Top Secret วัยรุ่นพันล้านพร้อมบทสัมภาษณ์อิทธิพัทธ์ กุลพงษ์วณิชย์ จากเด็กไม่เอาถ่าน สู่ เถ้าแก่น้อย ร้อยล้าน









หลังจากที่ได้ดูตัวอย่างภาพยนตร์เรื่อง Top Secret วัยรุ่นพันล้าน แล้ว รู้สึกถึงพลังที่ถูกส่งผ่านตัวละครอย่าง พีช พชร ที่แสดงเป็นตัวของ ต๊อบ อิทธิพัฒน์ ได้อย่างดีเยี่ยม ทำให้รับรู้ถึงอารมณ์ในแต่ละฉากได้อย่างดี รวมทั้งองค์ประกอบของฉาก ตัวละครร่วมแต่ละคนนั้นถูกส่งต่อกันอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์อีกเรื่องนึงที่น่าติดตามชม ซึ่งเนื้อเรื่องที่ถูกดัดแปลงจากเค้าโครงชีวะประวัติของ “ต๊อบ เถ้าแก้น้อย” และมีการแต่งเติมทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้มีความสนุก และเพิ่มอรรถรสในการชมมากยิ่งขึ้น และภาพยนตร์เรื่องนี้น่าจะให้แง่คิดอะไรหลายๆอย่างกับเด็กวัยรุ่นไทย ที่วันๆมัวแต่เล่นเกมส์ ใช้ชีวิตไร้สาระไปวันๆ ให้รู้จักการที่คนเราจะต้องเริ่มประสบความสำเร็จในชีวิต รู้จักที่จะต้องเป็นคนหาเงิน ไม่ใช่แค่คนใช้ได้ ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ก็จะให้แง่คิดในด้านนี้ไม่มากก็น้อย
สำหรับเนื้อเรื่องย่อของภาพยนตร์ “Top Secret วัยรุ่นพันล้าน”
อายุ 16 ต๊อบมีเงินจากการเล่นเกมส์เดือนละ 400,000 บาท เมื่ออายุ 17 ยอมติด F แลกกับเงินค่าขายเกาลัดแค่ 2,000 บาท พอถึงอายุ 18 บ้านล้มละลายเป็นหนี้ 40 ล้าน และตอน อายุ 19 นำสาหร่ายเถ้าแก่น้อยเข้าเซเว่น 3,000 สาขา
ทุกวันนี้ต๊อบ อายุ 26 ปีเป็นเจ้าของแบรนด์สาหร่ายอันดับหนึ่งของเมืองไทย เจ้าของมาร์เก็ตแชร์ 85% ของทั้งตลาด หรือเท่ากับยอดขายเหยียบ 1,000 ล้านบาทต่อปี มีลูกน้องในบริษัททั้งสิ้น 1,200 คน คุณทำอะไรอยู่ตอนคุณอายุเท่าต๊อบ?


SECRET วัยรุ่นพันล้าน ภาพยนตร์แรงบันดาลใจวัยรุ่น จะพาคุณไปรู้จักกับเรื่องราวจากชีวิตเบื้องลึกของ ต๊อบ อิทธิพัฒน์ (พีช พชร) เจ้าของธุรกิจสาหร่ายเถ้าแก่น้อย วัยรุ่นไทยที่พลิกชีวิตจากเด็กติดเกมส์ออนไลน์ เด็กมัธยมปลายที่เคยถูกครูฝ่ายปกครองค่อนขอดว่าเรียนจบแล้วจะไปทำอะไรกิน จนกลายมาเป็นวัยรุ่นพันล้านในวันนี้ต๊อบก้าวกระโดดมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร แน่นอนว่าใครๆ ก็อยากรวย แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะกล้าลงมือรวยแบบต๊อบอะไรคือสิ่งที่ต๊อบต้องฝ่าฝัน อะไรคือสิ่งที่ต๊อบต้องแลกให้กับคำว่า “รวย” อะไรคือมูลค่าที่แท้จริงของความรวย และอะไรคือสิ่งที่ผุดขึ้นในหัวของต๊อบเมื่อเขาได้ลองชิมสาหร่ายทอดบรรจุ กระป๋องแบบโอท็อปเป็นครั้งแรก
“อร่อย” “ซื้อที่ไหนนะ” “ราคาเท่าไหร่” “ฝากซื้อกี่กระป๋องดี” พบกับคำตอบที่ทำให้ต๊อบรวยพันล้าน แต่คุณไม่ ใน TOP SECRET วัยรุ่นพันล้าน





REVEAL A SECRET
บทสนทนามูลค่าเกินพันล้าน ระหว่างเถ้าแก่น้อยกับเจ้าสัวน้อย
     หลายคนคงได้ดูภาพยนตร์เรื่อง Top Secret วัยรุ่นพันล้านไปแล้ว ความรู้สึกหลังดู ถ้าเอาไมค์ไปจ่อ เชื่อว่าประโยคที่คุณหรือใครซึ่งอาจมีคราบน้ำตาแห้งกรังอยู่บนหน้าจะพูดออกมาคือ “ประทับใจ” และ “ได้แรงบันดาลใจ”
     คำว่า “ประทับใจ” คงต้องยกให้เด็กหนุ่มวัย 18 ปีชื่อพชร จิราธิวัฒน์ ผู้รับบทนำของเรื่อง ซึ่งนอกจอเขามีศักดิ์เป็นทายาทเจ้าสัวตระกูลเซ็นทรัล (ซึ่งมีมูลค่าทรัพย์สินเกินพันล้านแน่ๆ) ที่แสดงได้ดีจนมีเสียงชื่นชม ขณะที่คำว่า“ได้แรงบันดาลใจ” ต้องยกให้แก่คุณต๊อบ - อิทธิพัทธ์ กุลพงษ์วณิชย์ เจ้าของเรื่อง และเจ้าของแบรนด์เถ้าแก่น้อย สินค้าที่มียอดขายกว่าพันล้านบาทต่อปี

     หลังหนังจบ หลายคนคงมีคำถามคาใจเกี่ยวกับอะไรๆ ในชีวิตและที่มาที่ไปของสาหร่ายทอดที่มีมาร์เก็ตแชร์สูงสุดในตลาด ทั้งนี้ผู้ที่สวมบทเถ้าแก่น้อยในจอเองก็คาใจ จึงอาสาจ่อไมค์ถามคำถามด้วยตัวเอง อยากรู้ไหมว่าเมื่อเจ้าสัวน้อยกับเถ้าแก่น้อยพันล้านมาคุยกัน เงินและความสนุกจะสะพัดขนาดไหน


พีช >>>> วันที่พี่เก้ง (จิระ มะลิกุล) ติดต่อมาว่าสนใจอยากทำหนังเกี่ยวกับประวัติของพี่รู้สึกอย่างไรครับ

     ต๊อบ: ความรู้สึกแรกคือ “จะขายได้เหรอ” ขนาดมีคนให้พี่เขียนหนังสือเกี่ยวกับประวัติตัวเองมาตั้งหลายปี ยังไม่เขียนเลย พี่รู้จักพี่เก้งจากพี่ตุ้ม (สรกล อดุลยานนท์ เจ้าของนามปากกา ‘หนุ่มเมืองจันท์’) พี่เคยเล่าเรื่องตัวเองให้เขาฟัง พอได้ฟัง แกบอกว่าเขียนเป็นหนังสือเถอะ แต่พี่บอกว่าอย่าเพิ่งเลย ขอเวลาอีกนิดหนึ่ง รู้สึกว่าเรื่องราวในชีวิตยังไม่ซัคเซสพอจะขายได้ แต่ไม่รู้ยังไง พี่ตุ้มคงได้เจอพี่เก้งแล้วเล่าให้ฟัง พี่เก้งเลยสนใจ ที่ถามว่าจะขายได้หรือ เพราะรู้สึกว่าหนังเกี่ยวกับประวัติคนไม่ค่อยมีคนดู ทางจีทีเอชไม่ว่าทำหนังเรื่องไหนก็ประสบความสำเร็จ เลยไม่อยากให้มาแป้กเพราะเรื่องของพี่ เขานัดให้เจอพี่เก้งหลายครั้งแต่พี่เลี่ยงตลอด ใช้วิธีขอเลื่อนนัดออกไปบ้าง จนตอนหลังเลี่ยงไม่ได้ เลยลองมาคุยกับทั้งพี่เก้งและพี่ย้ง (ทรงยศ สุขมากอนันต์ ผู้กำกับหนังเรื่องนี้) จากวันแรกที่เจอกันถึงตอนนี้ก็เกือบ 2 ปีแล้ว

     พีช : แต่เรื่องของพี่เวิร์คมากนะผมว่า เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้รับเล่นเลย มีพลังและความท้าทายหลายอย่าง สิ่งที่พี่เจอมา เมื่อรวมกันแล้วสามารถจุดประกายบางสิ่งบางอย่างได้ นอกจากความสนุกที่คนดูจะได้รับ ผมว่าดูจบ เขาสามารถเปลี่ยนความคิดและการใช้ชีวิตได้เลย มันมีพลังและความท้าทายจนทำให้อยากแสดง อยากลุยดู ตอนแรกก็ลังเลว่า จะเล่นดีไหม เพราะชื่อเสียงของพี่ย้ง อย่างที่รู้กันว่าโหดมาก (หัวเราะ) “จะรอดไหม...เหนื่อยแน่” บทที่ได้รับก็ต้องลุยเดี่ยวค่อนข้างเยอะ ผมไม่แน่ใจว่าจะเล่นไหวไหม แต่มันก็ท้าทายพอที่จะทำให้อยากใส่กับมันสักตั้งถ้าทำได้ ก็เหมือนว่าเราได้ก้าวไปสู่อีกระดับ
     ตอนแรกผมไม่รู้ตัวว่าตัวเองได้เล่น วันที่รู้เป็นวันเกิดพอดี พี่ย้งเอาตุ๊กตาเถ้าแก่น้อยมาให้เป็นของขวัญ ผมขอบคุณ แต่ยังงงๆ ไป บอกพ่อว่าพี่ย้งให้ตุ๊กตาเถ้าแก่น้อย วันต่อมาพี่ย้งโทร.มาบอกว่าจะมาเอาบทหรือยัง ตกใจเหมือนกัน

     ต๊อบ: จีทีเอชเคยถามความเห็นว่าถ้าเป็นคนนั้นคนนี้เล่นรู้สึกยังไง แต่พี่ไม่ได้ออกความเห็น เพราะไม่ค่อยรู้จักดารา หนึ่งในนั้นมีชื่อพีชด้วย ยอมรับว่าตอนแรกไม่ค่อยรู้จัก เลยไปซื้อหนังเรื่อง “Suck Seed ห่วยขั้นเทพ” มาดู ดูจบ มีความรู้สึกว่าเราสองคนเหมือนกัน อย่างหนึ่ง...นี่ไม่เคยบอกเขาเลยนะ (หันมาบอก) เขาไม่ได้เป็นดารามาตั้งแต่ต้น เพิ่งเข้ามาทำ แต่ทำได้ขนาดนี้ ถือว่าพยายามมาก ดูหนัง “วัยรุ่นพันล้าน” จบ ไม่รู้สึกผิดหวังเลย แล้วไม่ใช่แค่พี่นะ ไปถามหลายคนก็คิดเช่นเดียวกัน บางคนบอกว่าดูแล้วน้ำตาจะไหล อายเหมือนกันที่จะบอกว่าพี่ดูหลายรอบด้วย รู้สึกประทับใจ ไม่ได้ประทับใจเรื่องราวของตัวเอง เพราะรู้อยู่แล้วว่าเป็นยังไง แต่ประทับใจในความพยายามของพีช คิดว่ากว่าจะมาถึงวันนี้คงเครียดและกดดันมาก เพราะต้องเล่นคนเดียวเกือบทั้งเรื่อง ตอนแรกพี่ก็กังวล กลัวเรื่องของพี่จะทำให้น้องดูไม่ดี แต่ตอนนี้เหมือนยกภูเขาออกจากอก

     พีช: ช่วงแรกที่ถ่ายทำผมกดดันจริงๆ ด้วยเรื่องราวที่เป็นกึ่งชีวประวัติ มีแรงบันดาลใจจากชีวิตจริง กังวลว่าจะทำได้เท่าที่พี่เคยเจอมาไหม แล้วมันเป็นหนังที่ต้องใช้อารมณ์เยอะด้วย

     ต๊อบ: ซีนที่เอาผ้ามาเช็ดรูปพ่อกับแม่ ตอนนั้นรู้สึกยังไง

     พีช: ซีนนั้นถ่ายแบบ long tape (ถ่ายต่อเนื่อง) เริ่มตั้งแต่ยืนอยู่หน้าบ้าน ค่อยๆ เดินเข้าไปในบ้าน จนถึงห้องนอน มีเวลาในการบิลด์ตัวเองพอสมควร ก่อนถ่ายพี่ย้งอธิบายให้ฟังว่าบ้านกำลังจะโดนขายนะ จะได้อยู่เป็นครั้งสุดท้ายแล้ว จังหวะที่เดินเข้าไป เห็นรูปของพ่อกับแม่วางอยู่ เลยหยิบขึ้นมาดู แต่ด้วยความที่บิลด์อารมณ์มาพอสมควร พอหยิบรูปขึ้น น้ำตาก็ไหล ทั้งที่เขาไม่ได้บอกให้ร้องไห้

     ต๊อบ: ตอนดูฉากนี้เหมือนได้แรงกระตุ้นบางอย่างและเหมือนได้เห็นความทุกข์ยากที่เคยผ่านมาตอนนั้น ใครดูหนังเรื่องนี้แล้วรู้สึกว่าดราม่า จะบอกว่าจริงๆ ชีวิตผมดราม่ามากกว่าอีก ต้องชมพีชว่าเล่นได้กินใจ พี่เชื่อตั้งแต่แรกว่าพีชมีความพยายามและต้องทำได้ดี แต่คิดไม่ถึงว่าจะทำได้ดีขนาดนี้


พีช >>>> (ยิ้ม) ขอบคุณครับ คำถามต่อไป ผมอยากรู้มานานแล้วว่า เวลาต้องทำงานกับผู้ใหญ่ พี่รู้สึกยังไง มันยากไหม หรือต้องปรับตัวอย่างไรบ้างครับ

     ต๊อบ: ถ้าเป็นช่วงที่ยังเป็นเด็ก ไม่มีคนรู้จักและเป็นแค่ไอ้ตี๋คนหนึ่ง ต้องบอกว่ายาก แต่ในความยากมันก็มีโอกาสซ่อนอยู่ ผู้ใหญ่บางคน พอเห็นว่าเป็นเด็กก็รู้สึกสงสาร “ช่วยมันหน่อยดีกว่า” อย่างอาจารย์ที่ช่วยทดลองทำสาหร่ายก็ช่วยเพราะเห็นว่าพี่เป็นเด็ก หรืออย่างคนที่เขาทำซองให้ ปกติเขารับทำแสนซองขึ้นไป แต่เขาสงสาร บอกว่าสามหมื่นก็ได้ บางครั้งต้องรู้จักปรับตัว ทำตัวให้เหมือนกิ้งก่า
     ตอนที่คิดจะขายเกาลัด พี่ไม่มีความรู้เรื่องเกาลัดเลย ต้องไปถามอาแปะ อาเจ็ก ตั้งแต่ต้นซอยยันท้ายซอย ถ้าทำตัวรู้ดี เขาคงไม่อยากสอน แต่พี่ไปแบบนอบน้อม “แปะครับ คั่วยังไง ทำไมต้องเอาเกาลัดแช่น้ำก่อน แล้วลูกที่ลอยนี่มันเป็นยังไง” พี่ว่าการวางตัวสำคัญ และเราต้องรู้จักแปลงร่าง บางครั้งต้องแปลงร่างเป็นเด็ก บางครั้งแปลงร่างเป็นผู้ใหญ่ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ว่าเราจะไปเจออะไร กับคนที่ทำงานด้วย พี่ว่าสำคัญสุดคือการเตรียมตัวให้พร้อม ต้องทำการบ้าน ทำยังไงให้เขาเชื่อว่าขายของของเราแล้วจะไม่เจ๊ง อย่างพีชเองเชื่อว่าก่อนมาแสดง ก็เชื่อว่าต้องทำการบ้านมาก่อนและต้องรู้จักพี่พอสมควร

0
—- เปิดเผยเนื้อหาสำคัญ —-
Top Secret วัยรุ่นพันล้าน
Top Secret วัยรุ่นพันล้าน
กลับมาหาคนอ่านกันอีกครั้ง หลังจากที่ผมห่างหน้าหายตาไปนานมาก — นานมากจริงๆ เนื่องจากงานที่เยอะเหลือเกิน รวมทั้งช่วงนี้ก็ยังมีเรื่องปัญหาน้ำท่วมมากวนใจอีกอย่าง ทำให้อะไรๆก็ดูวุ่นวายไปหมด รวมทั้งการเปิดคอม.. เนื่องจากกลัวว่าเปิดคอมแล้วน้ำจะมาพอดี แล้วปิดคอมไม่ทัน หรือไม่ก็ กำลังเสียบปลั๊ก น้ำพุ่งมาทันที ไฟช๊อตตายคาปลั๊ก อะไรยังงี้ — เลยคิดอยู่นานว่าจะเปิดดีมั้ย ตกลงก็เปิดโน๊ตบุ๊คเอาแทน เพราะถ้าน้ำมาพอดี ก็คว้าโน๊ตบุ๊ควิ่งหนีได้ทัน…
สำหรับรีวิวในครั้งนี้ขอกลับมาพบคนอ่านอีกครั้งกับหนังไทยตำนานสาหร่ายทอดเรื่อง Top Secret วัยรุ่นพันล้าน ซึ่งการกลับมาในครั้งนี้ของค่าย GTH เล่นซะดราม่าท่วมจอ น้ำตาท่วมบ้านกันเลยทีเดียว และเป็นเพียงเรื่องเดียวในช่วงวิกฤตน้ำท่วม ที่ผมอุตส่าห์ลงทุนไปดู เพราะการเดินทางลำบากมาก ตอนเดินทางไปดูไม่เท่าไร แต่ตอนกลับนี่สิ ต้องแหวกว่ายฝ่าการจราจร ฝ่าน้ำท่วม ฝ่าดงแมวทะเลาะกัน กว่าจะผ่านแต่ละด่านมาได้ เล่นเอาหัวฟู แต่ถึงแม้จะเหนื่อยซักเพียงใด แต่เมื่อย้อนไปนึกถึงความลำบากในการทอดสาหร่ายของ “ต๊อบ” ตัวละครในเรื่องแล้ว นับว่าเรื่องของผม.. จิ๊บๆ
เรื่องนี้ได้ดาราวัยรุ่นทายาทเจ้าของห้างเซ็นทรัล พีช – พชร จิราธิวัฒน์ ที่เพิ่งแจ้งเกิดจากภาพยนตร์วัยรุ่นเรื่อง SuckSeed ห่วยขั้นเทพ ไปเมื่อต้นปี มารับบทเป็นตัวละครหลักอย่าง “ต๊อบ” หรือชื่อเต็ม “อิทธิพัทธ์ กุลพงษ์วณิชย์” เจ้าของกิจการสาหร่ายทอด “เถ้าแก่น้อย” ที่โด่งดัง — ผมยอมรับว่าพีชเล่นได้ดีจริงๆ แม้จะเป็นแค่ผลงานเรื่องที่ 2 เท่านั้น แต่ก็แสดงอารมณ์ความมุ่งมั่นออกมาให้เห็นได้เยี่ยม
ส่วนตัวละครหลักอีกตัวที่ดูอบอุ่นมากๆ เป็นบทของผู้กำกับชื่อดังอย่าง เปี๊ยก โปสเตอร์ หรือชื่อจริง สมบูรณ์สุข นิยมศิริ ที่พลิกบทบาทมาแสดงหนังเป็นครั้งแรก โดยเรื่องนี้อาเปี๊ยกรับบทเป็นลุงของต๊อบ ที่ไม่ว่าต๊อบจะมุ่งมั่นทำอะไรก็ตาม จะสำเร็จหรือผิดหวัง ลุงก็จะยืนอยู่เคียงข้างเสมอ — อาเปี๊ยกเล่นเป็นลุงได้อบอุ่นมากๆ แม้จะไม่ได้บอกตรงๆว่ารักต๊อบ แต่แค่การกระทำและการแสดงออก ก็สามารถสื่อความหมายได้มากมายล้านแปด
ในส่วนของเรื่องราว ผมก็ไม่รู้ว่าหนังเรื่องนี้นำเสนอเรื่องจริงๆซักกี่เปอร์เซนต์ เพราะอาจจะมีเรื่องที่ใส่เข้ามาเพิ่มเติมบ้าง เพื่อให้เนื้อเรื่องไหลลื่นและดูสนุกสนาน แต่เนื้อหาของหนังดูดีมาก เพราะได้สร้างแรงบันดาลใจให้วัยรุ่นอีกหลายล้านคน ในการที่จะเริ่มต้นทำอะไรซักอย่าง ที่ไม่ใช่แค่เรียนๆเล่นๆไปวันๆ — โดยเนื้อเรื่องของหนังเรื่องนี้มีส่วนผสมของความอึดอัดในหลายฉาก เพราะต้องลุ้นว่าต๊อบจะทำสำเร็จมั้ย? จะผ่านอุปสรรคต่างๆที่เกิดขึ้นได้มั้ย? จะทอดสาหร่ายแล้วอร่อยมั้ย?.. อีกทั้งยังมีฉากดราม่าเรียกน้ำตา ฉากความสัมพันธ์ในครอบครัวต๊อบ ฉากโมโหที่โดนหลอก แต่ไม่ว่าอึดอัดหรือดราม่าหรืออะไรก็ตาม หนังก็นำเรื่องราวมารวมกันได้อย่างลงตัวทีเดียว
เริ่มเรื่องมา หนังได้นำเสนอเรื่องราวในมุมมองของการเล่าเรื่องย้อนกลับ โดยต๊อบ (พชร จิราธิวัฒน์) เดินดุ่มๆ มาหาเจ้าหน้าที่ธนาคาร (ไชยวัฒน์ อนุตระกูลชัย) เพื่อขอเงินกู้ 10 ล้านบาท เอาไปสร้างโรงงานทอดสาหร่าย และเจ้าหน้าที่ของธนาคารคนนั้นก็ถามเหตุผลของต๊อบ ทำให้ต๊อบเล่าเรื่องราวของตัวเองตั้งแต่ต้น
ต๊อบเล่าเรื่องของตัวเองตั้งแต่สมัยยังเรียนมัธยม ว่าเขาเป็นเด็กมัธยมคนหนึ่ง ที่วันๆก็ไม่ทำห่าไร เอาแต่เล่นเกมออนไลน์ แต่ถึงยังไงก็ตาม การเล่นเกมออนไลน์ของต๊อบ ก็สร้างรายได้ให้เขาได้มากมาย จากการ “ค้าอาวุธ” ในเกม ทำให้ต๊อบเริ่มติดใจและ “ค้าอาวุธ” ต่อมาเรื่อยๆ จนสามารถเก็บเงินไปซื้อรถเก๋งมาขับตั้งแต่ยังเรียนมัธยม
และด้วยความที่ต๊อบมัวแต่ “ค้าอาวุธ” ต๊อบจึงไม่ค่อยสนใจเรียน และทำให้พ่อและแม่เป็นห่วง — จนเมื่อต๊อบเรียนถึงชั้นม.6 ก็ถึงเวลาที่ต้องเอนท์เข้ามหาวิทยาลัย ต๊อบก็เอนท์ไม่ติด ทำให้พ่อและแม่ทะเลาะกัน โดยพ่ออยากให้ต๊อบเรียนรามฯ ส่วนแม่อยากให้ต๊อบเรียนเอกชน ซึ่งในท้ายที่สุด ต๊อบก็ได้ไปสมัครเรียนม.หอการค้าไทย
ชีวิตของต๊อบก็ใช้เงินที่ตัวเองหามาได้ไปเรื่อยๆ จนมาวันหนึ่งที่ต๊อบไม่สามารถ “ค้าอาวุธ” ในเกมได้อีก ต๊อบจึงหาโอกาสอื่นในการสร้างรายได้ โดยการนำพระของครอบครัวไปตีราคา ซึ่งต๊อบก็ได้เงินมา 1 แสนบาท และนำไปซื้อดีวีดีจีนแดงในร้านแห่งหนึ่ง เพื่อจะนำไปขายต่อ แต่ต๊อบก็ผิดเองในครั้งนี้ เพราะดีวีดีจีนแดงที่ไปซื้อมา ก็พังง่ายซะเหลือเกิน จนต๊อบต้องไปอาละวาดขอเงินคืน เถียงกับเจ้าของร้านอยู่นาน เรื่องก็ลงท้ายด้วยการที่ต๊อบวิ่งหนีป่าราบ
หลังจากที่ต๊อบโดนหลอก ต๊อบก็หาวิธีอื่นต่อ โดยต๊อบได้ไปที่เมืองทองธานี เพื่อไปดูงานนิทรรศการ ซึ่งการไปดูงานในครั้งนี้ ลงท้ายด้วยการซื้อ “เครื่องคั่วเกาลัด” กลับบ้าน และหมายมั่นจะเปิดร้านขายเกาลัดให้ได้
ต๊อบไปหาสถานที่ขายเกาลัด ซึ่งก็ได้ไปขายในห้างบิ๊กซีแห่งหนึ่ง (ใครรู้บอกด้วย..) โดยใช้ชื่อร้าน “เถ้าแก่น้อย” และให้ลุง (สมบูรณ์สุข นิยมศิริ) มาขายหน้าร้าน เพราะต๊อบต้องไปเรียนหนังสือ แต่การขายช่วงแรกๆ ก็ขายไม่ค่อยออก ทำให้ต๊อบต้องคิดหาทางแก้ โดยวันหนึ่งที่ต๊อบไปเดินซื้อของกับหลินแฟนสาว (วลันลักษณ์ คุ้มสุวรรณ) ต๊อบก็ได้เก็บข้อมูลจากการพบปะคนขายในตลาด ว่าร้านที่จะประสบความสำเร็จต้องมีอะไรบ้าง เช่น เชียร์ขาย ตัดราคา หรือทำเล…
เมื่อต๊อบได้ข้อมูลมา เขาก็ได้เปลี่ยนทำเลร้านเกาลัด จากเดิมที่อยู่ทางเข้าตรงลานจอดรถ ก็เปลี่ยนมาเป็นทางเข้าด้านหน้าห้างแทน ซึ่งวันแรกหลังจากที่เปลี่ยนทำเลก็ขายไม่ดีเช่นเคย แต่หลังจากนั้นร้านเกาลัดของต๊อบก็ขายดีเรื่อยมา จนต๊อบต้องเพิ่มสาขาร้านเกาลัด
แต่หลังจากร้านกำลังไปได้สวย ต๊อบก็ต้องเจอปัญหาอีกครั้ง เนื่องจากเครื่องคั่วเกาลัดของต๊อบปล่อยควันขึ้นเพดาน และทำให้เพดานกลายเป็นสีเหลือง จนทำให้ทางห้างมาบอกต๊อบให้หาทางแก้ไข ซึ่งต๊อบก็หาทางแก้ไขโดยการทาสีทับ
ปัญหาในครั้งนี้ของต๊อบไม่ได้เกิดขึ้นแค่เรื่องเพดานเปลี่ยนสีเรื่องเดียว แต่พ่อ-แม่ของต๊อบต้องย้ายไปอยู่เมืองจีนเพื่อหนีหนี้ที่รุมเร้าครอบครัว ทำให้ต๊อบต้องเลือกว่าจะไปกับพ่อ-แม่ หรือจะอยู่คนเดียวที่นี่ ซึ่งคำตอบของต๊อบก็เลือกอย่างหลัง โดยให้สัญญากับครอบครัวและแฟนสาวว่าจะเรียนให้จบ
แต่ต๊อบก็ไม่ได้มุ่งมั่นในเรื่องการเรียนเลยซักนิด เพราะเมื่อเขาทราบเรื่องการล้มละลายของครอบครัว เขาก็หาทางหาเงินให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะต้องเสียอะไรไปเท่าไรก็ตาม
เมื่อร้านขายเกาลัดของต๊อบต้องปิดกิจการลง เนื่องด้วยร้านของต๊อบไปทำให้เพดานกลายเป็นสีเหลืองจนโดนทางห้างล้มเลิกสัญญา ต๊อบก็กลับไปสมัครเอนท์อีกครั้งตามคำของของหลิน และสัญญาจะไปเรียนให้จบ แต่หลังจากที่ต๊อบได้ชิมสาหร่ายทอดของหลินตอนขับรถไปเที่ยวกัน ต๊อบก็ได้ไอเดียใหม่ และคิดจะเปิดร้านขายสาหร่ายทอด
ต๊อบไปซื้อแผ่นสาหร่ายมามากมาย และวานให้ลุงช่วยทอด แต่ไม่ว่าจะทอดอย่างไร จุ่มน้ำมันทีเดียว จุ่มแป๊บเดียว จุ่มสองแป๊บ หรือจุ่มนานๆ — สาหร่ายที่ทอดก็รสชาติไม่อร่อยซักที แต่ต๊อบก็ไม่ย่อท้อ และบอกลุงว่าไม่ต้องเป็นห่วง ทอดไปเรื่อยๆ จนต๊อบต้องเสียสาหร่ายไปหลายลัง เพราะทอดแล้วทิ้ง ไม่ได้เรื่องซักที จนท้ายที่สุดต๊อบต้องขายคอมพิวเตอร์ทิ้ง เพื่อนำเงินไปซื้อแผ่นสาหร่ายเพิ่ม
วันหนึ่งต๊อบซื้อสาหร่ายกลับมาบ้าน ต๊อบก็พบว่าลุงนอนล้มพับอยู่ในครัว หัวกระแทกพื้นเลือดไหล ต๊อบจึงต้องพาลุงไปโรงพยาบาล หลังจากนั้นเป็นต้นมา ต๊อบก็มุ่งมั่นทอดสาหร่ายต่อไป ทอดไป ชิมไป แหวะไป จนสาหร่ายหมดลัง ต๊อบจะไปหยิบถุงใหม่มา แต่ก็พบว่าสาหร่ายหมดแล้ว ซึ่งต๊อบก็ทุ่มทุกอย่างไปซื้อสาหร่ายหมดแล้ว แต่สาหร่ายก็ไม่อร่อยซักที
แต่ในวินาทีนั้น ต๊อบก็พบกับถุงสาหร่ายที่ตกอยู่ที่พื้น โดนฝนสาด ทำให้ถุงสาหร่ายเปียก ต๊อบจึงเอาสาหร่ายถุงนั้นมาทอด และก็พบว่า สาหร่ายอร่อยมาก!! มั๊ว!!  (สรุปว่าสาหร่ายจะอร่อยได้ ต้องโดนฝนสาดรึป่าว?) และต๊อบก็นำสาหร่ายไปให้ลุงชิมที่โรงพยาบาล ซึ่งลุงก็เล่นกินซะเกลี้ยง มั๊ว!!
แต่แม้สาหร่ายของต๊อบจะอร่อยเพียงใด ต๊อบก็ต้องเจอกับปัญหาสาหร่ายขึ้นหืน ต๊อบจึงเดินทางไปม.เกษตรศาสตร์ (ม.ผมเอง.. อิอิ) เพื่อไปขอคำแนะนำจากอาจารย์ ในการทำให้สาหร่ายไม่ขึ้นหืน โดยใช้กลยุทธ์ในการพูดหว่านล้อมตามแบบของต๊อบ (ที่หนังนำเสนอตั้งแต่ต้นเรื่อง ตอนที่ต๊อบไปขอเงินกู้จากธนาคาร)
หลังจากเหตุการณ์การทอดสาหร่ายถุงสุดท้ายในครั้งนั้น ต๊อบก็กลับไปเช่าร้านในบิ๊กซีอีกครั้ง เพื่อขายสาหร่ายทอดในนาม “เถ้าแก่น้อย” โดยผลตอบรับในครั้งนี้ก็ดีซะเหลือเกิน และทำให้ต๊อบคิดเล่นๆเอาว่า ยอดขายของร้านใน 1 ปีจะต้องทำได้แน่ๆที่ 1 ล้านบาท
เมื่อคิดได้ดังนั้น ต๊อบจึงโทรไปหาพ่อ-แม่ที่เมืองจีน เพื่อถามความเป็นไป และปิดท้ายด้วยการถามยอดหนี้ที่ครอบครัวมี ซึ่งคำตอบที่ต๊อบได้รับก็คือ ครอบครัวมีหนี้บานตะไทถึง 40 ล้านบาท เมื่อเทียบกับยอดขายที่ต๊อบประมาณเอาไว้ ก็หมายความว่าต๊อบต้องทอดสาหร่ายขายไปอีก 40 ปี กว่าหนี้ก้อนนี้จะหมด!!!
ต๊อบตกใจในคำตอบที่ได้รับ แต่ก็ไม่ทำให้ต๊อบหมดหวังซะทีเดียว โดยในวันหนึ่งต๊อบนำเทปการสอนที่เคยฝากเพื่อนอัดมาฟังอีกครั้ง แต่ถ่านดันหมด ต๊อบจึงเดินไปเซเว่น ไปซื้อถ่านและชีสไบท์ แต่สาขานี้ชีสไบท์หมด ต๊อบหิว จึงเดินไปอีกร้านที่อยู่ตรงข้าม เพื่อสั่งชีสไบท์กิน ต๊อบนำถ่านใส่เครื่องเล่นเทป และเปิดฟัง ซึ่งในเทปกำลังกล่าวถึงทฤษฎี “ป่าล้อมเมือง” พอดี — ต๊อบฟังไปมองทางไป และพบว่าที่แยกแห่งนั้น มีร้านเซเว่นตั้ง 3 ร้านอยู่ใกล้กัน ทำให้ต๊อบคิดได้ว่า ต้องนำสาหร่ายไปขายในเซเว่น เพราะต๊อบเห็น  ”เซเว่นล้อมแยก”  ตรงกับทฤษฎี  ”ป่าล้อมเมือง”
ต๊อบเดินทางไปตึกซีพี สำนักงานของเซเว่น นัดกับคุณปูไว้ แต่ก็ไม่ได้แจ้งไว้ว่ามาแล้ว ทำให้นั่งรอจนเหงือกบาน ท้ายที่สุดหลังจากที่ต๊อบได้แจ้งว่ามาแล้ว ต๊อบก็ได้พบคุณปู แต่ต๊อบก็มีเวลาเพียงนิดเดียวในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ และลงท้ายด้วยการปฏิเสธ เพราะสินค้าของต๊อบมีแพคเกจที่ไม่น่าสนใจ และราคา 80 บาทที่ต๊อบเสนอขายต่อถุงก็แพงมาก ตามที่คุณปูกล่าวไว้ว่า “เซเว่นเป็นร้านสะดวกซื้อ ถ้าคุณขาย 80 บาท ดิฉันคิดว่าจะซื้อไม่สะดวก” รวมทั้งทฤษฎีที่ต๊อบบอกให้กับคุณปูก็โดนตำหนิว่าเข้าใจผิด เพราะทฤษฎี “ป่าล้อมเมือง” ที่แท้จริง จะต้องเริ่มจากการตีตลาดจากต่างจังหวัด แล้วค่อยรุกคืบเข้าตัวเมือง
เมื่อได้ยินดังนั้น ต๊อบก็ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ ต๊อบได้ไปจ้างทำแพคเกจสินค้าใหม่ โดยยังใช้ชื่อสินค้าว่า “เถ้าแก่น้อย” ตามเดิม และนำไปเสนอคุณปูอีกครั้ง แม้จะรู้ว่าคุณปูติดประชุม แต่ต๊อบก็อดทนรอจนถึงเย็น จนท้ายที่สุดต๊อบก็ทนไม่ไหวและขอกลับ โดยในขณะลงลิฟต์จะำกลับบ้าน ต๊อบก็ได้วางกล่องสาหร่ายทอดให้กับยามในลิฟต์เพื่อเอาไปกิน
ต๊อบออกมาเดินเล่นไปเรื่อย และโทรไปหาแม่ ถามความเป็นไป ในขณะเดียวกันที่พนักงานกำลังขึ้นลิฟต์ และพบกับกล่องสาหร่ายทอดหลายถุง จึงถามยาม ยามก็บอกว่า เอาไปได้เลย มีเด็กมาวางไว้ — ซึ่งพนักงานคนนั้นก็หยิบไปหลายถุง เอาไปกิน กินไปกินมา อร่อยติดใจ แบ่งเพื่อนกินด้วย
คุณปูที่เลิกจากประชุมก็เดินมา แต่เห็นว่าต๊อบที่ขอเข้าพบกลับไปแล้ว เธอจึงกลับบ้าน เดินลงลิฟต์ และพบกับ… ถุงสาหร่าย 1 ถุงที่เหลืออยู่ในกล่อง จึงหยิบเอาไปกิน และคงเห็นแพคเกจที่สวยงาม รวมทั้งรสชาติที่อร่อยติดใจ จึงแจ้งกลับไปหาต๊อบให้มาประชุม
ต๊อบผู้ที่เป็นเจ้าของกิจการที่อายุน้อยที่สุดที่ติดต่อกับเซเว่น เดินทางไปประชุม คุณปูแจ้งผู้เข้าร่วมประชุมฟังว่า ทุกโรงงานของทุกท่านจะต้องได้รับการตรวจสอบมาตรฐาน โดยหลังจากที่ตรวจสอบผ่านแล้ว จะต้องส่งสินค้าให้กับเซเว่นล๊อตแรก 3,000 สาขา รวม 72,000 ซอง
เมื่อต๊อบได้ยินดังนั้นก็กลับบ้านมาดูโรงงานของตัวเองที่บ้าน และคิดว่าต้องไปธนาคารเพื่อกู้เงินมาสร้างโรงงาน ในส่วนนี้หนังก็กลับไปหาการสนทนาของเจ้าหน้าที่ธนาคารและต๊อบอีกครั้ง ซึ่งหลังจากที่ต๊อบเล่าเรื่องราวของตัวเองมานาน คำตอบที่ได้จากเจ้าหน้าที่ธนาคารก็คือ ต๊อบไม่สามารถกู้ได้ เพราะอายุไม่ถึงเกณฑ์ ทำให้ต๊อบต้องหาทางอื่นเพื่อสร้างโรงงาน
ในเมื่อไม่เหลือทางหาเงินได้อีกแล้ว ต๊อบจึงขายรถตัวเองทิ้ง และนำเงินที่ได้ไปสร้างโรงงาน โดยลุงของต๊อบก็พาต๊อบไปอาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งที่เป็นทรัพย์สินของครอบครัว ต๊อบได้จ้างให้คนมาปรับปรุงอาคารพาณิชย์เพื่อสร้างโรงงานทอดสาหร่าย โดยต๊อบจ่ายเงินไปก่อนครึ่งหนึ่งและที่เหลือจะจ่ายตามมาทีหลัง ซึ่งต๊อบก็เสี่ยงมาก เพราะถ้าต๊อบหาเงินมาจ่ายอีกครึ่งที่เหลือไม่ได้ ต๊อบต้องติดคุก
หลังจากที่โรงงานของต๊อบสร้างเสร็จเรียบร้อย คุณปูและเซเว่นก็มาตรวจสอบโรงงานของต๊อบ โดยในระหว่างการตรวจสอบนั้น คุณปูก็มีทีท่าว่าจะไม่ให้ต๊อบผ่านเกณฑ์ เพราะโรงงานของต๊อบมีข้อเสียหลายอย่าง เช่น ไฟไม่มีที่ครอบ อ่างน้ำทิ้งไม่มีที่ครอบ อ่างล้างมือต้องเป็นแบบเท้าเหยียบ แต่เมื่อต๊อบได้ยินดังนั้น ก็สัญญาว่าจะแก้ไขให้ และหลังจากตรวจสอบเสร็จ คุณปูก็บอกว่าขอไปคิดก่อน และจะแจ้งให้ทราบทีหลังทางแฟ็กซ์
แม้ว่าต๊อบจะยังไม่รู้ว่าโรงงานจะผ่านการตรวจสอบหรือไม่ แต่ต๊อบก็ไม่รอเวลา โดยได้สั่งให้พนักงานเตรียมสินค้าให้ครบตามกำหนด 72,000 ซอง เพราะเมื่อโรงงานผ่านเมื่อไร จะได้ส่งสินค้าได้ทันเวลา
หลังจากที่เวลาผ่านไป ก็มีแฟ็กซ์มาจากเซเว่น เพื่อแจ้งผลการตรวจสอบ ต๊อบรีบวิ่งมาที่เครื่องแฟ็กซ์ทันที แต่ก็ต้องพบว่าเครื่องพิมพ์หมึกจะหมดพอดี ทำให้ตัวอักษรที่จะบอกว่าผ่านหรือไม่ผ่านอ่านไม่ออก ต๊อบจึงต้องเอากระดาษไปส่องกับแสงแดด และพบกับคำว่า “ผ่าน” ซึ่งก็หมายความว่าสินค้าสาหร่ายทอดของต๊อบได้โอกาสวางขายในเซเว่นแล้ว
่ในวันที่ต๊อบต้องส่งสินค้าไปตามกำหนด ต๊อบขอบคุณลุงที่ช่วยเหลือในทุกๆสิ่งที่ผ่านมาและยืนเคียงข้างเสมอ เมื่อต๊อบไปสิ่งสินค้าที่โรงงาน ก็พบว่าตัวเองมาสายและถูกตัดสิทธิ์ แต่ด้วยความที่ต๊อบลงจากรถเพื่อไปขอร้อง สินค้าของต๊อบได้อนุญาติให้นำเข้าคลังจนได้
เรื่องราวจบลงด้วยการกล่าวแบบตัวหนังสือ เพื่อแสดงความเป็นไปหลังจากที่สินค้า “เถ้าแก่น้อย” ไปวางขายในเซเว่น ต๊อบสามารถใช้หนี้ 40 ล้านบาทให้ครอบครัวได้สำเร็จ และกลายเป็นเศรษฐีพันล้านในอายุเพียง 26 ปี
ในส่วนเนื้อเรื่องที่ผมเล่าให้ฟังนั้น อาจจะเล่าข้ามหรือเล่าสับกันได้ เพราะผมก็ดูหนังตั้งแต่วันแรกที่เข้าฉายแล้ว แต่เพิ่งได้มาเขียน สำหรับหนังเรื่องนี้ ที่แม้จะมีเนื้อเรื่องที่นานมาก นานจริงๆสำหรับหนัง GTH ซักเรื่อง แต่เนื้อเรื่องก็สร้างแรงบันดาลใจให้คนดูได้มากมาย ตามคำส่งท้ายที่พอจะสรุปได้ว่า
“ทุกครั้งที่เจอปัญหา อย่ายอมแพ้ คุณอาจหมดสิ้นทุกสิ่งทุกอย่างได้ แต่ห้ามหมดกำลังใจเป็นอันขาด เพราะถ้าเรายอมแพ้ เกมจะจบลงทันที แต่หากเราไม่ยอมแพ้ เกมยังดำเนินต่อไป”
อิทธิพัทธ์ กุลพงษ์วณิชย์ – “ต็อบ” เถ้าแก่น้อย
ซึ่งแม้ว่าต๊อบจะโดนหลอกถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกตอนซื้อดีวีดีจีน และอีกครั้งที่มาบอกตอนจบว่า พระที่ต๊อบไปตีราคาได้มา 1 แสนบาทนั้น แท้จริงแล้วต้องขายได้ประมาณ 3-4 ล้านบาท แต่ต๊อบก็ไม่เคยยอมแพ้ซักครั้ง ถึงขนาดที่ขายทุกสิ่งในชีวิต แม้แต่เครื่องคอมพิวเตอร์ หรือรถเก๋งก็ยอมเสียได้ เพื่อสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า เพื่อความสำเร็จข้างหน้าที่รออยู่…
สรุปแล้วหนังเรื่องนี้ดำเนินเรื่องได้สนุก เพราะสร้างความอึดอัด สร้างแรงกระตุ้น และสร้างแรงบันดาลใจได้มากมาย ใครจะไปคิดว่าแค่เด็กวัยรุ่นคนหนึ่ง จะมีความพิเศษในตัวเอง และสามารถประสบความสำเร็จได้มากมายถึงเพียงนี้ เป็นไปตามชื่อสินค้าที่ต๊อบเองได้ตั้งไว้จริงๆ… “เถ้าแก่น้อย
เรตติ้งสำหรับหนัง Top Secret วัยรุ่นพันล้าน
เนื้อเรื่องดนตรีประกอบนักแสดง
87.257.25
กำกับภาพกำกับฉาก/แต่งกาย/เอฟเฟ็กต์ความชอบส่วนตัว
7.578.75
คะแนนรวม 6 ด้าน
7.63
หมายเหตุ: ทุกด้านคะแนนเต็มคือ 10 คะแนน


Credit :
http://mckmarvel.wordpress.com/2011/10/22/topsecret-wairoon1b_review/

วัยรุ่นพันล้าน : สูตรลับที่สุดของ ‘เถ้าแก่น้อย’ มันคือ ‘ความพยายาม’

Top Secret หรือในชื่อไทยว่า วัยรุ่นพันล้าน เป็นหนังไทยที่สร้างมาจากประวัติของผู้ก่อตั้งโรงงานสาหร่ายทอดอย่าง เถ้าแก่น้อย ที่เป็นเรื่องราวของ ต๊อบ เด็กม.ปลาย ที่วันๆของเขาใช้ชีวิตและหมดเวลาไปกับเกมส์ออนไลน์ แต่จนกระทั่งวันนึง เขาดันได้เงินก้อนแรกของเขาจากการขาย ไอเทม ในเกมส์ออนไลน์ของเขานี้แหละ จึงทำให้เขามีแรงสู้และคิดว่าจะเอาดีกับด้านเกมส์นี้ได้อย่างแน่นอน จนกระทั่งบ้านของ ต๊อบ นั้นเป็นหนี้ 40 ล้านโดยพ่อและแม่ของเขาอยากให้เขาย้ายไปเมืองจีนเพื่อหนีหนี้ แต่ต๊อบได้ให้คำสัญญาไว้ว่าจะปลดหนี้ให้กับพ่อแม่เอง โดยการขายของต่างๆที่นำมาซึ่ง สาหร่ายทอด นี้เอง
Top Secret กำกับการแสดงโดย พี่ย้ง ทรงยศ สุขมากอนันต์ หลังจากเคยทำหนังเด็กในตำนานอย่าง แฟนฉัน และตามมาด้วยมิตรภาพคนกับผีอย่างหนังเรื่อง เด็กหอ ก็ถือว่าเป็นผู้กำกับที่ถือว่าคนดูให้ความไว้วางใจมากที่สุดเลยก็ว่าได้ ซึ่งหลังจากหายหน้าหายตาในการกำกับหนังใหญ่ไปหลายปีทีเดียว (ไม่นับรวมพวกตอนสั้นใน 5 แพร่ง) ในปีนี้พี่ย้งก็กลับมาพร้อมกับผลงานหนังแนว ดราม่า ให้กำลังใจเรื่องใหม่อย่าง Top Secret ที่ถือได้ว่าเป็นหนังชีวประวัติของผู้ก่อตั้งโรงงาน เถ้าแก่น้อย ที่น่าสนใจทีเดียว โดยสิ่งแรกที่ถือว่า Top Secret ประสบความสำเร็จเกินกว่าที่คาดมากเลยคือด้านของ นักแสดงคู่พระ-นางอย่าง พีช พชร และนางเอกหน้าใหม่อย่าง มุกไหม วลันลักษณ์ ที่ถือว่าเกินคาดทั้งคู่ โดยเฉพาะในด้านของการแสดงที่เรียกได้เต็มปากเลยว่า…
ทำให้คนดูอิน และ เข้าใจความรู้สึกของตัวละครตัวนั้นได้ดีอย่างน่าเหลือเชื่อ โดยเฉพาะที่ต้องขอชมคือ มุกไหม ที่ถือว่าเป็นผลงานเรื่องแรกที่ถือว่าแสดงออกมาได้ดีเหลือเชื่อมาก โดยเฉพาะฉากดราม่าต่างๆที่เรียกได้ว่าทำเอาคนดูน้ำตาตกตามไปด้วยเลยทีเดียว (ถ้านึกไม่ค่อยออกลองนึกถึงตอน พีช พชร เล่นหนังเรื่องแรกอย่าง Suck Seed แต่ก็ถือว่าแสดงออกมาได้ กวน และ ขี้เล่น เกินคาดเลยทีเดียว) ซึ่งนอกจากนั้นด้านตัวบทของหนังที่แน่นอนว่าต้องออกมาเป็นแนว Feel-Good ตาสไตล์ของค่าย GTH ที่ก็ถือว่าไม่ได้ทำให้ผิดหวังเช่นเคย ถึงแม้ว่าจะมีการแต่งเติมกลิ่นและสีในด้านของบทที่บิดจากความจริงไปเล็กน้อย
แต่ ในเมื่อว่ามันเป็นหนังก็แน่นอนที่ว่าอาจจะมีบิดไปบ้างเล็กน้อย แต่จุดประสงค์สำคัญในการ แต่งกลิ่น และ บิดความจริงออกไปคือการทำให้คนดูสนุก และ ปริ่มเปรม ไปกับความหวังเล็กๆของ ต๊อบ ซึ่งในข้อนี้หนังก็ถือว่าทำได้สำเร็จอีกแล้ว และถึงแม้เราจะได้ยินคำคมที่ประมาณว่า ‘ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น’ มาบ่อยมากแล้ว แต่ก็ยอมรับว่าไม่เคยเบื่อเลยสักนิด โดยเฉพาะการหนังเรื่อง Top Secret ขยายคำคมนั้นออกมาเป็นหนังยาว ที่ดูแล้วมั่นใจเลยว่า หลังจากคุณดูหนังเรื่องนี้จบแล้วนั้น ในวันหลังๆเวลาคุณท้อคุณจะคิดถึงหนังเรื่องนี้ประมาณ The Shawshank Redemtion เลยทีเดียวครับ
แต่ก็ตามสไตล์หนังทุกเรื่องก็ไม่ได้ สมบูรณ์ไปสักทุกอย่างหรอกครับ ซึ่งสิ่งที่ไม่ชอบอยู่สิ่งเดียวใน Top Secret คงเป็นด้านของการสร้าง อารมณ์ร่วมของหนังกับคนดู ที่พี่ย้ง เลือกที่จะให้คนดูซึมซับความสำเร็จที่มาพร้อมน้ำตาของ ต๊อบ ไปกันเอง มากกว่าที่จะใส่เพลงอารมณ์แนวเศร้าๆและทำให้เราปริ่มจนน้ำตาตก (ส่วนตัวนั้นผมชอบในข้อหลังมากกว่า เพราะในข้อแรกนั้น การซึมซับกับหนังสักเรื่องถือว่าเป็นเรื่องยากพอสมควรสำหรับผม) แต่ยังไงก็ตามนั้น ถ้าให้โดยสรุปแล้วคือ Top Secret ถือว่าเป็นหนังดราม่า ที่สามารถใส่จังหวะความฮาให้คนดูได้อย่างถูกระยะ ที่มาพร้อมกับนักแสดงที่เรียกได้ว่า…
มีพลังและแสดงได้อินกับบทบาท ไปได้อย่างราบรื่น โดยเฉพาะนางเอกหน้าใหม่อย่าง มุกไหม ที่คุณหนุ่มๆไปดูคงต้องร้องไห้ตามไปกันแน่ๆ และนอกจากนั้นทางด้านของ การให้กำลังใจ และ การสู้ไม่ถอย ของหนังนั้นต้องให้กำลังใจคนดูได้อย่างแน่นอน เพียงแต่ว่าบางฉากที่มันดราม่าจัดๆ ผมก็อยากได้ดนตรีบิวท์สักนิดนึงหน่ะ ฮ่าๆ
ป.ล. บทของผู้กำกับรุ่นเก๋าอย่าง อาเปี๊ยก โปสเตอร์ ถึงแม้จะเป็นบทเล็กๆแต่ก็ต้องเรียกได้เลยว่าดูไปยิ้มไปพร้อมเปี่ยมด้วยพลัง อย่างแน่นอน
เรื่องนี้ผมให้ 8/10 ครับ
คติดีๆที่ได้จากหนัง Top Secret: วัยรุ่นพันล้าน

วันนี้ผมได้ไปดูหนังเรื่อง Top Secret ที่ เซนจูรี่มา รอบบ่ายสองได้ดูโรงแปด คนก็ไม่ค่อยเยอะนะครับ ถึงแม้ว่าหนังจะเพิ่งเข้าโรงก็ตาม อาจจะเป็นเพราะคนกลัวน้ำท่วมกระมังเลยไม่มีกระจิตกระใจจะออกไปไหน

ความรู้สึกที่เข้ามาหลังดูหนังจบคือ ความคิดในหัวที่ว่า ชีวิตคนๆนึงมันผ่านอะไรได้มากมายขนาดนี้เลยเหรอและไม่น่าเชื่อว่าหนทางของเด็กคนนึงมันจะมีอุปสรรคมากมายขนาดนั้น มากจนดูเหมือนว่า เด็กอายุ 19 คนนึงไม่น่าจะฝ่าฝันไปได้ คือคนแบบนี้เป็นคนที่หายากจริงๆและน่าจะเป็นซัก 1 คนในแสนคนจากคนที่ประสบความสำเร็จบนโลก

หนังทำออกมาดีมากครับ สามารถดึงอารมณ์คนดูให้คล้อยตามไปแต่ละฉากได้ นับว่าทั้งผู้กำกับและนักแสดงเยี่ยมยอดจริงๆ

ในหนังก็ได้แทรกอะไรไว้หลายๆอย่างที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ถ้าได้เอาไปขบคิดให้ดี

อย่างเช่น
- ขายของ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือทำเลกับทุน

- คนเราถ้าคิดจะทำอะไรแล้ว ให้ลงมือทำเลย อย่าคิดมากจนเกินไปและก็อย่าคิดน้อยเสียจนดูเหมือนว่าไม่ได้คิด

- ตอนท้ายเรื่องมีประโยคหนึ่งที่คุณต๊อบได้ฝากไว้ ผมจำไม่ได้แล้วว่ามันพูดว่าอะไรแต่น่าจะประมาณว่า "เวลาพบกับความล้มเหลว อย่ายอมแพ้ง่ายๆ เพราะถ้าเรายอมแพ้ ก็เท่ากับว่าเกมมันจบ " ผมมาแปลความได้ว่า ถ้าเราสู้ต่อไป เกมมันก็ยังดำเนินต่อ ถึงแม้ว่าเราจะไม่รู้ว่าปลายทางเราจะแพ้หรือเราจะชนะ แต่อย่างน้อย มันก็ยังมีโอกาสที่จะชนะ

- และสิ่งที่สำคัญคือ "ใจ" ถ้าใจไป ตัวก็จะไปตาม ขอแค่ใจสู้ ใจกล้ากับหัวสมองเอาไว้ใช้แก้ปัญหา อะไรมันยากซักแค่ไหน มันก็จะผ่านพ้นไปได้

- สุดท้าย ทุกอย่างมักเริ่มจากจุดที่เรียกว่าจุดเริ่มต้น บริษัทเถ้าแก่น้อย ก็ใช่ว่าคุณต๊อบจะสร้างมันขึ้นมาเลยทันทีที่เขาคิดว่าอยากจะทำธุรกิจ มันเกิดจากการลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ จนมาถึงจุดปัจจุบันที่บริษัททำกำไรได้ถึง 1,500 ล้านบาทในปี 2553

หลายคนอาจจะได้ดูตัวอย่างภาพยนตร์เรื่อง "TOP SECRET วัยรุ่นพันล้าน" กันมาแล้ว ด้วยตัวอย่างที่น่าติดตามต่างจากภาพยนตร์วัยใสทั่วไป เพราะภาพยนตร์ดังกล่าวนั้นมีแรงบันดาลใจมาจากเรื่องจริง!! ของเด็กหนุ่มที่ติดเกมออนไลน์... เรียนหนังสือไม่เก่ง แถมถูกประณามว่าเป็นเด็กไม่เอาไหน แต่ใครจะรู้ว่าเขาคนนั้นจะกลายมาเป็นเศรษฐีร้อยล้านเพียง อายุแค่ 23 ปีเท่านั้น (เขาร้อยล้านตอนอายุ 23 แต่ตอนนี้ 26 แล้วอ่า) !

          นั่นแน่... อยากรู้กันแล้วใช่ไหมว่าเขาคนนั้นคือใคร แล้วทำไมเขาถึงกลายเป็นเศรษฐีได้ในเวลาอันสั้น ไปทำความรู้จักกับ "ต๊อบ อิทธิพัทธ์ กุลพงษ์วณิชย์" เจ้าของธุรกิจสาหร่ายทอดกรอบแบรนด์ "เถ้าแก่น้อย"กันเลย

         ต๊อบ อิทธิพัทธ์ กุลพงษ์วณิชย์ เศรษฐีร้อยล้านคนนี้ ก่อนหน้านี้เขาถูกตราหน้าว่าเป็นคนไม่เอาถ่าน ไม่สนใจเรียน ชีวิตของ ต๊อบ มีแต่คำว่า "เกม" เท่านั้น โดยต๊อบเริ่มเล่นเกมออนไลน์ Everquest มาตั้งแต่ ม.4 ถึงขนาดสะสมแต้มจนรวยที่สุดในเซิร์ฟเวอร์ และกลายเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงอย่างมากในเกมดังกล่าว จนมีฝรั่งมาขอซื้อไอเท็มเด็ด ๆ ไอเท็มเจ๋ง ๆ ที่หายากในเกมจากเขา และนั่นก็เป็นการเริ่มต้นสร้างรายได้ของต๊อบ ซึ่งการซื้อขายไอเท็มเกมดังกล่าว บวกกับการที่เป็นผู้ทดสอบระบบเกมในฐานะคนเล่น ก็สร้างรายได้ให้เขาเป็นกอบเป็นกำ จนมีเงินเก็บเป็นหลักแสนบาทเลยทีเดียว

        ด้วยความที่เป็นเด็กติดเกม ต๊อบ อิทธิพัทธ์ จึงเรียนจบชั้นระดับมัธยมมาได้อย่างยากลำบาก และเรียนต่อระดับอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งตอนนั้นนั่นเองเขาก็เริ่มก้าวเข้าสู่ถนนแห่งเส้นทางธุรกิจ พร้อมตั้งใจจะทำความฝันของตัวเองให้เป็นจริงด้วยการมีธุรกิจเป็นของตัวเอง
ต๊อบ อิทธิพัทธ์ กุลพงษ์วณิชย์
          และในช่วงจังหวะที่เกมออนไลน์เริ่มไม่เป็นที่นิยมเหมือนเคย เขาก็หารายได้จากช่องทางอื่น ทั้งขายเครื่องเล่นวีซีดี ดูทำเลเปิดร้านกาแฟหน้ามหาวิทยาลัย แต่ก็ไม่เป็นที่ประสบความสำเร็จ จนกระทั่งเขาได้ไปเดินงานแฟร์ช่องทางธุรกิจ ซึ่งในงานนั้นมีเฟรนไชส์จากประเทศญี่ปุ่นมาออกบู๊ท ด้วยความที่เขาเป็นคนชอบกินเกาลัดอยู่แล้ว เลยสนใจธุรกิจนี้เป็นพิเศษ จึงเข้าไปสอบถามค่าเฟรนไชส์เกาลัดดังกล่าว แต่ทว่าราคาสูงเกินกำลังที่เขามี เลยขอแค่เช่าตู้คั่วเกาลัดเท่านั้น แล้วมาสร้างเฟรนไชส์เป็นของตัวเอง และเมื่อวันที่เขาต้องไปเซ็นสัญญาซื้อขายเกาลัดที่ห้างแห่งหนึ่ง ก่อนออกจากบ้านเขาได้ยินคุณพ่อพูดกับเพื่อนว่า "ลูกอั้วกำลังจะเป็นเถ้าแก่น้อยแล้ว" คำว่าเถ้าแก่น้อยที่ได้ยินตอนนั้นนั่นเอง ที่เป็นที่มาของชื่อ "เถ้าแก่น้อย" สาหร่ายทอดกรอบในปัจจุบัน

        เศรษฐีร้อยล้าน ได้ใช้เวลาเพียงแค่ปีกว่า ๆ ขยายเฟรนไชส์เกาลัดเถ้าแก่น้อย ได้กว่า 30 สาขาและเมื่อเขาเห็นว่า เฟรนไชส์ของเขาขายได้หลายแห่งแล้ว เขาจึงคิดจะทำสินค้าอื่นเพิ่มเติม จึงลองนำอย่างอื่นมาวางขายในร้าน ไม่ว่าจะเป็น เกาลัด ลูกท้อ ลำไยอบแห้ง และสาหร่าย แต่สินค้าที่ขายดีที่สุดในตอนนั้นกลับไม่ใช่เกาลัด แต่กลายเป็นสาหร่ายทอดกรอบ ซึ่งนั่นเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เขาอยากต่อยอดธุรกิจในการทำสาหร่ายทอดตรา "เถ้าแก่น้อย" อย่างจริงจัง 

        หลังจากนั้นเขาก็พยายามศึกษา หาความรู้เกี่ยวกับสาหร่าย และได้ลองผิดลองถูกอยู่หลายครั้ง โดยเริ่มจากบรรจุซองพลาสติกไปฝากตามร้านค้าต่าง ๆ แต่ก็มีอุปสรรคมากมาย ทั้งสินค้าหมดอายุไว รูปแบบแพ็กเกจจำหน่ายไม่สวย จึงทำให้เขากลับมานั่งคิดอีกครั้งว่า จะทำอย่างไรให้สินค้าเก็บไว้ได้นาน มีแพ็คเกจที่น่าสนใจ และสามารถขายในร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-11 ได้

       แต่พรสวรรค์ทางการตลาดของเขาก็ได้จุดประกายความคิดอีกครั้ง เขาได้นำกระแสเกาหลี กระแสญี่ปุ่น เป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบ โดยอยากให้ผู้บริโภคจดจำสินค้าของ เขาได้ทันทีที่แรกเห็น เขาจึงทำโลโก้เป็นเด็กน่ายิ้ม ดูน่ารัก มีความสุข อีกทั้งถือธงเพื่อให้รู้ว่า ถึงจะเป็นของกินเล่นแต่มีคุณค่าทางอาหารสูง รวมไปถึงเพิ่มรสชาติต่าง ๆ ให้หลากหลาย ตอบรับความต้องการของแต่ละคน
ต๊อบ อิทธิพัทธ์ กุลพงษ์วณิชย์
       และเมื่อเขาได้ปรับปรุงสินค้าเรียบร้อยแล้ว เขาจึงนำสาหร่ายเถ้าแก่น้อยไปเสนอแก่ 7-11 อีกครั้ง และจากนั้นก็ได้รับการติดต่อกลับมาในทันทีว่า "ภายใน 3 เดือน สินค้าคุณพร้อมจะวางขายในร้าน 7-11 จำนวน 3,000 สาขาทั่วประเทศ หรือไม่" เมื่อได้ยินดังนั้น คำถามก็ประดังประเดเข้ามาในหัวของเขาว่า เขาต้องทอดสาหร่ายกี่แผ่น ใช้คนทอดกี่คน และจะทำทันหรือไม่ ทั้ง ๆ ที่ตอนนั้นมีคำถามอยู่เต็มหัวไปหมด แต่เขาก็ตอบกลับ 7-11 ไปเกือบจะทันทีว่า พร้อมครับ!!!

        หลังจากที่ ต๊อบ อิทธิพัทธ์ ตอบตกลงไปแล้ว เขาก็ต้องกับมานั่งกุมขมับ กับปัญหา และสิ่งที่ตามมาทั้งการสร้างโรงงาน เงินทุน แหล่งวัตถุดิบ การนำเข้าเครื่องจักรต่าง ๆ เพื่อผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐาน พร้อมส่งขายแก่ 7-11 กว่า 3,000 สาขา ในระยะเวลาเพียง 3 เดือนเท่านั้น...  เขาจึงเดินหน้าด้วยการเริ่มต้นหาทุนสร้างโรงงาน โดยการไปขอกู้ยืมจากธนาคารแห่งหนึ่ง แต่ก็ได้รับการปฏิเสธกลับมา นั่นเป็นเพราะว่า ในตอนนั้นเขามีอายุเพียง 20 ปี เท่านั้น และเมื่อเขากู้เงินไม่ผ่าน เขาจึงยอมตัดใจขายธุรกิจเฟรนไชส์เกาลัดทิ้ง ซึ่งเฟรนไชน์กว่า 30 สาขาดังกล่าว สร้างรายได้ให้เขาเดือนละกว่าล้านบาทเลยทีเดียว แต่กว่าที่เขาจะตัดสินใจขายเฟรนไชส์แรกที่เขาปลุกปั้นมากับมือ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและสำคัญต่อจิตใจของเขามาก แต่เขาก็ต้องขายด้วยความเสี่ยง เพราะเขาไม่รู้เลยว่า ธุรกิจสาหร่ายนั้น จะดีเท่ากับธุรกิจเกาลัดหรือไม่
ต๊อบ อิทธิพัทธ์ กุลพงษ์วณิชย์
        ในขณะที่ธุรกิจกำลังก้าวหน้า ต๊อบ อิทธิพัทธ์ ได้ตัดสินใจดร๊อปเรียนไว้ตอนปี 1 เพื่อนำเวลามาทำธุรกิจส่วนตัวอย่างเต็มตัว ส่วนทางด้านเงินที่ขายเฟรนไชส์เกาลัด ก็นำมาลงทุนกับสาหร่ายทั้งหมด โดยการสร้างโรงงานผลิตสาหร่ายทอด ซึ่งมีพนักงานก็คือครอบครัวของเขาทุกคน และคนงานอีกเพียงแค่ 6-7 คนเท่านั้น ทุกคนทำงานอย่างหนัก ยิ่งช่วงใกล้ส่งสินค้าให้กับทาง 7-11 ครอบครัวและคนงานของเขา แทบไม่ได้หลับได้นอน ทอดสาหร่าย และบรรจุภัณฑ์ แต่ก็สำเร็จ เขาสามารถบรรทุกสาหร่ายเถ้าแก่น้อยเต็มคัน ขับไปส่งศูนย์จำหน่าย  7-11 ได้สำเร็จ

        จากนั้นเป็นต้นมา สาหร่าย "เถ้าแก่น้อย" ก็ทะยานสู่ตลาดวัยรุ่น และผู้บริโภคที่ชื่นชอบสาหร่ายทอดกรอบได้สำเร็จ ส่วน ต๊อบ ก็กลายเป็นนักธุรกิจหนุ่มใหม่ไฟแรง เปลี่ยนสถานะจากเศรษฐีร้อยล้าน กลายเป็นเศรษฐีพันล้านได้อย่างสำเร็จ

          ส่วนเรื่องการเรียนของ ต๊อบ อิทธิพัทธ์ นั้น ตอนนี้เขามีวุฒิการศึกษาสูงสุดเพียงแค่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เท่านั้น ซึ่งตอนนี้เขาก็ได้ลงเรียนอีกครั้งที่ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่งแม้ว่าเขาจะเชื่อว่า ประสบการณ์ไม่ได้มาจากทฤษฎีในห้องเรียน แต่มันมาจากการลงมือปฏิบัติก็ตาม แต่ที่เขาเรียนนั่นก็เพื่ออยากจะให้พ่อแม่ได้ภูมิใจ และอยากถ่ายรูปรับปริญญาร่วมกับครอบครัวเพียงเท่านั้น...
ต๊อบ อิทธิพัทธ์ กุลพงษ์วณิชย์




ประวัติ ต๊อบ อิทธิพัทธ์ กุลพงษ์วณิชย์

          ชื่อ อิทธิพัทธ์ กุลพงษ์วณิชย์
          ชื่อเดิม ต่อพงศ์ กุลพงษ์วาณิชย์
          ชื่อเล่น ต๊อบ
          อายุ 26 ปี

การศึกษา

          อนุบาล-ประถมศึกษา โรงเรียนปานะพันธ์วิทยา
          มัธยมศึกษาตอนต้น เซนต์ฟรังซีสเซเวียร์ เมืองทองธานี
          มัธยมศึกษาตอนปลาย สวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี
          ระดับอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยหอการค้า คณะบริหาร (ไม่จบ)

ปัจจุบัน

          เป็นเจ้าของกิจการสาหร่ายเถ้าแก่น้อย

อิทธิพัทธ์ กุลพงษ์วณิชย์ จากเด็กไม่เอาถ่าน สู่ เถ้าแก่น้อย ร้อยล้าน



เรื่อง สุทธิคุณ กองทอง
ภาพ นพพล ภาคสุทธิผล
 
เสื้อผ้า  GAS จาก Central Plaza สาขา ชิดลม
แต่งหน้า บัณฑิต บุญมี 







 
  นักธุรกิจหนุ่มในวัย 23 ต๊อบ-อิทธิพัทธ์ กุลพงษ์วณิชย์ ใครจะคิดว่า จากเด็ก
ที่ชอบเล่นเกมส์ออนไลน์ เรียนหนังสือไม่เก่ง ถูกประณามเป็นเด็กไม่เอาถ่าน 
จะกลายเป็นเจ้าของธุรกิจสาหร่ายทอดร้อยล้านภายใต้ชื่อ “เถ้าแก่น้อย”

 วันนี้เชื่อเหลือเกินว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจว่าเจ้าของธุรกิจ”เถ้าแก่น้อย” คงต้องเป็นคนอายุมาก หรือไม่ก็เป็นอาเสี่ยรุ่นดึกไปเลย แต่ที่ไหนได้เจ้าของธุรกิจเถ้าแก่น้อยกลับกลายเป็นเด็กหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรงจนแวดวงธุรกิจต่างต้องจับ
ตามองอย่างไม่กระพริบ แม้หนุ่มน้อยคนนี้จะเป็นคนที่เรียนหนังสือไม่เก่ง ในมุมหนึ่งเขากลับชอบอ่านประวัติของนักธุรกิจชั้นนำ อาทิ ธนินท์ เจียรวนนท์ เจริญ สิริวัฒนภักดี ตัน ภาสกรนที โดนัลด์ ทรัมป์ บิล เกตต์ สตีฟ จ้อบส์ ต่างล้วนเป็นต้นแบบในการสร้างแบรนด์เถ้าแก่น้อย
 
บุคคลเหล่านี้เปรียบเสมือนเป็นไฟส่องทางที่ได้นำเคล็ดลับดีๆ มาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน แล้วยังนำไปพัฒนาในการบริหารธุรกิจของเถ้าแก่น้อยจนเป็นที่รู้จักในอุตสาหกรรมบ้านเรา วันนี้เป็นโอกาสอันดี ทีมงาน WhO? ได้มาสัมภาษณ์ คุณต๊อบ-อิทธิพัทธ์ กุลพงษ์วณิชย์ ผู้ก่อตั้งบริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู้ด แอนด์มาร์เก็ตติ้ง 
จำกัด จ.นนทบุรี เมื่อทีมงานไปถึงคุณต๊อบหนุ่มหน้าใสอยู่ในเสื้อเชิ้ตสีขาว
กับกางเกงสแลคสีดำ ได้ออกมานั่งพูดคุยกันแบบเขินๆ ตามที่เจ้าตัวพูดออกตัวก่อนให้สัมภาษณ์


 ครั้งหนึ่งในชีวิตถูกถากถาง”เด็กไม่เอาถ่าน”
 เมื่อวางปากกาจากการเซ็นต์หนังสือบนโต๊ะทำงาน คุณต๊อบเดินออกมายิ้มบ่ง
บอกว่าพร้อมที่จะให้สัมภาษณ์ว่า สมัยก่อนเรียนชั้นมัธยมไม่ค่อยตั้งใจเรียน
เท่าไหร่ เกเร หนีเรียนด้วยการปีนรั้วโรงเรียน จนครูพูดตรงกันว่า 
“เด็กคนนี้แสบ” 
ยิ่งเรียนชั้น ม.5- ม.6 ยิ่งโดดเรียนไปเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ออนไลน์บ่อยมาก 
ตรงนี้ใครจะรู้ว่าการเล่นเกมส์ในวันนั้นจะกลายเป็นที่มาของเถ้าแก่น้อย  เขาอธิบายว่าเมื่อ 7 ปีที่ผ่านมาเกมส์ออนไลน์บ้านเรายังไม่แพร่หลาย แต่ที่อเมริกามีการเล่นอย่างแพร่หลาย แล้วพี่ชาย(ณัชชัชพงศ์) ได้แนะนำให้เล่นเกมส์ 
Xbox 360  ,Playstation 3 โดยเล่นกับพี่ชายจนรวยที่สุดในเกมส์ 
และเล่นกับคนอเมริกันก็เล่นรวยที่สุดในเกมส์อีกเช่นกัน
 
 “ผมโชคดีที่ได้เข้าไปแชทกับเจ้าของเซิร์ฟเวอร์โดยบังเอิญ คือ เราเข้าไปเสนอความคิดเห็นว่า ทำไมในเกมส์ถึงไม่มีแบบนั้น ไม่ทำแบบนี้ พอดีว่าเขาถูกใจเลยติดต่อให้ทำงานด้วย โดยรับงานเป็นจ๊อบๆ ทำหน้าที่คิดส่ิงแปลกๆ มาเสนอ ตอนนั้นได้ค่าจ้างเดือนละสองสามแสนบาท เมื่อมีรายได้แบบนี้ผมก็ชอบ
เพราะเล่นเกมส์แล้วยังได้เงินด้วย จนเรียน ม.6 ก็จบอย่างทุลักทุเลมาก ครูจึงรู้จักผมในฐานะของเด็กไม่เอาถ่าน เรียนไม่ได้เรื่อง ชอบเล่นแต่เกมส์ 
จนมีอาจารย์ท่านหนึ่งพูดกับผมว่า จบไปแล้วจะทำอะไรกิน” 
เสียงค่อนขอดจากครูทำให้เขามีแรงที่จะต้องสร้างธุรกิจของตัวเอง
 
 จุดเริ่มต้นธุรกิจแฟรนไชส์เกาลัด
 ต่อมาเข้าเรียนปี 1 ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กระแสเกมส์ออนไลน์
ก็เริ่มเสื่อมความนิยม รายได้เดือนเป็นแสนก็ลดลง จึงคิดหาสินค้าซื้ออื่นมาขายทดแทน เช่น ซีดี เครื่องเล่นซีดี ผลตอบรับก็ไม่ดี จนมาวันหนึ่งได้คุยกับ
คุณพ่อ(วรเศษฐ์) เพราะท่านเคยทำธุรกิจก่อสร้าง ท่านก็แนะนำว่า ลองทำอะไรที่เกี่ยวกับอาหารก็น่าสนใจ โชคดีมีวันหนึ่งได้ไปเดินงานที่เมืองทองธานี 
บังเอิญมีบูทขายเกาลัดที่ผลิตจากเครื่องจักรคั่ว พอได้ลองกินรู้สึกว่าอร่อยดี 
ยิ่งเขาเป็นคนชอบกินเกาลัดเป็นทุนเดิม จึงกลับไปปรึกษากับที่บ้านว่าอยาก
จะขายบ้าง พ่อเลยแนะนำให้ไปเดินดูเกาลัดที่เยาวราช

 เชื่อไหมว่าเขาเดินซื้อเกาลัดตั้งแต่ต้นซอยยันท้ายซอยมีคำถามพรั่งพรูตลอด 
เช่น ถามอาแปะที่ยืนคั่วเกาลัด ทำไมถึงต้องนำเกาลัดมาแช่น้ำ คำตอบที่ได้ถ้าเกาลัดลอยจากน้ำขึ้นมาแสดงว่าใช้ไม่ได้ ถามจนต้นทุน รู้แหล่งทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำให่้ยิ่งสนใจอยากลองทำธุรกิจนี้ทันที เถ้าแก่น้อยตัวจริง ให้ข้อคิดเอาไว้ว่า 
“คนเราจะทำธุรกิจอะไรที่ไม่รู้จะต้องกล้าที่จะถามอย่าไปอายกับความรู้ 
กลยุทธ์ในการประสบความสำเร็จของผมไม่ยาก คือ หนึ่งถาม สองถาม 
สามก็ถามอีกน่ันแหละ”
 ยี่ห้อ”เถ้าแก่น้อย”มาจากความบังเอิญ ...

 โลโก้สินค้าหรือตราสินค้าส่วนใหญ่เกิดจากแนวคิดของครีเอทีฟล้วนๆ 
แต่สาหร่ายทอดภายใต้ยี่ห้อ“เถ้าแก่น้อย” ได้มาด้วยความบังเอิญ ที่วันหนึ่งก่อนออกจากบ้านเพื่อนำรูปแบบแฟรนไชส์ไปเสนอห้างๆ หนึ่ง พอดีคุณพ่อนั่งอยู่ที่โต๊ะกินข้าวคุยโทรศัพท์อยู่กับเพื่อน ได้เห็นเขาดินผ่านไปเลยพูดแซวขึ้นว่า ลูกชายกำลังจะไปเป็นเถ้าแก่น้อยแล้ว พอได้ยินเช่นนั้นก็รู้สึกเฉยๆ ระหว่างที่นั่ง
เสนองานอยู่นั้น ทางห้างถามว่า มีชื่อหน้าร้านหรือยัง ด้วยความใหม่ในธุรกิจจึงไม่ทันคิด  แต่แว๊บแรกที่เข้าในสมองคิดถึงคำพูดของพ่อขึ้นมาทันทีว่า 
“ร้านเถ้าแก่น้อยเกาลัดครับ” น้ำเสียงบ่งบอกถึงความภูมิใจกับไหวพริบ
ที่่พอมีอยู่ในตัว



 
เมื่อเล่าถึงช่วงแรกที่ทำธุรกิจแฟรนไชส์เกาลัดสีหน้าบ่งบอกถึงความกดดัน
อย่างมาก เนื่องจากวันแรกที่เข้าไปในห้างแห่งหนึ่งขาดทุนไป 500 บาท 
วันที่สองขาดทุนพันบาท ขาดทุนแบบนี้อยู่สองเดือน จากเงินที่เล่นเกมส์มา
ก็เริ่มหดหายไปเรื่อยๆแต่ใจยังสู้ไม่ถอยเลยไปเปิดอีก 1 สาขาคราวนี้ขาด
ทุนหนักกว่าเดิม พอคิดจะเลิกทำโชคดีมีห้างโลตัสติดต่อให้ลองนำเกาลัด
ไปขายในห้าง วันแรกขายได้ยอด 5,000 กว่าบาท เชื่อไหมว่าไฟที่กำลัง
จะมอดกลับลุกโชนขึ้นมาเป็นกำลังใจ ระหว่างเล่าอยู่นั้นเขามีน้ำเสียง
ดีใจสุดๆ 
 
ความสำเร็จจากยอดขายตรงนี้ทำให้สนใจเกี่ยวกับฮวงจุ้ย จึงศึกษาจนพบ
คำตอบว่า ทำเลที่ดีที่สุดของห้างต้องอยู่ทางซ้ายของประตูทางออกเสมอ
เพราะมีคนเดินเข้าออกตลอด อีกคำตอบที่ได้หากทำสินค้าให้ประสบ
ความสำเร็จมี 3 อย่างเหมือนกัน คือ หนึ่งโลเกชั่น สองโลเกชั่น สามก็โลเกชั่น 
เป็นที่มาขยายแฟรนไชส์ออกไปกว่า 30 สาขา” เขายืนยันคนเราไม่รู้ควร
จะต้องถามผู้รู้ถึงจะไปถึงฝั่งฝัน
 ธุรกิจสาหร่ายทอดเกิดจากเพื่อนสนิท ...
 
เมื่อหน้าร้านมีที่เหลือจึงนำสินค้าจากประเทศจีนมาขาย เช่น ลูกพลับแห้ง 
ลำไยอบแห้ง แต่ก็ขายได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น กระทั่งวันหนึ่งขับรถไปรับเพื่อนที่มหาวิทยาลัย (ได้ถามกลับไปทันทีว่าเพื่อนคนนี้ใช่แฟนไหม เจ้าตัวยืนยัน่
คำเดียวว่าเป็นเพื่อน เอาใจสาวด้วยว่าวันนี้ผมโสดเสียงสูงแล้วกลบเกลือนด้วยเสียงหัวเราะ) เขาบอกว่าเพื่อนคนนี้ซื้อสาหร่ายทอดมากินบนรถแล้วขอชิม 
ปรากฎว่ารสชาติอร่อยดีชอบมาก วันหลังไปรับก็ขอให้ซื้อมาฝากอีก 
แล้วนำไปให้คนในครอบครัวกินทุกคนต่างฝากซื้อด้วย
 
หลังจากนั้นลองนำสาหร่ายทอดมาขายหน้าร้านเกาลัด เป็นเรื่องที่ดีใจมากๆ 
เรียกว่าไฟลุกโชนอยู่ในใจ  เพราะผลตอบรับดีกว่ายอดขายเกาลัด เมื่อเห็นสินค้านี้มีอนาคตจึงคิดต่อยอดธุรกิจออกไป ด้วยการทำสาหร่ายทอดเอง โดยนำเข้าสาหร่ายจากเกาหลี เพราะถือว่าเป็นสาหร่ายที่มีคุณภาพ พอนำ  สินค้าตัวอย่างไปเสนอให้กับทางเซเว่นอีเลฟเว่น กลับต้องผิดหวัง(เขาทำน้ำเสียงอ่อยแอบเศร้าเล็กๆ)
 ทางเซเว่นฯ บอกสินค้าอยู่ในถุงพลาสติกใสๆ แบบนี้จะเก็บไว้ได้ไม่นานให้ปรับปรุงแพ็คเกจจิ้งใหม่ พอปรับปรุงเสร็จได้ไปเสนอทางเซเว่นฯ อีกครั้ง 
แต่กลับไม่ค่อยได้รับความสนใจเลยให้ฝากสินค้าเอาไว้ ใจที่ห่อเหี่ยวเริ่มดีขึ้นเมื่อช่วงบ่ายมีเสียงโทรศัพท์ดังตื้ดๆ (เขาทำท่ารับโทรศัพท์แบบจริงจัง) 
คำตอบทำให้เขาดีใจสุดๆ เมื่อทางเซเว่นฯ สนใจสินค้าโดยจะให้ส่งไปขายในเซเว่นฯ 3,000 สาขา แม้ชั่วโมงนั้นโรงงานผลิตยังไม่มี คนทอดสาหร่ายมี
อยู่ 6 คนรวมตัวเองด้วย
 
ผู้สร้างตำนานเถ้าแก่น้อยยิ้มก่อนเล่าต่อว่า วันนั้นคิดว่าเป็นโอกาสที่ดีใจที่แฟ๊บๆ 
ก็ฟูขึ้นมาอีกรอบ สมองคิดเลยว่าจะต้องใช้เครื่องจักร จำนวนคนทำ 
จึงตอบกลับไป “พร้อมครับ” ทางเซเว่นฯ ให้เวลาสองเดือนพร้อมส่งสินค้า 
จุดนี้เองจึงได้สร้างโรงงานขึ้นมาด้วยการตัดสินใจขายแฟรนไชส์เกาลัดทิ้ง 
4 ล้านบาท เพื่อนำเงินมาเป็นทุนหมุนเวียนในการผลิตสาหร่ายทอดอย่าง
เต็มรูปแบบ บอกตรงๆ ว่าเวลานั้นเป็นการตัดสินใจที่ยากว่าจะหยุดธุรกิจ
อย่างหนึ่งแล้วมาทำอีกอย่างหนึ่งไม่ง่ายเลย สิ่งสำคัญเราต้องให้กว่ารับ ให้มากกว่ารับในบางครั้งการทำธุรกิจต้องไม่ทำแค่นี้พรุ่งนี้ แต่ต้องมองไปถึง
เจ็ดแปดเก้า ทำทุกอย่างให้ผู้บริโภคได้ชิมสินค้าที่ถูกใจ
 กำ ลังใจนำ  ไปสู่ความสำ  เร็จ...
 
ความสำเร็จจากการทำธุรกิจเกาลัดคนเดียวนึกว่าตัวเองเก่ง หลงตัวเองใน
ที่สุดก็เกิดการผิดพลาด นี่เป็นคำยอมรับจากเถ้าแก้น้อย ก่อนอธิบายถึงการ
ดูแลพนักงานกว่า 600 คนว่า เราต้องรับฟังความคิดเห็นจากพนักงานทุกคน
ที่จบปริญญาตรี ปริญญาโท หากเอาเหตุผลเราเป็นหลักก็ไม่รู้ไปจ้างพวก
เขาทำไม ดังนั้น เราต้องรับฟังความเห็นแล้วนำมากลั่นกรองอีกครั้งก่อนสรุป 
สิ่งสำคัญ
เราต้องมีภาวะผู้นำที่ดีกล้าที่จะยอมรับความผิดพลาดนั้นๆ

 ใครได้อ่านเรื่องราวของ”เถ้าแก่น้อย”คงมีไม่น้อยที่อยากประสบความสำเร็จ
กับสิ่งที่ทำ คุณต๊อบให้เคล็ดอย่างไม่ลับว่า  “อย่างแรกต้องเริ่มต้นจากความคิดก่อน ผมทำอะไรใหม่ๆ โชคดีที่ผมมักเป็นคนที่คิดว่า ถ้าทำไม่สำเร็จแล้วจะทำยังไง ผมจะคิดเสมอว่า ถ้าทำสำเร็จแล้วต้องทำอะไรต่อ แล้วถ้าคุณกล้าที่จะเดินในโลกธุรกิจต้องยอมรับให้ได้ว่า ต้องมีปัญหา ต้องมีอุปสรรค หรือทางตัน แต่ขอให้มองปัญหาเป็นบทเรียนที่สอนเรา คิดเสียว่า เมื่อมีประตูหนึ่งปิด ก็ต้องมีประตูหนึ่งเปิดไม่มีทางตัน สำคัญมากคนเราผิดพลาดเสียเงินเสียทองได้ แต่ขออย่างเดียวไม่หมดกำลังใจ เพราะถ้าหมดกำลังใจก็เหมือนคนตายที่ทำอะไรไม่ได้ กำลังใจ
เท่านั้นที่จะพาไปสู่ความสำเร็จ”
 
แม้วันนี้ธุรกิจสาหร่ายทอดเถ้าแก่น้อยจะประสบความสำเร็จมากแค่ไหน 
หนุ่มต๊อบ-อิทธิพัทธ์ กุลพงษ์วณิชย์ ก็ยังไม่หยุดคิดที่จะพัฒนาสินค้าตัวอื่น
ต่อไป


























มุมมองคลื่นใหม่- “อิทธิพัทธ์ กุลพงษ์วณิชย์” เริ่มจาก"ชอบ"สู่ความเชี่ยวชาญ



"คนรุ่นใหม่เก่ง ฉลาด และมีการศึกษาที่ดี เพียงแต่พวกเขายังขาดแรงสนับสนุนด้านปัจจัยการทำธุรกิจ ทุกวันนี้ต่างชาติเข้ามามาก ซึ่งยิ่งมากเท่าไรคนไทยก็จะเป็นแค่พนักงานและลูกจ้างเท่านั้น จึงอยากให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่เริ่มประกอบธุรกิจของตัวเอง ทำเป็นธุรกิจขนาดเล็กๆ ก่อนก็ได้ แต่สมัยนี้คนส่วนใหญ่คิดแต่ว่าเรียนจบ หางานทำ แต่ไม่มีใครคิดจะเป็นเจ้าของธุรกิจตัวเอง คนรู้จักที่อยู่ในวัยเดียวกัน เมื่อเรียนจบแล้วก็ถามว่าต้องทำงานที่ไหน แต่น้อยคนนักที่จะถามว่าทำอะไรดี"

การมีธุรกิจเล็กๆ เป็นของตัวเองนับเป็นเรื่องยากแล้ว แต่การเริ่มต้นธุรกิจตั้งแต่อายุยังน้อย แถมยังประสบความสำเร็จมีสินค้าเป็นที่รู้จักแพร่หลายไปทั่วประเทศ และในอีกหลายๆ ประเทศ พูดได้ว่ายากยิ่งกว่า แต่ก็ไม่เกินความสามารถของ “อิทธิพัทธ์ กุลพงษ์วณิชย์” หรือ ต๊อบ นักธุรกิจหนุ่มไฟแรง ที่วัยเพียง 23 ปี เท่านั้น ปัจจุบันเขาคนนี้เป็นเจ้าของบริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู้ด แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ซึ่งริเริ่มสร้างธุรกิจจนทำให้สาหร่ายทอดยี่ห้อ “เถ้าแก่น้อย” กลายเป็นขนมกินเล่นเพื่อสุขภาพติดตลาดผู้บริโภคคนไทยและในเอเชีย
 จุดกำเนิด "เถ้าแก่น้อย"
 วี่แววของเถ้าแก่ต๊อบเริ่มตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม โดยเริ่มหารายได้จากความชอบเล่นเกมออนไลน์ จนกลายเป็นผู้เล่นที่รวยที่สุดในชุมชนเกมออนไลน์ ซึ่งมีคนแนะนำให้นำเงินเกมไปขายเป็นเงินจริง ช่วงแรกฝากเพื่อนขายก่อน แล้วก็ได้เป็นเงินจริงๆ ขึ้นมา ทำให้ต้องไปที่เวสเทิร์น ยูเนี่ยน เกือบทุกวัน เพื่อรับเงินโอน ตอนนั้นรายได้ขั้นต่ำอยู่ที่ 8-9 หมื่นบาทต่อเดือน บางเดือนได้เงินสูงถึง 2 แสนบาท จึงไม่ได้ขอเงินที่บ้านใช้อีกเลย และทุกคนตกใจมากที่เขาหาเงินเองได้มากขนาดนี้ พอก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย เลิกเล่นเกม แต่ด้วยความที่เคยมีรายได้ จึงอยากนำเงินเก็บไปลงทุนเพิ่มรายได้ ก็ทำงานหลายอย่าง ทั้งขายวีซีดี และธุรกิจเกี่ยวกับแฟรนไชส์ จนมาจบลงด้วยแฟรนไชส์เกาลัดชื่อ "เถ้าแก่น้อย"
 "แรกๆ ขาดทุนจนเกือบท้อ แต่พอดีมีห้างแห่งหนึ่งชวนให้ไปตั้งร้าน ผมจึงยกเลิกที่เดิมและไปตั้งที่ใหม่ก็ขายได้จริงๆ ไฟจึงเริ่มกลับมา จุดนี้เองทำให้ผมได้เรียนรู้ความสำคัญในการประกอบธุรกิจ ซึ่งมีอยู่ 3 ข้อ คือ โลเกชั่น โลเกชั่น แล้วก็ โลเกชั่น ผมจึงเริ่มศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง จนขยายสาขาไป 30 กว่าแห่ง แต่ละแห่งมีรายได้วันละ 5,000 บาท รวมกันรายได้ก็เป็นแสนบาทต่อเดือน จากนั้นไม่นานผมเริ่มนำสินค้าอื่นมาวางขายหน้าร้านด้วย เรื่อยมาจนมีสาหร่ายทอดมาวางขาย"
 ต๊อบบอกว่าแรงบันดาลใจอย่างหนึ่งที่ทำให้ตัดสินใจเปิดแฟรนไชส์เกาลัดคือ ความชอบ ซึ่งเมื่อชอบแล้วก็อยากสร้างสิ่งนั้นขึ้นมา และแบ่งปันให้ทุกคนชอบด้วย โดยเริ่มจากการศึกษาอย่างจริงจังและลงมือทำ เช่นเดียวกับการเริ่มต้นขายสาหร่ายทอดจนกลายเป็นเถ้าแก่น้อย ก็เริ่มจากความชอบส่วนตัว บวกกับความเป็นคนช่างสังเกตเห็นว่าหลายๆ คนชอบกิน เลยได้แนวคิดในการนำมาขาย สร้างเป็นแบรนด์ของตัวเอง จนในที่สุดสาหร่ายขายหน้าร้านกลับขายดีกว่าเกาลัดซึ่งเป็นสินค้าหลัก จึงคิดหาวิธีผลิตเอง เพื่อให้สามารถควบคุมต้นทุนและคุณภาพการผลิตได้
 เมื่อเห็นช่องทางแล้ว เขาจึงตัดสินใจขายแฟรนไชส์เกาลัด นำเงินมาลงทุนสาหร่ายทอดอย่างจริงจัง ซึ่งเรื่องไหนที่ไม่รู้ก็จะยึดหลัก ถาม ถาม และก็ถาม เพราะคิดเสมอว่าการถามไม่ได้ใช้ต้นทุนอะไร มีแต่ได้กับได้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงทำการตลาดใหม่ๆ ครึ่งปีแรกนั้น ก็ประสบปัญหาขาดทุนเหมือนกัน แต่เขาบอกว่าอยากให้มากกว่ารับก่อน จนทุกวันนี้ตลาดในประเทศเป็นของเถ้าแก่น้อยแล้ว แถมยังส่งออกไปขายต่างประเทศด้วย
 “เถ้าแก่น้อย” อะราวนด์เดอะเวิลด์
 ต๊อบมองถึงเป้าหมายของเถ้าแก่น้อยว่า อยากสร้างแบรนด์ให้เป็นเถ้าแก่น้อยอะราวนด์เดอะเวิลด์ ตอนนี้ถือว่าขายสินค้าทั่วภูมิภาคเอเชียอยู่แล้ว จึงเป็นที่รู้จักพอสมควร ในเมืองไทยเองต้องการสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง ไม่แพ้แบรนด์ใหญ่ๆ ส่วนในต่างประเทศก็ต้องพยายามสร้างให้เป็นที่รู้จัก หรือที่ไหนมีกำลังซื้อมากอาจจะไปตั้งโรงงานด้วย โดยเน้นให้แบรนด์เถ้าแก่น้อยเป็นธุรกิจเกี่ยวกับสาหร่าย ให้เป็นแบรนด์ที่สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เพื่อประโยชน์กับผู้บริโภคในเรื่องของสาหร่าย
 "สินค้าของเราอาจไม่ใช่เจ้าแรกในตลาด แต่ขอเป็นรายแรกที่อยู่ในใจของลูกค้าก็พอ" ต๊อบบอกถึงเป้าหมายและความตั้งใจของตัวเอง ทั้งบอกว่า คู่แข่งในตลาดที่มีเพิ่มขึ้นเป็นเรื่องที่ดี นั่นเพราะว่าสินค้าเป็นที่นิยมมากขึ้น เมื่อคนกินมากขึ้น ก็ต้องมีคู่แข่งเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว แต่เถ้าแก่น้อยโชคดีที่ได้อยู่ในใจของลูกค้าเป็นรายแรก อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเถ้าแก่น้อย ก็ไม่เคยคิดว่าจะผลิตสาหร่ายและขายทั่วประเทศเช่นนี้ และไม่คิดว่าจะต้องเป็นแบรนด์อันดับหนึ่ง ต๊อบบอกด้วยว่า แม้จะมีเป้าหมายไว้ แต่ไม่ได้ยึดติด เพราะถือว่าหากระหว่างทางมีการเปลี่ยนแปลงแล้วดีกว่า ก็เลือกที่จะเปลี่ยน อีกทั้งคิดว่าหากยึดเป้าหมายเดิม ก็อาจเสียโอกาสดีๆ บางอย่างไป

 ทำธุรกิจย่อมมีปัญหาให้แก้
 แม้จะประสบความสำเร็จตั้งแต่วัยรุ่น เถ้าแก่น้อยตัวจริงบอกว่า ชีวิตส่วนตัวยังพอมีเวลาอยู่บ้างสำหรับการเที่ยวพักผ่อน ชอบไปเที่ยวตามรีสอร์ทต่างๆ มาก มักตระเวนไปในที่แปลกๆ รีสอร์ทสวยๆ ด้วยความชอบด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ จึงอยากทำรีสอร์ทเหมือนกัน แต่ตอนนี้ยังไม่พร้อม อีกทั้งยังชอบมองหาอาหารอร่อยๆ สำหรับลิ้มลอง ดังนั้นงานอดิเรกก็เลยเป็นการแบกเป้ไปพักผ่อน อ่านหนังสือ 
 "ผมเคยรู้สึกเสียโอกาสการใช้ชีวิตในวัยรุ่นเหมือนกัน แต่เป็นช่วงที่ต้องทำงานหนักๆ จึงคิดว่าไม่ได้ไปเที่ยวกับเพื่อนเลย พอมาถึงตรงนี้แล้ว เราทำได้ ขณะที่หลายๆ คนไม่ได้ทำเหมือนเรา คิดว่าสิ่งที่เราทำตรงนี้เป็นอนาคตให้แก่ครอบครัว ทำให้รู้สึกมีความสุขมากกว่า เมื่อคิดย้อนกลับไปหากว่าเราได้ไปเที่ยวแล้วได้อะไร แต่การได้ทำสิ่งที่ตัวเองชอบมากกว่า คือทำธุรกิจ ผมรู้สึกว่าได้ทำในสิ่งที่ชอบแล้ว ก็รู้สึกโอเคกับมัน ไม่รู้สึกว่าเสียเปรียบหรือเสียโอกาสอะไร เรากลับมีความสุข เพราะเราชอบเราถึงเชี่ยวชาญ และเมื่อเราเชี่ยวชาญแล้วเราก็จะสามารถสร้างสิ่งที่แปลกกับคนอื่นได้"
 นอกจากนี้ สิ่งที่ต๊อบต้องทิ้งเพื่อทุ่มเทกับการทำงานก็คือ การเรียน โดยในช่วงที่ขยายแฟรนไชส์เกาลัด ได้ดร็อปเรียนมหาวิทยาลัยไว้ เพราะจำเป็นต้องเดินทางบ่อย แต่ตอนนี้กลับมาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และตั้งใจว่าจะเรียนให้จบปริญญาตรีก่อนอายุ 25 ปี จากนั้นจะบินไปเรียนต่อต่างประเทศ เลือกเรียนเฉพาะด้านเพื่อให้เชี่ยวชาญอีกสักสาขาหนึ่ง
 สิ่งหนึ่งที่ต๊อบชื่นชอบก็คือ การอ่านหนังสือเรื่องราวของคนที่ประสบความสำเร็จ และวิธีค้าขายของพ่อค้าสมัยก่อน รวมทั้งประวัติศาสตร์จีนและเกาหลี ซึ่งมีเรื่องราวของนักธุรกิจหลายคนที่นำมาเป็นแบบอย่าง เช่น คุณธนินท์ เจียรวนนท์ คุณเจริญ สิริวัฒนภักดี หรือนักธุรกิจดังในต่างประเทศ อย่างโดนัลด์ ทรัมพ์, สตีพ จ็อบ หรือ บิล เกตส์ และจะนำเรื่องราวของบุคคลเหล่านี้มาเป็นแนวทางให้กำลังใจตัวเองด้วย เพราะการทำธุรกิจมักจะมีปัญหาให้ต้องแก้อยู่ตลอดเวลา ดังนั้น เมื่อเกิดอาการท้อใจ จะบอกตัวเองว่าคนเหล่านี้เขายังสู้เลย ก็จะทำให้ฮึดสู้ขึ้นมาบ้าง
 หมดกำลังใจเหมือนคนใกล้ตาย
 ในฐานะคนรุ่นใหม่ไฟแรง ต๊อบให้มุมมองต่อวัยรุ่นไทยว่า เก่ง ฉลาด และมีการศึกษาที่ดี เพียงแต่พวกเขายังขาดแรงสนับสนุนด้านปัจจัยการทำธุรกิจ ทุกวันนี้ต่างชาติไหลเข้ามามาก ยิ่งมากเท่าไรคนไทยก็จะเป็นแค่พนักงานและลูกจ้างเท่านั้น จึงอยากให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่เริ่มประกอบธุรกิจของตัวเอง ทำเป็นธุรกิจขนาดเล็กๆ ก่อนก็ได้ สมัยนี้คนส่วนใหญ่คิดแต่ว่าเรียนจบ หางานทำ แต่ไม่มีใครคิดจะเป็นเจ้าของธุรกิจตัวเอง
 “เรื่องนี้ไม่ใช่ว่าผมทำงานและประสบความสำเร็จถึงมาพูดได้ ที่พูดเพราะว่าผมมีเพื่อน คนรู้จักที่อยู่ในวัยเดียวกัน เมื่อเรียนจบแล้วก็ถามว่าต้องทำงานที่ไหน แต่น้อยคนนักที่จะถามว่าทำอะไรดี ทุกวันนี้สังคมเปลี่ยนไป เพราะนายทุนเยอะมาก หากเป็นเช่นนี้ต่อไปในอนาคต คนไทยยังคงเป็นเจ้าของประเทศก็จริง แต่คนที่จะเลี้ยงประเทศได้กลับกลายเป็นคนต่างชาติ ผมมองว่ามันไม่ดี”
 ต๊อบบอกว่า ยินดีเป็นกำลังใจให้ทุกคน โดยไปถ่ายทอดเรื่องราวตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ให้นักศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโทฟังฟรีๆ เพราะมองว่าเป็นการตอบแทนสังคมทางหนึ่ง และสิ่งที่บอกเล่าน่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ฟัง อย่างไรก็ตามมองว่าตัวเองไม่ได้แตกต่างจากคนอื่นๆ ไม่ใช่อัจฉริยะ ไม่ใช่คนเก่ง เรียนหนังสือก็ห่วย แต่ที่ก้าวมาถึงจุดนี้ได้ เพราะทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้นั่นเอง
 “บอกได้เลยว่าการจะทำธุรกิจของตัวเองนั้น อย่างแรกเลยคือต้องมีความกล้า ก้าวออกมาจากห่วงโซ่ให้ได้ และให้ลงมือกระทำ สองคือต้องมีความชอบ เพราะหากคุณชอบอะไรแล้ว คุณไปทำงานตรงนั้น จะสนุกเพลิดเพลินไปกับการทำงาน สามารถทุ่มเทให้กับงานได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับคนที่ไม่ชอบงานของตัวเอง และเมื่อคุณชอบ ก็จะเชี่ยวชาญ และสามารถสร้างอะไรที่ไม่เหมือนคนอื่นได้”
 นอกจากนี้ ความคิดก็ถือว่าสำคัญเช่นกัน ต้องมีความเชื่อมั่นใจตัวเอง อย่ามัวคิดว่าไม่สำเร็จแล้วจะทำอย่างไร แต่ให้คิดว่า สำเร็จแล้วจะทำอะไรต่อไป ต๊อบบอกอีกว่า เมื่อผลิตสินค้าใหม่ๆ ไม่ประสบความสำเร็จก็มี แต่ไม่มีใครรู้ เมื่อล้มเหลวก็รู้สึกท้อเหมือนกัน ความมั่นใจหายไป แต่พยายามเตือนตัวเองว่าธุรกิจคือปัญหา อย่าท้อแท้ ให้คิดว่าถ้าประตูไหนปิดก็ยังมีประตูอื่นๆ อีกที่เปิดช่องไว้ให้ ธุรกิจนี้ทำไม่ได้ก็ยังมีอย่างอื่นรออยู่
 สุดท้ายเถ้าแก่น้อยตัวจริงแนะนำอีกว่า เมื่อทำธุรกิจพลาด อย่างมากก็หมดเงิน แต่อย่าท้อแท้ เพราะถ้าหมดเงินแล้วยังหมดกำลังใจด้วย ทุกอย่างถือว่าหมดสิ้นหมดเลย ดังนั้น จึงหมดกำลังใจไม่ได้ เพราะเมื่อไม่มีกำลังใจ ก็ไม่เหลืออะไรแล้ว เหมือนกับคนที่กำลังจะตาย
 “อิทธิพัทธ์ กุลพงษ์วณิชย์” หรือ ต๊อบ อายุ 23 ปี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู้ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด เริ่มหารายได้ด้วยตัวเองตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นมัธยมปลายด้วยเกมออนไลน์ พอเข้ามหาวิทยาลัยปี 1 ช่วงอายุประมาณ 18 ปี ก็เริ่มทำธุรกิจเล็กๆ เพื่อเพิ่มพูนเงินเก็บของตัวเองที่มีอยู่เรื่อยมาจนกลายมาเป็นแฟรนไชส์เกาลัดที่มีชื่อว่า เถ้าแก่น้อย
 ที่มาที่ไปของชื่อเถ้าแก่น้อยเกิดขึ้นในช่วงนี้ด้วยความบังเอิญ ขณะที่คุณพ่อกำลังพาไปติดต่อขอเช่าที่ที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง คุณพ่อได้คุยกับเพื่อนๆ ว่าลูกกำลังจะเป็นเถ้าแก่น้อย จนไปติดต่อต้องกรอกชื่อร้านค้า ซึ่งตอนนั้นไม่ได้คิดไปก่อนหน้าเลย คิดได้แต่คำว่า เถ้าแก่น้อย ก็เลยใช้คำนี้เรื่อยมา รวมทั้งใช้เป็นแบรนด์ของสินค้าสาหร่ายของบริษัทด้วย
 ตั้งแต่เริ่มต้นทำธุรกิจแฟรนไชส์จนปัจจุบันเป็นเวลาร่วม 5 ปีแล้ว ส่วนโรงงานสาหร่ายดำเนินการมาได้ 4 ปี โดยต๊อบบอกว่า ช่วงแรกๆ ที่ทำเถ้าแก่น้อยจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้เล่นคนหนึ่งในตลาดเท่านั้น แต่เมื่อทำไปนานๆ แล้ว กลับรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนสร้าง คือเป็นผู้สร้างสรรค์ตามความต้องการของผู้บริโภค ให้เขาอยากกินสินค้าใหม่ๆ ที่ผลิตขึ้น ส่วนเรื่องส่าหร่ายโดยส่วนตัวคิดว่า สาหร่ายที่ดีที่สุดอยู่ที่ประเทศเกาหลี ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับวิธีการเก็บเกี่ยวและธรรมชาติด้วย ซึ่งสาหร่ายจะมีอยู่ 3 แหล่งคือ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี เพราะเป็นจุดที่มีสารอาหารอยู่จำนวนมาก สาหร่ายก็จะขึ้นดีและมีคุณภาพดี
 สุดท้ายนักธุรกิจหนุ่มไฟแรง บอกว่ายังไม่มีแฟน ตอนนี้กำลังมองหาอยู่ แต่ยังไม่เจอคนที่ใช่ แม้ว่าสมัยเด็กๆ จะชอบตามจีบสาวเหมือนเด็กหนุ่มทั่วไป แต่ตอนนี้ถือว่าตัวเองโตแล้ว และไม่อยากทำให้ใครเสียใจ ซึ่งก็อยากจะหาคนที่เราสามารถพึ่งพากันและกันด้วย ช่วยเหลือกันได้

อนัญชนา สาระคู



ตามติดถนนสายชีวิตของ " เถ้าเแก่น้อย "
   ลองจินตนาการดูว่าหากคุณกำลังเข้าสู่วัยรุ่นในวัย 24 ปี คุณกำลังทำอะไรอยู่หรือหากคุณอยู่ในวัยนั้นแล้วคุณจะเป็นอย่างไร คุณจะยังเป็นเพียงเด็กกะโปโลคนหนึ่งที่ก้ำกึ่งอยู่ระหว่างโลกของความเป็นจริงกับโลกของหนังสือเรียน หรือคุณยังสนุกกับการเพลิดเพลินใช้ชีวิตไปวันๆก่อนจะสยายปีกทยานไปบนถนนแห่งชีวิต
 
   แต่สำหรับ ต็อบ-อิทธิพัทธ์ กุลพงษ์วณิชย์ ใน วัย 24 ปีของเขา กลับเป็นวัยที่น่าจดจำ เพราะถนนสายชีวิตที่เขากำลังโลดแล่นอยู่นั้น เรียกได้ว่าไปไกลหรือเกือบจะถึงเส้นชัยแล้วก็ได้ ในขณะที่คนรุ่นราวคราวเดียวกันเพิ่งจะออกสตาร์ทเครื่องเท่านั้น 

   อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนอาจคิดว่าเป็นการพูดเกินจริง งานนี้เลยต้องพิสูจน์ด้วยภาระหน้าที่ของหนุ่มน้อยวัย 24 ปีคนนี้ เพราะปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่งเป็นถึงประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด หรืออาจจะเรียกสั้นๆว่า “เถ้าแก่น้อย” ก็คงไม่ผิดนัก

รู้สึกยังไงกับการเป็นเถ้าแก่น้อย ?
   ผมคิดว่ามันสองแง่มุมครับ ด้านหนึ่งก็รู้สึกว่ามันทำให้เราทำอะไรได้ไม่เต็มที่ คือ บางทีคนคิดว่าเราเป็นแบรนด์อิมเมจ ทำให้เราไม่มีเวลาเป็นส่วนตัวพอให้กับตัวเอง ไม่มีเวลาในที่นี้ไม่ได้หมายถึงว่าต้องทำงานมาก เพราะทำงานมากไม่เป็นไร แต่บางครั้งบางเวลาเราอยากออกไปเดินเล่นบ้างอะไรบ้าง แต่บางครั้งคนอื่นก็จำเราได้ ซึ่งผมมองว่านั่นก็เป็นข้อเสียด้านหนึ่ง แต่ใช่ว่าจะไม่มีข้อดี เพราะ ถ้าพูดถึงข้อดีแน่นอนว่ามันตามมาอีกเยอะ แต่ส่วนหนึ่งที่ผมรู้สึกแบบนี้ เพราะจริงๆ แล้วส่วนตัวผมเป็นคนที่ค่อนข้างสันโดษ ชอบความเป็นส่วนตัวสูง

มองว่าทุกวันนี้เราประสบความสำเร็จในชีวิตหรือยัง ?
   ผมคิดว่ายัง คือตอนนี้เพิ่ง 5 ปีเอง ที่ผมเข้ามาทำธุรกิจแบบจริงจัง ถ้าเป็นเด็กก็เหมือนเริ่มวิ่งได้ ส่วนตัวผมคิดว่าสิ่งที่ได้มาภายใน 5 ปีนี้ มันยังไม่ใช่ความสำเร็จ มันเหมือนกับแค่เราโชคดีทำในสิ่งที่ถูกจุด แต่ถ้าถามว่าความสำเร็จของผมคืออะไร ผมคิดว่าผมสามารถรักษามันได้ในวันที่ผมเดินออกมาแล้ว คือเมื่อไหร่ที่ผมรีไทร์ ผมยังสามารถรักษาธุรกิจนี้ไว้ได้ ผมถือว่ามันหมดช่วงเวลาของผมแล้ว และผมทำได้ดีที่สุดแล้ว นั่นแหละคือความสำเร็จ ผมเชื่อว่าชีวิตคนเรามันมีขึ้นมีลง เหมือนที่คุณพ่อของผมเคยสอนไว้ว่า เวลาที่ชีวิตขึ้นอะไรมันก็ดีหมด แต่เวลาที่ชีวิตลงสำคัญคือเราต้องอยู่กับมันให้ได้ ถ้าอยู่กับมันไม่ได้เราก็ไม่ไหว

รู้สึกกดดันจากการถูกคาดหวังหรือไม่ ?
   แน่นอน ปฏิเสธไม่ได้ว่าผมถูกคาดหวังจากคนรอบข้าง แต่ผมเป็นคนที่แปลกอย่างหนึ่ง คือเป็นคนที่มีแรงขับดันในตัวเอง ผมคิดว่าลึกๆผมอาจจะมีความหวังบางอย่าง คือ ผมเป็นคนที่มีความฝัน บางครั้งผมว่ามันก็ดีนะ เพราะบางครั้งความฝันทำให้เรามีแรงที่จะตื่น เราไม่ง่วงนอนตอนเช้า

ถ้าถามถึงอาชีพในฝันตอนยังเป็นเด็ก ?
   ตอนเด็กๆ ผมก็ฝันอยากเป็นนักธุรกิจนัก แต่พอ ม.1-2 เริ่มอยากเป็นนักร้อง (หัวเราะ) จน ม. 6 ผมก็อยากกลับมาเป็นนักธุรกิจเหมือนเดิม ทุกวันนี้ก็ถือว่าโชคดีที่เราได้ทำงานตามที่เราฝัน ซึ่งผมไม่ได้หวังว่าอาชีพนี้จะทำให้ผมร่ำรวย แต่ผมอยากสร้างอะไรที่เป็นอาณาจักรเป็นโลกของเรา มีทุกสิ่งทุกอย่างที่เราสร้างขึ้นมาด้วยมือเราเอง

มีหลักการทำงานและสูตรความสำเร็จอย่างไร ?   ธรรมดามากเลยครับ พยายามๆๆ มองไกลๆๆ พัฒนาๆๆ อดทนๆๆ แต่ส่วนที่ว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น สำหรับกรณีของผม ผมบอกว่า เพราะผมมีและรู้ข้อมูลบางอย่างที่คนอื่นไม่รู้ แต่ผมรู้เหมือนกับบิล เกตต์ ที่รู้ว่าต้องทำวินโดว์แล้วจะดี ผมก็รู้ว่าสาหร่ายมีคนชอบทานเยอะ เพียงแต่เอามาปรับรูปร่าง แพ็คเกจ รีแบรนด์ดิ้งเท่านั้นเอง คือ คนที่จะสำเร็จหรือไม่ต้องดูว่าเค้าได้ข้อมูลมาถูกที่หรือเปล่า ที่สำคัญคือเอาข้อมูลนั้นมาใช้มั้ย บางคนรู้ข้อมูลแล้วไม่เอามาทำก็ไม่เกิดประโยชน์ ทั้งนี้เราก็ต้องตรวจสอบข้อมูลที่เราได้รับมา แต่จะตรวจยังไงอันนี้ก็ต้องลงมือทำลองผิดลองถูก เพราะไม่มีอะไรบอกคุณได้ว่าสิ่งไหนถูกหรือผิด นอกจากเราทำแล้วเรียนรู้จากมัน

เวลาที่ต้องเจออุปสรรค มีวิธีรับมืออย่างไร ?
   ผมจะนึกถึงหน้าคุณแม่ เพราะผมเคยเห็นภาพของท่านตอนแม่ร้องไห้ ผิดหวัง ซึ่งผมจะคิดเสมอว่าไม่อยากเห็นภาพนั้นอีก ดังนั้นเวลาที่เราเจอปัญหาก็ต้องพยายามอดทน และดึงตัวเองกลับมา หรือออกมาจากความผิดหวังให้ได้ คิดเสมอว่าทุกวันนี้ที่เราทำ เราทำเพื่อคุณแม่และเพื่อครอบครัว

เคยรู้สึกว่าต้องแบกภาระเกินวัยรุ่นคนหนึ่งหรือไม่ ?
   ตอนนี้ผมรู้สึกว่าสนุกกับชีวิต เพราะผมคิดว่าเพื่อนหรือคนรุ่นเดียวกับผม ซึ่งคงจะมีที่มาเจออะไรแบบผม แต่คงจะน้อยยิ่งโอกาสที่จะได้เจอเรื่องสนุกๆ แบบนี้มันคงจะแทบไม่มีสำหรับคนอายุ 24 การที่จะได้เจอเรื่องท้าทาย ซึ่งผมคิดว่ามันสนุก ผมสามารถแก้อะไรยากๆ ในขณะที่ผู้ใหญ่บางคนทำไม่ได้ ซึ่งผมคิดว่ามันท้าทายสำหรับผม

ทำงานหนักแบบนี้ทำให้ไม่ได้รับประสบการณ์ตามวัยหรือไม่ ?   อย่างที่บอกผมเป็นเด็กเกเรมาก่อน ก่อนหันมาทำธุรกิจจริงจัง ผมคิดว่าตัวเองก็ใช้ได้เหมือนกัน ก็ผ่านประสบการณ์แบบสุดๆ มาเหมือนกัน ทำให้เรารู้ว่าความสนุกตรงนั้นมันเป็นยังไง แต่ก็ไม่ใช่เราละทิ้งมันนะ แต่เราเอาเป็นแค่ช่วง relax ของเรา คือ ผมทำงานหนักก็จริง แต่ผมก็มีช่วงที่ relax มีช่วงที่สนุกแบบคนทั่วไปได้ มีเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน ดังนั้นมันไม่ใช่เรื่องที่ขาดไป เพียงแต่ผมควบคุมมันได้ และรู้ว่าควรทำมันตอนไหน เวลาไหนควรทำอะไร ใช้การแบ่งเวลามากกว่า

ไลฟ์สไตล์ประจำวันเป็นอย่างไร ?
   ผมทำงานทุกวัน อย่างผมมาเที่ยวเดินเล่นพารากอน ถามว่าทำงานไปด้วยมั้ย ผมก็ทำ ผมสังเกตผมดูไลฟ์สไตล์คนอย่างแคมเปญแจกบีบี (โทรศัพท์มือถือยี่ห้อแบล็ค เบอร์รี่) ล่าสุด มันก็เกิดมาการที่ผมมาเดินห้างและเห็นคนทั่วไปใช้บีบีกันเต็มไปหมด ซึ่งผมเชื่อว่าในจำนวนนั้นมีคนจำนวนหนึ่งที่ยังอยากได้บีบี ผมเลยคิดว่าแคมเปญนี้ก็น่าจะเข้าท่า เลยเอาทำเป็นโครงการใหม่ของบริษัทสำหรับผม ผมถือว่าเที่ยวไปด้วยทำงานไปด้วย ขณะเดียวกันก็เที่ยวไปด้วยทำงานไปด้วยเช่นกัน เพราะผมคิดว่าคนเราทำงาน หรือเจ้าของกิจการต้องมองว่าการทำงานคือการเที่ยวเล่นของคุณ  อย่าไปมองว่ามันเป็นการทำงานมันจะหดหู่ ต้องมองว่ามันเป็นเรื่องสนุกจะดีกว่า คนเราจะสุขหรือไม่สุขอยู่ที่วิธีคิด

ความสุขสำหรับเถ้าแก่น้อยคืออะไร ?
   หลายอย่างครับ การได้ทำธุรกิจและเห็นสิ่งที่ผมทำมันไปได้ คนรักคนชอบในสิ่งที่ผมทำ บางคนอาจไม่เข้าใจ เพราะไม่เคยสัมผัสแต่สำหรับผมมันสุขยิ่งกว่ายาเสพติดอีก

มองอนาคตของตัวเองอย่างไร ?
   ผมยังไม่ได้วางแผนชัดเจน แต่เลือกที่จะปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามกาลเวลา เพราะถ้าเรามัวมากำหนดอนาคตตั้งแต่ปัจจุบันก็ทำให้เครียดเปล่าๆ
   แม้จะเป็นเวลาไม่นานสำหรับการพูดคุยกับหนุ่มหน้าใสวัย 24 ปีคนนี้ แต่ "เถ้าแก่่น้อย" ก็สร้างความประทับใจได้ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นมุมมองความคิดทั้งเรื่องงาน หรือเรื่องการใช้ชีวิต เอาเป็นว่าขอยกนิ้วซูฮกในความสามารถให้ เถ้าแก่ต็อบ แห่งสาหร่ายเถ้าแก่น้อยแล้วกัน...




บทความ “เถ้าแก่น้อย” จากเด็กบ้าเกม สู่ บิ๊กเสี่ย !!


ภาพประกอบ
“เถ้าแก่น้อย” จากเด็กบ้าเกม สู่ บิ๊กเสี่ย !!
บทความ เนื้อเรื่อง หรือ คำอธิบาย โดยละเอียด
ลูกอั่วกำลังไปเป็นเถ้าแก่น้อยแล้ว!!” ประโยคแซวของพ่อในวันนั้น แม้แต่ตัวของ “อิทธิพัทธ์ กุลพงษ์วณิชย์” ก็คงไม่คิดว่า จะเป็นจุดเริ่มต้นผลักดันให้แบรนด์ “เถ้าแก่น้อย” แจ้งเกิด และเติบโตอย่างน่าจับตา ก้าวสู่สัญลักษณ์ที่คนทั่วไปจะนึกถึงทันที เมื่อกล่าวถึงขนมสาหร่ายทอด


ไม่เกินเลยหากจะบอกว่า ความสำเร็จของ “เถ้าแก่น้อย” เป็นตัวอย่างที่น่าเรียนรู้อย่างยิ่ง โดยเฉพาะประเด็นแรงบันดาลใจที่ส่งให้เด็กหนุ่มวัยเพียงยี่สิบต้นๆ อย่าง “อิทธิพัทธ์ กุลพงษ์วณิชย์” สามารถพาสินค้าของตัวเอง ขึ้นครองเจ้าตลาดสำเร็จ






***ได้ดีเพราะติดเกม ***


ปัจจุบัน อิทธิพัทธ์ กุลพงษ์วณิชย์ วัย 23 ปี ดำรงประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู้ดแอนด์ มาร์เกตติ้ง จำกัด ทว่า ย้อนกลับไปเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เมื่อครั้งยังเรียนอยู่ระดับมัธยมปลาย อิทธิพัทธ์เป็นเพียงวัยรุ่นทั่วไปคนหนึ่ง ซึ่งติดเล่นเกมออนไลน์แบบงอมแงม เหมือนๆ กันเด็กวัยรุ่นไทยอีกครึ่งประเทศ


ทว่า จุดสำคัญเขาสามารถนำสิ่งที่ผู้ใหญ่อาจมองว่าไร้ประโยชน์มาเปลี่ยนแปลงเป็นรายได้ และเมื่อบวกกับแรงบันดาลใจที่อยากเป็นเจ้าของธุรกิจส่วนตัว ปฐมบทแห่ง “เถ้าแก่น้อย” จึงเกิดขึ้น


“ผมเริ่มธุรกิจเมื่ออายุเพียง 18 ปี ก่อนหน้านี้ผมก็ขอเงินพ่อแม่เหมือนกับเด็กทั่วไป และติดเกมออนไลน์ Everquest อย่างหนัก เล่นทั้งวันทั้งคืน แข่งกับชาวต่างชาติ ผมเริ่มเล่นตั้งแต่เรียน ม.4 ถึงขนาดสะสมแต้ม จนรวยที่สุดในเซอร์เวอร์ ทำให้ชื่อตัวละคนของผมเป็นที่รู้จักในเซอร์เวอร์ จนมีฝรั่งมาขอซื้อของสะสม และแต้มสะสม ชื่อของผม ก็เลยลองขาย ปรากฏว่า หลังจากนั้น ก็มีเงินโอนเข้ามาจริงๆ” อิทธิพัทธ์ เล่าถึงเงินก้อนแห่งที่หาได้ด้วยตัวเอง


เขาสร้างรายได้จากการขายแต้มสะสมเกมออนไลน์ให้ผู้เล่นเกมในเซอร์เวอร์นานกว่า 2 ปี จนมีเงินเก็บหลักแสนบาท กระทั่ง จบระดับมัธยม และเข้าเรียนต่อปี 1 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้เริ่มก้าวสู่การเป็นนักธุรกิจอย่างเต็มตัว ตามความฝันที่อยากมีธุรกิจของตัวเองมานานแล้ว


“หลังเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เป็นช่วงจังหวะที่เกมออนไลน์เริ่มเสื่อมความนิยมลง ผมคิดอยากหารายได้จากช่องทางอื่น เคยลองจับทั้งขายเครื่องวีซีดี แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จนัก ก็พยายามหาธุรกิจจะทำไปเรื่อยๆ เคยไปดูทำเลหน้า ม.หอการค้าไทย กะจะเปิดร้านขายกาแฟหน้ามหาวิทยาลัย”


“กระทั่ง ผมไปเดินงานแฟร์ช่องทางธุรกิจที่เมืองทองธานี เจอแฟรนไชส์เกาลัดจากประเทศญี่ปุ่นมาออกบูท ก็สนใจมาก เพราะแฟรนไชส์ของเขามีเครื่องคั่วเกาลัดแบบทันสมัย ผมก็เกิดความสนใจ เพราะส่วนตัวชอบกินเกาลัดอยู่แล้ว แต่ว่า ค่าแฟรนไชส์ราคาสูงมากเป็นล้านบาท ผมไม่มีเงินมากขนาดนัก เลยติดต่อกับเจ้าของแฟรนไชส์ว่า ผมจะขอเช่าตู้คั่วเกาลัด แล้วมาสร้างแฟรนไชส์ของตัวเอง” เจ้าของธุรกิจ เล่าให้ฟัง


***สร้างแบรนด์ “เถ้าแก่น้อย” ***


ทุกย่างก้าวนับแต่อิทธิพัทธ์ เริ่มทำธุรกิจเล็กๆ ของตัวเอง จะอยู่ภายใต้การรับรู้ของสมาชิกครอบครัวทุกคน ผ่านการบอกเล่าและสอบถามความเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะพ่อของเขา ที่จะเฝ้ามองลูกชายอย่างชื่นชม และพร้อมเป็นป๋าดันเต็มตัว


“หลังเช่าตู้ได้แล้ว เช้าวันที่ผมจะไปเซ็นสัญญาเช่าที่ขายเกาลัดหน้าห้างฯ แห่งหนึ่ง ก่อนเดินทางออกจากบ้าน เจอพ่อผมกำลังคุยโทรศัพท์กับเพื่อนอยู่ เล่าถึงเรื่องผมจะไปทำธุรกิจ แล้วหันมาพูดแซวผมให้เพื่อนฟังว่า ‘ลูกอั่วกำลังไปเป็นเถ้าแก่น้อยแล้ว’ ผมก็ได้หัวเราะตอบ ไม่ได้เก็บมาใส่ใจอะไรมาก จนเมื่อไปถึงห้างฯ ต้องกรอกใบสมัคร ซึ่งให้ระบุถึงชื่อร้านหรือแบรนด์ ซึ่งก่อนหน้านี้ ผมยังไม่มีชื่อในใจเลย แต่คิดถึง คำพูดพ่อที่แซวผม เลยเป็นที่มาของชื่อ “เถ้าแก่น้อย” มาจนถึงปัจจุบัน” อิทธิพัทธ์ เผยที่มาของแบรนด์


อิทธิพันธ์ ใช้เวลาเพียงปีเศษ ขยายสาขาแฟรนไชส์เกาลัดเถ้าแก่น้อย จากหนึ่งเป็น 30 กว่าสาขา และเนื่องจากเห็นโอกาสว่า เมื่อมีหน้าร้านหลายแห่งแล้ว ทำไมต้องจำกัดตัวเองแค่ขายเกาลัดอย่างเดียว จึงลองนำเข้าสินค้าต่างๆ มาขายพ่วงที่หน้าร้านแฟรนไชส์เกาลัดเถ้าแก่น้อยด้วย ไม่ว่าจะเป็นลูกท้อ ลำไยอบแห้ง และสาหร่าย ฯลฯ ผลปรากฏว่า ในร้านฯ สินค้าที่ขายดีที่สุด คือ สาหร่ายทอด ยอดขายเหนือกว่าเกาลัดเสียอีก เป็นแรงบันดาลใจ อยากจะต่อยอดธุรกิจขายสาหร่ายอย่างจริงจัง






“หลังจากเห็นว่า ยอดขายสาหร่ายมันดีจริงๆ ผมก็เริ่มศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับสาหร่าย ผมอยากขยายตลาดธุรกิจสาหร่ายไปตามร้านค้าต่างๆ เริ่มแบบง่ายๆ โดยบรรจุซองพลาสติกไปฝากร้านค้าต่างๆ ให้ลองขาย แต่พอทำจริง มีอุปสรรค อายุสินค้าสั้น และรูปลักษณ์ไม่สวย ทำให้ไม่สามารถเปิดตลาดได้ มีของคืนจำนวนมาก เพราะสาหร่ายเก็บไว้ได้ไม่นาน ผมก็พยายามคิดค้นหาทางแก้ โดยถามผู้รู้ จนวันหนึ่งเข้าร้าน 7-11 ผมเริ่มสนใจตลาดในร้านสะดวกซื้อ คิดว่าถ้าสินค้าเราเก็บไว้ได้นานกว่านี้ มีรูปลักษณ์ที่ดึงดูดใจ วางขายในร้าน 7-11 ตลาดน่าจะขยายตามไปด้วย ดีกว่าผมต้องวิ่งไปส่งด้วยตัวเอง”


เพื่อจะให้สาหร่ายเถ้าแก่น้อยเข้าขายในร้าน 7-11 อิทธิพัทธ์เริ่มจากนำสาหร่ายแพคซองพลาสติกง่ายๆ ไปฝากไว้ที่ฝ่ายคัดสรรสินค้าเข้าจำหน่าย ทว่า ด้วยรูปลักษณ์ที่ดูแสนธรรมดา จึงไม่ได้รับการเหลียวแลแม้แต่น้อย


เมื่อไร้การติดต่อกลับเป็นเวลานาน เจ้าตัวร้อนใจถึงขั้นต้องโทร.ไปตามตื้อ และสอบถามสาเหตุที่สินค้าไม่ได้รับความสนใจ เจ้าหน้าที่ชี้แจงกลับมาว่า สินค้าคุณไม่สวย ไม่เหมาะกับ 7-11 เจออย่างนี้ เขาเลยกลับมานั่งคิดทบทวนใหม่ว่า ทำอย่างไรให้สาหร่ายเถ้าแก่น้อยมีสไตล์เป็นของตัวเอง และถูกใจคนทั่วไป


“ตอนที่กลับมาคิดว่า เราต้องสร้างสไตล์ของตัวเอง ผมมองว่ากระแสญี่ปุ่น เกาหลี กำลังมาแรง คนไทยหันมายึดเทรนด์นี้กันหมด ดังนั้น การออกแบบ ผมเน้นให้ออกมาในสไตล์ของญี่ปุ่นแท้ๆ ดูน่ารัก มีความสุข และสามารถจดจำได้ทันทีเมื่อเห็นครั้งแรก”


“ด้านสีสันก็ให้สดใส มีโลโก้ที่สะดุดตา จำง่าย นอกจากนั้น พยายามชูธงเป็นของกินเล่นที่มีคุณค่าทางอาหารสูง มีแคลอรี่ต่ำ เหมาะกับกระแสรักสุขภาพ รวมถึง เพิ่มรสชาติให้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นรสเผ็ด รสซีฟู้ด เป็นต้น”


เมื่อปรับปรุงสินค้าแล้ว อิทธิพัทธ์นำกลับไปเสนออีกครั้ง ผลที่ได้ หลังกลับมาบ้าน มีโทรศัพท์ติดต่อกลับมาทันที พร้อมกับคำถามว่า ภายใน 3 เดือนคุณพร้อมจะวางขายสินค้านี้ในร้าน 7-11 จำนวน 3,000 สาขาทั่วประเทศ หรือไม่


“ตอนนั้น ผมคิดในหัวเลยว่า 3,000 สาขา เราต้องทอดสาหร่ายสักกี่แผ่น ใช้คนทอดกี่คน จะทำทันไหมฯลฯ”


ระยะเวลาเพียงไม่กี่วินาที คำถามสารพัดวิ่งเข้ามาหัวเต็มไปหมด แทนที่จะปล่อยให้คำถามเป็นด่านขวางกัน กลับเลือกจะสลัดความกลัวต่างๆ ทิ้งไปแล้วตอบกลับว่า


“พร้อมครับ แต่หลังจากวางสาย สิ่งที่มันวิ่งเข้ามาในหัวผม มันเยอะมาก ผมคิดถึงการสร้างโรงงาน เงินทุน แหล่งวัตถุดิบ นำเข้าเครื่องจักร ฯลฯ ทุกอย่างมันเกิดขึ้นเร็วมาก”
*** ทิ้งแฟรนไชส์ คว้าโอกาสใหม่***


ในวัยเพียง 20 ปี กับภาระต้องผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐาน เพื่อส่งเข้าขายในร้านสะดวกซื้อชื่อดัง มากกว่า 3,000 สาขา ถือเป็นภาระที่หนักแสนสาหัส


โดยเฉพาะการหาทุนสร้างโรงงาน ดังนั้น อิทธิพัทธ์ได้ลองยื่นแผนธุรกิจ เพื่อขอกู้เงินจากธนาคารแห่งหนึ่ง


ทว่า ผลที่ได้ คือ การปฏิเสธ เหตุผลสำคัญ เพราะผู้ยื่นกู้มีอายุเพียง 20 ปี ซึ่งอิทธิพัทธ์ชี้ว่า เป็นความบกพร่องของระบบสถาบันการเงินที่มองเพียงแค่ปัจจัยปลีกย่อย ไม่ยอมพิจารณาถึงแผนธุรกิจ ตลอดจนโอกาส และความมุ่งมั่นของเขา


เมื่อกู้เงินไม่สำเร็จ เป็นที่มาของการตัดสินใจขายแฟรนไชส์เกาลัดเถ้าแก่น้อยทิ้งทั้งหมด ซึ่งเวลานั้น มีจำนวนกว่า 30 สาขา สร้างรายได้รวมให้เดือนละล้านกว่าบาท เพื่อมาเป็นทุนสร้างโรงงานผลิตสาหร่ายทอด


“ตอนตัดสินใจขายแฟรนไชส์เกาลัดทิ้ง มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ถ้ายิ่งเป็นคนที่เคยปลุกปั้นธุรกิจมากับมือจะรู้ความรู้สึกของผมดี ว่า การขายทิ้งไม่ใช่เรื่องง่าย”


“ความรู้สึกของผมเหมือนกับเรามีรถดีๆ สักคันขับอยู่แล้ว แต่กำลังอยากได้รถคันใหม่ แต่ไม่รู้หรอกว่า รถคันใหม่จะดีหรือเปล่า และช่วงที่ขายรถคันเก่าออกไป ต้องยอมนั่งรถเมล์ไปก่อน”


อิทธิพัทธ์ ระบุว่า การตัดสินใจครั้งนั้น คือ จุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตธุรกิจ เดิมพันระหว่างโอกาสแห่งความสำเร็จในอนาคต กับทุกอย่างที่สร้างมาต้องสูญไปหมด


“สำหรับ SMEs แล้ว ผมเชื่อว่าการกล้าตัดสินใจมีส่วนสำคัญให้ก้าวสู่ความสำเร็จ เหมือนกับคำที่ว่า ความเสี่ยงที่สุดในการทำธุรกิจ คือ คุณไม่คิดจะเสี่ยงทำอะไรเลย”


“การเสี่ยงครั้งแรกของผม คือ ตัดสินใจลาออกจากปี1 ตอนเรียนมหาวิทยาลัย เพื่อมาทำธุรกิจส่วนตัว เพราะตอนนั้น แฟรนไชส์เกาลัด เริ่มมีสาขามาก ผมต้องทำเองทุกขั้นตอน แทบไม่มีเวลาเรียน จนผมต้องชั่งใจระหว่างจะเรียนต่อ หรือมาลุยธุรกิจเต็มตัว ซึ่งผมกลับมาดูตัวเอง ผมชอบทำธุรกิจ มีความสุขที่จะทำไปเรื่อยๆ ชอบเห็นคนมาซื้อสินค้าของผม เลยตัดสินใจดร็อบเรียน มาลุยทำธุรกิจเต็มตัว”


“ส่วนการเสี่ยงครั้งที่สอง คือ ตัดสินใจขายแฟรนไชส์ แล้วหันมาจับตลาดสาหร่ายทอดแทน โดยตอนนั้น ผมเชื่อว่า กระแสญี่ปุ่นในไทยจะต้องแรง เพราะดูการแต่งตัว อาหาร ดาราต่างๆ คนไทยนิยมสไตล์ญี่ปุ่นหมด”


เงินที่ได้จากการขายแฟรนไชส์เกาลัดเถ้าแก่น้อยหลักล้านบาท ถูกแปลงมาสร้างเป็นโรงงานผลิตสาหร่ายทอดอย่างเร่งด่วน ภายในเวลาไม่ถึง 2 เดือน ส่วนการผลิตสินค้าต้องเร่งรีบเช่นกัน อิทธิพัทธ์ เล่าว่า เขาพร้อมสมาชิกในครอบครัวทุกคน รวมถึง คนงานอีกแค่ 6-7 คน ทำงานกันอย่างหนัก โดยเฉพาะสัปดาห์สุดท้ายก่อนถึงกำหนดส่งสินค้าแทบไม่ได้หลับนอน กระทั่ง 6 โมงเช้า ของวันกำหนดส่งสินค้า เขาขับรถที่ด้านหลังบรรทุกสาหร่ายเถ้าแก่น้อยเต็มคัน ส่งเข้าศูนย์จำหน่ายสินค้าของ 7-11 ได้สำเร็จ


***ดันแบรนด์ผู้นำสแน็คสาหร่าย ***


ทั้งนี้ หลังจากได้เข้าขายในร้านสะดวกซื้อเจ้าดัง สาหร่ายเถ้าแก่น้อย มียอดขายเติบโตด้วยดีสม่ำเสมอ รวมถึง มีการขยายประเภทสินค้าให้ตอบสนองลูกค้าได้ทุกกลุ่ม ตั้งแต่ห่อละ 5 บาท ถึง 60 บาท เหมาะสำหรับเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ ครอบครัว เหมาะกับคนทุกเพศทุกวัย


“ในระยะแรก ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่า กลุ่มผู้บริโภคที่แท้จริงของผมคือใคร ทำให้ต้องเลือกทำตลาดกับทุกคน ซึ่งถือว่า ผมโชคดีที่สินค้าสามารถเจาะตลาดได้กว้าง แต่สำหรับการทำธุรกิจในเศรษฐกิจยุคปัจจุบัน ผมคิดว่า ควรจะมองการตลาดในแบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน เพื่อจะวางแผนการตลาดทั้งหมดไปในทิศทางถูกต้อง”


สำหรับการสร้างแบรนด์นั้น อิทธิพัทธ์ ระบุว่า ต้องการให้เถ้าแก่น้อยเป็นที่จดจำในฐานะผู้นำสาหร่ายกินเล่น ทั้งด้านเจ้าตลาด และเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับสินค้าชนิดนี้จริงๆ


“หลังจากที่ทำธุรกิจสาหร่ายได้สักระยะหนึ่ง ผมเคยมีความคิดจะขยายไปทำผลิตภัณฑ์อื่นๆ ภายใต้แบรนด์นี้ แต่กลับมานึกว่า จะทำให้แบรนด์กลายเป็นเลอะเทอะ จนคนไม่รู้ว่า เถ้าแก่น้อย คืออะไรกันแน่ ในที่สุดผมเลือกจะโฟกัสที่สาหร่ายอย่างเดียว ให้คนทั่วไปจดจำเราในฐานะเป็นตัวแทนของสาหร่ายกินเล่น ไม่ว่าคุณจะกินยี่ห้อไหนก็ตาม ชื่อของเถ้าแก่น้อยก็จะเข้าใจว่าเป็นตัวแทนของสาหร่ายกินเล่นเลย เหมือนเวลาเราไปซื้อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ก็จะบอกว่าไปซื้อ “มาม่า” แต่ที่จริงเราจะไปซื้อยี่ห้อ “ไวไว” หรือไปซื้อผงซักฟอง ก็บอกว่าซื้อ “แฟ๊บ” ทั้งๆ ที่ตั้งใจจะซื้อยี่ห้อ “บรีส” เป็นต้น”


ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารภายในองค์กร หรือนำเสนอภาพลักษณ์ต่อมวลชนภายนอก แบรนด์เถ้าแก่น้อย พยายามตอกย้ำแนวคิดเป็นผู้นำ และผู้เชี่ยวชาญด้านสแน็คสาหร่ายเสมอ


“ผมเริ่มจากปรับความคิดของคนในองค์กรว่า เราเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสาหร่าย ซึ่งผมต้องเริ่มจากปรับทัศนคติในองค์กรก่อน ถ้าภายในเรายังปรับไม่ได้ เราจะไปปรับทัศนคติภายนอกได้อย่างไร”


“จากนั้น ผมสร้างแบรนด์ โดยโฆษณาโทรทัศน์ โดยใช้ “ครูคริส” (คริสโตเฟอร์ ไรท์ : ครูสอนภาษาอังกฤษชื่อดัง) โดยชูคอนเซ็ปท์ว่า “ seaweed is สาหร่าย เถ้าแก่น้อย” เพราะหลายคนไม่รู้ว่าคำว่า “seaweed” แปลว่า “สาหร่าย” การนำครูคริส ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของครูสอนภาษาอังกฤษมาตอกย่ำ สอนคำนี้ แล้วพ่วงคำว่า เถ้าแก่น้อยลงไปด้วย ช่วยตอกย่ำว่า เถ้าแก่น้อยก็คือ ขนมสาหร่าย และขนมสาหร่าย ก็คือ เถ้าแก่น้อย”


“นอกจากนั้น เราทำกิจกรรมร่วมกับรายการโทรทัศน์ต่างๆ เช่น รายการกบนอกกะลา ถ่ายทำวิธีการผลิตสาหร่ายที่มาจากต่างประเทศ และการผลิตในโรงงานเรา เพราะผมเชื่อว่า การทำธุรกิจในปัจจุบัน จำเป็นต้องเปิดเผยกระบวนการผลิต วิธีการ และให้ทุกคนมีความรู้ในสิ่งที่เราทำว่า มีข้อดี ข้อเสียอย่างไร ซึ่งทั้งหมดจะเป็นการปลูกฝังว่า แบรนด์เถ้าแก่น้อย คือผู้เชี่ยวชาญด้านสาหร่ายจริงๆ”


*** “เถ้าแก่น้อย” โกอินเตอร์ ***


ไม่เพียงตลาดในประเทศเท่านั้น หลังจากประสบความสำเร็จมาได้ประมาณ 2 ปี แบรนด์ไทยรายนี้ ก้าวต่อไปสู่ตลาดต่างประเทศ


“เมื่อมีความพร้อม ผมเริ่มไปสู่ตลาดต่างประเทศ โดยเริ่มต้นที่ฮ่องกง และสิงคโปร์ ผมเชื่อว่า ตลาดสองชาตินี้ แม้จะมีปริมาณคนน้อย แต่มีศักยภาพซื้อสูงมาก ซึ่งสาเหตุที่ผมสนใจส่งออก เพราะมีเทรนด์เดอร์ นำสินค้าของผมไปขายที่สิงคโปร์ ผมก็เลยบินตามไปดู พบว่า สินค้าเถ้าแก่น้อยขายในร้านขายของชำทั่วไปในสิงคโปร์ ทำให้ผมคิดว่า สินค้ามันน่าจะขยายได้กว้าง ในห้างสรรพสินค้าของเขาก็น่าจะขายได้เช่นกัน”


แผนการเปิดตลาดต่างประเทศนั้น แทนที่จะเลือกใช้วิธีทั่วไปแบบมาตรฐาน คือออกงานแฟร์เกี่ยวกับอาหาร รอให้ลูกค้ามาติดต่อ แล้วสั่งสินค้าไปจำหน่าย อิทธิพัทธ์กลับเลือกจะทำตลาดเชิงรุก นำเสนอสินค้าด้วยตัวเองโดยตรง ผ่านทางอีเมลล์


“ผมอยากจะขายสินค้าตามห้างในสิงคโปร์ โดยไม่ต้องผ่านเทรนด์เดอร์ ซึ่งปกติเวลาไปออกบูทขายสินค้า เหมือนรอให้ลูกค้า เข้ามาหาเรา รอให้เขาเป็นฝ่ายเลือกเรา ผมก็เปลี่ยนแผนการตลาด เป็นฝ่ายเข้าไปหาลูกค้าเสียเอง ซึ่งผมไปดูตามชั้นวางสินค้าขนมในห้าง แล้วดูว่า มาจากประเทศใดบ้าง นำเข้าจากบริษัทใด ใครเป็นผู้จัดจำหน่าย หรือเป็นผู้นำเข้า แล้วก็จดเบอร์ติดต่อ จากนั้น ก็ส่งอีเมล์ไปหา แนะนำสินค้า ไม่ต้องรอให้เขามาหาเอง ซึ่งได้ผลมาก ทำให้ผมได้เจอลูกค้าจริงๆ ซึ่งผมก็บอกเขาว่า ผมอยากจะนำสินค้าเข้ามาขายจริงๆ จนเขายอมนำสินค้าไปวางขาย ปัจจุบัน เถ้าแก่น้อยส่งออกไปหลายประเทศ ทั้งสิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวั่น อินโดนีเซีย เป็นต้น”


*** ต่อยอดขยายแบรนด์ “CURVE” ***


สำหรับยอดขายของ “เถ้าแก่น้อย” นับวันจะยิ่งทะยานสูง ยืนอยู่แถวหน้าของตลาดสแน็คประเภทสาหร่ายทอด เมื่อปีที่แล้ว ยอดขายกว่า 500 ล้านบาท ปีนี้ (2551) ตั้งเป้า 750 ล้านบาท


ไม่เท่านั้น อิทธิพัทธ์ ยังแตกแบรนด์ใหม่ “CURVE” ขยายฐานการตลาดไปยังกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เพื่ออุดทุกช่องว่างในตลาดของผลิตภัณฑ์สาหร่าย เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา


“ผมเป็นคนมีเพื่อนผู้หญิงเยอะ และเพื่อนๆ มักชอบถามว่า กินเถ้าแก่น้อยแล้วอ้วนไหม ทั้งๆ ที่ตัวสาหร่ายมันมีแคลอรี่ต่ำอยู่แล้ว ทำไมสาวๆ ยังกังวลกันอีก ก็เลยคิดว่าหันมาจับตรงนี้เต็มตัวเลยดีกว่า ซึ่งนั่นก็คือที่มาของ CURVE”


และยังเป็นที่มาของ “แคลอรี่น้อย...อร่อยได้เต็มที่” คำจำกัดความที่อิทธิพัทธ์คิดขึ้นเพื่อใช้โปรโมท แบรนด์ใหม่ “CURVE” โดยมุ่งจับกลุ่มผู้หญิงวัย 18-30 ที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพเป็นพิเศษ


“จุดเด่นสำคัญของ CURVE อยู่ตรงที่ใช้สาหร่ายเกรด A พันธุ์พรีเมี่ยม AJINSUKE NORI นำมาผ่านกระบวนการพิเศษ ทำให้มีเนื้อบางละลายในปากได้ สาหร่ายพันธุ์นี้ ให้พลังงานต่ำกว่า 15 กิโลแคลอรี่ และมีเส้นใยอาหารที่ช่วยดูแลระบบขับถ่าย ที่สำคัญยังเน้นที่รสชาติความอร่อยเป็นหลัก ผิดกับอาหารว่างเพื่อสุขภาพชนิดอื่นๆ”


ช่องทางการตลาดของ CURVE เป็นช่องทางเดียวกับ “เถ้าแก่น้อย” คือในโมเดิร์นเทรด เช่น โลตัส, บิ๊กซี, ท็อปส์, เซเว่นฯ


แต่จะเพิ่มช่องทางตามร้านเพอร์ซันนัลแคร์ สำหรับกลุ่มเป้าหมายโดยตรง เช่น ร้านวัตสัน, บูธส์, ร้านขายยาที่ดูมีเกรด รวมทั้งตามโรงภาพยนตร์ชั้นนำ Major, EGV และ SF Cinema


“เป้าหมายของ CURVE คิดว่าปีนี้ซึ่งเป็นปีแรก น่าจะได้สัก 50 ล้าน โดยยกลยุทธ์ราคาจะตั้งสูงกว่าเถ้าแก่น้อยนิดหน่อย”


เมื่อรวมกับ “เถ้าแก่น้อย” ที่ตั้งเป้าไว้ 750 ล้านบาท ถ้าทำได้ ปีนี้ก็แตะ 800 ล้านบาท ทั้งส่วนที่ขายในประเทศและส่งออก


และเป้าหมายในระยะต่อไป วางไว้ที่ 1,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ กำลังลงทุนหลักร้อยล้าน เพื่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ มีศักยภาพผลิตสาหร่ายได้ถึง 1,000,000 แผ่นต่อวัน


*** แจงปรัชญาธุรกิจ 3 ประการ ***


ด้วยวัยเพียง 23 ปี ต้องดูแลพนักงานกว่า 800 คน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้มีวัยมากกว่า จุดนี้ เจ้าตัวระบุว่าไม่ได้เป็นปัญหา เพราะพยายามมอบนโยบายอย่างให้เกียรติทุกคน และเอาชนะผู้ต่อต้านด้วยความสามารถ และเหตุผล


สำหรับหลักที่เขายึดในการทำธุรกิจตลอด มีหัวใจสำคัญ 3 ด้าน คือ ทัศนคติบวก ความรู้คู่จินตนาการ และกล้าคว้าโอกาส


“ด้านทัศนคติ ผมเชื่อว่า การที่สินค้าของไทยจะส่งออกได้ ต้องปรับทัศนคติก่อน ถ้ามีทัศนคติว่า ทำยาก ทำไม่ได้ หรือสินค้าฉันเป็นแบบนี้ ก็จะขายอย่างนี้ มันก็ยากจะประสบความสำเร็จ ดังนั้น ก่อนที่เราจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใครสักคน หรือทำอะไรสักอย่าง เราต้องเริ่มที่ปรับทัศนคติเสียก่อน คิดว่าเราต้องทำให้ได้ แม้ว่า หนทางข้างหน้า จะมีขวากหนามหรืออุปสรคใดๆ ก็ตาม ขอให้ลองทำดูก่อน ทำไม่ได้ค่อยว่ากันอีกที”


“ตัวอย่างจากตัวผมเอง จะพยายามคิดเสมอว่า ลองทำดูก่อน เหมือนตอนเปิดแฟรนไชส์เกาลัด แรกๆ ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จด้วยดี อย่างสาขาแรก ผมเช่าหน้าห้างแห่งหนึ่ง ค่าเช่าวันละ 500 บาท วันแรกขายได้ 300 บาท เป็นอย่างนี้อยู่ 2 เดือนก็ท้อใจ บังเอิญ มีห้างแห่งนี้ มาเสนอให้ไปจัดโปรโมชั่นในห้าง ผมก็เลยลองดูอีกทีหนึ่ง”


“ปรากฏว่า ขายได้วันละ 5พันกว่าบาท ทำให้ผมเรียนรู้ว่าการทำธุรกิจไม่สำเร็จ อาจเกิดจากความรู้ไม่พอ ขายไม่ดีเพราะตั้งในจุดที่ไม่ใช่จุดที่ลูกค้าเป้าหมายจะผ่าน เพราะตอนนั้น ผมตั้งร้านที่ทางออกที่จอดรถมอเตอร์ไซค์ ในขณะที่ เกาลัด ขายกิโลละ 2-3 ร้อยบาท จนวันที่ผมไปขายในห้าง ผมถึงรู้ว่า ที่ขายไม่ดี เพราะที่ผ่านมาทำเลไม่ได้ และฮวงจุ้ยไม่ดี ทุกวันนี้ ผมจะคิดถึงเรื่องทำเลตลอด ไม่ใช่แค่ที่ตั้งร้าน แต่หมายรวมถึง ตำแหน่งบนชั้นวางสินค้า”


“ด้านที่สอง คือ ความรู้ แม้การทำธุรกิจ คือ ความเสี่ยงก็จริง แต่ต้องทำให้เสี่ยงน้อยที่สุด เสี่ยงอยู่บนพื้นฐานความรู้จริง ไม่จะเริ่มต้นทำธุรกิจประเภทใด หลักที่ผมท่องเป็นคาถาส่วนตัว คือ ถาม ถาม และถาม”


“คาถานี้ ผมอยากให้เอสเอ็มอีทุกรายท่องไว้เช่นกัน ไม่ว่าคุณจะทำธุรกิจอะไร ขอให้ศึกษาจนเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาธุรกิจที่ตัวเองจะทำ ซึ่งวิธีจะได้ความรู้ง่ายๆ คือ ถาม”


“อย่างตัวผมที่ไม่เคยมีความรู้ด้านเกาลัด หรือสาหร่ายมาก่อนก็ถาม ตอนผมทำเกาลัด ผมก็ไปเดินที่เยาวราช เดินถามความรู้ร้านเกาลัดตั้งแต่ต้นซอยถึงท้ายซอย ตั้งแต่แหล่งวัตถุดิบ วิธีคั่ว วิธีเก็บ ราคา ฯลฯ ก็ถามไปเรื่อยๆ จนได้ความรู้ระดับหนึ่ง จากนั้นก็ศึกษาเพิ่มเติมจนเชี่ยวชาญ เช่นเดียวกับตอนทำสาหร่าย ผมเริ่มด้วยถามจากผู้รู้ต่างๆ เช่น อาจารย์มหาวิทยาลัย ตำราทั้งในและต่างประเทศ รวมถึง บินไปดูแหล่งผลิต การปลูกถึงต้นตำรับ”


อิทธิพัทธ์ ระบุว่า เหตุที่จะทำให้สามารถจดจ่อกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้นานๆ จนสะสมความรู้อย่างถ่องแท้ ผู้ประกอบการควรจะรักและชอบในสิ่งที่ตัวเองกำลังทำอยู่แล้ว


“ถ้าจะทำสิ่งใดๆ ให้ได้ดี ต้องมีความรักในสิ่งที่ตัวเองทำด้วย อย่างตัวผมเองชอบกินเกาลัด และสาหร่าย ทำแล้วสนุก และมีความสุข และในที่สุดเราจะกลายเป็นความเชี่ยวชาญ สามารถที่จะพลิกแพลงประยุกต์ให้สินค้ามีความต่าง มีจุดเด่นออกไปได้”


ทั้งนี้ เมื่อมีความรู้แล้ว ต้องเติมจินตนาการบวกเข้าไปด้วย


“ถ้ามีความรู้ ความชำนาญแล้ว แต่ขาดจินตนาการที่จะใส่ลงไป ความรู้จะถูกเก็บพับไว้บนหิ้ง แต่ถ้ามีความรู้ และใส่จินตนาการเข้าไป จะสามารถเปลี่ยนความรู้สู่ความเป็นจริงได้ และในแง่ของธุรกิจมันทำให้เกิดความแตกต่าง ผมยกตัวอย่างเช่น จินตนาการของคนที่อยากบินได้เหมือนนก นำมาสู่เครื่องบิน”


หลักข้อสุดท้าย คือ กล้าคว้าโอกาส อิทธิพัทธ์ ระบุว่า “ตอนผมทำธุรกิจเกาลัด 6-7 สาขา ผมต้องเลือกระหว่าง เรียนต่อให้จน กับออกมาทำธุรกิจเต็มตัว ถ้าผมเลือกเรียนต่อ ก็คงไม่มีวันนี้ หรือตอนที่ 7-11 โทร. ถามว่าพร้อมจะผลิตเข้า 3,000 สาขาหรือเปล่า ถ้าผมบอกว่า ยังไม่พร้อม หรือขอรอไว้ก่อน ก็อาจไม่มีวันนี้”


“ดังนั้น ผมจึงคิดว่า คนจะทำธุรกิจ ควรจะคว้าโอกาส ผมยกตัวอย่าง ชาวประมงคนหนึ่งออกไปหาปลาในวันที่คลื่นลมแรง และสามารถกลับมาด้วยความปลอดภัยพร้อมกับได้ปลามาด้วยจำนวนมาก จะเรียกว่าโชคดีหรือเปล่า สำหรับผมมันคือการคว้าโอกาส”


*** It’s my life เถ้าแก่วัย 23 ปี ***


แม้แง่หนึ่ง อิทธิพัทธ์จะเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในเส้นทางของตัวเอง ทว่า ในความเป็นจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ เขาก็เป็นหนุ่มวัย 23 ปี ที่ควรจะได้ใช้ชีวิตสนุกสนานให้สมกับวัย


อย่างไรก็ตาม เขายืนยันว่าไม่ได้สูญเสียชีวิตวัยรุ่นไปแต่อย่างใด เนื่องจากความสุขของเขาคือ การทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ


“ช่วงวัยรุ่น ผมก็เกเรไม่เบา แม้แต่เพื่อนที่เคยเรียนมาด้วยกัน ยังไม่เชื่อว่า ผมจะสามารถมามีวันนี้ได้ ซึ่งผมคิดว่า ตัวเองไม่ได้สูญเสียช่วงเวลาสนุกสนานอย่างวัยรุ่นไป เพราะผมมีความสุขที่ได้ทำธุรกิจ ผมเคยผ่านช่วงที่เที่ยวมาเช่นกัน แต่รู้สึกว่า มันก็เท่านั้นแหละ การทำธุรกิจทำให้ผมมีความสุข ที่ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ดูแลคนที่อายุมากกว่าผม สนุกกว่าที่ผมได้ไปเที่ยว”


“และเป้าหมายต่อไป ผมอยากพาองค์กร และพนักงานในความรับผิดชอบที่มีอยู่กว่า 700-800 คน ให้อยู่รอดได้ แม้ว่าตัวผมเองจะไม่ได้อยู่แล้วก็ตาม”


สำหรับความสำเร็จที่เกิดขึ้น เมื่อให้มองย้อนไปถึงแรงบันดาลใจขับเคลื่อนให้เขามีวันนี้ อิทธิพัทธ์ตอบได้ทันทีว่า คือ ครอบครัวของเขานั่นเอง


“พื้นฐานสำคัญมาจากครอบครัวของผมที่พร้อมจะเป็นกองหนุน และอยู่เคียงข้างเสมอ ทุนที่ผมใช้ทำธุรกิจ ผมมีอยู่2 ทุน คือ ทุนแรกจากการเล่นเกมออนไลน์ ซึ่งผมได้เงินมา 3-4 แสน คิดว่า ถ้าเสียไป ก็ไม่เป็นไร เพราะมันก็เหมือนได้มาเปล่า แต่ถ้าลองทำดู นำสิ่งที่คิดเขียนลงกระดาษ ถ้าวางบนโต๊ะไว้เฉยๆ มันก็จะเป็นแค่กระดาษแผ่นหนึ่ง แต่ผมมาลองทำ ผมคิดว่า ถ้าไม่ประสบความสำเร็จก็ได้มาใช้เป็นบทเรียน”


“และทุนที่สองเป็นทุนทางใจ ทั้งพ่อแม่ พี่น้อง ไม่ห้ามที่ผมจะหยุดเรียนเพื่อมาทำธุรกิจ แถมยังคอยช่วยเหลือให้กำลังใจ ถ้าวันนั้น พ่อห้าม หรือบอกให้รอเรียนจบก่อน ผมอาจจะไม่มีวันนี้ โอกาสมันอาจจะหลุดลอยไป”


ปฏิเสธไม่ได้ว่า เด็กหนุ่มคนนี้ เก่งและแกร่งเกินวัย สมกับเป็นยังเติร์กแห่งวงการธุรกิจไทย


จากประโยคแซวของพ่อในวันนั้น มาสู่การสร้างธุรกิจตัวเองจนเติบใหญ่ อาศัยความรู้ ความสามารถ ประกอบกับกล้าตัดสินใจเลือกคว้าโอกาสได้เหมาะสมและถูกจังหวะ ทุกวันนี้ แม้จะมีชื่อแบรนด์ว่า “เถ้าแก่น้อย” ทว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้น น่าจะเข้าขั้น “บิ๊กเสี่ย” ทีเดียว

MOST OF CEO : อิทธิพัทธ์ กุลพงษ์วณิชย์
27 Jan, 2011
อิทธิพัทธ์ กุลพงษ์วณิชย์
เจ้าของธุรกิจแบรนด์ ‘เถ้าแก่น้อย’
CHEF EXECUTIVE OFFICER TAOKAENOI FOOD & MARKETING CO., LTD.

“ผมรู้สึกตกใจ งง และดีใจที่ตัวเองได้รับเลือกจากนิตยสารเปรียวให้ได้รับตำแหน่ง Most of CEO เพราะผมเองก็ยังเด็ก แต่ก็รู้สึกเป็นเกียรติมากครับ

ผมเริ่มทำธุรกิจจริงจังเมื่ออายุ 18 ปี เริ่มทำเฟรนไชส์เก๋าลัดโดยใช้ชื่อแบรนด์ว่า ‘เถ้าแก่น้อย’ ช่วงแรกของการทำธุรกิจต้องยอมรับว่ามันมีความยากลำบากในเรื่องของ ‘อายุ’ ผมที่ยังน้อย เวลาไปไหนทุกคนก็จะไม่ค่อยให้ความเชื่อมั่นหรือไว้วางใจในความสามารถของผม และเมื่อต้องไปกู้เงินธนาคารเจ้าหน้าที่เขาก็จะบอกว่า อายุแค่ 18 ปีจะมากู้แบงก์ได้อย่างไร ยังไม่ถึง 20 ปีเลย แต่ในความยากลำบากนั้นผมก็ได้ค้นพบโอกาสอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งก็คือ เมื่อเราเข้าหาผู้ใหญ่ แล้วเขาเห็นในความตั้งใจ เขาก็จะช่วยเหลือเรา และถ้าผมประสบความสำเร็จ ผมจะสามารถเลี้ยงดูคุณพ่อคุณแม่ผมได้เร็ว โดยไม่ต้องไปรอให้ตัวเองอายุถึง 40 ปีก่อน เพราะเมื่อผมยังอายุน้อย ผมก็จะมีพลังในการทำงานมากกว่าคนอื่น ตรงนี้จึงถือเป็นข้อดีสำหรับผมครับ

ความยากง่ายของการเป็น CEO มันไม่ยาก แต่การที่จะเป็น CEO ที่ดีนั้นมันยากกว่า ด้วยความหมาย ของผมการเป็น CEO ที่ดีไม่ได้หมายความว่า... คุณสามารถทำงานได้บรรลุผลตามที่บริษัทตั้งเป้าหมาย ไว้แค่นั้น แต่การเป็น CEO ที่ดีคุณต้องรู้จัก ‘ให้’ ผมในฐานะที่เป็น CEO ซึ่งเป็นผู้นำของคนในองค์กร สิ่งที่ผมกังวลที่สุดก็คือ ผมจะทำอย่างไรให้พนักงานของผมจำนวน 2,000 กว่าคน สามารถอยู่รอดปลอดภัยให้ได้ หรือสิ่งที่ผมทำไปจะไม่ทำให้เขาต้องลำบาก หรือขาดความมั่นคงในชีวิต ทำอย่างไรที่เราจะสามารถดูแลพนักงานกว่า 2,000 คนได้ตลอดไป นั่นคือความรู้สึกของผมในฐานะที่ผมเป็น CEO ซึ่งเราจำเป็นต้องสร้างจิตวิญญาณให้เกิดขึ้นในองค์กรให้ได้ และต้องเป็นจิตวิญญาณที่ดีด้วย

ถึงวันนี้ผมก็ยังไม่เคยคิดว่าตัวเองประสบความสำเร็จ เพราะสำหรับผมแล้วแค่ผมขายสินค้าติดตลาดได้ในประเทศไทยผมก็ถือว่าผมประสบความสำเร็จแล้ว แต่ก็รู้สึกดีใจที่ผมสามารถก้าวมาถึงจุดนี้ได้ และได้เข้ามายืนอยู่ในฐานะ CEO ทำให้ผมต้องทำงานต่อยอดให้กับองค์กรต่อไป เพราะเมื่อไหร่ที่ผมหยุดองค์กรก็จะหยุดเหมือนกัน นั่นคือความรู้สึกของผม ผมอยากจะบอกว่า ‘หมัด’ ถึงมันจะตัวเล็กนิดเดียว แต่มันสามารถกระโดดได้สูงกว่าความสูงของตัวเองหลายเท่า แต่ ‘ช้าง’ ที่ตัวใหญ่กว่ามันหลายเท่านัก กลับไม่สามารถทำได้อย่างหมัด สำหรับนักธุรกิจ SME ที่คิดว่าตัวเองเล็กแล้วไม่อยากเริ่มต้นธุรกิจผมขอบอกว่า...ยิ่งเล็กยิ่งดี คนอื่นทำไม่ได้อย่างเรา เหมือนอย่างองค์กรผมซึ่งมีขนาดเล็ก แต่องค์กรผมจะมีความคล่องแคล่วว่องไวเสมอ

สำหรับผู้บริหารรุ่นใหม่กับการเป็น CEO ที่ดีผมขอแนะนำว่า 1. ต้องรักและชอบในสิ่งที่ทำ อย่าไปคิดถึงกำไรเป็นสิ่งแรก เพราะถ้าคุณรักในสิ่งที่คุณทำ สิ่งดีๆ ก็จะตามมาเอง แล้วเราก็จะทำงานได้นาน และเมื่อเราชอบแล้ว เราก็อยากเรียนรู้ศึกษามันด้วยความสนใจ 2. ต้องอดทน กับสิ่งต่างๆ ที่จะเข้ามากระทบตัวเรา โดยเฉพาะกับคน เราต้องยอมรับกับรูปแบบนิสัยของคนให้ได้ และต้องพยายามสร้างคน 3. ต้องกตัญญู ทั้งกับลูกค้า ผู้มีพระคุณและคนที่ช่วยเหลือคุณมา และต้องตอบแทน 4. ต้องรู้จักเสียเปรียบ หมายถึงยอมเสียเปรียบบางอย่างเพื่อรักษาบางอย่างไว้ และเมื่อมีโอกาสเอาเปรียบผู้อื่นได้ ต้องอย่าทำ... เด็ดขาด

ผมโชคดีที่ทางครอบครัวให้การสนับสนุน และพร้อมให้ผมได้ขึ้นมาเป็นผู้นำธุรกิจ ผมภูมิใจที่พนักงาน ให้ความรัก เคารพ เชื่อมั่น ศรัทธา และให้เกียรติในตัวผมจากผลงานที่ผมทำ แค่นี้ก็เป็นความภาคภูมิใจสำหรับผมแล้วครับ

ผมอยากให้แบรนด์ ‘เถ้าแก่น้อย’ ของผมเป็นที่รู้จักของคนในเอเชียแบบ Around the World และอยากให้ทุกคนในโลกนี้รู้จัก ‘เถ้าแก่น้อย’ ของผมเหมือนอย่างที่เขารู้จัก McDonald's ครับ”
 Credit : 
http://www.priewmagonline.com/lifestyledetail.php?id=204



Guerrilla Marketing: กรณีศึกษา เถ้าแก่น้อย
บทความโดย นักศึกษาปริญญาโท สาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล
โสภณ    รัตนจันทร์           กิตติพงศ์    แสงเจริญวนากุล
ดนัย      ทรัพย์พิทักษ์ดี     เทพ       นีรนาทภูรี
วุฒิชัย    ชาโญพงษ์           
“จุดเริ่มต้นของชัยชนะไม่จำเป็นจะต้องเริ่มจากเงินลงทุนมหาศาล ในทางกลับกันการหาลู่ทางที่คนอื่นมองข้ามแล้วรุกคืบด้วยความเงียบ เงินลงทุนจึงไม่ใช่สิ่งสำคัญ” นี่คือแนวคิดเล็กๆ ของกลยุทธ์เล็กๆ สำหรับธุรกิจเล็กๆ ที่ประสบความสำเร็จมานักต่อนัก กลยุทธ์ที่ว่านี้หลายๆคนรู้จักกันในนาม “กลยุทธ์การตลาดแบบกองโจร หรือ Guerrilla Marketing”
เถ้าแก่น้อยคืออะไร
บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2546 ซึ่งก่อตั้งมาเป็นระยะเวลา 5 ปี และเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มผลิตสาหร่ายทะเลอบกรอบ ภายใต้ตราสัญลักษณ์เถ้าแก่น้อย ภาพลักษณ์ของ เถ้าแก่น้อย คือ อาหารว่าง หรือ ที่เรียกกันว่าขนมขบเคี้ยว ที่ทำมาจากสาหร่ายทะเลที่มีคุณค่าทางอาหารสูง และนอกเหนือจากรสชาติที่แสนอร่อย ผู้บริโภคยังจะได้รับคุณค่าทางอาหารอื่นๆอีก เช่น เส้นใยอาหาร โปรตีน ธาตุเหล็ก และ แคลเซียม ซึ่งสามารถเรียก เถ้าแก่น้อยอีกอย่างว่า เป็นอาหารทานเล่นเพื่อสุขภาพ
ผลิตภัณฑ์เถ้าแก่น้อยมาในรูปแบบของอาหารว่างพร้อมรับประทานซึ่งเป็นที่นิยมแพร่หลายทั้งในเด็ก วัยรุ่น และผู้ใหญ่ ขณะนี้ได้มีการผลิต สาหร่ายทะเลอบกรอบเถ้าแก่น้อยมี 4รสชาติ คือ รสคลาสสิค รสเผ็ด รสวาซาบิ รสต้มยำกุ้ง ซึ่งเหมาะกับความชอบของคนไทย ที่ชอบทานรสจัดเป็นผลที่ทำให้ เถ้าแก่น้อย เป็นผู้นำในตลาด ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดกว่า60 เปอร์เซ็นต์ ของตลาดสาหร่ายทอดในประเทศไทย เถ้าแก่น้อย มีการกระจายสินค้าอยู่หลายช่องทาง ซึ่งมีทั้งในร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต และดิสเคาน์ สโตร์ เพื่อทำให้ลูกค้าสามารถซื้อมารับประทานได้สะดวก
จุดเริ่มจากตี๋น้อยสู่เถ้าแก่น้อย
จากตี๋น้อยที่มีชื่อเล่นว่า ต๊อบ หรือคุณอิทธิพัทธ์ กุลพงษ์วณิชย์ ที่มีความสนใจในด้านการค้าขายตั้งแต่ยังเด็ก ทั้งขายของในเกมส์ออนไลน์ จนมาเปิดแฟรนไชน์สเกาลัด และด้วยความเป็นอาตี๋ที่มีความชอบในการรับประทานสาหร่าย จนเป็นแรงบันดาลใจอย่างหนึ่งที่ทำให้ตี๋น้อยคนนี้ก้าวเข้ามาในอุตสาหกรรมอาหารว่าง หรือขนมคบเคี้ยว  โดยเลือกสาหร่ายทะเลเป็นสินค้าหลักในการเข้าสู่ตลาด แต่ในการเข้ามาของเถ้าแก่น้อยนั้น เส้นทางนั้นไม่ได้ถูกปูด้วยพรมแดง หรือกลีบกุหลาบอย่างที่เห็นกันในปัจจุบัน ก่อนที่เถ้าแก่น้อยจะก้าวมาประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมสาหร่ายนั้น เรียกได้ว่าต้องเผชิญกับปัญหามากมาย
บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด โดยคุณอิทธิพัทธ์ กลุพงษ์วณิชย์ เริ่มก้าวเข้าสู่ตลาดขนมขบเคี้ยวเพราะเห็นถึงช่องว่างของสาหร่ายทะเลอบกรอบในตลาดอาหารว่างหรือขนมขบเคี้ยว ที่ยังไม่มีคู่แข่งรายใดมีการผลิตและจำหน่ายอย่างเป็นทางการ หรือมีตราสินค้าหรือ Brand ที่คนทั่วไปรู้จัก คุณต๊อบจึงเริ่มศึกษาวิธีการและแนวทางในการผลิตสินค้าออกมา จากนั้นจึงมองหาช่องทางในการจัดจำหน่าย
 “สมัยก่อนผมไม่มีความรู้อะไรเลย ผมเริ่มต้นผลิตและนำไปฝากขายตามร้านโชห่วย บางร้านก็รับ บางร้านก็ไม่รับ ผมต้องอ้อนวอนจนเจ้าของร้านยอมรับไว้ขาย แต่พอหนึ่งเดือนผ่านไป ผมกลับไปที่ร้านปรากฎว่าสาหร่ายก็ยังวางอยู่ที่เดิม”
คุณต๊อบเล่าให้ฟังถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมาเมื่อครั้งแรกเริ่มการเข้าสู่ตลาด และจากเหตุการณ์นี้เองทำให้คุณต๊อบคิดได้ว่า ด้วยช่องทางที่เข้าไม่ถึงผู้บริโภคอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ขายไม่ได้ และช่องทางที่ได้ติดต่อในตอนแรกนั้นก็ยังไม่สามารถทำให้ผู้บริโภครู้จักตราสินค้าของเค้าได้
“แต่ถ้าจะให้ลงทุนหลายล้านบาททำโฆษณาก็คงจะไม่คุ้ม และจะทำอย่างดีหละที่จะทำให้คนรู้จักได้กว้างขวางและรวดเร็ว”
แนวคิดเริ่มแรกของคุณต๊อบที่จะสู้ต่อไปหลังจากผิดหวังกับการวางขายตามร้านโชห่วย ด้วยแนวคิดนี้เองทำให้คุณต๊อบเริ่มเข้าหาช่องทางที่มีกระจายอยู่ทั่วประเทศไทยนั่นคือร้านสะดวกซื้อเปิด 24 ชั่วโมง หรือ 7-eleven นั่นเอง โดยการเลือกเข้าไปขายใน 7- eleven นี้เองเป็นการประหยัดงบประมาณกว่าถ้าจะสร้างการรับรู้ด้วยการทำโฆษณาที่ต้องสูญเสียเงินมหาศาลซึ่งผลตอบรับก็อาจจะยังไม่ได้ตามเป้าที่วางไว้ก้ได้ นอกจากนี้การนำสินค้าเข้า 7- eleven ก็จะเป็นการสร้างมาตรฐานตัวสินค้าเถ้าแก่น้อยเองด้วย นับได้ว่าเป็นแนวทางการใช้กลยุทธืแบบกองโจรวิธีหนึ่งที่คำนึงถึงงบประมาณที่มีอย่างจำกัด และเป็นการใช้ช่องทางเพื่อเป็นการสร้างมาตรฐานให้กับคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกันและผู้บริโภครับรู้ได้ด้วยความรวดเร็ว
แต่ในการที่จะเข้า 7- eleven นั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะมาตรฐานในการวางจำหน่ายที่มีอยู่สูงมากทำให้คุณต๊อบต้องมีการคิดโดยรอบคอบและปรับเปลี่ยนทัศนคติหลายๆอย่าง คุณต๊อบกล่าวว่า “เดิมทีแพคเกจของเถ้าแก่น้อยดูไม่น่าซื้อและออกแบบน่าเกลียด สินค้า OTOPบางอย่างยังมีรูปแบบที่ดีกว่าเสียอีก แต่ถ้าจะไปทำแบบสินค้าประเภทมันฝรั่งเช่น Lay’คงทำไม่ได้ เพราะต้นทุนสูง” แต่ภายหลังจากการค้นหาข้อมูลทางคุณต๊อบได้เปลี่ยนทัศนคติใหม่ “ผมเริ่มหาข้อมูลโดยการเรียนรู้และค้นคว้าเพิ่มเติม แล้วก็รู้ว่าจริงๆ แล้วการทำแพคเกจคล้ายกับ Lay’s นั้นไม่ได้ลงทุนสูงอย่างที่คิด มันมีทางเลือกมากมายหลากหลาย” ด้วยเหตุนี้เองคุณต๊อบจึงได้การเปลี่ยนแปลงแพคเกจให้ดูน่าซื้อมากขึ้น และคิดใหม่ว่า
“จริงๆแล้วสินค้าเถ้าแก่น้อยนั้นสามารถพัฒนาได้อีกมาก ตัวอย่างเช่น สินค้าเก็บได้อาทิตย์เดียว ทำอย่างไรจะเก็บได้ เดือน คำตอบก็คือการเปลี่ยนแพคเกจนอกจากจะทำให้ภาพลักษณ์ของเถ้าแก่น้อยดูดีขึ้นแล้วการเก็บรักษาก็ยังดีขึ้นด้วย”
จากการที่คุณต๊อบ ปรับเปลี่ยนรูปแบบต่างๆของเถ้าแก่น้อยและสร้างมาตรฐานให้กับสินค้าเถ้าแก่น้อยจนได้มาตรฐานตามที่  7-elevenวางไว้ในการรับสินค้าวางขาย เถ้าแก่น้อยจึงได้สอดแทรกเข้าไปในกลุ่มอาหารว่างหรือขนมขบเคี้ยว ในกลุ่มเดียวกันกับ มันฝรั่งเลย์ และเทสโต ซึ่งทำให้ลูกค้า เกิดความเข้าใจว่า สาหร่ายทะเลอบกรอบของเถ้าแก่น้อย อยู่ในกลุ่มเดียวกัน ที่สามารถซื้อรับประทานได้ตลอดเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นโอกาส สำหรับทานเล่น งานเลี้ยง ปาร์ตี้ อีกทั้งยังเป็นขนมทานเล่นเพื่อสุขภาพอีกด้วย ซึ่งสามารถเพิ่มความถี่ในการซื้อ และรับประทานอีกด้วย อีกทั้งยังออกแบบหีบห่อให้มีลักษณะเดียวกันกับขนมทานเล่นทั่วไป เพื่อเป็นการตอกย้ำถึงลูกค้าว่า ซื้อได้บ่อย ทานได้ถี่ เพื่อความอร่อยและสุขภาพ
กลยุทธ์พิชิตใจผู้บริโภค
ด้วยวิสัยทัศน์ที่จะต้องการทำให้ เถ้าแก่น้อยเป็นตราสินค้าในใจของผู้บริโภคในเรื่องของสาหร่าบทะเลอบกรอบ หรือเน้นการทำให้เถ้าแก่น้อยเป็น Generic Brand เมื่อผู้บริโภคนึกถึงสาหร่ายต้องเรียกว่าเถ้าแก่น้อย เป็นกรณีเดียวกันกับมาม่า และ Xerox ซึ่งเมื่อผู้บริโภคเห็นสาหร่ายยี่ห้ออื่น ก็ต้องเรียกว่าเถ้าแก่น้อยนั่นเอง
กลยุทธ์ที่คุณต๊อบมองเห็นในการเข้าตลาดผ่านทาง 7-eleven และจะทำให้เถ้าแก่น้อยบรรลุวิสัยทัศน์ที่ตั้งไว้ก็คือ กลยุทธ์ “ป่าล้อมเมือง” โดยเปรียบผู้บริโภคเป็น เมือง” ส่วน 7-eleven เป็น ป่า” ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้าได้ง่ายอีกทั้ง เสียเงินแค่ 500,000 บาท สำหรับกลยุทธ์ในการทำให้ผู้บริโภครู้จัก โดยมีการทำแพคเกจที่ราคา 10  บาท เน้นราคาถูกไว้ก่อน เพราะ ใครๆก็ซื้อได้ และเป็นการได้ลองทาน นอกจากนี้คุณต๊อบยัง ตั้งชื่อกลยุทธ์ด้วยตนเองอีกกลยุท์ก็คือ “Give Marketing” โดยในระยะเวลา เดือน โดยมีสโลแกน “ขาดทุนคือกำไร โดยแบ่งตามอัตราส่วน  40% แจกฟรี และ 60% ไว้ขาย เป็นกลยุทธ์ที่ให้สินค้าฟรีกับทางลูกค้าได้ลองทานในสิ่งที่ดี ที่ผ่านคัดสรรแล้ว โดยแจกผ่านตาม โรงเรียน มหาวิทยาลัย และสถานีรถไฟฟ้า ซึ่งเป็นการใด้ใจผู้บริโภค แต่มีการแอบแฝง เพื่อที่ต้องการจะบอกให้ลูกค้ารู้ว่า ตอนนี้สินค้าเถ้าแก่น้อยมีวางจำหน่ายใน 7-Elevenซึ่งเมื่อลูกค้าชอบสินค้า ก็สามารถไปหาซื้อได้ที่นี่ได้ สำหรับหลักการผลิตนั้นเถ้าแก่น้อยจะเลือกวัตถุดิบที่มีคุณภาพสูง และผลิตสินค้าออกมาให้ดีที่สุดแก่ผู้บริโภค นี่ก็คือหลักของการให้ ที่ทางเถ้าแก่น้อยกำลังสื่อสารต่อผู้บริโภคนั่นเอง
เถ้าแก่น้อยกับคู่แข่งที่ทัดเทียม
เมื่อเถ้าแก่น้อยสามารถก้าวสู่ตลาดขนมขบเคี้ยวได้อย่างมั่นคง และก้าวสู่ผู้นำตลาดสาหร่ายอบกรอบ ด้วย(แนวความคิดของกลยุทธ์รูปแบบกองโจร อย่างไรก็ตามทางเถ้าแก่น้อยยังต้องเจอกับคู่แข่งโดยตรงที่เข้าตลาดมาภายหลังและมาท้าดวลในตลาดสาหร่ายอบกรอบ ซึ่งคือสาหร่ายอบกรอบยี่ห้อ ตี๋เล็ก เอ็มทาโร่ ทริปเปิ้ล-เอ็ม และ เถ้าแก่เนี้ย และคู่แข่งทางอ้อม ซึ่งคือขนมขบเคี้ยวมันฝรั่ง อย่างเลย์ และเทสโต ซึ่งทางเถ้าแก่น้อย ยังคงทำการตลาดแบบกองโจรอย่างต่อเนื่อง โดยการย้ำถึงคนรักสุขภาพ ที่ต้องการทานขนมขบเคี้ยวที่เป็นแบบ แคลอรี่ต่ำ และย้ำถึงเป็นผู้ผลิตรายแรก ซึ่งแสดงถึง การเป็นต้นกำเนิด (Origin) ในการผลิตและจำหน่ายสาหร่ายอบกรอบในประเทศไทย และอีกทั้งได้ทำการแตกแบรนด์ใหม่ ซึ่งคือสาหร่ายยี่ห้อเคอร์ฟ (Curve) ซึ่งเป็นสาหร่าย เพื่อสาวรักสุขภาพ เป็นการตอกย้ำภาพความเป็นเบอร์ 1 ของตลาดสาหร่ายอบกรอบ ซึ่งเป็นอีกวิธีการที่เป็นการโจมตี ขนมขบเคี้ยวที่มีแคลอรี่สูง และ อีกทั้งยังเป็นการโจมตี คู่แข่งของตลาดสาหร่ายอบกรอบ ว่าถ้าคุณจะเลือกซื้อและรับประทานสาหร่ายอบกรอบควรเลือกเถ้าแก่น้อย ที่เป็นต้นกำเนิดของสาหร่ายอบกรอบ ทั้งหมดนี้ทางเถ้าแก่น้อยสามารถแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดได้เพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ดีเมื่อเถ้าแก่น้อยกลายเป็นหนึ่งในทัพใหญ่ แน่นอนแม่ทัพใหญ่อย่างเถ้าแก่น้อยก็ถูกศัตรูทางการตลาดใช้กลยุทธ์แบบกองโจรย้อนรอยกับมาโจมตีได้เช่นกัน  ตัวอย่างเช่น เถ้าแก่เนี้ยสาหร่ายทอดกรอบ ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายของเถ้าแก่น้อยในการจำหน่ายออกสู่ตลาดต่างประเทศ ได้เห็นถึงโอกาสและความเป็นไปได้ที่จะเข้ามาสู้ในตลาดสาหร่ายทอดกรอบ เถ้าแก่เนี้ยใช้ช่องว่างในการจัดจำหน่ายที่เถ้าแก่น้อยมองข้ามไป นั่นคือการส่งถึงบ้าน หรือ บริการเดลิเวอรี่ ทำให้เถ้าแก่เนี้ยได้รับความสนใจได้ในระดับหนึ่งทีเดียว นี่ก็เป็นการใช้กลยุทธ์รูปแบบกองโจรของเถ้าแก่เนี้ย ที่ทำให้เถ้าแก่น้อยได้รับผลกระทบไม่น้อยเช่นกัน
จากเถ้าแก่น้อยสู่เถ้าแก่ใหญ่
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าส่วนหนึ่งของความสำเร็จของเถ้าแก่น้อย เกิดจากการใช้กลยุทธ์ทางการตลาดที่ไร้รูปแบบตายตัวของกลยุทธ์แบบกองโจร และทำไมเถ้าแก่น้อยถึงต้องใช้กลยุทธ์นี้ สิ่งแรกทางบริษัทเถ้าแก่น้อยต้องมีการลงทุนค่อนข้างสูงในการเข้าสู่ตลาดขนมขบเคี้ยว ซึ่งทางเถ้าแก่น้อยต้องหากลยุทธ์ทางการตลาดที่ลงทุนต่ำ แต่ผลตอบแทนกลับมาค่อนข้างสูง  ซึ่งเหมาะกับธุรกิจของเถ้าแก่น้อย และทำให้เกิดความสมดุลทางการเงินภายในบริษัทฯมากขึ้น โดยเถ้าแก่น้อยแค่หาช่องว่างหรือในสิ่งที่คู่แข่ง ทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่ยังไม่มีการดำเนินการในตลาด และบุกจู่โจมไปยังจุดนั้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดอ่อนของคู่แข่ง โดยที่คู่แข่งยังไม่ทันตั้งตัว
จากการเรียนรู้ที่มาและที่ไปของ บริษัท เถ้าแก่น้อย ทำให้เห็นถึงปัจจัยสำคัญที่นอกเหนือจากกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ นั่นก็คือการออกสินค้าที่เหมาะสมและทันกับสถานการณ์ ดังนั้นทางเถ้าแก่น้อยได้ดำเนินการลงทุนในการค้นคว้า และพัฒนาคุณภาพของสินค้าอย่างต่อเนื่อง หรือการทำ Research and Development  อย่างเช่นการออกสาหร่ายอบกรอบ เคอร์ฟ (Curve) มาเพื่อทันกับกระแสรักสุขภาพ ทั้งหมดนี้เองสามารถตัดสินได้ว่า นอกจากมุมมองทางการตลาดที่แยบยลแล้วการทำวิจัยและพัฒนาสินค้าก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ เถ้าแก่น้อยประสบความสำเร็จ เช่นทุกวันนี้
สูตรลับการปรุงรสของเถ้าแก่น้อย
แน่นอนว่าทุกๆบริษัทจะต้องมีสูตรลับที่ทำให้ผู้บริโภคติดใจในรสชาติของขนมขบเคี้ยว และแน่นอนว่าก็คงจะไม่มีใครเปิดเผยถึงสูตรลับนี้ แต่ไม่ใช่กับคุณต๊อบ ซึ่งเปิดเผยด้วยน้ำเสียงที่จริงจังว่า
“ถ้าเราจะได้ใจผู้บริโภค เราต้องเปิดเผย ไม่ปิดบัง รายละเอียดต่อผู้บริโภคได้รับรู้ เพราะว่านี่คือธุรกิจเปิด และสูตรลับของผมก็คือผมจะใส่ความรักที่ผมมีต่อสาหร่ายลงไปในทุกๆขั้นตอนของการผลิต
และคุณต๊อบยังกล่าวย้ำปิดท้ายว่า “ผมเป็นผู้ชายที่กำลังตกหลุมรักผู้หญิงคนนึงซึ่งผู้หญิงคนนั้นก็คือเถ้าแก่น้อยนี่แหละ เป็นผู้หญิงที่ผมจะต้องคอยดูแลเอาใจใส่ทำให้เค้ามีความสุข เพราะเมื่อเถ้าแก่น้อยมีควมสข ผมเชื่อว่าผู้บริโภคก็จะมีความสุขเมื่อรับประทานสาหร่ายเถ้าแก่น้อยของผม”
สุดท้ายสูตรลับของเถ้าแก่น้อยก็คือ ให้ความรักกับสินค้าเหมือนเป็นแฟนของคุณเอง ดูแล เอาใจใส่อย่างใกล้ชิด และ ทุ่มเททุกอย่าง ให้ความรัก เมื่อคนเราทำสิ่งที่เรารักก็จะประสบความสำเร็จ
ReferencesLevinson, Jay Conrad Z1984) Guerrilla Marketing: Secrets for Making Big Profits from Your Small BusinessBostonHoughton Mifflin Company.

นิตยสาร SMEs Today ฉบับที่ 69 ประจำเดือนกรกฎาคม 2551

สุมาส นพรัตน์ (2547) http://www.marketeer.co.th/inside_detail.php?inside_id=2721 


Credit : http://www.imarm.com,http://www.oknation.net,http://www.youtube.com,whoweeklymagazine,ไทยรัฐ,ผู้จัดการ,sudsapda.com
เรียบเรียง : http://www.ruengdd.com/

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :

ต๊อบ เถ้าแก่น้อยแต่งงานมิ้นท์ ประภัสสรพร้อมประวัติภรรยาคนสวยของต๊อบ อิทธิพัทธ์