให้ ณ วันนี้ หมู่บ้านแห่งนี้เป็นหมู่บ้านสีขาวที่น่าอยู่ และทำให้ผู้ใหญ่กล้าประกาศว่า ชุมชนแห่งนี้ปลอดอาชญากรรม และปลอดยาเสพติดแน่นอน
 
          เพราะธรรมะที่ผู้ใหญ่ธีรพันธุ์เลื่อมใส ได้บันดาลให้ชาวบ้านในชุมชนเนินน้ำเย็น เลื่อมใสผู้ใหญ่ใฝ่ธรรมะคนนี้เช่นเดียวกัน


 
 จ่าสิบตำรวจวิชิต กัลยาณวัตร นักพัฒนาขวัญใจชุมชนหลังสวน
 
          ด้วยบุคลิกส่วนตัวที่สนุกสนานและเป็นกันเอง ทำให้พี่เล็ก จ่าสิบตำรวจวิชิต กัลยาณวัตร อดีตนายตำรวจชุดปฏิบัติการชุมชนสัมพันธ์ ผู้ผันตัวเองมาเป็นพัฒนากรชุมชน เข้ากับคนได้ไม่ยากนัก และส่งผลให้การทำงานพัฒนาชุมชนของเขาเป็นไปได้อย่างราบรื่น
 
          ทุก ๆ วัน พี่เล็ก จะต้องลงพื้นที่พบปะชาวบ้าน หรือไปประสานงานติดต่อช่วยเหลือชาวบ้าน โดยไม่เกี่ยงว่าจะเป็นช่วงกลางวัน หรือกลางคืน จนใคร ๆ ต่างก็รู้จักแก และยิ้มต้อนรับโอภาปราศรัยด้วยดีในทุกครั้งที่พี่เล็กมาเยือน และทุกครั้งที่พี่เล็กลงพื้นที่ก็จะไม่ได้แต่งชุดราชการ หากแต่ใส่เพียงชุดลำลองเหมือนชาวบ้านทั่วไป เพื่อให้เข้าถึงและดูเหมือนเป็นญาติสนิทมิตรสหายกับชาวบ้านมากที่สุด โดยพี่เล็กจะเข้าไปสอนให้ชาวบ้านนำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้กับวิถีชีวิตของชาวบ้านในแต่ละพื้นที่ ซึ่งแนวคิดนี้ก็ช่วยให้ชาวบ้านลดค่าใช้จ่ายลงไปได้มาก
 
          "การได้ลงพื้นที่เป็นสิ่งที่มีความสุขมาก 11 ปีที่ผ่านมา เราก็ทำหน้าที่เต็มกำลัง ช่วยเขาเต็มความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นเวลานอกราชการ หรือในราชการ เวลาลงพื้นที่เห็นพี่น้องประชาชนมีความสุข เราก็ภูมิใจ จริง ๆ ก็เคยมีท้อบางเหมือนกัน แต่ก็ไม่ถอย เพราะคิดไว้แล้วว่า เกิดมาเป็นคนไทยก็จะต้องทดแทนบุญคุณแผ่นดิน เลยคิดอยู่เสมอว่า เกิดมาชาตินี้จะสร้างความดีไม่เคยหวั่น จะเร่งสร้างทั้งคืนและทั้งวัน เพื่อชีวิตอันสั้นนั้นมีราคา คิดอยู่เท่านี้" พี่เล็ก บอก
 
          เป็นเรื่องดีจริง ๆ ที่แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากหนทางที่จะเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของชาวบ้านแล้ว ยังเป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันอีกด้วย


http://hilight.kapook.com/img_cms2/news_4/854242.jpg
 
 แจ๊ค ธนบดี...จิตวิญญาณคือกันตรึม ตราบจนสิ้นลมหายใจ
 
          "กันตรึม" อาจเป็นคำที่ไม่คุ้นหูคนรุ่นใหม่ แต่หากใครได้เดินทางไปยังชุมชนจรเข้มาก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ เด็ก ๆ ที่นี่รู้จัก "กันตรึม" กันแทบจะทั้งหมู่บ้าน และยังรู้จักหนุ่มเลือดอีสานใต้วัย 29 ปี "แจ๊ค ธนบดี ถนอมเมือง" ในฐานะครูสอนกันตรึมอีกด้วย
 
          หลังจากเรียนจบ ม.6 ครูแจ๊คได้มีโอกาสเดินทางไปเรียนต่อที่จังหวัดสุรินทร์ และได้เริ่มหัดเล่นกันตรึม ดนตรีพื้นบ้านของชาวอีสานใต้ด้วยความรู้สึกหลงรักในจังหวะของมัน ก่อนจะคิดต่อไปว่า ในฐานะคนพื้นถิ่นควรจะสืบสานศิลปะพื้นบ้านชิ้นนี้ไว้ เมื่อคิดได้ดังนั้น ครูแจ๊คก็เดินตามความฝันของตัวเองทันที ด้วยการพาเด็ก ๆ ในชุมชนมาฝึกกันตรึม และพาออกแสดงตามงานต่าง ๆ เพื่อหาทุนไปสร้างศูนย์ดนตรีนาฏศิลป์พื้นบ้านไว้ใช้จัดแสดงกันตรึม
 
          แรกเริ่มเดิมที ลูกศิษย์ลูกหาของครูแจ๊คมีเพียงไม่กี่คน แต่เมื่อนานวันเข้า เด็ก ๆ เริ่มสนใจและเข้ามาฝึกหัดกันตรึมกับครูมากขึ้น นอกจากจะช่วยสืบสานศิลปะพื้นบ้านอันเป็นรากเหง้าของพวกเขาไม่ให้สูญหายไปแล้ว ผลพลอยได้จากที่เด็ก ๆ เข้ามาฝึกกันตรึม ก็คือการได้เห็นรอยยิ้ม และภาพความรักของครอบครัวที่มาช่วยชมช่วยเชียร์ทุกครั้งที่ลูก ๆ หลาน ๆ เปิดการแสดงอีกด้วย
 
          "มันเหมือนเป็นปริญญาชีวิต เราจะขอตายเพื่อกันตรึมเลย เราเลือกแล้วและจะสืบสานต่อไปเรื่อย ๆ แล้วแต่ว่าใครจะคิดยังไง มันเลิกไม่ได้ เหมือนกับเราปลูกผัก วันหนึ่งผักโตก็เก็บมากิน ปลูกพืชมันก็ต้องหวังผล ตอนนี้ผลเยอะแยะเลย ผลจากที่เราสอน ภูมิใจมาก ๆ ที่มีคนที่ชอบเหมือนกันมาช่วยสืบสาน เป็นอีกหนึ่งแรงช่วยเรา เพราะเราไม่ได้ทำคนเดียว แต่มีลูกศิษย์และคนจำนวนมากช่วยเราอยู่ ทำให้เรามีกำลังใจที่จะทำต่อไป..." ครูแจ๊ค ยืนยันด้วยความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่
 
          ความสำเร็จของการแสดงคือ การที่ผู้แสดงและผู้ชมมีความสุข แต่ความสุขของครูแจ๊คก็คือ การได้เห็นกันตรึม ศิลปะพื้นฐานแขนงนี้ยังดำรงอยู่ โดยเขาได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อน "กันตรึม" ให้อยู่ในวิถีชีวิตของคนในสังคมต่อไป


กุ้ยย้ง
 
 กุ้ยย้ง แซ่ล้อ...เมื่องานจิตอาสาคือยารักษาโรคร้าย
 
          ภาพของหญิงวัยกลางคนเชื้อสายจีนคอยบริการผู้ป่วยอยู่ในโรงพยาบาลเบตง จังหวัดยะลา ในฐานะผู้ปฏิบัติงานจิตอาสา คงเป็นภาพที่ชาวเบตงคุ้นตาเป็นอย่างดี แต่จะมีใครรู้ไหมว่า หญิงคนนี้...ในอดีตเคยเป็นผู้ป่วยจิตเวทขั้นรุนแรงที่ไม่มีใครอยากยุ่งเกี่ยวด้วย
 
          "กุ้ยย้ง แซ่ล้อ" เธอคือขวัญใจของคนในโรงพยาบาลเบตง ก่อนหน้านี้เธอเคยมีอาการทางจิต หวาดระแวง เป็นภาพหลอน ทำให้ต้องแยกจากครอบครัว แต่เมื่ออาการดีขึ้น "กุ้ยย้ง" ก็ได้ผันตัวเป็นมาอาสาคอยดูแลผู้ป่วยคนอื่น รวมทั้งคอยให้คำแนะนำผู้ป่วยที่เดินทางมาติดต่อโรงพยาบาล และจัดเตรียมอุปกรณ์สำนักงานต่าง ๆ ให้กับเจ้าหน้าที่ได้ใช้ตั้งแต่เช้าตรู่ และไม่น่าเชื่อว่า งานที่ได้พบปะผู้คนและมอบน้ำใจ กำลังใจให้ผู้อื่นนี้ กลับส่งผลให้อาการป่วยของเธอดีวันดีคืน จนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างคนปกติ และมีเพื่อนเติมความอบอุ่นให้กับชีวิต
 
          "งานบริสุทธิ์อย่างนี้ชอบทำ ไม่มีอะไรต้องเขิน ต้องอาย เพราะทำแล้วสบายใจ มีความสุข ดีใจที่ได้ช่วยเหลือคนอื่น" กุ้ยย้ง กล่าวถึงงานจิตอาสาที่เธอรัก 
 
          สุดท้ายแล้ว การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยจิตใจจิตอาสา กลับกลายเป็น "ยาขนานเอก" ที่่ช่วยบำบัดรักษาอาการป่วยทางจิตของ "กุ้ยย้ง" ให้ดีขึ้นราวกับปาฏิหาริย์ และด้วยจิตใจที่ดีงามนี้เอง ได้ช่วยให้ "กุ้ยย้ง" ฝ่าฟันอุปสรรคครั้งสำคัญของชีวิตมาได้ จนปัจจุบันเธอได้รับการยอมรับจากคนอื่น และกลับมาใช้ชีวิตอย่างมีความสุขดังเดิม



 ครอบครัววิลเลี่ยม...คนจากแดนไกล แต่หัวใจไทยแท้
 
          เพราะความหลงใหลในเสน่ห์ของเมืองไทย ทำให้ ณ วันนี้ ครอบครัววิลเลี่ยม ครอบครัวใหญ่ชาวอเมริกัน ตัดสินใจมาตั้งรกรากที่เมืองไทยพร้อมกับสมาชิกอีก 15 ชีวิต แต่ที่นี่...พวกเขาไม่ได้เป็นแค่ผู้พักพิงเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะทุกวันนี้ "ครอบครัววิลเลี่ยม" ยังเรียนรู้วัฒนธรรมไทย และประเพณีไทย เพื่อปรับตัวให้เป็นคนไทยอย่างแท้จริง
 
          "วันแรกที่มาถึงประหลาดใจมากที่เมืองนี้เป็นเมืองที่มีแต่รอยยิ้ม มีแต่ความสุภาพ อ่อนโยน การไหว้ที่อ่อนหวาน อีกทั้งยังมีความใจดีที่มอบให้เธออย่างที่ไม่พบเคยเจอที่ไหนมาก่อน เลยพาครอบครัวมาซื้อบ้านที่นี่ แล้วให้ลูก ๆ ของทั้ง 13 คน ได้เรียนรู้วัฒนธรรม และประเพณีไทย เพราะอยากให้ลูกมีนิสัยที่น่ารักแบบคนไทย และได้เรียนรู้วัฒนธรรมแห่งการให้ อยากให้ความเป็นไทยหล่อหลอมความคิดอ่านของลูก ๆ ให้เป็นคนดี ... และสุภาพอ่อนน้อม เพียงแค่ครึ่งนึงของคนไทยก็พอ" คุณแม่ไข่มุก วิลเลี่ยม ผู้เห็นคุณค่าของวัฒนธรรมไทย บอกถึงความรู้สึกรักแรกพบประเทศไทย
 
          หลังจากการศึกษาร่ำเรียนวัฒนธรรมไทยจนเข้าใจดีแล้ว ก็ได้เวลาที่ครอบครัววิลเลี่ยมจะขอนำวัฒนธรรมไทยเหล่านี้ รวมทั้งการฝึกร้องเพลงไทย เพลงหมอลำ ซึ่งได้ คริสตี้ นักร้องลูกทุ่งชื่อดังมาช่วยฝึกซ้อม จัดแสดงให้คนไทยประจักษ์ในความสามารถกันเสียที บ่อยครั้งที่ครอบครัววิลเลี่ยมจะนำวัฒนธรรมไทยที่พวกเขาพร่ำเรียนรู้ไปสร้างความสุขและเสียงหัวเราะให้กับผู้ป่วยที่โรงพยาบาลตำรวจเป็นประจำ ในฐานะอาสาสมัครที่มาให้กำลังใจผู้ป่วย จนคนไทยชื่นชอบและปรบมือให้ยกใหญ่ ด้วยความประทับใจในหัวใจรักความเป็นไทยของครอบครัวต่างชาติน่ารัก ๆ ครอบครัวนี้
 
          แม้แต่คนต่างชาติยังข้ามน้ำข้ามทะเลมาเรียนรู้วัฒนธรรมไทย เราคนไทยก็อย่าปล่อยให้มรดกที่มีค่าเหล่านี้สูญสลายไปต่อหน้าต่อตานะคะ


น้ำใจงาม! สาวจีนกางร่มบังสายฝนให้ชายชราขาพิการ
 
 น้ำใจงาม! สาวจีนนิรนาม ลุยฝนกางร่มให้ชายชราขาพิการ
 
          ภาพของสาวจีนน้ำใจงามที่วิ่งถือร่มออกไปกางให้ชายชราขาพิการคนหนึ่ง ที่กำลังเคลื่อนล้อรถเลื่อนไปหาที่หลบฝนซึ่งตกหนัก กลายเป็นหนึ่งในภาพที่ชาวไซเบอร์เมืองจีนพูดถึงกันมากที่สุดประจำปี  ด้วยความประทับใจที่เห็นหญิงสาวคนนี้มีจิตใจงดงามอย่างหาที่เปรียบมิได้ แม้ว่าสายฝนที่ตกหนักจะทำให้ร่มของเธอไม่สามารถต้านทานแรงฝนได้อยู่ จนเปียกปอนไปทั้งหญิงสาวและชายชรา แต่หญิงสาวก็มิได้หวั่นเกรงสายฝนยังคงพยายามช่วยเหลือบังสายฝนให้ชายชราผู้น่าเวทนาให้เปียกปอนน้อยที่สุด ท่ามกลางสายตาของใครหลายคู่ที่มองเห็นเหตุการณ์ตรงหน้า 
 
          เธอเป็นใคร? ไม่มีใครรู้ แต่เรื่องราวของเธอกลับสร้างความประทับใจไปทั่วโลกไซเบอร์ จนใคร ๆ ต่างก็ขนานนามเธอว่า "นางฟ้าที่สวยที่สุด" เพราะทุกคนได้เห็นความดีที่งดงามซึ่งอยู่ในจิตใจของหญิงสาวนิรนามผู้นี้นั่นเอง


 
 ฮีโร่! หนุ่มกว่างโจวไม่คิดชีวิต โดดช่วยคนจมน้ำจนตัวตาย
 
          ความมีน้ำใจที่อยากช่วยเหลือผู้อื่นลงท้ายกลับกลายเป็นเรื่องน่าเศร้าที่คนทราบข่าวต้องหลั่งน้ำตาให้ จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ที่ชายชาวจีนนามว่า "หนิว จั้วเถา" อดีตนายทหารวัย 31 ปี ตัดสินใจกระโดดแม่น้ำจูเจียง ในเมืองกว่างโจว ลงไปช่วยหญิงสาวรายหนึ่งที่กำลังจะจมน้ำ แต่ในที่สุดแล้ว กระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวกลับพรากชีวิตของพลเมืองดี และหญิงผู้เคราะห์ร้ายให้จากไปอย่างไม่มีวันกลับ สร้างความเศร้าสะเทือนใจให้กับบรรดาเพื่อน ๆ ของนายหนิวที่เห็นเพื่อนจมหายไปต่อหน้าต่อตา ขณะที่ภรรยา และลูกสาววัย 5 ขวบ ของนายหนิว เมื่อได้ทราบข่าวร้ายนี้ ก็ตกใจและร่ำไห้ที่ต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไปก่อนวัยอันควร
 
          อย่างไรก็ตาม การเสียชีวิตของนายหนิว พลเมืองดีผู้กล้าหาญครั้งนี้ ได้ทำให้ทางการเมืองกว่างโจวประกาศยกย่องให้นายหนิวเป็น "วีรบุรุษ" และขอให้ชาวจีนทั้งประเทศเอาเยี่ยงอย่างความกล้าหาญของนายหนิว นอกจากนี้ เรื่องราวของนายหนิว ยังเป็นการสะกิดสังคมของจีนที่กำลังเสื่อมโทรมอย่างแรง เพราะในขณะที่ชาวจีนหลายคนกำลังแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตาย และลืมคำว่า "มนุษยธรรม" ไปเสียหมดสิ้น กลับยังมีชายอีกคนหนึ่งอยู่ร่วมในสังคมเดียวกัน พยายามยื่นมือเข้าช่วยเหลือคนอื่นโดยไม่คิดชีวิต แม้กระทั่งตัวตายก็ยังได้รับการสรรเสริญ และยกย่องให้เป็น "วีรบุรุษ"
 
          และนี่ก็คือ 15 คนแห่งปีที่มีแนวคิดดี ๆ และทำความดีเพื่อผู้อื่น ซึ่งกระปุกดอทคอมขอยกย่องให้พวกเขาเป็นบุคคลต้นแบบสังคมประจำปี 2554 เชื่อว่าใครที่ได้อ่านเรื่องราวเหล่านี้ คงรู้สึกประทับใจในความดีของพวกเขา และเรื่องราวเหล่านี้อาจจะช่วยเปลี่ยนมุมมองของใครหลาย ๆ คน ให้มองเห็นว่า โลกของเราใบนี้น่าอยู่ขึ้นอีกมากเลย จริงไหมคะ?

 
 
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
 , รายการคนค้นฅน , รายการฉันรักเมือง , รายการคนกล้าฝัน , นิตยสาร ค ฅนนิตยสาร BE